การติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ตำแหน่งผ่าตัด


การติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ตำแหน่งผ่าตัด

 

การติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ตำแหน่งผ่าตัด  Nephrolithotomy  ในตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี

 

จารุณี สัมฤทธิ์ *   ปก.พยาบาลศาสตร์และผดุงครรภ์ชั้นสูง วิทยาลัยพยาบาลนครราชสีมา

ภาณุ  อดกลั้น ** ปก.พยาบาลศาสตร์และผดุงครรภ์ชั้นสูง วิทยาลัยพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์

                      อุบลราชธานี , กศ.ม.(วัดผลการศึกษา) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

บทคัดย่อ

 

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ของการติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัดของผู้ป่วยหลังผ่าตัด Nephrolithotomy ในตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี โดยการศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากแบบเฝ้าระวังการติดเชื้อของโรงพยาบาลอุดรธานี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2548 ถึงวันที่   30 กันยายน 2549 วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

                1. อุบัติการณ์การติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ตำแหน่งผ่าตัด Nephrolithotomy จากผู้ป่วยทั้งหมด 373 ราย พบการติดเชื้อ 15 ครั้ง คิดเป็นอัตราอุบัติการณ์การติดเชื้อ 4.03 รายต่อการดูแลผู้ป่วยหลัง 100 ราย ต่อปี

2. อัตราการติดเชื้อเพศชายสูงกว่าเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ   80.0  กลุ่มอายุที่พบการติดเชื้อมีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 45 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง คิดเป็น  ร้อยละ  66.7 ผู้ป่วยได้รับยาปฎิชีวนะที่ใช้ในการรักษา 2 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 80.0 และ เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อโรคมากที่สุด คือ       E-coli คิดเป็นร้อยละ 60.0 

3. ความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีกับการติดเชื้อในด้านต่างๆ พบว่า อายุของผู้ป่วย กับการเกิดนิ่ว ,เพศของผู้ป่วย กับ จำนวนวันหลังการผ่าตัดแล้วพบการติดเชื้อ และ น้ำหนักตัวของผู้ป่วยกับขนาดของก้อนนิ่ว มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

 

 

 

* พยาบาลวิชาชีพ 7 ว.  กลุ่มงานศัลยกรรม ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลอุดรธานี

** อาจารย์พยาบาล กลุ่มการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี

Nosocomial Surgical Site Infection Among Nephrolithotomy patients Udornthani Hospital

 

Jarunee Samrit*  Diploma in Nursing and Midwifery , Nakonratchasrima Nursing College

Panu Odklun**  Diploma in Nursing and Midwifery, Sapaittiprasong Ubon Nursing College

   M.Ed.(Measurement in Education), Educational Dapartment,

    Mahasarakam  University

 

ABSTRACT

 

The purpose of this descriptive study was to describe the incidence and distribution of surgical site infection among Nephrolithotomy patients Udornthani Hospital during October, 1, 2005 to September, 30, 2006. Data were extracted from Surveillance records of  Udornthani Hospital.

The results are as the following:

1. The study revealed that the 15 of  373 Nephrolithotomy patients Udornthani Hospital were infected yielded the incidence of  4.03 infection  per 100 patients per year.

2. The infection  rate among male patients was higher than female patients

( 80.0 percent ). The infection rate by age group was average 45 years. The highest infection rate

was 66.7 percent had not individual ailment. The infection rate was 66.7 percent had not individual ailment. Patients had to use 2 type of  Antimicrobial drugs ( 80.0 percent ).  E-coli  were found most often to be the cause of infection by 60.0 percent.

3. Factors correlated in Nephrolithotomy patients Udornthani  Hospital were age and Size of renal stone , Sex and Infected sighs after operation day , Body weight and size of renal stone be statistically significant level .05

 

 

 

 

 

 

 

 

* RN  Urology Department , Udornthani Hospital

** RN   Nursing care of Adult and Aging with Health Problems Department , Boromrajonani Udornthani

            Nursing College

 

 

บทนำ

การติดเชื้อในโรงพยาบาล เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขที่สามารถเกิดขึ้นได้กับโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วโลก ความรุนแรงของปัญหามีความแตกต่างกันในแต่ละโรงพยาบาลแม้ว่าจะอยู่ในประเทศเดียวกัน ศึกษาการติดเชื้อในโรงพยาบาลรามาธิบดี พ.ศ. 2543  พบอุบัติการณ์การติดเชื้อในโรงพยาบาลร้อยละ  4  ของผู้ป่วยทั้งหมดที่เข้ารับการรักษา 1 การติดเชื้อในโรงพยาบาลพบมากในแผนกที่ให้การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนัก  ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด    ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีการใส่อุปกรณ์ต่างๆคาไว้ในร่างกายได้แก่  หออภิบาล  แผนกศัลยกรรม  และแผนกอายุรกรรม  นอกจากนี้ยังพบว่าการติดเชื้อในโรงพยาบาลมากที่สุดที่ระบบทางเดินปัสสาวะ  (urinary  tract)  รองลงมาคือระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง (lower  respiratory  tract)  และตำแหน่งผ่าตัด  (surgical  site) ผลกระทบจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล ได้ส่งกระทบอย่างชัดเจนคือเพิ่มปัญหาให้แก่ผู้ป่วยได้แก่การทำให้โรคที่เป็นอยู่หายช้า  มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้น  การรักษามีความยุ่งยากยิ่งขึ้น  เชื้อก่อโรคมักดื้อยาต้านจุลชีพหลายชนิด ผู้ป่วยต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้น เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อทั้งผู้ป่วย  ญาติ  และโรงพยาบาล 2 สำหรับประเทศไทยพบการติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัดในโรงพยาบาล  33  แห่งทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย  โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในปี  พ.ศ. 2535  โดยรวม  2.7  ครั้งต่อการผ่าตัด  100  ครั้ง 3 ผลกระทบทางอ้อมจากการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ตำแหน่งผ่าตัด  ทำให้การรักษามีความซับซ้อนยิ่งขึ้นก่อให้เกิดปัญหาเชื้อโรคดื้อยาต้านจุลชีพ  และทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อกลายเป็นแหล่งโรค  (source  of  infection)  ซึ่งแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้  หากบุคลากรละเลยต่อมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ  เช่น  การแยกผู้ป่วย  และการล้างมือก่อนและหลังให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย  เป็นต้น 

จากสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในรงพยาบาลอุดรธานี ปีงบประมาณ 2548 พบว่า พบว่ามีการติดเชื้อในผู้ป่วย Nephrolithotomy ถึง 10 ราย จาก 219 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.57  ปีงบประมาณ 2549 พบว่ามี  5 ราย จาก 153 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.27 5,6

จากปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยในฐานะหัวหน้าตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี จึงมีความสนใจที่จะศึกษา “การติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัดของผู้ป่วยหลังผ่าตัด  Nephrolithotomy    ในตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ  โรงพยาบาลอุดรธานี” เพื่อใช้เป็นสารสนเทศในการกำหนดแนวทางในการเฝ้าระวังการติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัดทุกประเภทภายในตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

 

 

 

วัตถุประสงค์การวิจัย

1. เพื่อศึกษาอุบัติการณ์การติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ตำแหน่งผ่าตัด Nephrolithotomy ในตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี

2.  เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีกับการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ตำแหน่งผ่าตัด Nephrolithotomy ในตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี

 

ขอบเขตการวิจัย

1. ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้ป่วยที่ผ่าตัด Nephrolithotomy ปีงบประมาณ 2549 และ 2550 (ระหว่างวันที่  1  ตุลาคม  2547  ถึงวันที่  30  กันยายน  2549) จำนวน 372 แฟ้มข้อมูล

2.  ตัวแปรที่ศึกษาในการวิจัยครั้งนี้ มีดังนี้

                      4.2.1 ตัวแปรอิสระ (Independent Variable) มี 11 ตัวแปร ได้แก่ 1) เพศ 2) อายุ  3) อาชีพ  4) ขนาดนิ่ว  5) ไตข้างที่เป็นนิ่ว  6) การใช้ยาปฎิชีวนะ 7) โรคเรื้อรัง 8) น้ำหนักตัวผู้ป่วย     9) อาการที่แผลผิดปกติ  10) จำนวนวัน Admit  11) ชนิด Drain ที่ใส่ในผู้ป่วย 12) จำนวนชนิดของเชื้อโรคที่ผู้ป่วยได้รับ และ 13) จำนวนวันหลังผ่าตัดที่รับรู้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อ

4.2.2 ตัวแปรตาม (Dependent Variable)    ได้แก่      การติดเชื้อในโรงพยาบาลที่

ตำแหน่งผ่าตัด  Nephrolithotomy  ในตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ  โรงพยาบาลอุดรธานี

3.   ช่วงเวลาที่ทำการศึกษาค้นคว้าและสรุปผลการวิจัย  1 ตุลาคม 2549– 30 กันยายน

2550 รวม 1  ปี

 

รูปแบบการวิจัย

การศึกษาครั้งนี้  เป็นการศึกษาเชิงสำรวจย้อนหลัง  ( Retrospective Descriptive Research )    โดย

วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้เก็บไว้แล้วจากฝ่ายเวชระเบียน  1 ตุลาคม 2549– 30 กันยายน 2550 รวม 1  ปี เพื่อศึกษาการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ตำแหน่งผ่าตัด Nephrolithotomy ในตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี

 

กลุ่มตัวอย่าง

ได้แก่ผู้ป่วยที่ผ่าตัด Nephrolithotomy ที่ติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัด ระหว่างวันที่  1  ตุลาคม  2547  ถึงวันที่  30  กันยายน  2549  จำนวน 15 แฟ้มข้อมูล

 

 

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ มี 2 ชุด คือ 1)แฟ้มข้อมูลผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี ที่ผ่าตัด Nephrolithotomy และ 2) แบบบันทึกข้อมูลการติดเชื้อในหอผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะโรงพยาบาลอุดรธานี

 

การเก็บรวบรวมข้อมูล

ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลจาก แฟ้มข้อมูลผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี ที่ผ่าตัด Nephrolithotomy ซึ่งได้รับมาจากแผนกเวชระเบียน และ แบบบันทึกข้อมูลการติดเชื้อในหอผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี ซึ่งได้รับมาจากคณะกรรมการงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลอุดรธานี   ในการเก็บข้อมูลได้ดำเนินการ4 ขั้นตอน คือ 1) เข้าพบหัวหน้าแผนกเวชระเบียน และ หัวหน้างานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ในโรงพยาบาลอุดรธานี   เพื่อชี้แจงอธิบายวัตถุประสงค์ของการวิจัย 2) วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นย้อนหลังเป็นระยะเวลา 2 ปี ระหว่างวันที่  1  ตุลาคม  2547  ถึงวันที่  30  กันยายน  2549             3) ตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นย้อนหลังเป็นระยะเวลา 2 ปี ข้อมูลผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี ที่ผ่าตัด Nephrolithotomy และพบการติดเชื้อ มาการเพาะเชื้อ และ 4) นำข้อมูลที่ได้มาจำแนกตัวแปรที่ศึกษาแล้วนำมาคำนวณหาค่าอุบัติการณ์

 

ผลการศึกษา

          การวิจัยเรื่อง “ อุบัติการณ์การติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัดของผู้ป่วยหลังผ่าตัด Nephrolithotomy ในตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี” ครั้งนี้ ผู้วิจัยได้สรุปผลเป็น 3 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่  1  ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย

เมื่อจำแนกตามเพศของผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยส่วนมาก เป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ   80.0  มีอายุระหว่าง 28 – 80 ปี อายุเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 45.87 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D) เท่ากับ 13.99 ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม คิดเป็นร้อยละ  66.7  ขนาดก้อนนิ่วของผู้ป่วยมีขนาดมากกว่า       2 ซม.  คิดเป็นร้อยละ   60.0   พบว่าเป็นนิ่วในไตข้างซ้าย และไตข้างขวา  จำนวนท่าๆกัน คิดเป็นร้อยละ     46.7   เป็นที่ไตทั้ง 2 ข้าง  คิดเป็นร้อยละ     6.7   ลักษณะเม็ดนิ่วของผู้ป่วย พบว่า เป็นนิ่วข้างเดียวกลมหรือรีมี 1 ก้อน และ เป็นนิ่วข้างเดียวรูปทรงอื่นๆมี 1 ก้อน มีจำนวนเท่าๆกัน คิดเป็นร้อยละ   33.3  สำหรับจำนวนชนิดของเชื้อโรคที่ติดแผลผ่าตัด พบว่าส่วนใหญ่ มีการติดเชื้อเพียง 1 ชนิด คิดเป็นร้อยละ  86.7 ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มีการใช้ยาปฎิชีวนะที่ใช้ในการรักษา 2 ชนิด คิดเป็นร้อยละ     80.0   ระยะเวลาที่พบการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบในช่วง   4 - 7 วัน หลังการผ่าตัดโดยภาพรวม คิดเป็นร้อยละ  53.2  ซึ่งมีระยะเวลาเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 5.53 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D) เท่ากับ 3.85  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ คิดเป็น  ร้อยละ  66.7 ไม่ได้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มีน้ำหนักตัวประมาณ  65 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ  26.7   ซึ่งน้ำหนักเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 58.87 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D) เท่ากับ 9.06 อาการผิดปกติของแผลผ่าตัดที่พบบ่อยที่สุดคือ มีแผลปวดบวม คิดเป็นร้อยละ 46.7   จำนวนวัน Admit ของผู้ป่วยอยู่ในช่วงตั้งแต่ 6 – 43 วัน ซึ่งจำนวนวัน Admit ของผู้ป่วยเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 19.4 วัน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D) เท่ากับ 10.52 โดยที่ชนิดของ Drain ที่ใช้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้ Tube Drain เพียง 1 เส้น คิดเป็นร้อยละ 80.0  

ส่วนที่  2  อุบัติการณ์การติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัด 

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในโรงพยาบาลหลังผ่าตัด Nephrolithotomy จะเห็นว่าปีงบประมาณ 2548 พบการติดเชื้อในผู้ป่วย Nephrolithotomy จำนวน 10 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น  219 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.57  ปีงบประมาณ 2549 พบการติดเชื้อในผู้ป่วย Nephrolithotomy จำนวน 5 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น  153 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.27  เมื่อพิจารณาอุบัติการณ์การติดเชื้อของแผลในเวลา 2 ปี พบการติดเชื้อ  15  ครั้ง จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด  372 ราย  คิดเป็นร้อยละ 4.03 คิดเป็นอัตราอุบัติการณ์การติดเชื้อ  2.02 รายต่อการดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัด Nephrolithotomy 100  ราย  เมื่อจำแนกตามเชื้อโรคที่พบในผู้ป่วยพบว่า เป็น E-coli มากที่สุดเมื่อพิจารณาภายรวม คิดเป็นร้อยละ 60.0  

 

ส่วนที่ 3 ความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีกับการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ตำแหน่งผ่าตัดNephrolithotomy

พบว่า อายุของผู้ป่วยกับการเกิดนิ่ว มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 ( r = .519 ) เพศของผู้ป่วย กับ จำนวนวันหลังการผ่าตัดแล้วพบการติดเชื้อ มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05( r = .569 ) และ น้ำหนักตัวของผู้ป่วยกับขนาดของก้อนนิ่ว มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ( r = .532 )

 

การอภิปรายผล

1. อุบัติการณ์การติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัด ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อในโรงพยาบาล หลังผ่าตัด Nephrolithotomy คิดเป็นอัตราอุบัติการณ์การติดเชื้อ 4.03 รายต่อการดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัด Nephrolithotomy 100  ราย  เมื่อจำแนกตามเชื้อโรคที่พบในผู้ป่วยพบว่า เป็น E-coli มากที่สุด ซึ่งพบได้ในร่างกาย ( Normal Flora)  เช่น ในลำไส้ใหญ่ ( Large intestine ) 4 ผู้ป่วยสามารถไปห้องน้ำได้เอง เพื่อปฎิบัติกิจวัตรประจำวันหากขาดความระมัดระวังจะเกิดเชื้อโรคเข้าทางบาดแผลได้ จากผลการศึกษาพบว่าจำนวนวัน Admit ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เฉลี่ย ( ) เท่ากับ 19.4 วัน ซึ่งโดยปกติควรพักในโรงพยาบาลเพียง 7 – 10 วัน  เมื่อพิจารณาผลการศึกษาในด้านข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วยที่พบว่าส่วนมาก เป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ   80.0  สอดคล้องกับ การศึกษาของ สมหวัง ด่านชัยวิจิตร  และคณะ   พบว่า การติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัดในโรงพยาบาล  33  แห่ง เมื่อปี  พ.ศ. 2535  พบว่าผู้ป่วยเพศชายมีอัตราการติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัดสูงกว่าผู้ป่วยหญิงโดยพบอัตราการติดเชื้อต่อการผ่าตัด  100   ครั้ง  คิดเป็น  4.7  ครั้ง  และ  1.6  ครั้ง  ตามลำดับ(6)   

                2. ความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีกับการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ตำแหน่งผ่าตัด Nephrolithotomy  พบว่า 1) อายุของผู้ป่วยกับการเกิดนิ่วมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ดังนั้นกรณีที่ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุการเกิดนิ่วมักจะมีขนาดใหญ่ หลายเม็ด ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณผ่าตัดเกิดความชอกช้ำมาก อีกทั้งการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันอาจเกิดความบกพร่องได้ พยาบาลควรให้ความช่วยเหลือในผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นพิเศษ  2) เพศของผู้ป่วยมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 กับ จำนวนวันหลังการผ่าตัดแล้วพบการติดเชื้อ เป็นข้อมูลสำคัญอย่างมากในการให้พยาบาลได้วางแผนในด้านการให้ความรู้ในการปฏิบัติตัวในผู้ป่วยเพศชาย โดยเฉพาะในประเด็นปฏิบัติกิจวัตรประจำวันในห้องน้ำเพื่อป้องกันการติดเชื้อของแผลผ่าตัด และ   3) น้ำหนักตัวของผู้ป่วยกับขนาดของก้อนนิ่ว มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นข้อมูลสนับสนุนให้พยาบาลตระหนักว่าในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากมีก้อนนิ่วขนาดใหญ่ ดังนั้นแผลผ่าตัดภายนอกจึงมีขนาดใหญ่ด้วย การให้การพยาบาลโดยการใช้หลักการปลอดเชื้อด้วยความนุ่มนวดจะทำใช้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบาย ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดได้เป็นอย่างดี

 

ข้อเสนอแนะ

1.  ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้

2.1 ควรจัดทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมภายในตึกผู้ป่วย โดยเฉพาะห้องน้ำผู้ป่วยเพื่อ

ลดเหตุและปัจจัยในการติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัดของผู้ป่วยหลังผ่าตัดอื่นๆในตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี

2.2 ส่งเสริมการใช้สื่อต่างๆเพื่อให้ความรู้ และความเข้าใจในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง

แก่ผู้ป่วยทั้งในรูปแบบเอกสารแผ่นพับ สื่อวีดีทัศน์ จะทำให้สามารถปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องทั้งในระยะก่อนผ่าตัด และหลังผ่าตัด

2.3 ควรดำเนินการจัดทำมาตรฐานการตรวจสอบกิจกรรมการพยาบาลผู้ป่วยทั้ง ระยะ

ก่อนผ่าตัด และหลังผ่าตัด พร้อมทั้งนำลงสู่การปฏิบัติเพื่อลดปัญหาการติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัดของผู้ป่วยหลังผ่าตัดในตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี

2.4 ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องในกิจกรรมการล้างมือก่อนและหลังการให้การพยาบาล

ผู้ป่วย และรณรงค์การล้างมือที่ถูกต้องเป็นระยะๆ

 

 

 

 

3. ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป

3.1  ควรมีการวิจัยเพื่อหาแนวทางในการดำเนินการป้องกันการติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัด

ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดอื่นๆในตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลอุดรธานี เพื่อพัฒนางานบริการให้ได้มาตรฐานโดยมีทฤษฎีเป็นฐานในการพัฒนา

3.2  ควรมีการศึกษาระบาดวิทยาของการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ตำแหน่งผ่าตัดโดยการ

เก็บข้อมูลโดยตรงจากผู้ป่วยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เที่ยงตรงในการศึกษา

3.3 ควรเพิ่มระยะเวลาในการศึกษาให้นานขึ้นเป็น 3 – 5 ปี เพื่อให้ได้รายละเอียดที่

มากพอและได้ประเด็นปัญหาต่างๆเพิ่มขึ้น

 

กิตติกรรมประกาศ                   

ขอขอบคุณคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลอุดรธานี พยาบาลวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ตึกผู้ป่วยศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ   ขอขอบพระคุณบิดา  มารดา และญาติพี่น้องทุกคนที่ให้กำลังใจ ทำให้การทำวิจัยในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

 

เอกสารอ้างอิง

(1)  สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ. (2548) .แนวทางการ

เฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ ชุมนุนสหกรณ์การเกษตร

แห่งประเทศไทย จํ ากัด.

(2) สมหวัง ด่านชัยวิจิตร. (2541). การควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลในโรงพยาบาลใน

                ประเทศไทย. วารสารโรคติดเชื้อและยาต้านจุลชีพ,24(3),62-64.

(3)  สมหวัง ด่านชัยวิจิตร และ วิลาวัลย์ เสนารัตน์. (2539). การเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล .

สมหวัง ด่านชัยวิจิตร (บรรณาธิการ), โรคติดเชื้อในโรงพยาบาล. (หน้า 39-57). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.

(4) อะเคื้อ อุณหเลขกะ. (2547). การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล.  พิมพ์ครั้งที่ 5. เชียงใหม่

                : โรงพิมพ์มิ่งเมือง.

(5) คณะกรรมการการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลอุดรธานี. ( 2549 ). สรุปผลการ

ดำเนินงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลอุดรธานี ปีงบประมาณ 2549.

(6) “-----------------------------------------------“. ( 2549 ). สรุปผลการ

ดำเนินงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลอุดรธานี ปีงบประมาณ 2548.

 

หมายเลขบันทึก: 428075เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2011 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เข้ามาเรียนรู้เรื่องดีดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท