พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์


มีส่วนร่วมทำงาน / พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ / คือคำตอบส่วนหนึ่ง

ถ้าสังเกตดูให้ดีเราจะพบว่า หน่วยงานราชการในยุคปัจจุบันเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานมากยิ่งขึ้น

ที่โรงเรียนก็มีทั้งองค์กรที่เป็นนิติบุคคลอย่างเช่น สมาคมครูและผู้ปกครอง, สมาคมศิษย์เก่า และองค์กรเพื่อการประสานงาน ได้แก่ เครือข่ายผู้ปกครอง ฯลฯ ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนโรงเรียนในการบริหารงาน องค์กรเหล่านี้มีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่พอสมควร เพราะได้รับการชี้นำในเชิงนโยบายจากหน่วยงานต้นสังกัดออกมาเป็นระเบียบกฎเกณฑ์ให้ถือปฏิบัติ

ในหน่วยงานระดับจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการส่วนกลางที่มาตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค, หน่วยงานส่วนภูมิภาค ตลอดจนองค์กรส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับต่าง ๆ ก็มีกระบวนการเลือกสรร พิจารณาแต่งตั้งตัวแทนจากภาคประชาชน, ภาคธุรกิจเอกชน ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานเป็นองค์คณะบุคคลเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งคงจะเกิดขึ้นจาก ยุทธศาสตร์การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ที่ได้รับการผลักดันโดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ.2540, พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2545 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546

จากประสบการณ์ของตนเองที่ได้เข้าไปเป็นกรรมการให้กับหน่วยงาน 2 - 3 แห่ง สรุปบทเรียนการเข้าไปมีส่วนร่วมได้ว่า จะต้องทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็น พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ให้กับหน่วยงาน โดยมีข้อคิดเห็นบางประการขอหยิบยกขึ้นมานำเสนอเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้

  • บทบาทของหน่วยงานราชการต้องทำงานในลักษณะ Generatic Mode มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการบริหารจัดการ, ปฏิบัติงานขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
  • คำว่า Generate แปลว่า กำเนิด, ทำให้เกิด Generator ก็หมายถึง เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือไดนาโม การทำงานของหน่วยงานราชการต้องให้กำเนิดพลังงาน คือ สร้างผลงานให้บังเกิดขึ้นโดยใช้กลไกต่าง ๆ ทั้งม้า-รถ-ทศพล
  • กรรมการจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานเป็นคณะบุคคลทำหน้าที่เป็น พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ต้องศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจในกระบวนการบริหารงาน ในเวทีของการมีส่วนร่วมซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการประชุมร่วมกัน จึงต้องแสดงความคิดเห็น, ให้ข้อเสนอแนะ, สะท้อนความรู้สึกของประชาชนที่เป็นทั้งบริบทและเป้าหมายในการปฏิบัติงานของหน่วยราชการ นอกจากนั้นก็ให้ความช่วยเหลือในด้านการประสานงาน การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายของภาคประชาชน, ภาคเอกชน เข้ากับเครือข่ายของหน่วยงานราชการนั้น ๆ
  • ในเวทีของการมีส่วนร่วม Generatic Mode ต้องมีการทำงานแบบ นำจากข้างหลัง จัดทำเนื้อหาข้อมูล และกำหนดประเด็นการตัดสินใจที่เรียบง่ายชัดเจน ตรงไปตรงมา พลังแห่งความจริงจะทำให้ภารกิจของคณะบุคคลบรรลุผลสำเร็จแบบก้าวหน้าและสร้างสรรค์ แต่ถ้าการนำจากข้างหลัง มีเงื่อนงำแอบแฝง จะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาในการบริหารงาน
  • ในคณะกรรมการบางคณะ ผมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นประธาน หลักสำคัญที่ผมนำมาใช้ในการทำงานก็คือ เมตตา = ให้ความเป็นมิตร, กรุณา = ให้ความช่วยเหลือในส่วนที่เป็นปัญหาอุปสรรค, มุทิตา = ร่วมยินดีด้วยความจริงใจในเรื่องที่ดี, อุเบกขา = เรื่องไหนไม่จริงและไม่ตรง ต้องแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอาด้วย ทั้ง 4 ข้อ คือ หลักธรรมที่เรารู้จักกันดีในชื่อ พรหมวิหาร 4
  • ข้อนี้สำคัญที่สุด คือ พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายโดยสำคัญตัวเองผิดคิดว่า มีอำนาจหน้าที่เสมือนอยู่ใน Generatic Mode เสียเอง เรื่องนี้ถ้าไม่เข้าใจก็จะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาในการบริหารงานเช่นเดียวกัน 

เรื่องของการบริหารกิจการบ้านเมืองแบบมีส่วนร่วมยังต้อง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กันอีกมาก ผมหวังว่าข้อคิดเห็นที่ได้จากประสบการณ์การเรียนรู้ในบทความนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ตามสมควร.

ป.ล. ผมเคยนำเสนอบางส่วนของเรื่องนี้ ในการอภิปรายเป็นคณะในการประชุม อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาภาคใต้ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2549 ณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มี File PowerPoint สำหรับท่านที่สนใจเชิญ Download ได้เลยครับ :

http://www.chumphonpao.go.th/temp3/StrategicPartner.ppt

หมายเลขบันทึก: 42715เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2006 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท