มาตรฐานบริการสาธารณสุขกับการพัฒนาคุณภาพ


มาตรฐานนี้พูดถึง "บริการ" หรือ "สิ่งส่งมอบ" ที่ส่งตรงไปสู่ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการอย่างแท้จริง

     ตอนเริ่มเข้าสู่กระบวนการพัฒนาคุณภาพ HA เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว  มีการเขียนแบบประเมินตนเองและให้วิเคราะห์กระบวนการหลักของหน่วยงาน  ในการวิเคราะห์มีอยู่ช่องให้ใส่วัตถุประสงค์ เป้าหมาย หรือคุณค่าของกระบวนการลงไป ความคิดที่แวบเข้ามาคือ ทำไมเจ้านายเรา(กระทรวงสาธารณสุข)ไม่บอกเรา(วะ-ในใจ) ปล่อยให้พวกเรามาคิดกันเองคิดผิดคิดถูกก็ไม่รู้  ตอนนั้นก็เขียนตอบไปตามความเข้าใจ  และทำเป็นเข้าใจเพราะต้องช่วยให้หน่วยงานอื่นตอบด้วย  ก็พยายามศึกษา หาความรู้และความเข้าใจตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่ชัดเจน  เห็นภาพราง บางส่วนจากมาตรฐาน HA  จนเมื่อประมาณปี 2546 เริ่มมีการเผยแพร่แนวคิดเรื่องมาตรฐานบริการสาธารณสุข  ได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นวิทยากรเพื่อบรรยายและเผยแพร่มาตรฐานนี้ก็รู้สึกว่า  มาตรฐานนี้่โดนใจ เพราะ มาตรฐานนี้พูดถึง "บริการ" หรือ "สิ่งส่งมอบ" ที่ส่งตรงไปสู่ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการอย่างแท้จริงไม่อ้อมค้อม  สอนไปทำความเข้าใจไป  จึงค่อยเห็นภาพความไม่เข้าใจที่แฝงอยู่ในระบบบริการสาธารณสุขแบบไม่รู้ตัว คือ  ไม่เห็น ไม่รู้ว่า "บริการ" หรือ "สิ่งส่งมอบ" ที่ประชาชนได้รับ คืออะไร   เคยชินกับการบริการ/การทำงาน แต่ไม่ได้ให้ "บริการ" เพราะไม่ส่งมอบ "สิ่งส่งมอบ"  (ตรวจร่างกายผู้ป่วยแต่ไม่ค่อยจะได้ส่งมอบ"ผลการตรวจร่างกาย"ให้ก้บผู้ป่วย เป็นต้น)   เคยชินกับการสำรวจข้อมูลเพื่อรายงานเจ้านาย (กระทรวงสาธารณสุข) โดยไม่เคยคิดจะ"ส่งมอบ" ข้อมูลเหล่านั้นให้แก่ประชาชนให้พื้นที่ของตน ฯลฯ

     การเห็น"บริการ" หรือ "สิ่งส่งมอบ" ที่ประชาชนหรือผู้รับบริการได้รับนี้ทำให้เกิดความรู้สึกว่าภาพฝันที่เคยฝันแต่ยังไม่เห็นทาง เริ่มมีความเป็นไปได้  ภาพฝันที่ว่าคือ เป็นไปได้ไหมที่เราจะบูรณาการงานของกระทรวงสาธารณสุขที่มีมากมาย  มาจากหลายกรมกอง ให้เป็นงานง่าย ๆไม่กี่อย่างเพื่อให้ทีมงานที่อยู่ในสถานีอนามัย หรือที่เรียกว่า รพ.สต.ในปัจจุบันนี้ทำงานคุณภาพได้  โดยไม่ต้องรอนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข  แต่ก็สามารถตอบโจทย์กระทรวงสาธารณสุขได้ไม่ขาดตกบกพร่อง ภายใต้ข้อจำกัดอันมากมายของการทำงาน  เริ่มจากความเข้าใจ "บริการ" หรือ "สิ่งส่งมอบ" ที่มอบให้แก่ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล  เริ่มเข้าใจ "บริการ" หรือ "สิ่งส่งมอบ" ที่มอบให้แก่ชุมชนหรือสังคม  จากนั้นก็ค่อย ๆ ปูความเข้าใจเรื่องมาตรฐานบริการสาธารณสุข ในจังหวัดพิจิตร ทุกระดับ ตั้งแต่สถานีอนามัย จน ถึง สสจ. และในปีนี้เป็นครั้งแรกที่ เริ่มบูรณาการงานคุณภาพกับงานของฝ่ายต่าง ๆบนสสจ. และยุทธศาสตร์ของจังหวัด โดยใช้มาตรฐานบริการสาธารณสุขเป็นแกน  งานแรกที่ผ่านไปด้วยดีเกินความคาดหมาย คือ งาน นโยบายโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง ที่ดูแลประชาชนและผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคความดันและเบาหวาน  และวันนี้ (23 กพ. 54) ก็ประสบความสำเร็จอึกครั้งกับการประยุกต์กับ นโยบายป้องกันการเกิดแม่อายุน้อย ภาพที่เคยฝันเริ่มชัดเจนขึ้นทุกที 

     หากไม่มีอะไรเป็นเหตุให้โครงการต้องสะดุด  จังหวัดพิจิตรจะทำงานคุณภาพเป็นงานประจำในไม่ช้านี้ครับ  อุปสรรคสำคัญ ดูเหมือนว่าจะอยู่กระทรวงสาธารณสุขที่เป็นเจ้าของ"มาตรฐานบริการสาธารณสุข" กลับไม่ค่อยเข้าใจ "บริการ" หรือ "สิ่งส่งมอบ" สักเท่าไร ซึ่งอาจมีผลต่อการกำหนดนโยบาย เป้าหมายหรือตัวชี้วัด ที่ไม่เหมาะสมให้กับผู้ปฏิบัติงาน จากทำงาน"คุณภาพ"  อาจแปรเปลี่ยนเป็นงาน "ปลูกผักชี"   ผมหวังว่าคงจะไม่เป็นเช่นนั้นครับ

หมายเลขบันทึก: 428088เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011 00:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท