ประวัติเมืองสงขลา (15) คลองแห


คลองแหวันนี้ นาข้าวกลายเป็นนาร้าง พื้นที่ถูกถมสร้างบ้านจัดสรร เกิดชุมชนแออัดบริเวณที่ดินริมทางรถไฟเก่า และบุกเบิกพื้นที่ทำสวนยางพาราบริเวณโคก

คลองแห เป็นชื่อตำบลหนึ่งทางทิศเหนือของเทศบาลนครหาดใหญ่ ปัจจุบันยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองแล้วเพื่อรองรับกับความเจริญที่เริ่มขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับ

ชาวบ้านที่อยู่คลองแหมานานเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อ 30-40 ปีก่อน พื้นที่แถบนี้มีแต่ทุ่งนาและดงตาลกว้างใหญ่ไพศาล ไม่ต่างจากแถบอำเภอสทิงพระและระโนด ส่วนบริเวณริมลำน้ำคลองแห คลองเตยและคลองอู่ตะเภาที่ไหลผ่านตำบลนี้เป็นป่ารกเขียวชอุ่มตลอดปี

มีตำนานเล่าขานว่าเมื่อครั้งโบราณตอนที่มีการสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราชนั้น ชาวเมืองกลันตันอันห่างไกลที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้พากันออกเดินทางเพื่อมาร่วมในงานนี้ ใช้เวลาเดินทางหลายวัน ค่ำไหนนอนนั่น

เมื่อมาถึงเนินสูง มีต้นไม้ใหญ่ริมคลอง น้ำใสสะอาด จึงหยุดพักค้างแรมหนึ่งคืน รุ่งเช้าเห็นผู้คนจำนวนมากเดินทางมาจากทางเหนือมุ่งลงใต้ผ่านมา จึงสนทนากันได้ความว่าเดินทางกลับจากงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองตามพรลิงค์และงานได้เสร็จสิ้นแล้ว ชาวเมืองกลันตันจึงเลิกล้มความตั้งใจและจะเดินทางกลับ

แต่ทรัพย์สินที่เตรียมจะนำไปบูชาเจดีย์นั้นไม่ได้นำกลับไป รวบรวมนำมากองไว้แล้วอธิษฐาน ขุดหลุมฝังไว้ตรงที่คลองสองสายมาบรรจบกัน คือคลองลานและคลองเตย แล้วเกิดเป็นคลองสายใหญ่ขึ้น ชาวบ้านเรียกพื้นที่นี้ว่า โคกนกคุ่ม

ส่วนเครื่องประโคมแห่ต่างๆ ที่นำมา ได้แก่ ฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ ก็นำมากองไว้แล้วอธิษฐาน จากนั้นจึงจมลงในคลองสายใหญ่แห่งนี้ ชาวบ้านจึงเรียกคลองนี้ว่า คลองฆ้องแห่ แต่ต่อมาคำว่าฆ้องหายไป เนื่องจากคนใต้นิยมพูดให้สั้นๆ และคำว่าแห่ตามสำเนียงใต้ก็กลายเป็น แห และเรียก คลองแหมาจนทุกวันนี้

เขตเทศบาลเมืองคลองแหในปัจจุบัน ด้านเหนือจรดตำบลคูเต่า ด้านตะวันออกจรดตำบลน้ำน้อย ด้านใต้จรดทางรถไฟไปกรุงเทพและทางรถไฟเก่าสายสงขลาที่เลิกไปกว่า 30 ปีแล้ว ส่วนด้านตะวันตกจรดคลองอู่ตะเภา

หลายสิบปีก่อน ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตำบลคลองแหเคยเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟชุมทางอู่ตะเภา อันเป็นชุมทางสำคัญก่อนความเจริญจะเข้าสู่เมืองหาดใหญ่ เป็นทางแยกไปสงขลาซึ่งเปิดเดินรถไฟสายสงขลาในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2456

รถไฟจากทุ่งสงเมื่อมุ่งหน้าไปสงขลาก็แยกและเลี้ยวโค้งที่ชุมทางอู่ตะเภาได้เลย แต่หากตรงไปก็จะถึงโคกเสม็ดชุนหรือชุมทางหาดใหญ่ในปัจจุบันเพื่อแยกไปปาดังเบซาร์และไปปัตตานี

แต่ต่อมาเห็นว่าที่ตั้งของชุมทางอู่ตะเภาเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง เป็นอุปสรรคต่อความเจริญ จึงลดฐานะสถานีอู่ตะเภาลงเป็นสถานีธรรมดา และแก้ทิศรางรถไฟไปสงขลาไปเข้าสถานีชุมทางหาดใหญ่แทนในปีพ.ศ. 2465 และเมื่อหาดใหญ่เจริญขึ้นตามลำดับ สถานีอู่ตะเภาเล็กๆ กลางทุ่งนาก็ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป จึงยุบเลิกไปในที่สุด

คลองแหวันนี้ นาข้าวกลายเป็นนาร้าง พื้นที่ถูกถมสร้างบ้านจัดสรร เกิดชุมชนแออัดบริเวณที่ดินริมทางรถไฟเก่า และบุกเบิกพื้นที่ทำสวนยางพาราบริเวณโคก

ตลาดน้ำสร้างใหม่ ฝั่งตรงข้ามวัดคลองแหเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น

มาเยือนคลองแหเมื่อใด ผมอดนึกภาพเรื่องเล่าเกี่ยวกับทุ่งนา ดงตาล ป่าริมน้ำและรถไฟสายสงขลาเมื่อครั้งอดีตไม่ได้

เดิมแถบนี้เป็นดงตาล ทุกวันนี้ยังมีต้นตาลเหลือให้เห็นอยู่บ้างเล็กน้อย

หมายเลขบันทึก: 429397เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2011 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เข้าใจว่า ปัจจุบัน
  • มีตลาดน้ำคลองแหด้วยครับอาจารย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท