บทความการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ


การบริหารสถานศึกษาสไตล์ Benchmarking

บทความ

การบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking”

ดร.พจน์  พจนพาณิชย์กุล

  “Benchmarking” เป็นเครื่องมือทางการบริหารจัดการ เพื่อนำองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ    ในการดำเนินงาน (Best Practice) โดยการนำองค์ความรู้ทางการบริหารจัดการองค์กรของตน และผลสำเร็จจากการดำเนินงานของกิจการหรือองค์กรของตนไปเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นหรือกิจการอื่น เพื่อศึกษาข้อมูลและกลยุทธ์ในการบริหารงาน ทั้งนี้เพื่อให้ได้แนวคิดและข้อเสนอแนะ ในการกำหนดทิศทางในการปรับปรุงงาน และการบริหารงานให้บรรลุผลดียิ่งขึ้น เป็นการบริหารงานโดยการศึกษาจากความสำเร็จของผู้อื่น ตามปกติแนวคิดการบริหารงานแบบ Benchmarking ถูกนำมาใช้ในองค์กรธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ โดยมีชื่อเรียกว่า “การเปรียบเทียบสู่ความเป็นเลิศ” การเปรียบเทียบตาม            วิธีการของ Benchmarking สามารถทำได้หลายระดับ เช่น เปรียบเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน เปรียบเทียบกับหน่วยงานในองค์กรเดียวกัน เปรียบเทียบกับหน่วยงานที่มีลักษณะการทำงานเหมือนกัน เปรียบเทียบกับกระบวนการผลิตของบริษัทอื่น หรืออาจเปรียบเทียบกับนโยบายของบริษัทอื่นเป็นต้น สำหรับกรณีของการบริหารจัดการสถานศึกษาแล้ว การนำแนวคิด Benchmarking มาใช้ในการบริหารสถานศึกษา จะช่วยให้เกิดการพัฒนา (Development) และการเปลี่ยนแปลง (Change) ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานศึกษา รวมทั้งบุคลากรทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติการในสถานศึกษานั้น ๆ ในการนี้จำเป็นต้องเริ่มต้นจากกระบวนการเปรียบเทียบ (Benchmark) กับผู้ที่ดีกว่าหรือดีที่สุดเป็นอันดับแรก ซึ่งวงการบริหารทั่วไปต่างยอมรับกันว่า Benchmark[1][1] เป็นขั้นตอนมาตรฐานสากลที่ทำได้โดยง่าย วงการศึกษาก็เช่นเดียวกัน สถานศึกษาเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษา และเพื่อให้การพัฒนางานเข้าสู่มาตรฐานทั้ง ๓ ด้าน คือ มาตรฐานด้านการบริหารโรงเรียน มาตรฐานด้านการเรียนการสอน และมาตรฐานด้านคุณภาพนักเรียน ได้อย่างมีคุณภาพ ผู้บริหารโรงเรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง จึงควรแสวงหาเทคนิค

และวิธีการมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น และBenchmark คือ วิธีการหนึ่งที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารสถานศึกษาเพื่อเข้าสู่มาตรฐานที่กำหนดได้

 

 หน้าที่ของผู้บริหารในการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking”

            ๑. หน้าที่ด้านการวางแผน (Planning) หน้าที่ด้านการวางแผนเป็นหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเป้าหมาย (Goals) วัตถุประสงค์ (Objective) กลยุทธ์ (Strategies) และแผนงาน (Plan) เป็นการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ต่าง ๆ และจัดทำแผนงานเพื่อประสานกิจกรรมต่างๆ ที่จะกระทำในอนาคต เป็นการเตรียมการเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ลดวามเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ดังนั้นในการทำหน้าที่ด้านการวางแผนของผู้บริหารในการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking” ต้องมีการเทียบเคียงกับสถานศึกษาในระดับเดียวกันกับสถานศึกษาของตนเพื่อศึกษารูปแบบ และเทคนิควิธีการในการวางแผน อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการบริหารจัดการสถานศึกษาของตน อาทิเช่น การกำหนดเป้าหมายในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากรในสถานศึกษา โดยยึดสถานศึกษาต้นแบบเป็นหลัก และทำการกำหนดเป้าหมายสถานศึกษาของตนให้อยู่ในระดับเดียวกันหรือระดับที่ใกล้เคียง เป็นต้น

. หน้าที่ด้านการจัดองค์กร (Organizing) เป็นการพิจารณาถึงงานที่จะต้องกระทำ ใครเป็นผู้ทำงานนั้นต้องมีการจัดกลุ่มงานอย่างไร ใครต้องรายงานใคร และใครเป็นผู้ตัดสินใจ นั่นคือการมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบ และกำหนดสายการบังคับบัญชา

ดังนั้นในการทำหน้าที่ด้านการจัดองค์กรของผู้บริหารในการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking” ต้องมีการเทียบเคียงกับสถานศึกษาในระดับเดียวกันกับสถานศึกษาของตน อีกทั้งควรมีการเทียบเคียงภายในสถาบันการศึกษาเอง เพื่อให้บุคลากรเกิดความรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาการจัดสายการบังคับบัญชา ควรมีความยืดหยุ่นพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ควรมีการศึกษาด้านการจัดโครงสร้างองค์กรของสถาบันการศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ เพื่อนำมาปรับปรุงโครงสร้างการบริหารองค์กรภายในสถาบันการศึกษาของตน

. หน้าที่ในการชักนำ (Leading) เป็นการนำและจูงใจผู้ใต้บังคับบัญชา การสั่งการ การเลือกช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และการขจัดความขัดแย้ง หรือเป็นการกระตุ้นให้พนักงานใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ รวมทั้งแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น

ในการทำหน้าที่ด้านการชักนำของผู้บริหารในการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking” นั้น ควรใช้รูปแบบการเปรียบเทียบทั่วไป (Generic Benchmarking) เป็นการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเฉพาะ (Specific Benchmarking) หน้าที่ด้านการชักนำเป็นหน้าที่ทางการบริหารที่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์ และศิลป์ในการปฏิบัติ ผู้บริหารควรทำการศึกษาทักษะและวิธีการจากประสบการณ์และความสำเร็จของผู้บริหารสถานศึกษาที่นำมาเป็นแม่แบบ และนำมาประยุกต์ให้เข้ากับตนเอง ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมต่อสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ อีกด้วย

. หน้าที่ในการควบคุม (Controlling) เป็นการตรวจสอบกิจกรรมต่างๆ ที่ได้กระทำไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานได้เป็นไปตามมาตรฐาน

ดังนั้นในการทำหน้าที่ด้านการควบคุมของผู้บริหารในการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking” จึงมิใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นแนวปฏิบัติที่ผู้บริหารมีหน้าที่ที่ต้องกระทำ แต่การควบคุมด้วยการเทียบเคียงตามหลักการของ Benchmarking จะเป็นการควบคุมในระดับองค์กร หรือระดับสถานศึกษาเป็นหลัก ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการควบคุมในระดับภายในองค์กรหรือการควบคุมระดับปฏิบัติงาน ผู้บริหารสถานศึกษาต้องการเทียบเคียงสถานศึกษาของตนกับสถานศึกษาที่นำมาเป็นแม่แบบ และทำการศึกษาแนวทางที่สถานศึกษาแม่แบบดำเนินงานจนสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานทางการศึกษาตามระเบียบข้อบังคับ และนำมาปรับใช้กับสถานศึกษาของตน ทั้งนี้การควบคุมด้วยการเทียบเคียงควรอยู่ในระดับมาตรฐานเดียวกัน ยกเว้นจะเป็นการเทียบเคียงเพื่อยกระดับมาตรฐานของตน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเทียบเคียงกับกับสถานบันการศึกษาที่มีมาตรฐานที่สูงกว่า โดยมาตรฐานหลักมี ๓ ด้าน คือ มาตรฐานด้านการบริหารโรงเรียน มาตรฐานด้านการเรียนการสอน และมาตรฐานด้านคุณภาพนักเรียน

 

โดยสรุป  ผู้บริหารเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่และพัฒนาการของสถานศึกษา สถานศึกษาจะเข้าสู่มาตรฐานทั้ง ๓ ด้าน (มาตรฐานด้านการบริหารโรงเรียน มาตรฐานด้านการเรียนการสอน และมาตรฐานด้านคุณภาพนักเรียน) หรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ และการตัดสินใจของผู้บริหารสถานศึกษาโดยตรง ซึ่งในการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking” นั้น นอกจากหน้าที่ทางการบริหารที่ผู้บริหารต้องปฏิบัติแล้ว ผู้บริหารควรมีบทบาทสำคัญ คือ การเป็นผู้ริเริ่ม ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและสร้างนวัตกรรมใหม่ของสถานศึกษา และมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการสร้างองค์การเรียนรู้โดยเฉพาะการเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนและดำเนินการของสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาต้องส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของโครงการพัฒนาสถานศึกษาอย่างเต็มความสามารถทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณ ทรัพยากร การให้ความสำคัญและกำลังใจแก่บุคลากรในสถานศึกษา และที่ขาดไม่ได้คือ การเป็นต้นแบบหรือตัวแบบเพื่อการเทียบเคียง (Benchmarking) ที่ดีให้แก่บุคลากรในสถานศึกษา เพื่อให้บุคลากรในสถานศึกษามองเห็นภาพที่เป็นรูปธรรม และกล้าที่จะปฏิบัติตาม อันจะนำไปสู่ความสำเร็จของการบริหารสถานศึกษาสไตล์ “Benchmarking” ต่อไป

 

ที่มา: http://doctorpot.siam2web.com/?cid=955081

เรียบเรียงโดย  นางเพชรฤทัย  อกนิษฐ์

 



 


 

หมายเลขบันทึก: 428635เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2011 07:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท