การพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำทะเล ด้วยวิธี membrane filter


ฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำทะเล

       ขึ้นชื่อว่าห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม  หน้าที่หลักก็ต้องตรวจวิเคราะห์ไม่ว่าตัวอย่างที่ส่งเข้ามา จะเป็น ดิน น้ำ หรือ อากาศ  เราต้องตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างตามวิธีที่มาตรฐานกำหนด    และยังต้องทำการเลือกวิธีประกันคุณภาพผลการทดสอบที่เหมาะสมกับการทดสอบนั้นๆ และการประกันคุณภาพต้องเพียงพอทั้งในส่วนของความถูกต้อง ความแม่นยำ บุคลากรมีความสามารถในการทดสอบนั้นๆ  รวมทั้งมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการยังต้องพัฒนาศักยภาพการตรวจวิเคราะห์ให้ทันกับมาตรฐานที่มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน จึงจะเป็นห้องปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ  มีศักยภาพพร้อมในการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเพื่อรองรับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบได้

       ห้องปฏิบัติการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14  เองก็ตระหนักดีถึงสภาพพื้นที่ที่รับผิดชอบที่เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลตั้งแต่ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช  และเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญของประเทศด้วย สสภ.14 จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างศักยภาพของห้องปฏิบัติการให้สามารถตรวจวิเคราะห์น้ำทะเลชายฝั่งได้ โดยมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งมีหลายพารามิเตอร์มาก แต่ละพารามิเตอร์มีความยาก ง่าย และใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน ห้องปฏิบัติการจึงต้องค่อยๆ เพิ่มศักยภาพการตรวจวิเคราะห์ตามความสามารถที่มีในปัจจุบัน  เพราะมีข้อจำกัดต่างๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ทดสอบที่ไม่เพียงพอ เครื่องมือไม่มี และงบประมาณที่มีจำกัด  ห้องปฏิบัติการจึงเลือกตรวจวิเคราะห์ปริมาณแบคทีเรียเป็นตัวหลัก ด้วยเห็นว่าแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลมีชายหาดสวยๆ  นักท่องเที่ยวที่มาก็อยากมาเล่นน้ำใช่ไหม และเค้าต้องมีคำถามว่า  เออ! น้ำทะเลที่เค้าจะเล่นมันสะอาดหรือเปล่า มีเชื้อโรคที่จะทำอันตรายสุขภาพเค้าหรือเปล่า  ห้องปฏิบัติการเราจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์แบคทีเรียตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งเป็นพารามิเตอร์แรก ๆ  ส่วนพารามิเตอร์อื่นๆ ค่อยๆ พัฒนาการตรวจวิเคราะห์กันไป

      พอปี 2549 มีการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง เค้าบอกว่าเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน และให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเทศอื่น  โดยในส่วนของปริมาณแบคทีเรียมาตรฐานเก่าไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานของฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย และวิธีวิเคราะห์เป็นวิธี Multiple Tube Technique แต่มาตรฐานใหม่ให้ตรวจวิเคราะห์ฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรียด้วยวิธี Membrane Filter และกำหนดปริมาณว่าคุณภาพน้ำทะเลแต่ละประเภทมีค่าฟีคัลโคลิฟอร์มเท่าไหร่ รายละเอียดมันมากขึ้น วิธีวิเคราะห์เก็ยุ่งยากมากขึ้นด้วย เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ฟีคัลโคลิฟอร์มด้วยวิธี membrane filter ขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง 

      ห้องปฏิบัติการก็มาวางแผนงานกันว่าเราจะต้องทำอะไรกันบ้าง เพื่อให้เราสามารถตรวจวิเคราะห์ฟีคัลโคลิฟอร์มได้ตามวิธีที่มาตรฐานกำหนด  เราสรุปได้ดังนี้

1. ศึกษาเอกสาร 

       อย่างแรกเราต้องมาดูกันก่อนเลยว่าวิธีตรวจวิเคราะห์ฟีคัลโคลิฟอร์มด้วยวิธี membrane filter ใน Standard Method for Examination of Water and Waste Water ฉบับปัจจุบัน  มีรายละเอียดอะไรบ้าง  ตรวจวิเคราะห์อย่างไร  ทำงัยละที่นี้ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่  แต่ก็ต้องอ่านและช่วยๆ กันแปลไป   นอกจากนี้ยังมีเอกสารวิธีทดสอบของสถาบันใดอีกบ้างที่ใช้วิธีเดียวกันในการตรวจวิเคราะห์ และเนื้อหาแตกต่างจาก Standard Method for Examination of Water and Waste Water หรือเปล่า   ก็ต้องค้นหาเอกสารทาง internet  อย่างว่าแหละงบประมาณน้อยจะสั่งซื้อหนังสือก็ไม่มีตังค์  จะเดินทางไปค้นหาเอกสารตามสถาบันการศึกษาก็ไม่มีงบ  แต่โชคดีที่เราสามารถหาเอกสารได้ทาง internet ที่เป็น free copy ได้ ปกติมีไม่บ่อยนักที่จะให้ free download โดยทั่วไปจะต้องจ่ายตังค์กี่เหรียญๆ ก็ว่าไป  เราได้เอกสารของ Bordner,R., J.A. Winter and P.V. Scarpino (eds).1978. Microbiological Methods for Monitoring the Environmental Water and Wastes,  Environmental Monitoring and Support Laboratory Office of Research and Development, USEPA, USA. และแปลเอกสารเพื่อเปรียบเทียบวิธีการตรวจวิเคราะห์ของทั้ง 2 สถาบัน  แล้วก็สรุปมาเป็นเอกสารวิธีวิเคราะห์ของเรา (ฉบับร่าง)

2. เตรียมความพร้อมของเครื่องมือ/เครื่องแก้ว/สารเคมีที่ต้องใช้ 

       จากรายละเอียดเอกสารที่เราศึกษาและจัดทำเป็นเอกสารวิธีวิเคราะห์ของเราในข้อ 1 ก้อมาศึกษาอย่างละเอียดอีกทีว่าเครื่องมือ เครื่องแก้ว สารเคมีที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง  และห้องปฏิบัติการเรามีอะไรอยู่แล้ว หรือต้องจัดซื้อ/จัดหาอะไรเพิ่มเติมต่อไป   เราสรุปได้ว่า

  • เครื่องมือเรามีพร้อมอยู่แล้ว ทั้ง Incubator และ Vacuum pump
  • เครื่องแก้ว ที่เราจำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติม คือ plate เพราะวิธีเก่าใช้ tube แต่วิธีใหม่ต้องใช้ plate
  • สารเคมี  ต้องจัดหาใหม่ทั้งหมด เพราะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับวิธีเก่า  และที่สำคัญมีราคาแพง (จริงๆ)  แถมยังต้องสั่งซื้อจากเมืองนอกอีก 

       เนื่องจากเราต้องรอสารเคมีที่ต้องใช้ในการตรวจวิเคราะห์จากเมืองนอกโน้น จึงจะเริ่มทำการตรวจวิเคราะห์ได้   ถ้างั้นเราพอได้รับสารเคมีและเริ่มทำการตรวจวิเคราะห์ขั้นตอนต่อไป  ชุมชนชาว Lab จะมาพูดคุยกันอีกทีถึงขั้นต่อไปของกระบวนการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำทะเลของห้องปฏิบัติการเรา

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 429498เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้ดำเนินงานต่อไปค่ะ

 

ขอร่วมแสดงความเห็นค่ะนอกจากการพัฒนาเรื่องของมาตรฐานในการตรวจวัดให้ได้คุณภาพ(ถูกต้อง แม่นยำ ได้มาตรฐาน)แล้ว น่าจะมีเรื่องของความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์และสารเคมีในการวิเคราะห์ต่างๆด้วยน่ะค่ะ เพราะห้องlab เป็นจุดทำงานที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงในเรื่องของการสัมผัสสารเคมีค่อนข้างสูงน่ะค่ะ และเรื่องของความเครียดด้วยค่ะเพราะเป็นงานที่จะต้องใช้ความละเอียด ถูกต้องในทุกขั้นตอนการทำงานหากผลวิเคราะห์ผิดพลาดย่อมส่งผลกระทบหลายด้าน  ด้วยความห่วงใยค่ะ  (สุขภาพกายใจที่ดีมีผลต่อประสิทธิภาพงานด้วยน่ะค่ะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท