จิตอาสากับการพัฒนาสังคม


การสร้างความปรองดองและสร้างความสามัคคีจะต้องจัดหากิจกรรมที่เป็นสื่อหรือ สามารถเชื่อมโยงใจของคนในสังคม/ชุมชน/ท้องถิ่น ให้มาอยู่ในจุดเดียวกันโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งและเกิดศูนย์ รวมแห่งจิตใจของทุกคน และโครงการนี้ได้ชักชวนนักเรียนมาเป็นอาสาสมัครในการรณรงค์และนำร่องการ พัฒนาสภาพแวดล้อมที่สาธารณะเพื่อความรักษ์ทาง รักษ์ถิ่น รักษ์สิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การสร้างความปรองดองและสามัคคีเกิดขึ้นในสังคม ต่อไป

              รัฐบาลได้กำหนดแผนปรองดองแห่งชาติ”รวมพลังสร้างความปรองดอง เพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คนไทยทุกกลุ่ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการโดยส่วนราชการ หน่วยงานและสถานศึกษาได้จัดกิจกรรมที่เสริมสร้างความปรองดอง เพื่อนำนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการไปสู่การปฏิบัติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจันทบุรี เขต 1 จึงได้ร่วมกับกรมทางหลวง ดำเนินงาน “โครงการเติมโลกสร้างสรรค์ ร่วมกันรักษ์ทาง รักษ์ถิ่น รักษ์สิ่งแวดล้อม” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลุกจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่นักเรียน เพื่อส่งเสริมและสร้างกระแสความปรองดองและสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยกิจกรรมหลักประกอบด้วยกิจกรรมเก็บขยะและปลูกต้นไม้ ริมถนนสุขุมวิทในเขตอำเภอเมือง ท่าใหม่ นายายอามและแก่งหางแมว มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจ จำนวน 3,000 คน มีพิธีเปิดโครงการเมื่อวันที่  8 สิงหาคม 2553 ณ บริเวณหน้าโรงเรียนอนุบาลบ้านหนองคล้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยมี นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง ให้เกียรติมาเป็นประธาน และมีหน่วยงาน สโมสร มูลนิธิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนให้การสนับสนุนอย่างดียิ่ง

              เรามักจะเห็นป้ายติดตามที่สาธารณะ อาคารบ้านเรือนแลสถานที่ราชการต่างๆ ในเชิงขอร้องหรือขอความร่วมมือ ดังเช่น “งบประมาณมีจำกัด ช่วยกันประหยัด” “โปรดช่วยกันประหยัดพลังงาน” “ตัวไปไฟดับ” “โปรดรักษาความสะอาด” “โปรดทำความสะอาด ก่อนออกจากห้องน้ำ” “โปรดทิ้งขยะให้เป็นที่”  “กรุณาอย่างส่งเสียงดังรบกวนคนไข้” ป้ายเหล่านี้คงจะเป็นกันอย่างคุ้นตา  บ่งบอกให้รู้ว่าคนส่วนใหญ่ยังขาด “จิตสำนึกสาธารณะ” จึงต้องติดป้ายบอกเตือน อาจจะได้ผลบ้างสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องต่อความรู้สึกต่อสาธารณะ แต่จะไม่ได้ผลสำหรับบุคคลที่ขาดความสำนึกโดยสิ้นเชิง จึงต้องมีป้ายเตือนในเชิงบทลงโทษ อย่างเช่น “ทิ้งจับปรับหนึ่งพัน”  “ฝ่าฝืนปรับห้าร้อยบาท” แต่ก็อาจจะแก้ไม่ได้ทั้งหมดอีกสำหรับบุคคลที่ขาดจิตสำนึกอย่างรุนแรง ดังนั้น  ถ้าหากจะให้ได้ผลแบบยั่งยืนหรือคงทนสำหรับพฤติกรรมจิตสำนึกสาธารณะ ต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก โดยบุคคลในครอบครัวและครู ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการอบรมสั่งสอนและกระทำเป็นแบบอย่างที่ดี

            จิตสาธารณะ (Public Mind) ก็คือ เป็นการตระหนักรู้ตัวและเป็นจิตส่วนที่รู้ตัว รู้ว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร ขณะที่ตื่นอยู่นั่นเอง ส่วนคำว่าสาธารณะเป็นการแสดงออกเพื่อสังคมส่วนรวม เป็นการบริการชุมชน ทำประโยชน์เพื่อสังคม ถ้าเป็นสิ่งของต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อนำสองคำมารวมกัน (จิต + สาธารณะ) จึงหมายถึง การตระหนักรู้ตนที่จะทำสิ่งใดเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

              จากคำพระที่ท่านว่า “ผู้ให้ย่อมเป็นสุข เป็นที่พึงปรารถนาของผู้รับ”  และการให้ยังแสดงถึงจิตสำนึกในความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของผู้ให้เป็นอย่างดี การเป็นผู้ให้หรือจิตสาธารณะจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมที่จะนำมาแห่งความสุขอย่างยั่งยืนและมั่นคงถาวร  จิตสาธารณะกับคนไทยมีความสัมพันธ์อย่างฝังแน่นมาแต่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตที่มีการแบ่งปันกันอย่างเต็มใจหรือการลงแขกช่วยเหลือในการประกอบอาชีพหรือทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน โดยมิต้องมีกฎระเบียบมาบังคับ ความช่วยเหลือทุกอย่างมาจากจิตใจ

               สังคมไทยในอดีตจึงอยู่กันเหมือนเครือญาติ เกิดความสุขและแม้บางครั้งจะมีปัญหาก็จะร่วมกันแก้ไขจนทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่มาเมื่อถึงยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีและวัฒนธรรมต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย จะเป็นด้วยเพราะเราไม่ได้เตรียมบุคลากรของชาติให้มีความพร้อมกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้น หรือไม่ก็ไม่รู้ จึงทำให้เด็กและเยาวชนไม่น้อยขาดวิจารณญาณในการเลือกบริโภคกับสิ่งที่มากับความเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความคลั่งไคล้ในวัตถุนิยมและวัฒนธรรมอันไม่ใช่รากเหง้าตนเอง โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าจะกระทบหรือทำให้ใครเดือดร้อนบ้าง เมื่อต้นแบบที่ไม่ดีอยู่เกลื่อนกลาด เด็กและเยาวชนจึงมีต้นแบบที่ผิดๆ โดยเฉพาะการมีจิตสำนึกสาธารณะที่เคยมีมาแต่ในอดีต

              ดังนั้น การสร้างความปรองดองและสร้างความสามัคคีจะต้องจัดหากิจกรรมที่เป็นสื่อหรือสามารถเชื่อมโยงใจของคนในสังคม/ชุมชน/ท้องถิ่น ให้มาอยู่ในจุดเดียวกันโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งและเกิดศูนย์รวมแห่งจิตใจของทุกคน และโครงการนี้ได้ชักชวนนักเรียนมาเป็นอาสาสมัครในการรณรงค์และนำร่องการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่สาธารณะเพื่อความรักษ์ทาง รักษ์ถิ่น รักษ์สิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การสร้างความปรองดองและสามัคคีเกิดขึ้นในสังคมต่อไป

สวัสดีครับ

คำสำคัญ (Tags): #จิตอาสา
หมายเลขบันทึก: 429513เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากจะให้มันมีมากกว่านี้ยิ่งมากขึ้นที่ส้ด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท