ตราสัญลักษณ์ ของโรงเรียนภาชี “สุนทรวิทยานุกูล”


ด้วยวิสัยทัศน์ของ ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนรุ่นแรก คือ นายวงษ์ ช่อวิเชียน สมัยนั้นเป็นปลัดอำเภอ โดยมีครูรุ่นแรก ๓ ท่านคือ ครูพิทยา วรรธนานุสาร ครูใหญ่คนแรก ครูสวัสดิ์ การเดช , และ ครูสนั่น บริสุทธิธรรม ผู้เป็นบรมครูแห่งภูมิปัญญาของชาวภาชี ขอกราบอนุโมทนาบุญครูทุกท่านที่เอ่ยนามมานี้

ตราสัญลักษณ์ ของโรงเรียนภาชี “สุนทรวิทยานุกูล” 

กับความเป็นมาของ พระภิกคเณศ 

พระวิฆเนศวร (พิฆเณศ, พิฆเนศวร, พระคเณศ, คณปติ)

เทพแห่งศิลป์ ปัญญา และความรู้ 

 

          ด้วยวิสัยทัศน์ของ ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนรุ่นแรก คือ นายวงษ์  ช่อวิเชียน สมัยนั้นเป็นปลัดอำเภอ  โดยมีครูรุ่นแรก ๓ ท่านคือ ครูพิทยา วรรธนานุสาร ครูใหญ่คนแรก ครูสวัสดิ์   การเดช  , และ ครูสนั่น  บริสุทธิธรรม(ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ข้างวัดธรรมสินธุ์  ต.หนองน้ำใส อำเภอภาชี ) ในปีนั้น พ.ศ.๒๔๙๓  ต้องไปอาศัยโรงเรียนจีน เป็นที่เรียนชั่วคราวได้ ๒ ปี จึงได้มาก่อสร้างอาคารเรียนในที่ปัจจุบันด้วยบารมีของหลวงพ่อชื้น  พระครูสุนทร ธรรมนิวิฐ ที่เป็นผู้สนับสนุนให้สร้างโรงเรียนแห่งนี้เมื่อ ๑ กรกฎาคม  ๒๔๙๓ ผู้คนในท้องตลาดภาชี ยังคงเรียกติดปากกันว่า“โรงเรียนจีน” (ไม่ทราบที่มี  แต่ขอสันนิษฐานจากการได้เคยสอบถามจากคนเก่าๆ ในตลาดภาชี เฒ่าแก่ยู่อันโอสถ  เฒ่าแก่เต๋า ครูหอม หลักกรด  ครูเนื่องสนั่นเสียง  คุณหมอเทิดศักดิ์ เมฆขยาย คุณครูแผ้ว  สวนมะลิ  ครูประสาน  รุ่งเรืองวงษ์ คุณลุงสมพงษ์  ถุงสุวรรณ์  คุณลุงสมพร  ถุงสุวรรณ  และกำนันสะอาด  ธารีฤกษ์) เคยเล่าว่า ท่านเหล่านี้ รวมทั้งชาวจีนที่มาปักหลักค้าขายในตลาดภาชี  รวมตัวกันให้การอุปการะเพื่อให้ลูกหลานของตนได้เรียนและได้เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์...) และต้องการได้รับความสำเร็จ เจริญก้าวหน้าในอนาคตจึงกำหนดภาพสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนเป็นภาพ พระพิฆเณศวร หรือ พระคเณศ    (ไม่มีผู้ไดทราบที่มาแน่ชัด)

ผู้เขียน ขอแสดงความคิดเห็นตามข้อมูลจากการค้นคว้า ดังนี้

เพราะความเชื่อว่า ของคนไทยที่คุ้นเคยกับบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายมาช้านาน คนไทยรู้จักพระพิฆเนศวรมากที่สุดเพราะท่านเป็นมหาเทพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทยมากที่สุดจนกล่าวได้ว่าคนไทยยอมรับในองค์พระพิฆเนศวร   เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นตราประจำกรมกองต่าง ๆ มากมาย พระพิฆเนศวรเป็นเทพแห่งปราชญ์และความรอบรู้ต่าง ๆ เป็นเทพแห่งขจัดอุปสรรคความขัดข้อง เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์มากมีความเฉลียวฉลาดมีคุณธรรม คอยช่วยเหลือปกป้องปราบปรามสิ่งชั่วร้ายและเป็นยอดกตัญญูแม้พระพิฆเนศวรจะเป็นเทพที่มีความเก่งกาจสามารถยิ่ง แต่ก็เป็นเทพที่สงบนิ่งไม่เย่อหยิ่งทรนงอันเป็นคุณสมบัติอันประเสริฐอีกประการหนึ่งของผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง จึงกล่าวได้ว่า พระพิฆเนศวรเป็นมหาเทพที่ดีพร้อมครบถ้วนด้วยความดีงามสมควรแก่การยกย่องบูชาเป็นนิจ แม้แต่องค์พระศิวะมหาเทพผู้สร้างและพระบิดาแห่งองค์พระพิฆเนศวรยังกล่าวว่า ไม่ว่าจะกระทำการสิ่งใดหรือทำพิธีบูชาใด ให้ทำการบูชาพระพิฆเนศวร ก่อนกระทำการทั้งปวง “ผู้ใด ต้องการความสำเร็จ ให้บูชาพระพิฆเนศวร” “ผู้ใด ต้องการพ้นจากความขัดข้องทั้งปวง ให้บูชาพระพิฆเนศวร”  ดังนั้นหากผู้ใดเป็นผู้รู้และต้องการประสบความสำเร็จต่อกิจการทั้งปวงมักจะบูชาพระพิฆเนศวรก่อน

 

 

                   ลักษณะทางประติมากรรมของพระพิฆเนศ 

          ความหมายของส่วนต่าง ๆ ของพระพิฆเนศ พระคเณศ ทรงมีรูปร่างเดียวโดยทรงมีพระเศียรเป็นช้าง มีพระกรรณกว้างใหญ่ มีงวงยาว แต่ทรงมีร่างกายเป็นมนุษย์ มี ๔, ๖ หรือ ๘ กรแล้วแต่พระภาคที่จะเสด็จมา รูปร่างของพระองค์แสดงถึงสิ่งเป็นมงคลดีเยี่ยม ซึ่งทรงสั่งสอนถึงความดีและความสำเร็จ พระคเณศทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้และปัญญายิ่งใหญ่ แต่ละส่วนของท่านให้ความหมายในเชิงปรัชญาได้ดังนี้

พระเศียร พระคเณศมีตั้งแต่ ๑ เศียรหรือพระพักตร์เดียว ไปจนถึง ๒-๕ เศียร ซึ่งปาง ๕ เศียรนี้นิยมใช้ในปางเหรัมภะซึ่งแพร่หลายในอินเดียและเนปาล พระเศียร - ทรงใช้เศียรอันใหญ่ที่เต็มด้วยปัญญาความรู้ เป็นที่รวมแห่งปัญญาทั้งหมด พระกรรณ  พระคเณศในแบบของคนไทยนั้นจะมีเพียงเศียรเดียวเท่านั้นส่วนใหญ่แล้วพระคเณศจะมีเพียงสองตาเท่านั้น ส่วนตาที่ ๓ บริเวณหน้าผาก (บ้างใช้เปลวไฟเป็นสัญลักษณ์แทน ) นิยมใช้ในลัทธิตันตระที่ชัดเจนมากเห็นจะเป็นพระพิฆเณศในศิลปะแบบธิเบต นอกจากนี้บริเวณหน้าผากทั่วไป อาจจะเป็นรูปจันทร์เสี้ยว หรือเส้น ๓ เส้นตามลักษณะของไศวะนิกาย หรือพระเศียรอาจจะสวมมงกุฎชนิดแบบราบ (กรัณฑมุกุฎ) หรือสวมชฎาทรงสูงก็ได้

           ส่วนงานั้น จะมีเพียงงาเดียวข้างขวาเท่านั้นส่วนงาข้างซ้ายนิยมทำหักไว้ งวง มีลักษณะที่ห้อยตรงแต่ส่วนปลายไปทางซ้ายหรือขวาแต่ที่นิยมคือหันงวงไปทางซ้าย และหยิบขนม บตะสะ (โมทกะ) จากถ้วยขนมที่ถืออยู่ในซ้ายมือหรือบางทีก็เป็นพวกผลไม้ป่า

  งา - งาข้างเดียวโดยอีกข้างหักนั้น เพื่อแสดงให้รู้ว่าจะต้องอยู่ในเหตุระหว่างความดี-ความชั่ว ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ดีถึงความแตกต่างกัน ดั่งเช่น ความเย็น-ความร้อน การเคารพ-การดูหมิ่นเหยียดหยาม ความซื่อสัตย์-ความคดโกง

กร มีจำนวนกรตั้งแต่ ๒-๔ เรื่อยขึ้นไปถึง ๑๐ กว่ากรหรือมากกว่านั้น สัญลักษณ์ที่ถือตามพระกรต่าง ๆ เช่น งาหัก,ผลมะนาว, ผลไม้ป่า,มะขวิด,ลูกหว้า,หัวผักกาด,ขนมโมทกะ,ผลทับทิม,ส่วนอาวุธนั้นมีมากมายอาทิ ขวาน,บ่วงบาศก์,ดาบ,ตรีศูล ฯลฯ สิ่งอันเป็นมงคล เช่น สังข์,แก้วจินดามณี,ครอบน้ำ ฯลฯ- ทรงใช้รับฟังคำสวดจากพระคัมภีร์และความรู้ในรูปอย่างอื่นๆ อันเป็นสิ่งแรกแห่งการศึกษา

งวง – เราได้นำเอาความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการเลือกเฟ้นระหว่างทวิลักษณะ ความผิด-ถูก ความดี-ความชั่ว อันมีงวงช้างที่ยาวและใหญ่ใช้ชั่งน้ำหนักต่อการกระทำหรือการค้นหาสิ่งที่ดีงามต่างๆ อันปัญญานั้นเกิดขึ้นเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาของชีวิตให้หลุดพ้นจากอุปสรรค และพบกับความสำเร็จสมดั่งความมุ่งหมาย

หนู - แสดงถึงความปรารถนาของมนุษย์

บ่วงบาศก์ - ทรงถือโดยทรงลากจูงคนทั้งหลายให้เดินตามรอยพระบาทของพระองค์ ขวาน – เป็นอาวุธทรงใช้ปกป้องความชั่วร้ายและคอยขับไล่อุปสรรคทั้งหลายที่มาก่อกวนต่อบริวารของพระองค์

ขนมโมทกะ - ข้าวสุกผสมน้ำตาลปั้นเป็นลูก เพื่อประทานให้เราเป็นรางวัลต่อการที่เราปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระองค์

ท่าประทานพร – หมายถึงความยิ่งใหญ่แห่งความผาสุกและความสำเร็จให้กับสาวกของพระองค์

พระคเณศนั้นมีหลายปาง พาหนะตลอดจนถึงเครื่องประดับและอิริยาบทต่าง ๆ พอจะแยกได้ดังนี้

ลักษณะท่าทาง พระคเณศในยุคแรกนั้นจะเป็นพระคเณศในรูปแบบของการยืนเสียเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นจึงได้พัฒนาเป็นการนั่ง ซึ่งมีการนั่งถึง ๔ ลักษณะด้วยกันคือ

๑. ท่ามหาราชลีลา หรือเข่าข้างหนึ่งยกขึ้น อีกข้างหนึ่งงอพับบนอาสนะ (ซึ่งมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒)

๒. นั่งขาไขว้กัน

๓. นั่งห้อยพระบาทข้างใดข้างหนึ่งส่วนอีกข้างวางพับอยู่บนอาสนะ

๔. นั่งโดยขาทั้งสองพับอยู่ทางด้านหน้า ฝ่าเท้าทั้งสองอยู่ชิดกัน (ศิลปชวา,บาหลี)  

                                           ปางของพระพิฆเนศ

แม้ว่าพระคเณศจะมีพระนามมากมายถึง ๑๐๘ พระนามไปจนถึง ๑๐๐๘ พระนาม แต่ในแง่เทวะประติมานั้นมีอยู่เพียง ๘ ถึง ๙ ปางเท่านั้นที่คนนิยมบูชา โดยการบูชาในแต่ละปางก็ให้คุณที่แตกต่างกันออกไป เชิญเลือกบูชาได้ตามอัธยาศัยเลยครับ

ปางพาลคเณศ เป็นพระคเณศในวัยเด็กรูปลักษณ์ที่เห็น มักจะเป็นพระคเณศยังคลานอยู่กับพื้น หรือยังอยู่ในอิริยบถไร้เดียงสาอย่างเด็ก ๆ ถ้าโตขึ้นมาหน่อย จะนั่งขัดสมาธิเพชรบนดอกบัว

นั่งขัดสมาธิเพชรบนดอกบัวมี ๔ กร ถือขนมโมทกะ กล้วย รวงข้าว ซึ่งหมายถึงความเป็นสุขภาพดีของเด็ก ๆในครอบครัวรวมความหมายถึงให้เด็ก ๆได้ระลึกถึงการเคารพรักในบิดา มารดา ปางนี้นิยมบูชากันในบ้านที่มีเด็กเล็กและเด็กในวัยเรียน

ปางนารทคเณศ ปางนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นพระคเณศมักจะอยู่ในอิริยาบถยืน มี ๔ กร ในคัมภีร์และหม้อน้ำกมัลฑลุ ไม้เท้า และร่ม ซึ่งถ้าเป็นศาสนาพุทธแล้ว คงเปรียบได้กับพระสีวลี ซึ่งเป็นพระธุดงค์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ผู้มีลาภมาก แต่สัญลักษณ์ของพระคเณศนั้น หมายถึงการเดินทางไกล แต่มักจะเป็นการเดินทางไปเพื่อการศึกษาต่อ หรือเป็นปางที่เหมาะสมกับวิชาชีพของคนที่เป็นครูบาอาจารย์เท่านั้น

ปางลักษมีคเณศ ปางนี้พระคเณศจะประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่นมี ๖ กร และพระหัตถ์หนึ่งโอบพระลักษมีเทวีไว้ การบูชาปางนี้เสมือนหนึ่งได้บูชาเทพทีเดียวกันถึง ๒ พระองค์ในลักษณะของทวิภาคี (คเณศ -ลักษมี) กล่าวคือ ลักษมีคเณศ ย่อมมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ พูนสุข ความมั่งคั่ง มั่งมีอย่างหาที่สิ้นสุดมิได้

ปางวัลลยภาคเณศ ปางนี้พระคเณศจะอุ้มพระชายาทั้ง ๒ ไว้บนตักทั้งซ้ายและขวา ซึ่งชายาทั้งคู่คือคือนางพุทธิและสิทะ ดังที่ตำนานได้กล่าวไว้ ปางนี้ให้ความหมายในลักษณะของความสมบูรณ์ของการเป็นครอบครัวมีทรัพย์สินและบริวารมากมาย

ปางมหาวีระคเณศ เป็นพระคเณศที่มีจำนวนของพระกรมากเป็นพิเศษ อาจจะ ๑๒, ๑๔, ๑๖ กรแต่ละพระหัตถ์นั้นถือศาสตราวุธหลากหลายชนิดแตกต่างกันไปอาทิลูกศร คันธนู ดาบยาว ตะบอง ขวาน จักร บ่วงบาศก์ งูใหญ่ หอก ตรีศูล ปางนี้ถือกันว่าเป็นปางออกศึกเพื่อปราบศัตรูหมู่อมิตรทั้งหลาย ดังนั้นจึงเป็นความเหมาะสมพิเศษกับบรรดานักรบ แม่ทัพนายกอง ทหาร ตำรวจและข้าราชการ

ปางเหรัมภะคเณศ เป็นปางพระคเณศที่ห้อยพระบาทอยู่บนพญาราชสีห์ พระคเณศปางนี้จะมีอยู่ห้าเศียร หรืออาจจะเป็นเศียรตามปกติก็ได้ เพราะสัญลักษณ์ที่แท้จริงของปางนี้ก็คือ สิงโตเท่านั้น เพราะสิงโตเป็นเจ้าป่า ดังนั้นจึงเหมาะสมที่ผู้ใหญ่ที่ต้องมีบริวารในการปกครองมาก นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ที่บรรดดากษัตริย์ทั้งหลายแต่โบราณนิยมบูชากัน เรียกว่าเป็นสุดยอดปางของพระคเณศก็ว่าได้

ปางสัมปทายะคเณศ เป็นพระคเณศที่เราพบเห็นกันบ่อยคือ มีอาวุธอยู่ในสองพระหัตถ์บน ส่วนพระหัตถ์ล่างด้านซ้ายนั้นถือขนม และด้านขวาอยู่ในท่าประทานพร ซึ่งความหมายของปางนี้คือ การอำนวยพรให้ประสบความสำเร็จนั่นเอง

ปางตรีมุขคเณศ เป็นพระคเณศที่มี ๓ พระพักตร์ ๔ กร บ้างก็ว่ามีความหมายถึง ๓ โลก บ้างก็ว่าหมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา

ปางปัญจคฌณศ บางคนเรียกปางนี้ว่า พระคเณศเปิดโลก

ปางวิชัยคเณศ เป็นปางที่พระคเณศทางขี่หนูเป็นพาหนะมี ๔ กร พระหัตถ์ขวาด้านล่างอยู่ในท่าประทานพร ซึ่งมีความหมายถึงการอยู่เหนือบริวารนั่นเอง

 

                   ตามหลักฐานที่ปรากฏจะพบว่าคติการเคารพบูชาพระคเณศในฐานะเทพแห่งศิลปวิทยาการของไทยเรานั้นเริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน และปรากฏฐานะนี้ที่เด่นชัด ในสมัยรัชการที่ ๖ เนื่องจากพระคเณศเป็นเทพที่มีสถานภาพแห่งความเป็นสากล ศาสนิกชนและผู้คนทั่ว ๆไปต่างเคารพนับถือพระองค์ว่าเป็นเทพที่สำคัญ อันจะอำนวยพรประสิทธิ์ประสาทผลในด้านต่างๆแทบจะทุกด้าน และผู้เลื่อมใสพระองค์ก็มีตั้งแต่ชนชั้นล่างสุดจนถึงชนชั้นปกครอง ทุกสาขาอาชีพ ไม่มีขีดจำกัดหรือกฎเกณฑ์ จึงมีการนิยมสร้างรูปเคารพพระคเณศขึ้นมาเพื่อประทานความสำเร็จและขจัดอุปสรรค   ฐานะเทพผู้ปกป้องคุ้มครองเด็ก ฐานะบรมครูหรือเทพทางศิลปะการแสดง โดยเฉพาะในด้านการค้าและการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ในปัจจุบัน

คาถาพระพิฆเณศวร์

                                                          
                 โองการพินธุ นาถังอุปปันนัง พรหมมะโน จะอินโธ
              พิฆฆะเนศโต มหาเทโว อะหังวันทา มิสัพพะทา สิทธิกิจจัง
        สิทธิกัมมัง สิทธิการิยัง ประสิทธิเม
  
        ( พระพิฆเณศวร์ คาถาพระพิฆเณศวร์ใช้สวดเพื่อขอพรหรือปัดเป่าเหตุร้าย )

...........................................................................................................

 

โอม ศรีคะเนศายะนะมะ
ชะยะคะเณศะ ชะยะคะเณศะ ชายะคะเณศะ
เทวา มาตา ชากี ปะระ วะตี ปิตามะหา เทวา ละฑุวัน
กา โกคะ ละเค สันตะ กะเร เสวา เอก ทันตะ
ทะยาวันดะ จาระ ภุชา ธารี มาเถ สินทูระ เสเห
มูเส กี อะสะวารี อันธะนะ โก อางขะ เทตะ
โก กายา พามณะนะ โก กุตรร เทตะ
โกทินะ นิระทะนะ มายาฯ

 

(คาถาบูชาพระพิฆเนศ ใครบูชาจะพ้นจากอุปสรรค ประสบความสำเร็จ)

 

 

                                                                                ทศพล  วงษ์เนตร

                                                                       ๑๘  กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

บรรณานุกรม

http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5331383&Ntype=41

http://www.siamganesh.com/

http://www.igetweb.com/www/srichinda2/index.php?mo=3&art=172756

คำสำคัญ (Tags): #พระวิฆเนศวร
หมายเลขบันทึก: 426929เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2011 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท