ถอดบทเรียน : หนังสือเล่มเล็กๆ และจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการข้ามพ้นวังวนปัญหาเดิมๆ ของนักกิจกรรม


ผมเชื่อและศรัทธาว่า “ถอดบทเรียน” คือทางออกอันสำคัญของการพัฒนาองค์กร

 

Large_dsc_2587-1

 

ในช่วงวันขอบคุณนักกิจกรรม (ถนนคนมีฝัน) ผมและทีมงานได้จัดทำหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งขึ้นมาเพื่อมอบกำนัลให้กับบรรดาผู้นำกิจกรรมที่มาร่วมงานในวันนั้น (4 กุมภาพันธ์ 2554)

หนังสือที่ว่านั้นมีชื่อว่า "ถอดบทเรียนนอกห้องเรียน"

ผมทุ่มเทกับหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างมาก  ถึงขั้นหอบหิ้วข้อมูลปลีกวิเวกไปวิเคราะห์และจัดพิมพ์อยู่เงียบๆ คนเดียวแถวชานเมืองเลยทีเดียว  ด้วยหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นเสมือน "ชุดความรู้" ที่นิสิต หรือแม้แต่ผู้บริหารและบุคลากรได้เห็น "ปรากฏการณ์" อันเกิดจากการ "ถอดความรู้" ในแบบฉบับที่ผมถนัด

และผมก็เชื่อมั่นว่า  ข้อมูลที่ได้มานั้น  ก็น่าจะนำไปสู่การ "ต่อยอดความคิด" และการกำหนดทิศทางของการพัฒนาศักยภาพนิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรได้บ้าง

 

และนี่คือส่วนหนึ่งที่ผมเขียนเปิดเปลือยไว้ในหนังสือเล่มที่ว่านั้น

 

Large_dsc_1

 

ถอดบทเรียนซ้อนบทเรียน

 

ผมเชื่อและศรัทธาว่า “ถอดบทเรียน”  คือทางออกอันสำคัญของการพัฒนาองค์กร 

ปีที่แล้ว (2552)  ผมพูดคำว่า “การถอดความรู้” บ่อยมาก บ่อยจนนิสิตและเจ้าหน้าที่นำไปล้อเลียนแบบน่ารักๆ บนเวทีงานขอบคุณนักกิจกรรม ครบรสทั้งโหด มันส์..ฮา 

ปีนี้ทั้งปี (2553)  ผมเปลี่ยนมาใช้คำว่า “ถอดบทเรียน” ถี่มากขึ้น ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็มีความหมายไม่ต่างกันนัก  เพราะไม่ว่าจะนิยามความหมายแบบใด  จัดกระทำ หรือขับเคลื่อนด้วยกระบวนการใด ผลลัพธ์ก็เป็นสิ่งอันพึงปรารถนาต่อนิสิต บุคลากรและองค์กรอยู่ดี

ผมเชื่อและศรัทธาว่าการ “ถอดบทเรียน” คือกระบวนการที่จะทำให้เรา “ก้าวข้ามและพ้นไปจากวังวนอันเป็นปัญหาเดิมๆ ของการพัฒนากิจกรรมนอกห้องเรียนของนิสิต”

ผมเชื่อและศรัทธามากจนถึงขั้นสร้างวาทกรรมให้ทีมงานได้รับช่วงกันเป็นทอดๆ ว่า “ปัญหาเก่าห้ามเกิด ปัญหาใหม่ไม่ว่ากัน”  และนั่นหมายถึงว่า  เมื่อจัดกิจกรรมใดๆ แล้ว  ต้องมีการมา “นั่งจับเข่าพูดคุย”  เพื่อทบทวนในสิ่งที่ทำว่าอะไรบ้างคือสิ่งที่ประสบความสำเร็จ และอะไรบ้างคือสิ่งที่ล้มเหลว หรือบกพร่อง เพื่อนำมาเป็น “วัตถุดิบ” ในการที่จะท้าทายไปสู่การปรับปรุงและแก้ไข  ด้วยหมายใจว่าปัญหาเดิมๆ นั้นจะไม่เกิดขึ้นแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนดูเหมือนว่า “เราทำงานเหมือนคนที่ย่ำอยู่กับที่ และเป็นมือใหม่หัดขับอยู่เรื่อยไป” 

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน 
ผมชวนให้สภานิสิตได้ถอดบทเรียนในแบบที่นิสิตถนัด ชวนให้ผู้นำนิสิตมานั่งสะท้อนผลการดำเนินงานร่วมกัน เรียกในภาษาของพวกเขาว่า “สรุปงาน” นั่นเอง

แต่เมื่อสังเกตการณ์ดูแล้ว ก็ไม่เห็นภาพแจ่มชัดและลึกพอที่จะเป็นกระบวนการ
“ถอดบทเรียน” ที่ดีได้  ดังนั้นผมจึงหารือกับทีมงานสภานิสิต เพื่อปรับแผนมาสู่การถอดบทเรียนผ่านเอกสารอันเป็นแบบรายงานผลการจัดกิจกรรมที่องค์กรต่างๆ ได้สรุปและรายงานต่อมหาวิทยาลัยแทน


ผมคิดว่านั่นคือการเริ่มต้นในอีกวิธีการหนึ่งของการถอดบทเรียนด้วยเหมือนกัน
เพราะถ้าข้อความที่ปรากฏในเอกสารผ่านการร่วมคิดร่วมสังเคราะห์จากผู้นำในองค์กรนั้นๆ จริง ก็ย่อมนำข้อมูลทั้งปวงนี้ไปขยายผล ต่อยอดในทางกิจกรรมนอกห้องเรียนได้
แต่ถ้าข้อมูลนั้นเป็นเท็จ นิสิตยกเมฆ หรือเดาสุ่มส่งมายังมหาวิทยาลัย ก็คงต้องถอยกลับมา “ถอดบทเรียน” กระบวนการคิดของนิสิตในองค์กรแล้วกระมังว่ากำลังคิดอะไรอยู่...และเห็นค่าของกิจกรรมนอกห้องเรียนแค่ไหน และมองการพัฒนาชีวิต หรือองค์กรที่นิสิตสังกัดอยู่ในทิศทางใด...และด้วยกระบวนการใด


ครับ, ถึงตรงนี้ ผมก็ยังเชื่อและศรัทธาว่า ข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้เป็นผลผลิตอันเกิดจาการจัดกิจกรรม หรือเรียนรู้ชีวิตผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องในองค์กร หรือกิจกรรมนั้นๆ ได้ถอดบทเรียนออกมาว่าพบเจออะไรมาบ้าง โดยมีประเด็นง่ายๆ ให้พุ่งมอง อาทิ  จำนวนคนที่เข้าร่วม  ผลที่ได้รับจากการเข้าร่วม  อุปสรรค ปัญหาและแนวทางการแก้ไข  ตลอดจนปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ...

อย่างไรก็ดี  ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่นิสิตได้สะท้อนบทเรียนออกมานั้นเป็นทั้งเรื่องจริง  หรือแม้แต่จริงบ้างไม่จริงบ้างก็เถอะ

แต่สำหรับผมแล้ว  ผมยังมองว่าข้อมูลที่ปรากฏนั้น สามารถนำไปใช้เป็นโจทย์การเรียนรู้ได้อยู่ดี  อย่างน้อยก็ให้องค์กรนิสิตที่เกี่ยวข้อง ได้หันกลับไปทบทวนอีกรอบว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงในขณะจัดกิจกรรมนั้นๆ สอดรับ หรือสอดคล้องกับที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้หรือไม่...

ครับ,...ถ้าเป็นไปตามที่ผมคิด  การถอดบทเรียนในอีกมิติหนึ่งก็เกิดขึ้นแล้วล่ะ
หากแต่เป็นการ “ถอดบทเรียนซ้อนบทเรียน” เท่านั้นเอง !

 

Large_dsc_2524

Large_dsc_2585-6

 

 

และนี่คือบทสรุปสำหรับผู้บริหาร
(ที่ผมเขียนแบบไม่เป็นทางการเอาซะเลย)

 

หนังสือ “ถอดบทเรียนนอกห้องเรียน” เล่มนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างสภานิสิตและกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ตามกระบวนการของการจัดการความรู้ ผ่านการสรุปงาน หรือถอดบทเรียนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร  ซึ่งเป็นการขยายผลจากเวทีการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15  กันยายน 2553  ของสภานิสิต ณ ห้องประชุม 1 กองกิจการนิสิต

 

การประชุมดังกล่าว  เป็นการประชุมสรุปงานขององค์กรนิสิตที่ประกอบด้วยสภานิสิต องค์การนิสิตและสโมสรนิสิตคณะ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการ “ถอดบทเรียน” เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านกิจกรรมในรอบเดือนมิถุนายน-กันยายน 2553  เพื่อค้นหาความสำเร็จและปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมของนิสิต อันเป็น “ข้อมูล” หรือ “ต้นทุน” ในการที่จะต่อยอดพลังความคิด และ “วิธีปฏิบัติ” หรือ “ปัญญาปฏิบัติ” ตลอดจนเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก จนทำให้กระบวนการพัฒนากิจกรรมสะดุด หรือก้าวข้ามแต่ไม่พ้นวังวนเดิมๆ จนเป็นภาพสะท้อนของการไม่มี “พัฒนาการ”

 

ในหนังสือถอดบทเรียนนอกห้องเรียนเล่มนี้  จึงรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านกิจกรรมขององค์กรนิสิต ซึ่งคณะทำงานได้คัดกรองกิจกรรมจำนวน 46 โครงการของสภานิสิต ชมรมและกลุ่มนิสิตมาจัดรวบรวมไว้  อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมอีกจำนวนมาก โดยกิจกรรมที่นำมารวบรวมไว้มีลักษณะที่สำคัญคือเป็นกิจกรรมที่แต่ละองค์กรได้จัดต่อเนื่องในแต่ละปี เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นใหม่แต่มีลักษณะเด่นในเรื่องรูปแบบแนวคิด และผลสัมฤทธิ์ หรือแม้แต่กิจกรรมที่สะท้อนปัญหาบางประการที่ท้าทายต่อการปรับแก้ด้วยกระบวนคิดของนิสิต และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 

อย่างไรก็ดี
จากข้อมูลการถอดบทเรียนครั้งนี้  จะเห็นปรากฏการณ์ในเชิงบวกที่ดีต่อการพัฒนาศักยภาพนิสิตผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน (กิจกรรมนอกหลักสูตร : กิจกรรมเสริมหลักสูตร : กิจกรรมพัฒนาศักยภาพนิสิต) ได้เป็นอย่างดีอยู่หลายประเด็น เช่น  เกิดกระบวนคิดเรื่องจิตอาสา แนวคิดเรื่องการทำงานเป็นทีม  แนวคิดเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แนวคิดเรื่องการกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์  แนวคิดเรื่องการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม แนวคิดเรื่องการเรียนรู้มิตรภาพความเป็นเพื่อน ทั้งจากนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว แนวคิดเรื่องบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ที่มีผลต่อการช่วยให้งานบรรลุวัตถุประสงค์แนวคิดเรื่องการเรียนรู้วิถีชีวิตอันเป็นวัฒนธรรมของชาวบ้าน  แนวคิดเรื่องการบริหารจัดการค่ายที่เกี่ยวโยงกับการประสานชุมชน เป็นต้น

 

ขณะเดียวกันก็พบข้อมูลที่เป็นจุดอ่อนของการขับเคลื่อนอยู่หลายประเด็นที่ควรต้องหยิบยกมาถกคิดเพื่อข้ามพ้นให้จงได้  เช่น  ปัญหาเรื่องการประชาสัมพันธ์กิจกรรม ปัญหาการวางแผนระยะยาว  ปัญหาการติดต่อประสานงานทั้งในระดับองค์กรและชุมชน  ปัญหาเรื่องงบประมาณ  ปัญหาเรื่องแนวคิดและทักษะการทำงานในชุมชน  ปัญหาเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปสู่การสรุปผลการจัดกิจกรรม หรือถอดบทเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในมิติของการสนทนาและการจัดกระทำข้อมูลเป็นเอกสารที่เผยแพร่ได้ เป็นต้น

 

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้
จึงสรุปได้ว่าข้อมูลที่สะท้อนข้างต้น ล้วนเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อการนำไปสังเคราะห์เป็นกรอบแนวคิดที่จะพัฒนาศักยภาพนิสิตผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียนได้เป็นอย่างดี  เพราะถือว่าเป็นการถอดบทเรียนเชิงลึกรายกิจกรรม รวมถึงยึดโยงให้เห็นภาพรวมในเชิงปรากฏการณ์ได้อย่างน่าสนใจ  โดยในลำดับต่อไปจะได้ขยายผลไปสู่การถอดบทเรียนในกลุ่มขององค์การนิสิตและสโมสรนิสิตที่เป็นองค์กรบริหารหลักของนิสิต เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและทะลุมิติของการเรียนรู้ไปสู่กันและกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้นได้จริง ย่อมยืนยันได้ว่ากระบวนการพัฒนาศักยภาพนิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรนั้น ได้เดินทางมาในทิศทางที่ถูกต้อง โดยมีกระบวนการของการจัดการความรู้ ผ่านการถอดบทเรียนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนั่นเอง

Large_dsc_2517-00

 

.....

หมายเหตุ : หนังสือเล่มดังกล่าว ยังคงรอเวลาในการถูกนำไปสังเคราะห์ที่ลึกไปกว่าเดิม บางทีอาจสามารถทำเป็นงานวิจัย หรืองานสังเคราะห์เล็กๆ ด้วยก็ได้  หรือแม้หากไม่สามารถขับได้อย่างที่คิด  ผมก็เชื่อว่า "ไม่สูญเปล่า"

เพราะอย่างน้อยก็เป็นจดหมายเหตุขององค์กรได้อยู่ดี ...(ได้เป็นอย่างดี)

 

 

หมายเลขบันทึก: 428084เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011 00:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

น่าสนใจดีนะคะ  แจกบ้างหรือเปล่า

อยากได้จัง

Thank you.

One phrase in the circle diagram catches a point to ponder:

-- we only have ourselves --

We cannot rely on help from government offices, charity NGOs, foreign aids and outsiders. We have to work together, rely on ourselves!  

สวัสดีครับ คุณดวงเกษมสุข

ผมต้องขออภัยจริงๆ เพราะหนังสือเล่มนี้แจกจ่ายกันเกลี้ยงเพียงพริบตาครับ แต่ตอนนี้กำลังเสนอจัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งผมจะส่งไปให้อีกรอบ นะครับ

 

we only have ourselves

..

ผมเห็นด้วยครับ, เราต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของการเชื่อและศรัทธาว่า เราต้องช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด ไม่เป็นภาระของใคร หรือรอให้ใครๆ มาโอบอุ้มจุนเจือให้มากมายก่ายกอง  เพราะนั่นคือวิธีแห่งความเข้มแข็ง-ยั่งยืนอย่างที่ควรจะเป็นกระมัง..

ขอบคุณครับ

 

อยากได้หนังสือถอดบทเรียนนอกห้องเรียน เพื่อเอาไปเป็นตัวอย่างในการสอนเด็กนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ม.1-3 ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท