บทความการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ


ผู้บริหารการศึกษามืออาชีพ

ผู้บริหารการศึกษามืออาชีพ

ผู้บริหารมืออาชีพ

                โดยภาพรวม คำว่า “มืออาชีพ” หรือ “Professional”  มีคุณลักษณะที่สำคัญ

                ต้องเป็นคนที่ยังชีพด้วยงานนั้น คือ ต้องมีรายได้หลักจากการงานในวิชาชีพที่ทำ และทุ่มเทเวลาให้กับงานในอาชีพนั้นจริง ๆ

                ต้องมีการศึกษาและอบรม เพื่อให้มีความรู้ มีศาสตร์ มีหลักการ มีทฤษฎี มีการวิจัยค้น จนรู้ชัดและรู้จริง และมีการพัฒนาทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

                ต้องนำศาสตร์ไปใช้ในการบริหาร  มีการฝึกฝนอย่างจริงจังในอาชีพนั้น ๆ จริง ๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ที่มากพอ

                ต้องมีการรับรองมาตรฐานแห่งวิชาชีพ  โดยมีการออกใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ  เช่น แพทย์  พยาบาล  ทนายความ  นักบัญชี สถาปนิก วิศวกร  เป็นต้น ซึ่งในการตัดสินใจ การวิเคราะห์ และการดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพดังกล่าว จะต้องใช้ผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเท่านั้น

                ต้องมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ สำหรับยึดถือและปฏิบัติโดยเคร่งครัด

มีองค์กรหรือสมาคมวิชาชีพให้การรับรอง โดยการออกใบประกอบวิชาชีพ  เพื่อควบคุมกำกับดูแลคุณภาพ มาตรฐาน และจรรยาบรรณ รวมทั้งมีมาตรการลงโทษเมื่อมีการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

จะเห็นว่า วิชาชีพที่มีการรับรองทั้งหลายล้วนแล้วแต่ใช้ทฤษฎีหลักการ และองค์ความรู้ และองค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมาทั้งสิ้น แต่นักบริหารการศึกษาของเราน้อยรายนักที่จะใช้ศาสตร์ในการบริหารงาน ส่วนมากมักบริหารโดยไม่ใช้ทฤษฎี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการศึกษาอบรมไม่เข้มข้น ไม่มีการเชื่อมโยงทฤษฎีกับชีวิตการทำงาน  และขาดการฝึกฝนอย่างเพียงพอ ทำให้การบริหารกันแบบ “มั่ว แมเนจเมนท์”  เป็นส่วนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่การศึกษาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

                สังคมไทยอยากเห็นผู้บริหารการศึกษาของเราเป็น “ผู้บริหารมืออาชีพ” มีความรู้และประสบการณ์สมกับเป็นผู้บริหารบุคลากรที่เป็นครูมืออาชีพแล้ว  ผู้บริหารยุคใหม่ต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ  เป็นผู้นำการปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติโดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความสามารถใน “การบริหารโดยการใช้โรงเรียนเป็นฐาน” (School-based Management) ซึ่งหมายถึง ความสามารถที่จะประสานการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา ชุมชนและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ความสามารถในการระดมและใช้ทรัพยากรเพื่อการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  ตลอดจนจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพ เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ  ไม่บริหารแบบมั่ว ๆ โดยไม่ใช้ศาสตร์หรือความรู้ที่ร่ำเรียนมา

                แม้ว่าการบริหารหน่วยงานทางการศึกษาจะไม่เห็นผลกำไรหรือขาดทุนอย่างชัดเจนอย่างภาคเอกชน  แต่เราสามารถประเมินได้ว่า  ผู้บริหารคนไหนเป็นผู้บริหารมืออาชีพ

                บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา

ผู้บริหารสถานศึกษาต้นแบบ หมายถึง  ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีการบริหารและการจัดการตามแนวการบริหารที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-based Management) คือ บริหารงานอย่างมีอิสระเพื่อให้เกิดความคล่องตัวต่อการบริหารวิชาการ การบริหารงานบุคคล  การบริหารงบประมาณ  และการบริหารงานทั่วไป  โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมงานด้านวิชาการเป็นหลักสำคัญ  อันจะก่อให้เกิดความสำเร็จในการปฏิรูปการเรียนรู้และการปฏิรูปการศึกษาโดยรวม

คุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษา

การบริหารสถานศึกษาต้นแบบ หมายถึง ผู้บริหารที่มีลักษณะทางวิชาชีพและคุณลักษณะส่วนบุคคล ตามเกณฑ์มาตรฐาน  ดังนี้

  1. คุณลักษณะทางวิชาชีพ

มีความเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้นำการเปลี่ยนแปลง สามารถชักนำหรือสร้างแรงจูงใจให้ผู้ร่วมงานเกิดการเปลี่ยนแปลงทางปฏิบัติงานทางการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมาย เป็นผู้มีวิสัยทัศน์  มีเป้าหมายทางการศึกษา มีการวางแผนการทำงาน มีความริเริ่มสร้างสรรค์ บริหารงานโดยมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน และรู้จักแสวงหาความรู้ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม

  1. คุณลักษณะส่วนบุคคล

เป็นแบบอย่างที่ดีของบุคลากรในสถานศึกษา มีบุคลิกภาพที่ดี มีปฏิภาณไหวพริบดี มีการตัดสินใจและแก้ปัญหาได้ดี  มีมนุษยสัมพันธ์ดี  มีความรับผิดชอบสูง  มีใจเปิดกว้างพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม มีความสามารถในการสื่อสาร กล้าในการพูดและการปฏิบัติ มีความตื่นตัวอยู่เสมอ เป็นนักพัฒนาและนักบริการสังคม   มีสุขภาพดี มีความรักในสถาบันของชาติ และอนุรักษ์ศาสนา ศิลปะ  วัฒนธรรม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

ลักษณะผู้บริหารการศึกษามืออาชีพ

นักบริหารการศึกษามืออาชีพที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการบริหารและการจัดการศึกษาตามแนวทางที่กำหนดไว้ใน 5พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542 ลักษณะดังกล่าวประกอบด้วย

  1. ลักษณะพื้นฐานทางธรรมชาติเป็นเดิมทุน
  2. การศึกษา
  3. บุคลิกภาพ
  4. คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ
  5. ความสามารถ/ทักษะ
  6. ความรู้ลึกและรู้รอบ
  7. การมีอนุญาตประกอบวิชาชีพการบริหาร

ที่มา http://www.sobkroo.com/img_news/file/A25461716.doc

               เรียบเรียงโดย นางเพชรฤทัย  อกนิษฐ์

 



 

หมายเลขบันทึก: 429276เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2011 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 08:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท