จุด เจ้าปัญหา ในภาษาบาลีสันสกฤต


ในภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต เมื่อเขียนด้วยอักษรไทย จะอ่านยากเล็กน้อย เนื่องยากมีเครื่องหมายเพิ่มเติม ซึ่งปกติแล้วไม่ใช่ในภาษาไทย

 

เช่น "พุทฺโธ"  มีจุด ใต้ ท เป็น ทฺ อย่างนี้ ผู้ที่ไม่คุ้นเคยจะตกตะลึง ว่าอ่านอย่างไรหนอ อันที่จริง มีหลักง่ายๆ ข้อเดียว ว่า จุดใต้ตัวไหน ตัวนั้นเป็นตัวสะกด (จุดนี้ นักภาษาเรียกว่า พินทุ ซึ่งหมายความว่า จุด นั่นเอง)

 

เพราะฉะนั้น พุทฺโธ จึงอ่านว่า พุด-โท นั่นเอง

 

ถาม(เอง)ว่า ทำไมต้องจุด ก็ในเมื่อภาษาไทย พุทโธ ก็อ่านว่า พุด-โท อยู่แล้ว จะไปจุดทำไมให้ยุ่งยาก

 

ตอบ(เอง) ว่า ปกติแล้ว ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต เมื่อเขียนด้วยอักษรไทย "อักษรตัวหนึ่ง ที่ไม่มีสระประสมด้วย จะออกเสียงให้มีสระอะ"  เช่น มรกต อ่านว่า มะ-ระ-กะ-ตะ

 

ภรต ก็อ่านว่า พะ-ระ-ตะ อย่างนี้แล... 

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง

 

ถ้าเขียน "ปญฺญา" จะอ่านอย่างไร

 

ในคำนี้ ตัว "ป" ประสมด้วยสระอะ (เพราะ ป ไม่มีจุด หรือสระอะไรมาเกาะ) ส่วน "ญ" ตัวที่สองนั้นประสมด้วยสระ อา (เพราะมีสระ อา มาเกาะ เห็นโต้งๆ อยู่แล้ว) [ปกติแล้ว ญ ในภาษาบาลีสันสกฤต เมื่อเขียนด้วยอักษรไทย จะไม่มีเชิงข้างใต้ แต่ผมหาตัว ญ ไม่มีเชิงไม่เจอ]

 

ส่วนคำว่า "ภิกฺขุ" ก็อ่านว่า "พิก-ขุ" (ก เป็นตัวสะกด เพราะมี จุด)

ถ้า ภิกขุ (ไม่มีจุด) ก็ย่อมอ่านว่า "ภิ-กะ-ขุ" (คำนี้คงจะไม่มี)

 

จุดนี้ ทำให้อักษรตัวนั้นไม่มีเสียงสระ จึงอาจทำให้เกิดเสียงควบกล้ำกับพยัญชนะอื่น เช่น ปฺรา (อ่านป ควบ ร เป็น ปรา), อินฺทฺร (อิน-ทระ)

 

ลองเทียบสองคำ โคตร กับ โคตฺร

 

คำแรก อ่านว่า โค-ตะ-ระ แปลว่า โคที่ดีกว่า 

คำที่สอง อ่านว่า โค-ตระ (หรือ โคต-ตระ ก็ได้) คอกวัว, โคตร, สกุล, ตระกูล, ชื่อ 

 

การเขียนโดยใช้จุดนี้ ถ้าเป็นอักษรโรมัน จะสะดวกมาก อ่านง่าย เช่น

โคตร  gotara                  โคตฺร  gotra        อินฺทฺร (indra)

 

ตัวที่มีจุด คือ ตัวที่ไม่มีสระนั่นเอง

 

ป.ล. หาเจอแล้ว "", คำข้างบนต้องเขียน "ปญฺา" อย่างนี้ (บางท่านไม่เห็น เพราะ code ไม่เป็นมาตรฐานครับ)

หมายเลขบันทึก: 427511เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2011 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อาจารย์ครับ อาจารย์พอทราบไหมครับ คำว่า พุทธวจน

ในภาษาบาลีสันสกฤตนั้น ที่ถูกต้องเขียนยังไงครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณ Ico48 อ.นุ

พุทธวจน เขียนแบบ บาลีและสันสกฤต (เหมือนกัน)

คือ "พุทฺธวจน" เป็นคำนามแบบประสม หรือเรียกว่า คำสมาส นั่นเองครับ (พุทธ, วจน)

 

(ในประโยคบาลีสันสฤต คำนี้เมื่อแจกรูปแล้วมักจะพบเป็น "พุทฺธวจนํ" (รูปนี้ เป็นทั้งประธาน และกรรม) )

อ่านไปก็ยิ้มไปค่ะ ถามเองตอบเอง...ก็ดีเหมือนกัน อิอิ

เข้าใจมากขึ้นสำหรับ พินทุ ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

(^__^)

สวัสดีครับ คุณ Ico48 คนไม่มีราก

การใช้จุด นับว่าเป็นความฉลาดของผู้คิดค้นนะครับ

เพราะอักษรตระกูลนี้ วิธีการแสดงว่าเป็นตัวสะกดหรือตัวควบนั้น

เขาจะใช้การซ้อนตัว

... เช่น ถ้าจะเขียนว่า "ปฺร" ก็เขียน ป, แล้วเอา ร (ตัวเล็กๆ) ไปไ้ว้ข้างใต้ ป

ซึ่งเขียนยาก จำยาก ถ้ามาถึงสมัยปัจจุบัน ก็จะต้องเพิ่มฟอนต์อีกเพียบ

อยากจะเรียนถาม คำว่า "พุทโธ" ทำไมในภาษาบาลี จึงออกเสียงว่า "บุดโธ" แล้วทำไมนักปราชญ์ไทยไม่เขียนว่า "บุดโธ" ลูกหลานจะได้ออกเสียงไ้ด้ถูกต้อง ไม่ทราบว่าประวัติศาสตร์เป็นมาอย่างไร ผมสงสัยมานานแล้ว ช่วยตอบให้ด้วยครัับ

สวัสดีครับ คุณ ธีรวุธ นรชาติ

เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก เพราะมีมันซ้อนๆ เหลื่อมๆ เรื่องของเสียง กับตัวอักษรนะครับ อีกอย่างหนึ่ง เรื่องนี้ต้องขุดหาข้อมูลตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัยโน่นเลย เขาจึงตอบเท่าที่จะนึกออกและมีข้อมูลนะครับ (ผู้มีความรู้เรื่องจารึกโบราณจะตอบได้ชัดเจนกว่านี้)

1. อักษรบาลีสันสกฤตนั้น จริงๆ แล้วเสียงไม่ได้ตรงกับภาษาไทยมากนัก

อักษรที่ครอบ [ ] คือที่เสียงไม่ตรงกับเรา (เทียบไทยภาคกลาง) ส่วน [[ ]] นั้น ไม่มีเสียงที่ตรงกับเสียงภาษาไทย

ก ข [[ค]] [[ฆ]] ง

จ ฉ [[ช]] [[ฌ]] [[ญ]]

[[ฏ] [[ฐ] [[ฑ]] [[ฒ]] [[ณ]]

ต ถ [ท] [[ธ]] น

ป ผ [พ] [[ภ]] ม

ย ร ล ว [[ศ]] [[ษ]] ส ห [[ฬ]] อ

ธ นั้นไม่ตรงกับ ด แต่จะเป็น dh คือเสียงหนักกว่า d อีก

2. เข้าใจว่าคนไทยเราอาจไม่ได้เรียนรู้ภาษาเหล่านี้จากคนอินเดียโดยตรง (เหมือนกับที่เราไม่ได้รับภาษาจีน (กลาง) จากคนจีน

หรือภาษาฝรั่ง บางทีก็อ่านสะกดตามตัวหนังสือเอา จึงออกเสียงผิด) แต่อาจจะรับผ่านมอญหรือเขมรอีกที

ทีนี้อักษรมอญ และเขมรนั้น ไม่มีตัวเพิ่มเหมือนของไทยเรา (เราเพิ่ม ฃ ฅ ซ ฏ ด บ ฟ ฝ ฮ) เขาใช้ตัวอักษรซึ่งมีแบบแผนอย่างอักษรอินเดีย

ถอดตัวต่อตัวกันเลยก็ว่าได้ แต่เขาอาจออกเสียงแบบอื่น ซึ่งมีความชัดเจน ว่าตัวนี้ ต้องออกเสียงอย่างนี้ เป็นการผูกเสียงกับตัวอักษร

เมื่อรับคำศัพท์บาลีสันสกฤตเข้ามา ก็ออกเสียงของตัวอักษรที่ใช้กัน โดยไม่ได้สนใจเสียงจริง

3. ภาษาไทยเรานั้น เดิมคงใช้อักษรมอญ เขมรนี่แหละแทนเสียง จึงออกเสียงตามเขามาด้วย แม้สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ยังมีการใช้อักษรขอมเขียนภาษาไทย และอักษรมอญเขมรนี่ พิสดารตรงที่ ตัวหนึ่งอาจออกเสียงได้สองเสียง เช่น ค ออกเสียง เป็น ก หรือ ค ก็ได้ แล้วแต่ว่าประสมสระชุดไหน

โดยสรุปแล้ว น่าจะเป็นเรื่องการเรื่องของการเทียบตัวอักษรกับเสียงคนละแบบกัน เนื่องจากเรามัอักษรชุดเดียว แต่ใช้กับหลายๆ ภาษาที่เข้ามา ทั้งมอญ เขมร พม่า บาลี สันสกฤต จึงอาศัยตัวอักษรเป็นหลัก เสียงก็เพี้ยนๆ ไปบ้าง.

รบกวนถามเพิ่มครับ

 ชื่อนี้  ภธรเดช อ่านว่า พัด-ทะ-ระ-เดด  แปลว่า/หมายถึง ผู้ประเสริฐด้วยสติปัญญา

มาจากรากศัพท์ อะไรครับ เเล้ว แปลงมาถูกไหมครับ.

...คลายๆกับคำว่า  พชร อ่านว่า พด-ชะ-ระ/ พัด-ชะ-ระ /พะ-ชะ-ระ
แปลว่า เพชร  ตามรากศัพท์ทางภาษาบาลี

 

ภธร ไม่ทราบว่าหมายถึงอะไรครับ ศัพท์นี้โดยตรงไม่มี

แต่อาจจะนำ ภ สมาส กับ ธร ก็พอจะได้ = ผู้ทรงไว้ซึ่งดาวศุกร์ (หรือ ภา = แสงสว่าง)

เดช ก็หมายถึงอำนาจ ครับ 

 

ถ้าแปลว่า ผู้ประเสริฐด้วยสติปัญญา, แล้ว เดช จะแปลว่าอะไร

คงจะแปลงมาไม่ตรงนะครับ

นางสาววงศ์เพชร วงศ์ทอง

อยากรู้ค่ะว่าคำวิสรรคเป็นแบบไหน อ่านยังไง ขอตัวอย่างด้วยนะคะและคำที่มีตัว ฯ ตามหลัง อ่านยังไงคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท