ความรู้คู่คุณธรรม


คนเราเกิดมานอกจากจะประกอบด้วยสังขารแล้ว คนที่สมบูรณ์ตามความมุ่งหมายของการศึกษาจะต้องมีความเจริญทั้งทางด้านสติ ปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคม ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันพัฒนาคนให้มีสิ่งที่จำเป็นเหล่านี้ให้เป็น องค์ประกอบที่สำคัญของคน และคนที่ได้รับการพัฒนาหรือพัฒนาตนเองแล้วต้องมีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อตนเองและสังคม

ความมุ่งหมายของการจัดการศึกษาของไทยเป็นการพัฒนามนุษย์ให้มีความสมบูรณ์และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ฉะนั้น การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวไว้ว่า การศึกษาก็เพื่อกระทำให้หมดสิ้นซึ่งสัญชาตญาณอย่างสัตว์ การศึกษามีขอบเขตที่กว้างขวางมาก ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น แต่กินความไปถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยวิธีการต่างๆด้วยตนเอง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียนก็ตาม และนอกจากแนวคิดบูรณาการระหว่างวิชาต่างๆแล้ว การบูรณาการการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน ผู้สอนต้องมีการบูรณาการวิชาที่สอนกับคุณธรรมจริยธรรมและวัฒนธรรมด้วย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถเชื่อมโยงการใช้ความรู้นั้นให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงที่มีคุณค่าต่อตนเองและต่อผู้อื่น เช่น ครูที่สอนการบวกเลขในวิชาคณิตศาสตร์ก็ต้องสอนให้ผู้เรียนใช้การบวกให้เป็นประโยชน์ในทางซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและต่อบุคคลอื่น ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช นายกราชบัณฑิตยสถาน อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  ได้เคยกล่าวไว้ว่า กระบวนการเรียนรู้มี 6 องค์ประกอบ คือ การถ่ายทอด การฝึก การอบรม การสืบสวน การสร้างสรรค์ และการสร้างความรู้ และวิธีการเรียนรู้ที่จำเป็นและสิ่งสำคัญที่สุด คือ

                           1.  ต้องให้ผู้เรียนมีประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง

                           2.  มีวินัยในตนเอง

                           3.  ให้โอกาสผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

                           4.  ผู้เรียนจะเรียนรู้ศีลธรรมจรรยาได้มากเมื่ออยู่ท่ามกลางของบรรยากาศที่ไม่แน่นอน และมีประเด็นปัญหาในเรื่องศีลธรรมที่ต้องตัดสินใจ

                                5. โรงเรียนควรหากิจกรรมเสริมที่ไม่ใช่วิชาการในชั้นเรียน

                                6.  ศีลธรรมจรรยาเป็นเรื่องที่สอนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องเอื้ออำนวยให้เกิดประโยชน์โดยตรง

                                ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือหรือกระบวนการในการพัฒนาคน พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต)  ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการพัฒนาคนว่าต้องมีครบทั้ง 4 ด้าน คือ

1. ภาวิตกาย  แปลว่า มีกายที่เจริญแล้วหรือพัฒนาแล้ว กล่าวคือ มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางกายได้อย่างดีและอย่างได้ผลดี มีความสมบูรณ์ของชีวิตในด้านกาย

2. ภาวิตศีล  แปลว่า มีศีลที่เจริญแล้วหรือพัฒนาแล้ว กล่าวคือ มีพฤติกรรมทางสังคมที่พัฒนาแล้ว ดำรงตนอยู่ในวินัย มีศีลธรรม มีความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะสร้างสรรค์และก่อสันติสุข

3. ภาวิตจิต  แปลว่า  มีจิตใจที่เจริญแล้ว กล่าวคือ มีจิตใจที่ฝึกอบรมมาดีแล้ว สมบูรณ์ด้วยสุขภาพจิต สมรรถภาพจิตและสุขภาพจิต

4. ภาวิตปัญญา  แปลว่า  มีปัญญาที่เกิดแล้วหรือพัฒนาแล้ว และมีปัญญาที่มีอิสระจากการครอบงำของกิเลส มองดูก็เข้าใจเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง หรือตามที่มันเป็นและแรงจูงใจเคลือบแฝงรู้เท่าทันธรรมดาจนมีความเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ 

               ดังนั้น คนเราเกิดมานอกจากจะประกอบด้วยสังขารแล้ว คนที่สมบูรณ์ตามความมุ่งหมายของการศึกษาจะต้องมีความเจริญทั้งทางด้านสติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคม ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันพัฒนาคนให้มีสิ่งที่จำเป็นเหล่านี้ให้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของคน และคนที่ได้รับการพัฒนาหรือพัฒนาตนเองแล้วต้องมีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม แนวทางการพัฒนามี 2 ลักษณะ คือ คนอื่นมาพัฒนาให้ หรือ เราพัฒนาตัวเราเอง ซึ่งวิธีการหลังเป็นวิธีที่ดีและมีคุณค่าที่สุด โดยเฉพาะบุคคลที่พ้นจากการศึกษาแล้วแต่ต้องเป็นการพัฒนาเพื่อประโยชน์ในทางสุจริตต่อตนเองและสังคม ฉะนั้น การเรียน(รู้) จึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและทุกสถานที่ เราจำเป็นต้องร่วมกันสร้างลักษณะนิสัยแห่งการเรียนรู้ให้เกิดแก่ทุกคนโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในวัยเรียน (Learning Person)

สวัสดีครับ

หมายเลขบันทึก: 429489เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท