มิจฉาทิฐิว่าด้วยครูพันธุ์ใหม่


 

          ผมตีความเรื่องมิจฉาทิฐินี้จากการสดับตรับฟังและอ่านข่าวเรื่องครูพันธุ์ใหม่   แล้วเอามา ตีความตามแนวคิดในหนังสือ Why Don't Students Like School?   ซึ่งเป็นหนังสือแนว Cognitive Psychology ที่ได้จากการวิจัยสมัยใหม่   ความคิดหลายๆ อย่างในหนังสือเล่มนี้ไม่ตรงกับความเชื่อ เดิมๆ เรื่องการเรียนการสอน

          เนื่องจากเป็นการตีความสองซ้อน คือตีความแนวคิดเรื่องครูพันธุ์ใหม่ในวงการศึกษาไทย   และตีความหนังสือเล่มนี้   ดังนั้นการตีความของผมอาจผิดก็ได้   ซึ่งหมายความว่าผมเองต่างหาก ที่เป็นมิจฉาทิฐิ

          มิจฉาทิฐิเรื่องครูพันธุ์ใหม่อยู่ที่คิดว่าหากให้ครูเรียนปริญญาตรีควบโท จะได้คนเก่งมาเป็นครู แล้วผลสัมฤทธิ์ของศิษย์จะดีขึ้น   โลกของการเรียนรู้ยุคใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ มันไม่ง่ายหรือตรงไป ตรงมาอย่างที่คิด   มีผลงานวิจัยบอกว่า ปริญญาของครู มีผลน้อยต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์  ท่านที่ไม่เชื่อคำกล่าวนี้ตรวจสอบได้ที่หนังสือ Visible Learning : A Synthesis of Over 800 Meta-Analyses Relating to Achievement

          หนังสือเล่มนี้บอกว่า การเรียนรู้ของครูระหว่างปฏิบัติหน้าที่ครู มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ของศิษย์ สูงมาก   ในขณะที่ระดับปริญญาของครูก่อนมาเป็นครู มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของศิษย์น้อยมาก   และหากจะใช้ผลการวิจัยชิ้นอื่นมาประกอบ  เฉพาะช่วงชั้นสูงๆ (เช่น ม. ปลาย) ที่ระดับปริญญาของครูมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ของการเรียนของนักเรียน

          ฟันธงจากการตีความหน้งสือ Why Don't Students Like School?    ครูจะเก่งหรือไม่ขึ้นกับ การเรียนรู้ ๒ ส่วน ในน้ำหนัก 50 : 50 หรือ 40 : 60   ตัวเลขแรกคือน้ำหนักของการเรียนรู้ก่อนทำงาน (pre-service learning)   ตัวเลขหลังเป็นน้ำหนักของการเรียนรู้ระหว่างทำงาน หรือในช่วงทำหน้าที่ ครู   โปรดสังเกตว่า ผมให้น้ำหนักแก่การเรียนรู้ระหว่างเป็นครูสูงกว่าการเรียนรู้ก่อนเป็นครู   ผมเพิ่ง เข้าใจชัดเจน ว่าการเรียนรู้ของครูระหว่างประกอบวิชาชีพครู เขาเรียกว่า Professional Learning  โดยครูต้องรวมต้วกันเรียนรู้   จึงเรียกว่า PLC (Professional Learning Community)   และจะต้องมี เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ต่อ PLC   ระบบการศึกษาควรลงทุนต่อการสนับสนุน PLC มากกว่า หรืออย่างน้อยเท่ากับ การลงทุนผลิตครูใหม่   ท่านที่สนใจวิธีที่กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุน PLC ให้ดูจากสิงคโปร์ ซึ่งอ่านได้ที่นี่

          วงการศึกษาไทยยังไม่ตระหนักในความสำคัญของ Professional Learning. ไพล่ไปให้ความ สำคัญต่อการจัด training ให้แก่ครู   คือหลงไปให้ความสำคัญแก่ Training แทนที่จะให้ความสำคัญ แก่ Learning ของครู   และผมยังไม่เคยเห็นผู้ใหญ่ในวงการศึกษาบอกว่ารัฐจะลงทุนหนุน PLC.  มีแต่บอกว่าจะลงทุนผลิตครูพันธุ์ใหม่

          จุดอ่อนของครูพันธุ์ปริญญาโท คือลงทุนมาก  และเมื่อจบไปทำงานในบรรยากาศเดิมๆ ที่ไม่มี PLC หนุน   ไฟก็จะค่อยๆ มอดลงไปเหมือนอย่างครูทั่วๆ ไปในปัจจุบัน   และไม่ทำให้ ผลสัมฤทธิ์ของศิษย์ดีขึ้น   รวมทั้งความรู้ของครูพันธุ์ใหม่ก็จะเก่าและกร่อนจนกลายเป็นครูพันธุ์ล้าหลัง ในเวลาไม่เกิน ๑๐ ปี    หากเป็นอย่างที่ผมทำนาย เราก็จะสูญเงินภาษีของเราไปก้บโครงการ ครูพันธุ์ใหม่ โดยคุณภาพการศึกษาของเราไม่ดีขึ้น

          ผมขอภาวนาให้คำทำนายของผมผิด

 

 

วิจารณ์ พานิช
๙ ก.พ. ๕๔
บางแสน

        

หมายเลขบันทึก: 428321เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2011 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

   อันนี้ก็คงเป็น "มิจฉาทิฐิออนไลน์ในจิต" ก็ได้แต่บอกว่า ฝึกอบรมกันต่อไปครับผม ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าไม่ใช่ทางออก เพราะมันเป็นเรื่องของ "ศรัทธา ความดี ความงาม คุณค่าและความหมาย" เพื่อนำไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ที่สร้างศานติสุข ถ้า trianing มันมีผลที่มีประสิทธิภาพและทรงพลังขนาดนั้นคงมีพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ นักปราญช์ หรือครูประเสริฐขึ้นเต็มบ้านเมือง แต่ผลการวัดต่างๆก็เห็นๆกันอยู่ในหลายมิติ ฝึกอบรมแบบซึมซับข้อมูล 3-6 เดือนเป็นหลัก ให้เป็นครูที่ประเสริฐ มันไม่วาดวิมานไปหน่อยหรือครับผม  "ปัญญาปฏิบัติ" เป็นเรื่องการฝึกพัฒนาตัวเอง ซึ่งมีข้อปลีกย่อยอีกมากมาย ที่ท่านต้องตระหนักรู้และเปิดพื้นที่ทางปัญญามาก กระผมก็มองเห็นว่าระบบการศึกษาก็ได้ "คิดใหม่ แต่ทำเหมือนเดิม" ถ้าท่านยังคิดทำต่อก็ขอให้ท่านประสบผลสำเร็จครับผม แต่ถ้าไม่ดีขึ้น ก็น่าจะพิจารณาทบทวนครับผมทำดีเพื่อบ้านเมืองครับ  ขอกล่าวเป็นภาษาวัยรุ่นว่า "อย่าได้แคร์ (สื่อ)"

   ด้วยความเคารพครับผม

          นิสิต

  • สวัสดีครับ คุณลุงหมอ
  • ผมในฐานะนิสิตว่าที่ครูในอนาคตครับ
  • ผมยังไม่เห็นถึงความแตกต่างในการที่ให้ครู 5 ปี มาเรียนควบอีก  1 ปี เพื่อให้ได้ป.โท มาเลยครับ ผมเห็นเพียงแต่แค่เพิ่มวุฒิการศึกษาของครูกับระดับเงินเดือนให้สูงขึ้น แต่ผลสัมฤทธิ์ในการจัดการเรียนการสอนก็คงเหมือนเดิม เพราะไม่ได้มี Professional Learning ดังที่คุณลุงหมอพูดครับ
  • ขอบพระคุณสำหรับบทความที่วิเคราะห์ทางการศึกษานะครับ

โดยส่วนตัวผมคิดว่า PLC เป็นเหมือนกับ "วัฒนธรรม" เสียดายบ้านเราไม่ค่อยได้สอนเรื่อง "วัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกัน" สักเท่าไหร่ครับ จะเห็นได้ว่าเมื่อนำ KM มาใช้ จึงต้องมาเสียเวลากับการสร้างวัฒนธรรมเหล่านี้กันพอสมควร ซึ่งก็สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท