Rjaantick
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชมพูนุท เมฆเมืองทอง

กลุ่มตัวอย่างไม่ใช่แค่จำนวน (ตอนที่ 1)


ข้อคิดก่อนการกำหนดกลุ่มตัวอย่างสำหรับงานวิจัย

      กลุ่มตัวอย่างไม่ใช่แค่จำนวน (ตอนที่ 1)

     กลุ่มตัวอย่าง ถือเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการวิจัย แต่หลายคนที่ทำวิจัยกลับมองข้ามและละเลยการให้ความสำคัญกับการใช้วิธีการกำหนดกลุ่มตัวอย่างที่ถูกต้อง และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ วิทยานิพนธ์ในประเทศไทยหลายเล่ม (บางเล่มเป็นงานวิจัยระดับปริญญาเอก) ทำการวิจัยเชิงปริมาณแต่ไม่สนใจ “ความเหมาะสมของกลุ่มตัวอย่างกับสถิติที่เลือกใช้”

     เช่น ดุษฎีนิพนธ์ สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา....(อะไรสักอย่างหนึ่ง).... ของมหาวิทยาลัย... (แห่งหนึ่ง) (ต้องขออภัยที่ต้อง ... ไว้ทั้งสาขา และมหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน) ได้ทำวิจัยเพื่อหา model ในการพัฒนาธุรกิจชุมชน โดยตอนต้นใช้การวิเคราะห์อิทธิพล (path analysis) ใช้วิธีการกำหนดกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการของ ทาโร   ยามาเน่ (Taro Yamane) แค่นี้เราคงไม่ต้องมองไปถึงคำว่าคุณภาพของกลุ่มตัวอย่าง แค่มองไปที่ปริมาณของกลุ่มตัวอย่างก็ไม่น่าจะเหมาะสมแล้ว เพราะการใช้โมเดลลิสเรลในการวิจัยไม่ใช่การวิจัยเชิงสำรวจ ที่จะใช้ตาราง หรือการคำนวณด้วยสถิติของทาโรยามาเน แล้วระบุว่าไม่เกิน 400 แต่ โมเดลลิสเรลเป็นเทคนิคที่ต้องการกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ ทั้งวิธีการประมาณค่าพารามิเตอร์ และการทดสอบความเหมาะสมของโมเดลกับข้อมูลจะอยู่บนข้อตกลงเบื้องต้นที่ต้องมีกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ ดังนั้นจำนวนแค่ไหนถึงจะถือว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ก็คือต้องดูที่จำนวนพารามิเตอร์ที่ถูกประมาณค่า โดยทั่วไปก็มีอัตราส่วนเช่น 5: 1 หรือ 10 ต่อ 1 บางที 20 : 1 ดังนั้นการพิจารณาขนาดกลุ่มตัวอย่างควรพิจารณาควบคู่ไปกับจำนวนพารามิเตอร์ที่ต้องการประมาณค่า ถ้ามีจำนวนมากควรจะต้องมีขนาดกลุ่มตัวอย่างเพิ่มมากขึ้นด้วย ที่เรียกว่าอัตราส่วนระหว่างหน่วยตัวอย่าง และจำนวนพารามิเตอร์หรือตัวแปรวัดได้

    นอกจากนี้คุณภาพของกลุ่มตัวอย่างก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพราะ

        ประชากร (Population) หมายถึง สิ่งที่นักวิจัยสนใจที่จะศึกษา

        กลุ่มตัวอย่าง (Sample) หมายถึง ตัวแทนของประชากรที่นักวิจัยสนใจที่จะศึกษาแต่การวิจัยไม่ควรจบแค่นี้ควรให้ความสำคัญกับการพิจารณา    

       หน่วยตัวอย่าง (Element) ซึ่งหมายถึง สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มตัวอย่างที่จะใช้

        กล่าวคือต้องพิจารณากลุ่มตัวอย่างที่ต้องมีความเหมาะสมกับวิธีการวัดและเหมาะสมกับเรื่องที่จะวิจัย เช่น วิจัยเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งการวิจัยในลักษณะนี้ต้องใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือการวิจัย และแบบสอบถามก็มักเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า แล้วนำมาหารวมค่า หรือหาค่าเฉลี่ย ดังนั้นกลุ่มตัวอย่างแม้จะเป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ชุมชน แต่คนที่จะสามารถแยกแยะและวิเคราะห์ความรู้สึกนึกคิดของตนเองจนถึงขั้นแบ่งสเกลได้ละเอียดว่า มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม เพราะส่วนใหญ่คนที่มีการศึกษาน้อยมักไม่สามารถจำแนกความคิดเห็นของตนเองได้ละเอียดเป็น 5 ระดับ 6 ระดับ เป็นต้น

                ตัวอย่างที่ยกมา เป็นการชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่าง เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ในกระบวนการวิจัย เพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึง “ความน่าเชื่อถือของงานวิจัยนั้น ๆ”

                ฉบับหน้าผู้เขียนจะนำเสนอถึงเทคนิควิธีการกำหนดกลุ่มตัวอย่าง ในการวิจัยเชิงพฤติกรรม เชิงจิตวิเคราะห์ เชิงทดลอง และเชิงพัฒนา เพื่อเป็นการให้แนวคิดต่อนักวิจัยได้ตระหนักและร่วมกันสรรค์สร้างงานวิจัยให้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เป็นกิจวัตรในวงวิชาการต่อไป

หมายเลขบันทึก: 430778เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2011 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท