ประวัติเมืองสงขลา (6) สายน้ำสองทะเล


วันนี้ คลองสำโรงแคบลงมาก ชาวบ้านและโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำตั้งเรียงรายสองฝั่งคลอง น้ำในคลองเปลี่ยนเป็นสีดำ ใช้ประโยชน์เป็นเพียงคลองระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมเท่านั้น

พื้นที่เทศบาลนครสงขลานั้น ในอดีตอันไกลโพ้นเป็นเพียงสันทรายที่ก่อตัวขึ้นเป็นแนวเท่านั้น ธรรมชาติเล็งเห็นการณ์ไกล สร้างพื้นที่เตรียมไว้ให้มนุษย์สร้างเมือง

พัฒนาการของการสร้างเมืองสงขลาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เรามองเห็นสงขลาเป็นสองส่วน ลองขึ้นไปยืนบนยอดเขาตังกวน แล้วมองลงมาจะเห็นภาพอย่างชัดเจน

ขวามือคือด้านที่ติดทะเลสาบ เป็นเขตเมืองเก่า เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง ส่วนซ้ายมือหรือฝั่งตะวันออกของถนนรามวิถีนั้น เป็นย่านสถานที่ราชการ สนามกีฬา สถานศึกษาและเขตฐานทัพเรือ

มองตามแนวชายหาดไปไกลจนถึงเขาเก้าเส้ง เขตเทศบาลนครสงขลาไปสิ้นสุดที่นั่น

พื้นที่ด้านทิศใต้ของเมืองสงขลา ก่อนการมาถึงของทางรถไฟและสนามบินสงขลานั้น มีลักษณะเป็นอย่างไร สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงบันทึกไว้ในจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) ว่า

...ปรากฏชัดว่าแผ่นดินสงขลาเปนเนินทรายงอกบังกั้นทเลเป็นสองตอน พื้นดินไม่มีไม้เพาะปลูกอะไรได้เลย เปนแต่หญ้าๆ กับไม้เลื้อยๆ กับดินเท่านั้น มีขึ้นได้ก็แต่ยาร่วง (มะม่วงหิมพานต์) กับสนเท่านั้น...

ธรรมชาติเมื่อสร้างเนินทรายขึ้นมาแล้ว ก็ได้สร้างคลองความยาวราว 5 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลาเข้าด้วยกัน กลายเป็นสายน้ำสองทะเล ช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องเดินเรืออ้อมปลายแหลมสนอ่อน ย่นระยะทางได้เกือบ 20 กิโลเมตร เรียกว่าคลองสำโรง

และคลองสำโรงนี้ก็กลายเป็นพรมแดนธรรมชาติแบ่งเขตเทศบาลนครสงขลากับเทศบาลตำบลเขารูปช้าง

ในอดีต สิ่งแวดล้อมรอบๆ คลองสำโรงมีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าชายเลนและสัตว์น้ำ เนื่องจากมีระบบนิเวศแบบพิเศษ เป็นคลองที่มีทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อยและน้ำจืด หมุนเวียนกันไปตามฤดูกาลและน้ำขึ้นน้ำลง

นอกจากนี้ บริเวณปากคลอง ยังเป็นที่หลบคลื่นลมในฤดูมรสุมของชาวประมงอีกด้วย

คลองสำโรง ไหลผ่านสามแยกสำโรง ที่ชาวบ้านเรียกด้วยภาษาถิ่นใต้ว่า โหมฺรง (ออกเสียงควบเป็นพยางค์เดียว) เป็นทางแยกของถนนไปหาดใหญ่และไปจะนะ มีเขาสำโรงคั่นระหว่างถนนทั้งสองสาย เขาแห่งนี้เคยมีการระเบิดหินไปใช้ แต่เลิกไปนานหลายสิบปีแล้ว

จดหมายระยะทางไปตรวจราชการฯ ฉบับเดียวกันนี้ ได้มีบันทึกไว้อีกด้วยว่า

…ออกไปปากคลองริมทเลหลวงไม่ไกล จึงลองเดินไป 15 มินิต ถึงฝั่งทเล ปากคลองตันทรายอุด เขาว่าหน้าน้ำแล้วน้ำแทงทลุออกออกไปได้ มีกิ่งน้ำแยกไปจะนะในคลองนี้...

วันนี้ คลองสำโรงแคบลงมาก ชาวบ้านและโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำตั้งเรียงรายสองฝั่งคลอง น้ำในคลองเปลี่ยนเป็นสีดำ ใช้ประโยชน์เป็นเพียงคลองระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมเท่านั้น ทางเทศบาลตำบลเขารูปช้างต้องขุดลอกคลองและกำจัดผักตบชวาทิ้งเป็นประจำ ก่อนถึงฤดูน้ำหลาก เพื่อไม่ให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน

ลำคลองบางช่วง โดยเฉพาะที่ลอดผ่านถนนไทรบุรี ใกล้สามแยกสำโรง หมดสภาพคลอง เหลือเป็นเพียงท่อระบายน้ำ ทำให้สองฝั่งทะเลไม่สามารถเชื่อมต่อถึงกันทางเรือได้อีกต่อไป บางช่วงสภาพคลองยังดี เช่น ช่วงที่ลอดใต้สะพานรถไฟสายสงขลา

กระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ล่องเรือชมคลองกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ น่าเสียดายที่การฟื้นฟูคลองสำโรง สายน้ำสองทะเลแห่งนี้ให้กลับมาเหมือนเดิมอย่างครั้งอดีตคงเป็นเรื่องยาก หรืออาจสายเกินไป

ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth บริเวณคลองสำโรง สงขลา เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 53 เส้นดำ ๆ ที่เห็นคือคลองสำโรงที่เชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลา (ซ้ายมือ) กับทะเลหลวง (อ่าวไทย) ทางขวามือนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 428652เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2011 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท