หมอข้าวหอม
แพทย์หญิง ลำพู(Lampu) โกศัลวิทย์(Kosulwit)

ธรรมะผุดจากอาหารสวัสดิการ


หลงลืมที่จะ "เลือกคิด" ในทางที่ทำให้ตนเองทุกข์ลดลง

ธรรมะผุดจากอาหารสวัสดิการ

ข้าวหอม

 

ทุกวันจันทร์ พุธ และ ศุกร์ จะมีอาหารสวัสดิการของคณะให้อาจารย์ตาดำๆ ได้กินฟรีกัน

ความอร่อย....แล้วแต่โชค เราไม่มีวันรู้ว่าวันไหน จะมีอาหารอะไรมาให้เรากิน

บางครั้งเรา ก็ต้องไปลิ้มรสชาดอื่นข้างนอกบ้าง เช่น ซื้อจากตลาดนัดบ้าง ไปเหลาบ้าง ไปร้านข้างถนนบ้าง

 

มื้อกลางวัน เป็นมื้อสำคัญ เพราะเป็นมื้อหลักของคนที่รักษาศีล 8 ศีล 10 และ ศีล 227

บ่อยครั้งที่ฉันต้องรักษาสัมพันธภาพไว้ โดยการไปนั่งร่วม(ดู)การรับประทานอาหารของอาจารย์ เพื่อนๆ หรือ  ญาติๆ ในมื้อเย็น

พวกเขาดูเป็นห่วง และพยายามคะยั้นคะยอให้ฉันกินอาหารเย็นให้ได้

ซึ่งเป็นอาหารที่ดูก็รู้ว่า มันคงแสนอร่อย

ได้แต่ตอบเขาว่า "ขอบคุณค่ะ ตามสบาย ไม่ต้องห่วงค่ะ เรื่องแบบนี้ เกิดขึ้นบ่อย ( ก็...เรื่องที่ต้องมานั่งดูคนกินอาหารเย็น ไงคะ ) "

เราจะรู้สึกอิ่มได้ก็ต่อเมื่อมันข้ามคืนแล้ว ตื่นขึ้นมาพบว่า เรายังคงรักษาศีลข้อ วิกาลโภชนาฯ เอาไว้ได้..

ซึ่งอาหารที่อร่อยมื้อไหนก็สู้ไม่ได้..

อาหารที่เราอยากกิน มักจะมีขายตอนเย็น หรือ หลัง บ่าย 2 ไปแล้ว -_-''   (5555)

น่าแปลกที่พอถึงเช้าอีกวัน แม้เราไม่ได้กินอาหารเหล่านั้น

เรากลับรู้สึกเฉยๆ สิ่งเหล่านี้ มันล่อ มันหลอก แล้วมันก็ตั้งอยู่พอให้เราหลงไป แต่หากเรามั่นคง สักพัก มันก็หายไป

แม้บางทีได้กินแล้ว .... มันกลับไม่ได้รู้สึกว่ามันวิเศษอะไรมากมาย

บ่อยครั้งที่ ไม่ทันได้รู้สึกด้วยซ้ำว่า มันมีรสชาดอย่างไร

 

 

เช่นเดิม

วันนี้....ตอนบ่ายมีประชุม จึงต้องเอาท้องของตัวหวังพึงอาหารสวัสดิการประทังชีวิตไปอีกวันหนึ่ง

 

เมื่อเดินไปดู ก็เห็นว่า มีหม้อใหญ่ๆ อ้อ มันคือ กระเพาะปลา... มีเส้นหมี่ด้วย... ได้กลิ่นก็รู้แล้วว่ามันจะมีรสชาดอย่างไร

 

ระหว่างที่ยืนรอตักกระเพาะปลาอยู่นั้น....

จิตก็พลันผุดคำของตัวเอง ที่ได้พูดกับพี่ชายซึ่งป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือด(ผู้ที่แสนจะกินยากกินเย็น จนนักโภชนาการของโรงพยาบาลต้องมาสัมภาษณ์) ว่า

"อาหารจืดก็ปรุงเอา...กินเพื่อให้แข็งแรงขึ้น ให้แข็งใจ นึกซะว่าเราไปบิณฑบาตรมาจะได้อาหารอะไรก็ไม่รู้ เลือกก็ไม่ได้"

แต่พี่ชาย กลับตอบว่า....อาหารโรงพยาบาลอย่างนี้ ไปบิณฑบาตรดีกว่า  -_-''

 

อย่างต่อเนื่อง จิตก็ก็พลันผุดคำสอนของหลวงพ่อขึ้นมาให้ใจอีกว่า....

"อาหารไม่อร่อย ก็ต้องปรับลิ้น"

 

บางคน ก็ concrete เกินไป...

อาจถามกลับกวนๆ ว่า "ปรับลิ้น ปรับได้ด้วยรึ ปรับอย่างไร"

 

คนที่ abstract กว่า ก็จะอธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า.....

การปรับลิ้นที่หลวงพ่อหมายถึง มันไม่ใช่การปรับลิ้นธรรมดา

แต่มันคือ  "การปรับใจ..."

 

เมื่อได้ถ้วยกระเพาะปลา  ฉันรับมา...

"ขอบคุณค่ะ" แล้วก็เดินจะไปนั่งกิน ผู้ยื่นถ้วยกระเพาะปลาก็เตือนขึ้นว่า 

" อาจารย์ไม่ปรุงหรือคะ "

"อ้าว....เอ๊ะ...ปกติไม่ค่อยชอบปรุงอะไร..."

ท่านนั้นก็ตอบว่า " เดี๋ยวมันไม่อร่อย.."

" ค่ะ " แล้วก็เดินไปเติมสิ่งต่างๆ เล็กน้อย..

 

แล้วก็...พลันคิดในใจ....

 

อันที่จริง ชีวิตของเรา เหมือนเลือกได้

แต่....ทำไมบ่อยครั้งมันจึงเลือกไม่ได้

แล้วแต่ว่าเขาจะเอาอะไรมาให้เรากิน

หรือ แล้วแต่ว่า เราจะเจอะเจอกับเหตุการณ์อะไรในชีวิต เช้าก็อย่างหนึ่ง กลางวันก็อย่างหนึ่ง บ่ายก็อีกอย่างหนึ่ง......

แต่ละวินาทีการเปลี่ยนแปลง ล้วนเกิดขึ้นเสมอ...ไม่เคยหยุด...

 

แล้วฉันก็คิดขึ้นมาอีกว่า....

อันที่จริง การกินอาหารสวัสดิการไปวันๆนี่  ก็ดีเหมือนกันนิ.....

เพราะมันทำให้เราได้พยายาม ปรับลิ้น ปรับใจ ปรับอารมณ์ และ เข้าใจชีวิตพระมากขึ้น ว่าการเป็นพระไม่ได้ง่ายๆ เลย

จะว่าไป ก็เราคงทำบุญมาอย่างนี้ เราไปถวายภัตตาหาร... พระท่านก็ต้องรับ จะฉันหรือไม่ จะอร่อยหรือไม่ ท่านก็ต้องฉันตามนั้น

มาถึงตรงนี้ กระเพาะปลาที่กำลังกินอยู่นี้...ก็ดูอร่อย และ มีความหมายมากขึ้น เพราะกระเพาะปลาถ้วยนี้ มันจะเปลี่ยนเป็นแรง เป็นกำลัง ที่ทำให้เราสามารถทำงานต่อไปได้อีกสัก 3-4 ชั่วโมง และ เป็นส่วนเล็กๆ ที่รักษาชีวิตของฉันเอาไว้ด้วย

 

ขอบคุณผู้จัดอาหารสวัสดิการ และ ผู้ที่พยายามทำอาหารรสชาดกลางๆ ที่เราเคยคิดว่า รสชาดเหล่านั้น มันดีไม่พอ  ทั้งที่จริงๆ เขาได้ทำไว้อย่างนั้น เพื่อให้ปรุงรสเอาเองตามใจชอบ

ฝีมือในการปรุงอาหารรสชาดกลางๆ นั้น จะทำได้ดีแค่ไหนนั้น ก็กลับมาเป็นความรับผิดชอบของเราในทันที

รวมทั้ง ความรับผิดชอบต่อการปรับใจ ปรับลิ้น และ เข้าใจความเป็นจริงของโลกที่ว่า... 

ไม่มีอะไรเลือกได้ทั้งหมด ไม่มีอะไรถูกใจไปหมด เพราะมันก็เป็นของมันอย่างนั้นเอง  

 

.....

 

พอมาถึงตรงนี้.....ที่ว่าชีวิตเราเลือกไม่ได้.....

จริงๆ แล้ว เป็นเพราะเรา "ไม่ได้เลือก" หรือเปล่า

เพราะ หลงลืมที่จะ "เลือกคิด" ในทางที่ทำให้ตนเองทุกข์ลดลง

ด้วยการ "ปรับที่ใจ" ของเราเอง

 

หมายเลขบันทึก: 428405เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2011 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Religious practices help to normalize our 'individualization' in society and our 'aspiration' for ourselves. Many people respond to other people's expectation ('do what they think other people would like to see them do') and so become a part (member) of "other people's group" -- without realizing that such group does not really exist ;-)

Religious practices help to normalize our 'individualization' in society and our 'aspiration' for ourselves. 

น่าเสียดายที่ gotoknow ไม่มีปุ่ม "like" หรือ ปุ่ม "ถูกใจ" อย่างใน facebook นะคะ   ^^

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท