การผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษ


ความเร่งรีบของการดำเนินชวิตทำให้ต้องพึ่งพา ตลาด ผลผลิตพืชผักที่ดูสวยงามไม่มีรอยแมลงกัดกินเป็นสินค้าราคาดี กระตุ้นให้เกษตรกรใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น

           คำว่า "ผักปลอดภัยจากสารพิษ" ผู้เขียนบันทึก หมายถึง ผลผลิตพืชผักที่ไม่มีสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่หรือมีการตกค้างอยู่ไม่เกินระดับมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่288 พ.ศ.2548 ลงวันที่ 17 มกราคม 2548 เรื่องอาหารที่มีสารพิษที่ตกค้าง

          ผัก  เป็นพืชอาหารที่คนไทยนิยมรับประทานกันมาก เนื่องจากเป็นอาหารที่หาง่ายกินสดก็ได้ ลวก ต้ม ประกอบอาหารอย่างอื่นได้อีกมากมาย สมัยก่อนนิยมปลูกกินกันภายในบ้าน แต่ปัจจุบันค่านิยมในการลริโภคเปลี่ยนไป จากที่เคยปลูกแบบพึ่งพิงธรรมชาติกลับใช้สารเคมีเพิ่มมาขึ้น ความเร่งรีบของการดำเนินชวิตทำให้ต้องพึ่งพา ตลาด ผลผลิตพืชผักที่ดูสวยงามไม่มีรอยแมลงกัดกินเป็นสินค้าราคาดี กระตุ้นให้เกษตรกรใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้นทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากสารพิษ  

         การนำเอาวิธีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชหลายวิธีมาประยุกต์รวมกัน จึงเป้นทางเลือกสำหรับความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

         ปัจจัยที่จำเป็นในการผลิตพืชผักปลอดภัยคือ พื้นที่ปลูก พันธุ์ ปุ๋ย วัสดุป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เช่น กับดักกาวเหนียว กับดักแสงไฟ วัสดุคลุมดิน สารชีวภัณฑ์ สมุนไพรป้องกันกำจัดศัตรูพืช และสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ โรงเรือนมุ้งตาข่าย

         ขั้นตอนในการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ 

           การเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม  ระบายน้ำได้ดี  มีแหล่งน้ำที่สะอาดและเพียงพอ

          การเตรียมพันธุ์ เลือกใช้พันธุ์ที่ต้านทานศัตรูพืชและปลอดเชื้อโรค การเตรียมเมล็ดพันธุ์ก่อนเพาะปลูกควรทำดังนี้

                      - แช่เมล็ดในน้ำอุ่น ที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 15-30 นาที เพื่อกระตุ้นการงอก และฆ่าเชื้อโรคได้บางส่วน ถ้ามีเมล็ดลอยขึ้นมาก็ให้แยกไว้ต่างหาก เพราะส่วนที่ลอยขึ้นอาจจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้คุณภาพ

         การเตรียมดิน ไถพรวนดินให้ละเอียด โดยไถลึก 1 ครั้ง และตากดินไว้ ไม่น้อยกว่า 7 วัน ไถพรวนอีกรอบเพื่อยกร่อง ตากดินไว้อีกประมาณ 7 วัน  เพื่อกำจัดโรคแมลงที่อยู่ในดิน

         การปรับปรุงแปลงปลูก ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์  ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ในอัตราส่วน 1-2 ตัน/ไร่ คลุกเคล้าทั่วแปลงให้เป็นเนื้อเดียวกัน ควรปรับค่า pH ให้เหมาะสมโดยใช้ปูนมาร์ล อัตรา 200-300 ก.ก./ไร่ โดยหว่านให้ทั่วแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน

        การปลูกและการดูแลรักษา 

             - ควรปลูกผักในระยะห่างที่เหมาะสม ประมาณ 20-25 ซ.ม.  เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี 

             - การใส่ปุ๋ย ธาตุอาหารส่วนใหญ่จะม่อยู่แล้วในดิน แต่ธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียม จะถูกชะล้างและระเหยได้ง่าย ดังนั้นจะต้องให้ปุ๋ยทั้งสองในระหว่างการเจริญเติบโต  พยายามอย่าให้ชิดโคนต้น โดยใส่ครั้งแรกหลังปลูก 2-3 สัปดาห์  ครั้งที่ 2 หลังจากใส่ครั้งแรก 2-3 สัปดาห์  หรือใส่ในระยะออกดอกติดผล  เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วควรพรวนดินกลบและรดน้ำ

             - การควบคุมวัชพืช  การจัดการวัชพืชอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลให้พืชผักมีการเจริญเติบโตที่ดี เช่น การคลุมดินโดยการคลุมดิน โดยฟางข้าว หรือพลาสติกสีเทาเงินจะช่วยรักษาความชื้นในดิน และบังแสงสว่างทำให้เมล็ดวัชพืชโตช้า

         การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน  เป็นการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชหลายๆวิธีผสมผสานกัน หรืออีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า กระบวนการ IPM (Integrated Pest Management system) เป็นการทำทุกวิถีทางให้ศัตรูพืชมันลดน้อยถอยลง โดยให้การใช้สารเคมีเป็นทางเลือกสุดท้าย

            - ด้วยวิธีเขตกรรม

            - ด้วยสารสกัดจากธรรมชาติ

            - ด้วยชีววิธี

            - ด้วยวิธีกล

            - ด้วยวิธีจลน์

            - ด้วยสารเคมี เป็นทางเลือกอันดับสุดท้ายแต่ต้องใช้ให้ถูกวิธีและอัตราส่วนตามฉลากแนะนำ

         การปลูกผักในโรงเรือนมุ้งตาข่ายในล่อน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอีกวิธีหนึ่ง ทั้งยังสามารถควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ  ความชื้น ป้องกันลม ฝน ฯลฯ ได้

        พื้นที่ที่ปลูกจะต้องสามารถปลูกผักได้อย่าง ต่อเนืองเพื่อเป็นการคุ้มค่าต่อการสร้างโรงเรือน และการใช้ตาข่ายไนลอน โครงสร้างอาจทำด้วยไม้หรือเหล็กก็ได้ (แนะนำให้ใช้เหล็กจะได้ดีกว่า)

        ตาข่ายที่ใช้เป็นตาข่ายไนล่อนสีขาว  ขนาด 32 ตา/นิ้ว แต่ต้องควบคุมเรื่องอุณหภูมิและความชื้นให้ดี ประเภทผักที่เหมาะสมกับการปลูกในโรงเรือนกางมุ้ง ได้แก่ คะน้า กวางตุ้งฮ่องเต้ ตั๋งโอ ปวยเล้ง ขึ้นฉ่าย กระหล่ำดอก บล็อกโคลี่ มะเขื่อเปราะ ถั่วลันเตา ฯลฯ

 
 

           สำหรับท่านที่สนใจ การปลูกผักกางมุ้ง หรือ องค์ความรู้ในการสร้างโรงเรือนมาตราฐาน สามารถแวะชมได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการปฏิรูปที่ดิน  ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครับ...หรือเว็บไซต์  https://sites.google.com/site/alrolearningcenter/

         

หมายเลขบันทึก: 430021เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2011 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาเพิ่มเติมรูปภาพประกอบครับ จากบันทึกนี้

http://gotoknow.org/blog/supersup300/430072

ขอบคุณ คุณต้นกล้าที่ร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลดีๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท