3. พันธกรณีตามกฎหมายในการจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎรไทย 3.1 พันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศในการจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎรไทย


             การจัดทำทะเบียนประวัตินั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์มาก เป็นการที่รัฐให้สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to Recognition of Legal Personality) ทำให้ประชากรภายในรัฐมีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย อันเป็นสิทธิมนุษยชน และเป็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทำให้มนุษย์ปรากฏตัวตนต่อสายตาของกฎหมายและรัฐ รวมทั้งทำให้มนุษย์มีได้รับการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน รวมถึงเป็นหลักประกันในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ สำหรับคนไร้รัฐ แต่อย่างไรก็ตามหากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายฉบับใดให้การรับรองไว้โดยชัดแจ้งว่าเป็นสิทธิของคนไร้รัฐ และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้การคุ้มครองสิทธิ โดยจะต้องดเนินการให้คนไร้รัฐได้รับการขจัดความไร้รัฐโดยได้มาซึ่งเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลนั่นก็คือ ทะเบียนประวัติ

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของสิทธิของคนไร้รัฐในการที่จะได้รับการรับรับรองจากรัฐโดยการบันทึกรายการบุคคลในทะเบียนประวัติ และได้รับเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล กลายเป็นคนมีรัฐ และหน้าที่ของรัฐไทยในการคุ้มครองและรับรองสิทธิ ฯ ดังกล่าว จึงมีความจำเป็นจะต้องศึกษาถึงการรับรองสิทธิและหน้าที่ของรัฐไทยภายใต้กฎหมายทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของรัฐไทย

 

3.1 พันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศในการจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎรไทย

             กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้บัญญัติในเรื่องสิทธิของมนุษย์ที่จะได้รับสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายนี้และผูกพันต่อรัฐไทยให้มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามนั้นมีอยู่ 2 รูปแบบคือ จารีตประเพณีระหว่างประเทศ และสนธิสัญญา ดังจะกล่าวต่อไปนี้

           3.1.1 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948[1] (the Universal Declaration of Human Rights 1948[2] : UDHR)

            ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นกฎหมายระหว่างประเทศในรูปแบบของจารีตประเพณีระหว่างประเทศอันเป็นรากฐานของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทั้งปวง เป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมมือระหว่างประเทศที่มีความสำคัญในการวางกรอบเบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และเป็นเอกสารหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรก ดังนั้น เพื่อให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล และให้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติทั่วไปของนานาประเทศ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงให้การรับรองตามข้อมติที่ 217 A (III) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 และมีผลผูกพันประเทศไทยด้วย ในฐานะที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีลักษณะเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

        สำหรับเนื้อหาของปฏิญญาฉบับนี้ได้กล่าวถึงหลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสำคัญ 30 ประการ และเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 จะพบว่าองค์การสหประชาชาติได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ไม่อาจจะถูกดูหมิ่นเยียดหยาม ตลอดจนได้ตระหนักว่าบุคคลมีสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่จะได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติอย่างเสมอภาคกันระหว่างชายหญิง

              ส่วนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการรับรองสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลนั้น ได้ถูกบัญญัติไว้ในข้อ 6 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “ทุก ๆ คนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่า ณ ที่ใด[3]

              เมื่อพิจารณาจากข้อ 6 แห่งปฏิญญาแล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐนั้นจะต้องมีหน้าที่ในการที่จะต้องให้สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to Recognition of Legal Personality) แก่มนุษย์ทุกคนภายในรัฐนั้น ๆ การที่ไม่รับรองสิทธิในสถานะบุคคลของมนุษย์ภายในรัฐ อันจะทำให้มนุษย์ผู้นั้น ไร้ตัวตนในสายตาของรัฐนั้นไม่ได้ และย่อมละเมิดพันธกรณีในข้อนี้ด้วย 

              และเจตนารมณ์ของปฏิญญาฉบับนี้ก็ได้รับการยืนยันต่อมา โดยองค์การสหประชาชาติได้รับรองและประมวลเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นลายลักษณ์อักษรในรูปแบบสนธิสัญญาอีกด้วยนั้นก็คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 นั่นเอง

              3.1.2 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966[4] (International Covenant on Civil and Political Rights 1966[5] : ICCPR)

             กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 เป็นสนธิสัญญาพหุภาคี ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2509 และมีผลใช้บังคับเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2519

              ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539[6] โดยมีผลใช้บังคับกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2540[7] ดังนั้น สนธิสัญญาฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นลายลักษณ์อักษรในรูปแบบสนธิสัญญาที่รัฐไทยจะต้องผูกพันและมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาฉบับนี้

ICCPR เป็นส่วนหนึ่งของ "International Bill of Human Rights" ร่วมกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights หรือ ICESCR)[8]  

              กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประกอบด้วยวรรคอารัมภบท และบทบัญญัติ 53 ข้อ ซึ่งแบ่งเป็น 6 ส่วน ซึ่งเนื้อหาของสนธิสัญญาฉบับนี้ได้รับรองให้ภาคีจะต้องเคารพ และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งจะต้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และได้รับสิทธิทั้งด้านพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการห้ามการเลือกปฏิบัติ โดยจะดำเนินการให้สิทธิมนุษยชนที่บัญญัติไว้ในกติกาฉบับนี้เกิดผลในทางปฏิบัติภายในประเทศ

              สำหรับในประเด็นเรื่องของสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to Recognition of Legal Personality) นั้นก็ได้มีการบัญญัติสืบทอดเจตนารมณ์ต่อมา ซึ่งบัญญัติไว้ในข้อ 16 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ซึ่งใช้ข้อความในลักษณะเดียวกัน ว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในที่ทุกสถาน[9]

              ดังนั้น รัฐภาคีสนธิสัญญาฉบับนี้จะต้องมีหน้าที่ในการที่จะต้องรับรองสิทธิในสถานะบุคคลแก่มนุษย์ทุกคนภายในรัฐนั้น ๆ การที่ไม่รับรองสิทธิในสถานะบุคคลของมนุษย์ภายในรัฐ อันจะทำให้มนุษย์ผู้นั้นไร้ตัวตนในสายตาของรัฐนั้นย่อมเป็นการละเมิดพันธกรณีในข้อนี้  

และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนี้มีกระบวนการติดตามตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee)[10] (หน่วยงานต่างหากจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ซึ่งได้แทนที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Commission on Human Rights) ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติใน พ.ศ. 2549) ซึ่งตั้งขึ้นอย่างถาวร เพื่อพิจารณารายงานตามกำหนดเวลา ที่ส่งเข้ามาโดยรัฐสมาชิกตามข้อตกลงในสนธิสัญญา

 ซึ่งได้มีข้อกำหนดไว้ในกติกาฉบับนี้ว่า ให้รัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้จะต้องการจัดทำรายงานความก้าวหน้าสถานการณ์ว่าด้วยมาตรการต่าง ๆ ซึ่งรัฐใช้ในอันที่จะทำให้สิทธิอันได้รับรองไว้ในกติกาฉบับนี้เป็นผลจริงจังและว่าด้วยความคืบหน้าในการใช้สิทธิเช่นว่านั้น[11] รวมทั้งปัญหาอุปสรรคภายในประเทศเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งเป็นผลจากการอนุวัติกติกา โดยเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Committee-HRC)

              นอกจากนี้ กติกาฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้รัฐภาคีสามารถที่จะรัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้ สามาถที่จะจัดทำเอกสารในการกล่าวโทษรัฐบาลภาคีอื่นที่ละเมิดพันธกรณีตามกติกา มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติในกติกาฉบับนี้ เป็นลายลักษณ์อักษรและเสนอให้รัฐภาคีที่ถูกกล่าวโทษพิจารณาก็ได้[12] หรือโดยการเสนอให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นผู้พิจารณา

เช่นนี้แล้วรัฐไทยเพื่อที่จะไม่ทำให้ประเทศไทยต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในประชาคมระหว่างประเทศแล้ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามกติกาฉบับนี้โดยเคร่งครัด 

 3.1.3 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ค.ศ. 2006 (Convention on the Rights of Persons with Disabilities 2006[13]: CRPD)

               อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการเป็นสนธิสัญญาพหุภาคี โดยเริ่มยกร่างในปี พ.ศ.2545 องค์การสหประชาชาติได้แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการขึ้น ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยสามัญที่ 61 ได้มีมติรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ และพิธีสารเลือกรับ (Optional protocol) ของอนุสัญญาฉบับดังกล่าว

ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ โดยการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551[14] ทั้งนี้ อนุสัญญาดังกล่าว มีผลใช้บังคับต่อประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม พ.ค. 2551[15] ดังนั้น ประเทศไทยมีพันธกรณีในการที่จะต้องปฎิบัติตามอนุสัญญาฉบับนี้

              อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการประกอบด้วยวรรคอารัมภบท และบทบัญญัติ 50 ข้อ ซึ่งเป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ส่งเสริมพิทักษ์และรับรองให้คนพิการได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเสรีภาพขั้นพื้นฐานและมีความเสมอภาคอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งส่งเสริมการเคารพศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิดของคนพิการอนุสัญญาฉบับนี้ยังเป็นอนุสัญญาฉบับแรก ที่ครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของคนพิการ ไม่เฉพาะด้านพลเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และชีวิตครองครัวอีกด้วย และรัฐภาคีมีพันธกรณีที่จะต้องขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการในทุกรูปแบบ ทั้งในด้านกฎหมาย การปกครอง และการปฏิบัติต่างๆ ซึ่งรวมถึงการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อประกันการเข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันของคนพิการ ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การขนส่ง ข้อมูลข่าวสารและบริการสาธารณะ การยอมรับความเท่าเทียมกันของคนพิการในทางกฎหมายสำหรับโอกาสในการรับการศึกษา การเข้าทำงาน การรักษาพยาบาล การประกันสิทธิและโอกาสที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกันกับบุคคลทั่วไป

              สำหรับในประเด็นเรื่องของสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to Recognition of Legal Personality) นั้นก็ได้มีการบัญญัติที่คุ้มครองและรับรองให้สิทธินี้กับคนพิการด้วย ซึ่งบัญญัติไว้ในข้อ 12 วรรค 1 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า

            “ข้อ 12 การยอมรับอย่างเท่าเทียมกันเบื้องหน้ากฎหมาย

1. รัฐภาคียืนยันว่าคนพิการมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลเบื้องหน้ากฎหมายในทุกแห่งหน[16]

              ดังนั้น รัฐภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ รวมถึงประเทศไทยด้วยจะต้องมีหน้าที่ในการที่จะต้องรับรองสิทธิในสถานะบุคคลแก่คนพิการทุกคนภายในรัฐ การที่ไม่รับรองสิทธิในสถานะบุคคลของมนุษย์ภายในรัฐ อันจะทำให้มนุษย์ผู้นั้นไร้ตัวตนในสายตาของรัฐนั้นย่อมเป็นการละเมิดพันธกรณีในข้อนี้  

และอนุสัญญาฉบับนี้ก็ได้มีกระบวนการติดตามตรวจสอบโดยคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Committee on the Rights of Persons with Disabilities)[17] เช่นเดียวกัน เพื่อพิจารณารายงานตามกำหนดเวลา ที่ส่งเข้ามาโดยรัฐสมาชิกตามข้อตกลงในอนุสัญญาสัญญา

ซึ่งได้มีข้อกำหนดไว้ในกติกาฉบับนี้ว่า ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับมาตรการในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา และความคืบหน้าในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปัญหาอุปสรรคภายในประเทศเกี่ยวกับสิทธิของคนพิการซึ่งเป็นผลจากการอนุวัติการตามอนุสัญญา โดยเสนอต่อคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ ภายในเวลา 2 ปี หลังจากอนุสัญญามีผลบังคับใช้ และหลังจากนั้นต้องส่งฉบับต่อๆ ไป อย่างน้อยทุก ๆ 4 ปี หรือเมื่อคณะกรรมการ ฯ ร้องขอ[18]

              เช่นนี้แล้วรัฐไทยเพื่อที่จะไม่ทำให้ประเทศไทยต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในประชาคมระหว่างประเทศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับนี้โดยเคร่งครัด 

             จากการที่ได้ศึกษาถึงพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่มีผลผูกพันต่อรัฐไทยทั้ง 3 ฉบับแล้ว พบว่า ทุกฉบับนั้นได้มีการบัญญัติในเรื่องของสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to Recognition of Legal Personality) ไว้ในลักษณะเดียวกัน นั่นก็คือ รัฐที่กฎหมายระหว่างประเทศแต่ละฉบับมีผลผูกพันนั้นจะต้องรับรองสิทธิในสถานะบุคคล หรือรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายให้กับมนุษย์ทุกคนที่อยู่ภายในรัฐ

            แต่บทบัญญัติแห่งกฎหมายระหว่างประเทศทั้ง 3 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 และ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ค.ศ. 2006 แล้วนั้นมิได้กำหนดถึงลักษณะ รูปแบบ เงื่อนไข และวิธีการของการให้และรับรองสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to Recognition of Legal Personality) ซึ่งจะปล่อยให้เป็นไปตามหลักนาจอธิปไตยของรัฐ และจุดเกาะเกี่ยวระหว่างบุคคลแต่ละคนนั้นกับรัฐ ซึ่งจะเป็นดุลยพินิจของรัฐเจ้าของดินแดนนั้น ๆ ในการที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขและวิธีการในการได้มาซึ่งสิทธิในการรับรองสถานะบุคคล โดยกฎหมายระหว่างประเทศได้เพียงแต่กำหนดรับรองสิทธิไว้เพียงอย่างเดียว และในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนประวัตินั้น ก็มิได้มีการบัญญัติไว้โดยตรงเช่นเดียวกัน

            อย่างไรก็ดี แม้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 ฉบับนี้จะมิได้บัญญัติไว้โดยแจ้งชัด โดยการกำหนดไว้โดยตรง แต่กฎหมายระหว่างประเทศได้บัญญัติรับรองการมีสิทธิที่จะได้รับการรับรองความเป็นบุคคลจากรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้มนุษย์ทุกคนในรัฐนั้น ๆ จะตกเป็นคนไร้รัฐไม่ได้ กล่าวคือ คนทุกคนที่อาศัยอยู่ภายในรัฐที่ผูกพันตามพันธกรณีระหว่างประเทศนี้จะต้องได้รับการรับรองจากรัฐว่ามีสถานะบุคคลตามกฎหมาย และได้รับการบันทึกในระบบการทะเบียนราษฎรของรัฐ พร้อมทั้งมีสิทธิในเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ซึ่งเป็นกลไก หรือเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้เพื่อแสดงหรือยืนยันถึงความเป็นบุคคลตามกฎหมายต่อรัฐและบุคคลอื่น ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่าสิทธิในการมีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลเป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการมีสถานะความเป็นบุคคลตามกฎหมาย และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คู่ไปกับหลักความเป็นบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งไม่ว่าบุคคลใดก็ตามหากมีสภาพบุคคลตามกฎหมายแล้ว ก็พึงได้รับการรับรองสิทธิในการมีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลด้วย

            สำหรับในทางปฏิบัติของรัฐไทยแล้วเมื่อพบคนไร้รัฐที่ยังมิอาจที่จะพิสูจน์สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ และสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองแล้ว ก็จะจัดทำและออกเอกสารทางทะเบียนราษฎรในรูปแบบของทะเบียนประวัติให้ อันทำให้คนไร้รัฐได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติมีสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎร และได้รับการรับรองจากรัฐว่ามีสถานะบุคคลตามกฎหมาย

            ดังนั้น ประเทศไทยจะไม่รับรองสิทธิในสถานะบุคคลของคนภายในรัฐ และทำให้คนตกเป็นคนไร้รัฐไม่ได้ และเป็นหน้าที่ของรัฐไทยอันมีต่อพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันรัฐไทย มิฉะนั้นแล้วรัฐไทยอาจถูกกล่าวหาว่าได้ละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ และละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวในประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ  (Human Rights Committee) และคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Committee on the Rights of Persons with Disabilities) อันจะส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในประชาคมระหว่างประเทศ

 


[1] ผูกพันประเทศไทยในฐานะบ่อเกิดแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ

[2] On December 10, 1948 the General Assembly of the United Nations adopted and proclaimed the Universal Declaration of Human Rights the full text of which appears in the following pages. Following this historic act the Assembly called upon all Member countries to publicize the text of the Declaration and "to cause it to be disseminated, displayed, read and expounded principally in schools and other educational institutions, without distinction based on the political status of countries or territories." ; United Nation, “The Universal Declaration of Human Rights,” <http://www.un. org/en/documents/udhr/,> August 2010.

[3]  Article 6 of the Universal Declaration of Human Rights 1948

   “Everyone has the right to recognition everywhere as a person before the law.

[4] คณะรัฐมนตรีมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2535 ให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติกานี้ ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 โดยมีผลใช้บังคับกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2540

[5] Adopted and opened for signature, ratification and accession by General Assembly resolution 2200A (XXI) of 16 December 1966 entry into force 23 March 1976, in accordance with Article 49. ; Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights, “International Covenant on Civil and Political Rights,” <http://www2.ohchr.org/english/law/ccpr.htm>, August 2010

[6] โดยคณะรัฐมนตรีมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2535 ให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติกานี้โดยการภาคยานุวัติ

[7] Article 49

1. The present Covenant shall enter into force three months after the date of the deposit with the Secretary-General of the United Nations of the thirty-fifth instrument of ratification or instrument of accession.

2. For each State ratifying the present Covenant or acceding to it after the deposit of the thirty-fifth instrument of ratification or instrument of accession, the present Covenant shall enter into force three months after the date of the deposit of its own instrument of ratification or instrument of accession.

[8] UN OHCHR, Fact Sheet No.2 (Rev.1), The International Bill of Human Rights. <http://www.unhchr.ch/html/menu6/2/fs2.htm> (June 1996).

[9] Article 16 of International Covenant on Civil and Political Rights 1966

 “Everyone shall have the right to recognition everywhere as a person before the law.”

[10] Article 28

1. There shall be established a Human Rights Committee (hereafter referred to in the present Covenant as the Committee). It shall consist of eighteen members and shall carry out the functions hereinafter provided.

[11] Article 40

1. The States Parties to the present Covenant undertake to submit reports on the measures they have adopted which give effect to the rights recognized herein and on the progress made in the enjoyment of those rights: (a) Within one year of the entry into force of the present Covenant for the States Parties concerned;

[12] Article 41

1. A State Party to the present Covenant may at any time declare under this article that it recognizes the competence of the Committee to receive and consider communications to the effect that a State Party claims that another State Party is not fulfilling its obligations under the present Covenant. Communications under this article may be received and considered only if submitted by a State Party which has made a declaration recognizing in regard to itself the competence of the Committee. No communication shall be received by the Committee if it concerns a State Party which has not made such a declaration. Communications received under this article shall be dealt with in accordance with the following procedure:

(a) If a State Party to the present Covenant considers that another State Party is not giving effect to the provisions of the present Covenant, it may, by written communication, bring the matter to the attention of that State Party. Within three months after the receipt of the communication the receiving State shall afford the State which sent the communication an explanation, or any other statement in writing clarifying the matter which should include, to the extent possible and pertinent, reference to domestic procedures and remedies taken, pending, or available in the matter;

[13] United Nation, Convention on the Rights of Persons with Disabilities, <http://www.un.org/disabilities/convention/conventionfull.shtml>

[14] คณะรัฐมนตรีมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551เห็นชอบให้ประเทศไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ พร้อมทั้งมอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

[15] Article 45 - Entry into force

1. The present Convention shall enter into force on the thirtieth day after the deposit of the twentieth instrument of ratification or accession.
          2. For each State or regional integration organization ratifying, formally confirming or acceding to the Convention after the deposit of the twentieth such instrument, the Convention shall enter into force on the thirtieth day after the deposit of its own such instrument.

[16] Article 12 of Convention on the Rights of Persons with Disabilities

Equal recognition before the law

1. States Parties reaffirm that persons with disabilities have the right to recognition everywhere as persons before the law.

[17] Article 34 - Committee on the Rights of Persons with Disabilities

             1. There shall be established a Committee on the Rights of Persons with Disabilities (hereafter referred to as “the Committee”), which shall carry out the functions hereinafter provided.

[18] Article 35 - Reports by States Parties

   1. Each State Party shall submit to the Committee, through the Secretary-General of the United Nations, a comprehensive report on measures taken to give effect to its obligations under the present Convention and on the progress made in that regard, within two years after the entry into force of the present Convention for the State Party concerned.

หมายเลขบันทึก: 429390เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2011 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท