บทเรียนสหวิชาชีพ


 

 

บทเรียนจากทีมสหวิชาชีพการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจังหวัดชุมพร: มุมมองของผู้ติดตามประเมินผล

 

 

เกริ่นนำ

บทเรียนที่แสนประทับใจนี้สืบเนื่องจากการติดตามประเมินผลโครงการรณรงค์ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมูลนิธิเพื่อนหญิงได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ( สสส.) ข้าพเจ้าในฐานะผู้ประเมิมผลได้ติดตามเครือข่ายชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการฯกับมูลนิธิเพื่อนหญิง ในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดสุรินท์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ได้พบเห็นพัฒนาการการทำงานของเครือข่ายชุมชนที่รณรงค์ในระดับบุคคลให้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ว่า “การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องของการเข้าสังคม” “ดื่มเหล้าเป็น การผ่อนคลายจากงานที่เหน็ดเหนื่อย” “ สุราเป็นเครื่องดื่มดับทุกข์ ” แต่ท้ายสุดลงท้ายด้วยความรุนแรงในครอบครัว ภรรยาและบุตรเป็นสมบัติของชายที่เป็นสามีหรือบิดา ตามมายาคติชายเป็นใหญ่ที่ยังคงความขลังในระบบครอบครัวไทย ซึ่งการรณรงค์ให้สมาชิกในชุมชนหรือเพื่อนบ้านที่เปรียบเสมือนญาติ หรือแม้แต่คนในครอบครัวของเครือข่ายชุมชน ละ ลด และเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เครือข่ายชุมเหล่านี้ได้สร้างปรากฏการณ์งานเลี้ยงปลอดเหล้าและชุมชนปลอดเหล้าขึ้นรวมทั้งยังเป็นพลังมวลชนสำคัญในการสนับสนุนพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

เครือข่ายชุมชนคนธรรมดาของจังหวัดชุมพรได้หลอมรวมภาระกิจการรณรงค์ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมสหวิชาชีพที่ได้รับการกล่าวขวัญและเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้คนจากทั่วสารทิศมาศึกษาดูงานได้อย่างไร คำถามนี้มีคำตอบจากบทเรียนที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากชุมพรตลอดระยะ 7 ปีที่ผ่านมา

 

บทเรียน ค้นหาจิตอาสา : จุดเริ่มต้นของการหลอมรวมพลังคนเล็กๆสู่การขับเคลื่อนชุมชนขจัดความรุนแรง

ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ตามมติของคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 มิถุนายน 2542 ความว่า “เห็นชอบกับนโยบายและแผนขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจัดให้มีศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรี ในภาวะวิกฤตจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลทุกแห่ง” ซึ่งศูนย์พิทักษ์ฯมีคณะกรรมการที่เป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขเป็นกลไกดำเนินงานโดยมีแพทย์หญิงกอบกุล พูลปัญญาวงศ์ ทำหน้าที่ประธาน และนางประทุมพร ทองภูเบศร์ นักสังคม

สงเคราะห์ ทำหน้าที่เลขานุการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ชุดแรกจนถึงชุดปัจจุบันโดยยึดปณิธานว่า “ทำงานด้วยใจรัก มุ่งมั่นพิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี”

กว่าเครือข่ายชุมชนจังหวัดชุมพรจะเรียนรู้และเติบโตเป็นภาคีเครือข่ายที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับนั้นมีก้าวแรกจากการที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีเล็งเห็นความสำคัญของแรงขับเคลื่อนชุมชนปลอดความรุนแรงต้องอาศัยสมาชิกในชุมชนเป็นแกนนำจึงค้นหาบุคคลที่มีจิตอาสาด้วยการจัดอบรมชุมชนเฝ้าระวังภัยทางสังคม ในกลุ่ม อาสาสมัครสาธารณสุขซึ่งมาอบรมมีเกือบร้อยคนแต่ต้องสรรหาคนที่มีคุณสมบัติความเป็นผู้นำที่เสียสละสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องมีมนุษย์สัมพันธ์ มีการสื่อสารที่ดีและใส่ใจต่อชุมชน ระยะแรกค้นหาบุคคลที่เป็นแกนนำชุมชนพบ 5 คน จากอำเภอเมือง 2 ชุมชน คือตำบลท่ายาง และตำบลเกาะแก้ว อำเภอ ปะทิว อำเภอท่าแซะ และอำเภอพะโต๊ะ ซึ่งแกนนำผู้เสียสละรุ่นแรกเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญของการเสริมพลังผู้คนที่ตกเป็นทาสน้ำเมาและผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงให้กลายมาเป็นผู้กล้าที่แข็งแรงเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นในชุมชนและสังคมต่อไป

บทเรียนการค้นหาจิตอาสาเพื่อเป็นแกนนำชุมชนแสดงให้เห็นเงื่อนไขของความสำเร็จในการขับเคลื่อนพลังชุมชนที่สำคัญคือ 1.การตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนต้องให้สมาชิกชุมชนช่วยกันแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชนด้วยตัวเองจึงจะเป็นพลังที่ยั่งยืน เงื่อนไขต่อมาคือ 2.การเลือกสรรแกนนำที่มีคุณลักษณะของความเป็นผู้นำ เสียสละ มนุษย์สัมพันธ์ดี มีการสื่อสารเยี่ยมและใส่ใจชุมชน 3. การส่งเสริมให้ผู้ผ่านพ้นประสบการณ์ความรุนแรงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป

 

บทเรียนเรื่อง การขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยฐานความรู้และทุนทางสังคม

ศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรีโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ แกนนำชุมชน และมูลนิธิเพื่อนหญิงได้สร้างฐานความรู้ในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยการศึกษาวิจัยผลกระทบของสุราในฐานะปัจจัยร่วมการเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และนำผลของการวิจัยที่ยืนยันว่าสุราเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัว หากดำเนินกิจกรรมให้ผู้คนลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก็ย่อมลดความรุนแรงในครอบครัวได้ กิจกรรมแรกจึงควรเป็นกิจกรรมที่มุ่งตรงไปสู่ผู้ก่อปัญหาในครอบครัวก็คือผู้ดื่มสุราซึ่งมักเป็นผู้ชาย แต่การที่จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้แกนนำชุมชนใช้กลยุทธ์การเข้าร่วมกลุ่มสนทนาแบบวิถีชาวบ้านนั่นคือการจับกลุ่มคุยกันยามเช้าเป็นสภากาแฟหรือสภาข้าวต้มโจ๊กตามแต่ละพื้นที่เพื่อพูดคุยสร้างความตระหนักและเชิญชวนเข้าร่วมกลุ่ม อีกทั้งสภากาแฟและสภาข้าวต้มโจ๊กยังเปรียบเสมือนเวทีให้ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงกล้าเปิดเผยตัวและมีโอกาสได้ระบายความรู้สึกตลอดจนได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่ม ทั้งผู้ชายนักดื่มก็เข้าใจผลร้ายของการดื่มผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในสภาชาวบ้านเหล่านี้ และด้วยการซึมซับกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติเช่นนี้ชายนักดื่มหลายคนก็ประกาศตัวเลิกเหล้า

กลายเป็นบุคคลคนต้นแบบมาเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่ม กลยุทธ์ชุมชนดังกล่าวอาศัยความเอื้ออาทร ใส่ใจกันของชุมชน การทำงานร่วมกันของแกนนำ การปรึกษาหารือกัน ประชุมวางแผนร่วมกัน และการเดินหน้าค้นหาบุคคลต้นแบบที่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากคนขี้เหล้าเมายาได้และส่งผลถึงครอบครัวที่สงบสุขมากขึ้น หรือการคิดค้นกลยุทธ์ดึงภรรยาที่มีสามีดื่มจัดเข้ามาร่วมกิจกรรมเพื่อให้เกิดการตระหนักถึงภัยของสุราและเป็นแนวร่วมผลักดันให้สามีเข้าร่วมโครงการ นอกจากฐานความรู้งานวิจัยและภูมิปัญญาเดิมแล้วกลุ่มแกนนำเครือข่ายยังได้รับการอบรมความรู้เพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำทั้งการพัฒนาบุคลิกภาพและการพูดต่อหน้าสาธารณชน

ระยะเริ่มแรกของโครงการแทบจะไม่มีใครคิดว่าโครงการนี้จะบรรลุผลได้แต่ด้วยความเสียสละของแกนนำ การเกาะติดสถานการณ์ด้วยการทำงานตลอด 24 ชั่วโมงแบบกัดไม่ปล่อยและการค้นหาตัวช่วยหรือทรัพยากรทางสังคมของจังหวัดมาช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการของนักสังคมสงเคราะห์และผู้บริหารศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์เป็นแบบอย่างที่แกนนำศรัทธา และเชื่อมั่นว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นสามารถทำได้และเป็นไปได้จริง มีบุคคลต้นแบบเกิดขึ้นมีผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมกลุ่ม เป็นพลังขับเคลื่อนอุดมการณ์ชุมชนลดเหล้าลดความรุนแรง

เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดบทเรียนการขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยฐานความรู้และทุนทางสังคมคือ

1.การศึกษาค้นหารากเหง้าของปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในชุมชน 2. กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้แคบลงเป็นชายนักดื่มที่กระทำความรุนแรงในครอบครัว 3. ใช้ภูมิปัญญา วิถีชาวบ้านหรือทุนทางสังคมร่วมเป็นส่วนในการแก้ไขปัญหา 4. เปิดเวทีหรือพื้นที่ในการพบปะพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรและอาทรต่อกัน 5. มีการอบรมให้ความรู้ทักษะการเป็นผู้นำ 6. มีผู้นำที่เสียสละและอุทิศตนเป็นแบบอย่างที่ดีก่อให้เกิดศรัทธาต่อกลุ่ม

 

บทเรียนเรื่องการเพิ่มพูนความรู้และทักษะ: เรียนรู้จากการปฏิบัติการจริง มีนิเทศงานและถอดบทเรียนทบทวนงานอย่างสม่ำเสมอ

การอบรมความรู้เรื่องการเยี่ยมบ้าน การจัดค่ายครอบครัว การจัดกลุ่มสนับสนุน การให้บริการปรึกษา ชุดความรู้เหล่านี้เป็นแก่นแกนที่สร้างเสริมสมรรถนะความสามารถของแกนนำชุมชนและสมาชิกเครือข่ายควบคู่กับการลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริง โดยมูลนิธิเพื่อนหญิงติดตามนิเทศงานจากการเยี่ยมบ้านผู้เข้าร่วมโครงการ การจัดทำกลุ่มสนับสนุนให้ผู้ที่ลดละเลิกเครื่องดื่มแอกอฮอล์และผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง การให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆที่เกี่ยวเนื่องจากความรุนแรง รวมทั้งการจัดเวทีนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเครือข่ายในจังหวัดต่างๆของมูลนิธิเพื่อนหญิง การนำเอาความรู้ที่ได้มาปฏิบัติจริงพร้อมทั้งมีการนิเทศงานและเวทีแลกเปลี่ยนเป็นเพิ่มพูนทักษะซึ่งแกนนำแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญหรือความแตกต่างของแต่ละคนแต่ละเครือข่ายจนทำให้นักสังคมสงเคราะห์ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี

สามารถเลือกงานที่หมาะสมกับแต่ละคนได้เช่นบางคนถนัดเรื่องการให้บริการปรึกษา บางคนสามารถเจรจาต่อรองได้ดี นับเป็นการเสริมสร้างความภาคภูมิใจของแกนนำที่ตนเองสามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญได้เฉกเช่นนักวิชาชีพ

การ ถอดบทเรียนร่วมกับเครือข่ายอื่นๆของมูลนิธิเพื่อนหญิงจัดทำเป็นหนังสือเผยแพร่ 2 เล่ม คือ นวัตกรรมผู้ชายเลิกเหล้า: ยุติความรุนแรงต่อหญิงและเด็กในปีพศ.2551 และเล่มที่สอง เรื่องประสบการณ์การทำงานชุมชนลดละเลิกเหล้า : ลดความรุนแรงต่อหญิงและเด็กในปี พศ. 2553 นอกจากนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ร่วมกับคุณไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์และแกนนำเครือข่ายชุมชนได้ถอดบทเรียนการพัฒนารูปแบบ (Model Development) ของศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และปัจจุบันต่อยอดสร้างฐานองค์ความรู้ด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่ชุมชนท่ายางและโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กระบวนการถอดบทเรียนนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ความรู้ที่สะสมในตัวของเครือข่ายแล้วยังเป็นทบทวนการทำงานที่ผ่านมาเพื่อนำไปสู่การพัฒนางานให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

 

จากชุมชนสู่สหวิชาชีพ: พัฒนาการสู่ความเป็นสหวิชาชีพมืออาชีพและสหวิชาชีพชุมชน

ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ได้พยายามจัดระบบการทำงานช่วยเหลือเด็กและสตรีในระยะเริ่มต้นด้วยการบริการสายด่วน 24 ชั่วโมง มีห้องรับรองพิเศษเฉพาะในการช่วยเหลือและปรึกษาหารือ มีการปรึกษาสหวิชาชีพของบุคคลากรในโรงพยาบาล ประสานการช่วยเหลือและส่งต่อไปยังบ้านพักเด็กและครอบครัว หาทนายอาสาช่วยเหลือ สร้างทีมชุมชนในการแจ้งเหตุและหน่วยเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เด็กและสตรีในชุมชน

ระยะที่สองเป็นการสร้างความเป็นปึกแผ่นและรูปแบบทีมสหวิชาชีพ หลังจากนักสังคมสงเคราะห์เริ่มต้นค้นหาข้อมูลและประเมินปัญหาและผลกระทบของการถูกละเมิดของเด็กโดยการตามปรึกษาหารือแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องทีละคนๆ อาจล่าช้าและได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือมีอุปสรรคในการติดตามงานที่รับว่าจะดำเนินของแต่ละฝ่าย นักสังคมสงเคราะห์จึงปรับเปลี่ยนเป็นการขอนัดหมายปรึกษาเป็นกลุ่มเล็ก 2-3 คนตามประเด็นที่เกี่ยวข้อง หากงานนั้นต่อเนื่องกับใครก็เชิญมาประชุมด้วยจนกระทั่งขยายเป็นเชิญบุคคลภายนอกโรงพยาบาลที่มีบทบาทจะช่วยสานงานต่อไปทั้งบ้านพักเด็กและครอบครัว พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ครู ตำรวจ อัยการ เครือข่ายชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ผ่านพ้นประสบการณ์ความรุนแรงและพร้อมที่จะใช้ประสบการณ์ของตนเยียวยาผู้อื่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านของจังหวัด จึงเกิดเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการในนามโรงพยาบาลซึ่งจัดประชุมในกรณีที่เป็นเด็กหรือสตรีที่ต้องประสบปัญหาที่ซับซ้อน การเชิญประชุมเต็มรูปแบบเป็นการลดขั้นตอนการประสานงาน และเป็นการเชื่อมต่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อกรณีนั้นๆทำให้ได้ความคิดเห็นและการส่งต่อ

งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในระยะนี้เองที่นักสังคมสงเคราะห์สามารถขยายเครือข่ายสหวิชาชีพที่ครอบคลุมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ธุรกิจ สื่อมวลชน องค์กรสาธารณประโยชน์

ในระยะการสร้างความเป็นปึกแผ่นของทีมสหวิชาชีพนี้รูปแบบการทำงานสหวิชีพที่มีแกนนำชุมชนและผู้ผ่านพ้นเข้าร่วมประชุมมีความชัดเจนและมีภาระมากขึ้นโดยมิได้เป็นเพียงแค่แจ้งข่าวหรือเฝ้าระวังเท่านั้นแต่แกนนำชุมชนที่ได้รับการอบรมเรื่องการให้บริการปรึกษา การเสริมพลังและเยียวยาด้วยกลุ่มสนับสนุนรวมทั้งประสบการณ์ที่ผ่านการนิเทศงานอย่างใกล้ชิดจากมืออาชีพทำให้แกนนำมีความสามารถในการให้บริการผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงได้เช่นการให้บริการปรึกษาเบื้องต้น การเยียวยาฟื้นฟูและการดูแลแบบครอบครัวทดแทนเพราะต้องการให้เด็กอยู่ในระบบของของครัวมากกว่าการส่งเด็กเข้าอยู่ในสถานสงเคราะห์ ประสบการณ์เหล่านี้ช่วยให้แกนนำชุมชนสามารถร่วมตั้งประเด็นต่างๆในการประชุมช่วยเหลือเด็กและสตรี รวมทั้งให้บริการได้เป็นอย่างดีจนถูกเรียกว่านักปฏิบัติการชุมชนเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่อยู่ในทีมสหวิชีพชุมพร

นอกจากมีการประชุมทีสหวิชาชีพของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และบ้านพักเด็กและครอบครัวแล้ว หากเป็นกรณีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนจะมีการประชุมทีมสหวิชาชีพชุมชนโดยให้ผู้นำชุมชนนั้นเป็นประธานการประชุมดังกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลคุริง อำเภอท่าแซะได้จัดประชุมทีมสหวิชาชีพในชุมชนดังจะยกเป็นกรณีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนดังนี้

นายอำนาจ อินทนา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคุริง อำเภอท่าแซะ ได้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กว่ามีเด็กวัยประมาณ 5 ขวบ บิดามารดาเสียชีวิตจึงต้องอาศัยอยู่กับลุงและป้า แต่ลุงและป้าทะเลาะกันอย่างรุนแรงจนกระทั่งป้าหนีออกจากบ้านทิ้งหลานชายไว้ที่บ้านและถูกลุงทำร้ายระบายอารมณ์โกรธมาตลอด ผู้แจ้งเกรงว่าเด็กจะได้รับอันตรายและไม่ปลอดภัยหากอยู่กับลุง พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้นำเด็กออกมาไว้ชั่วคราวที่บ้านพักเด็กและครอบครัว และแจ้งตำรวจให้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

นักสังคมสงเคราะห์ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีโรงพยาบาลชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตระหนักว่าชุมชนนี้มีผู้ใส่ใจต่อสวัสดิภาพของเด็กในชุมชนมีโอกาสที่จะสร้างเครือข่ายชุมชนเพิ่มได้จึงได้พูดคุยกับนายกองค์กรบริหารส่วนตำบล

1.เรื่องความต้องการจำเป็นของเด็กที่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือต้องได้รับความรัก ความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากครอบครัวหรือญาติมิตรที่ไว้ใจได้ มีจิตวิทยาในการเลี้ยงดูเด็ก เป็นแบบอย่างที่ดีที่สามารถส่งเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกายจิตใจอารมณ์สังคมของเด็ก ซึ่งชุมชนอยู่ใกล้ชิดกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนักวิชาชีพอื่นๆน่าจะมีข้อคิดเห็นที่สามารถช่วยเหลือแนะนำได้ดีว่าใครเหมาะสมที่จะดูแลเด็ก

2. ให้ความรู้เรื่องและความเข้าใจเรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กว่าผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กโดยตำแหน่ง

3. การใช้ความคิดเห็นของผู้ใดผู้หนึ่งตามลำพังมิใช่ทางออกที่ดีจึงควรมีความคิดเห็นจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะคนในชุมชนที่ใกล้ชิดเด็กมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่าใครเหมาะสมที่จะเป็นผู้ดูแลเด็ก

จากเหตุผลดังกล่าวจึงขอจัดประชุมทีมสหวิชาชีพชุมชนโดยให้นายกอบต.เป็นประธานในที่ประชุมเชิญผู้ใหญ่บ้าน ครู นักพัฒนาชุมชน เพื่อนบ้าน ผู้อำนวยการสถานพินิจ ที่ปรึกษาผู้ว่าด้านยุทธศาตร์ ประธานเครือข่ายฯชุมชนท่าแซะของจังหวัดชุมพร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าแซะ นักสังคมสงเคราะห์

ประเด็นในการประชุม มีเรื่องข้อมูลเบื้องต้นของเด็ก สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น และประเด็นที่ปรึกษาคือค้นหาผู้ที่เหมาะสมในการดูแลเด็ก และเสนอมาตรการในการดูแลผู้กระทำมิให้กระทำความรุนแรงต่อผู้อื่นอีกในอนาคต

ผลการประชุมคือเสนอให้เด็กอยู่ในความดูแลของลุงคนที่สองที่อยู่ในหมู่บ้านถัดไปและให้ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นที่เคารพของลุมผู้กระทำความรุนแรงเป็นผู้คุมประพฤติให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อไปและมีเพื่อนบ้านคอยเป็นผู้สอดส่องและเฝ้าระวัง

จะเห็นได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กหรืออีกนัยหนึ่งนักสังคมสงเคราะห์ของศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีของโรงพยาบาลชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ได้ใช้กลยุทธดึงเครือข่ายชุมชนเข้ามาทำหน้าที่ทีมสหวิชาชีพในการช่วยเหลือเด็กหากว่ากรณีนั้นมิได้ซับซ้อนหรือต้องการความเชี่ยวชาญจากนักวิชาชีพ การประชุมทีมของชุมชนจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าและได้สร้างความตระหนักถึงการเฝ้าระวังและคุ้มครองเด็กในชุมชนอีกด้วย

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงบทเรียนว่าการประชุมทีมสหวิชาชีพชุมชนเป็นการใช้ชุมชนเป็นฐานในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเป็นการสร้างความตระหนักร่วมกันของสมาชิกชุมชนในการคุ้มครองเด็กทรัพยากรอันล้ำค่าของชุมชน

ระยะที่สามการสร้างความครอบคลุมลุ่มลึกและก้าวสู่ทีมสหวิชาชีพจังหวัด เมื่อต้องพบกับความยุ่งยากซับซ้อนของปัญหาการล่วงละเมิดที่รุนแรงทีมสหวิชาชีพชุมพรเล็งเห็นว่าประสบการณ์ของกลุ่มอาจไม่เชี่ยวชาญพอจึงได้เชิญ คุณณัฐวุฒิ บัวประทุมนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและครอบครัวจากมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กเข้าร่วมประชุมทีมสหวิชาชีพซึ่งได้ช่วยตั้งประเด็นในการสืบค้นข้อมูลที่ลุ่มลึก เกิดความตระหนักถึงสิ่งที่ไม่ควรละเลย สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กและสตรีที่ถูกละเมิดที่เป็นบทเรียนจากประสบการณ์การช่วยเหลือผู้ใช้บริการมาอย่างยาวนานของนักกฎหมาย

อีกทั้งยังเสนอการเชื่อมต่อกับคณะกรรมการต่างๆที่มีในระดับจังหวัดหรือระดับชาติ เช่นคณะกรรมการเฝ้าระวังภัยทางสังคม

การประชุมทีมสหวิชาชีพที่มีผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อประเด็นซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและมอบหมายหรือขอความร่วมมือจากที่ประชุมมักได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมประชุมอีกทั้งยังเป็นการสร้างเสริมความรอบรู้และถ้วนถี่แบบองค์รวมให้สหวิชาชีพชุมพรชัดเจนยิ่งขึ้น และตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม พศ. 2553 จังหวัดชุมพรโดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการสหวิชาชีพของจังหวัดขึ้นอย่างเป็นทางการ เรียกได้ว่าปัจจุบันนี้การประชุมทีมสหวิชาชีพของชุมพรมีทั้งในระดับชุมชน ระดับหน่วยงานและระดับจังหวัด

จะเห็นได้ว่าทีมสหวิชาชีพของชุมพรเริ่มจากการประชุมปรึกษาหารือแบบสหวิชาชีพที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Multi disciplinary team กล่าวคือเป็นการปรึกษาแต่ละวิชาชีพแต่ละครั้งแล้วนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาประมวลรวมกันและใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับกรณีนั้น หรืออาจเป็นการประชุมทีมเพื่อปรึกษาร่วมกันโดยไม่มีผู้ใช้บริการอยู่ในที่ประชุมซึ่งเป็นการเน้นเรื่องความรู้ ประสบการณ์ของแต่ละวิชาชีพมากกว่าการประชุมเพื่อร่วมกันหาทางออกหรือแก้ไขปัญหาของผู้ใช้บริการซึ่งยังไม่ตอบโจทย์การช่วยเหลือแก้ไขฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีจึงปรับเปลี่ยนมาใช้รูปแบบสหวิชาชีพที่เรียกว่า Interdisciplinary team โดยรูปคำศัพท์หมายถึงการบูรณาการรวมเข้าเป็นหนึ่ง เป็นการประชุมผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวข้องในคราวเดียวกันเพื่อรับทราบข้อมูลและข้อวินิจฉัยหรือข้อสังเกตแต่ละวิชาชีพเพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องและให้ข้อคิดเห็นและทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ( Rebecca L. Jessup Australian Health Review, Vol. 31, 2007. ) ทีมสหวิชาชีพชุมพรบูรณาการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งนักวิชาชีพและนักปฏิบัติการชุมชนรวมกันให้ความช่วยเหลือเด็กสตรีที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง

การปฏิบัติการงานของทีมสหวิชาชีพจะต้องมีเจ้าภาพเข้ามาเป็นแกนเรียงร้อยกระบวนการช่วยเหลือให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จังหวัดชุมพรมีลักษณะการใช้ระบบ Case Management หรือการจัดการรายกรณี แบบ Service Management Model คือผู้จัดการที่ให้บริการในหน่วยงานย่อยๆ ของแต่ละบริการเป็นผู้จัดการเพื่อทำงานย่อยเหล่านั้นให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการและประหยัดงบประมาณเพราะจังหวัดชุมพรมีแนวทางในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเริ่มตั้งแต่การรับแจ้งเหตุหลายช่องทางดังนั้นผู้ที่รับผู้ใช้บริการเป็นแห่งแรกจะทำหน้าที่ผู้จัดการเบื้องต้นและเมื่อมีการประชุมทีมสหวิชาชีพกำหนดแผนการช่วยเหลือของแต่ละรายและผู้ให้บริการนั้นๆจะดำเนินการเป็นเจ้าภาพจนกระทั่งส่งต่อบริการต่อไปแต่อย่างไรก็ตามกระบวนการช่วยเหลือที่เป็นทีมสหวิชาชีพที่มีการประชุมร่วมกันทำให้มีการติดตามงานของผู้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องไม่หลุดหายจากระบบการ

ช่วยเหลือซึ่งสะท้อนให้เห็นการทำงานอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ของชุมชนและนักวิชาชีพการในทำงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพชุมพร

จากที่กล่าวมาทั้งสิ้นแสดงให้เห็นเงื่อนไขสำคัญของบทเรียนเรื่องพัฒนาการสู่ความเป็นมืออาชีพของสหวิชาชีพชุมพรดังนี้

1.การขยายคำจำกัดความเพิ่มเติมของความเป็นสหวิชาชีพมิใช่การตีกรอบอยู่แค่ศาสตร์ของความเชี่ยวชาญของนักวิชาชีพแต่รวมถึงศาสตร์ในชุมชนที่ผู้คนในชุมชนย่อมรู้และ เข้าใจได้อย่างถ่องแท้จึงสามารถนำมาช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนด้วยกันได้เป็นอย่างดี

2. การขยายโอกาสและช่องทางที่จะได้มาซึ่งเครือข่ายการดำเนินกิจกรรมใดๆหรือแม้แต่การประชุมทีมสหวิชาชีพถ้าหากว่ามีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับใครจะเชิญชวนให้มาร่วมงานและจะสานสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เช่นการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์การรณรงค์การช่วยเหลือหญิงและเด็ก

3.การเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์และมีการติดตามนิเทศงานเพื่อพัฒนาและบูรณาการกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนในจังหวัด

4. การทำงานเป็นทีมและร่วมกันทบทวน ถอดบทเรียน เพื่อพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

5. การให้บริการแบบ การจัดการรายกรณี (Case Management) อย่างเป็นระบบทั้งเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนและ ชุมชนทำงานร่วมกันฉันท์มิตร มีความเอื้ออาทร ใส่ใจและทำงานอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กัน

บทสรุป

ทีมสหวิชาชีพชุมพรมีบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการค้นหาแนวร่วมที่มีจิตอาสาเอื้ออาทรในการทำงานเพื่อเด็กและสตรีที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทั้งระดับชุมชนที่ใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมาย ระดับนักวิชาชีพผู้ปฏิบัติงานที่ทำการช่วยเหลือตามภาระกิจความชำนาญ ระดับสังคมที่สามารถสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้อย่างถ้วนทั่วว่าความรุนแรงมิใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นปัญหาของชุมชนและสังคมที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ บทเรียนการทำงานอย่างมุ่งมั่นด้วยศรัทธาต่อผู้นำที่เป็นแบบอย่างของการทำงานชนิดสู้ไม่ถอยกัดไม่ปล่อยของนักสังคมสงเคราะห์ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีและเครือข่ายชุมชน บทเรียนของการทำงานที่ต้องใช้ฐานความรู้ ความเชี่ยวชาญและการแบ่งปันถ่ายทอดและทบทวนอย่างสม่ำเสมอ บทเรียนเหล่านี้มิอาจเกิดขึ้นและส่งเสียงสะท้อนออกมาได้หากไม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อนหญิงและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  

 

หมายเลขบันทึก: 430127เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2011 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ณัฐวุฒิ บัวประทุม

ได้อ่านแล้วครับ ต้องขอบคุณอาจารย์ที่ถอดบทเรียนอันจะเป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับพื้นที่อื่น ๆ ด้วยครับ

ขอบคุณมากค่ะ

อาจารย์ได้เรียนรู้จากคุณณัฐวุฒิและชุมพรมากอยากจะเขียนอีกหลายอย่างค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท