ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี : 4 ความรู้ใหม่ในปี 2554


ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี : 4 ความรู้ใหม่ในปี 2554

ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี : 4 ความรู้ใหม่ในปี 2554

ภาณุ อดกลั้น

 บทนำ

         ไวรัสตับอักเสบ คือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้ว จะไปอยู่ที่ตับ ทำให้ตับเกิดอาการอักเสบ ทำลายเซลของตับ เป็นภัยเงียบที่มักไม่ค่อยแสดงอาการในระยะเริ่มต้น ผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อ จนกระทั่งมีอาการ เช่น มีน้ำในช่องท้อง ท้องมาน สมองซึม หรือคลำเจอก้อนที่ตับ ก็มักจะมีอาการที่ค่อนข้างรุนแรงแล้ว ประมาณร้อยละ 20 ของการเป็นตับอักเสบเรื้อรัง สามารถพัฒนาไปเป็นการเกิดพังผืดที่ตับก็คือตับแข็ง และประมาณร้อยละ 20-25 จากการเป็นตับแข็งจะพัฒนาเป็นมะเร็งตับได้ สาเหตุสำคัญคือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้ติดยาเสพติด และการเจาะ สัก ฝังเข็ม รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นผู้ที่ต้องการแต่งงาน จำเป็นต้องตรวจเลือดก่อน หากพบก็จะต้องให้คู่สมรสฉีดวัคซีนป้องกัน ดังนั้นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศโดยไม่ใช่ถุงยางอนามัย ก็ถือเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งหากแม่ตั้งครรภ์ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบบี และมีปริมาณไวรัสสูง ก็มีโอกาสเกินกว่าร้อยละ 90 ที่ลูกในครรภ์จะได้รับเชื้อนี้แต่แรกเกิดด้วย สามารถพบได้ด้วยการตรวจเลือดหา HBsAg ซึ่งเป็นการวัดระดับโปรตีนที่ไวรัสตับอักเสบสร้างขึ้นในตับ และการตรวจ HBV DNA เพื่อตรวจหาจำนวนเชื้อไวรัสในร่างกายผู้ป่วยหรือ Viral Load ซึ่งในกรณีผู้ป่วยโรคตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง การรักษาคนไข้ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการป่วยของคนไข้แต่ละรายด้วย และจำเป็นต้องวิเคราะห์จำนวนของไวรัสและสภาพของตับ

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบ

        การอักเสบของตับจะทำให้ตับบวม มีการทำลายเซลล์ตับ ทำให้มีอาการอ่อนเพลียจากการทำงานผิดปกติของตับ หากการอักเสบเกิดขึ้นเป็นเวลานานจะทำให้ตับถูกทำลายมาก และถูกแทนที่ด้วยพังผืด ทำให้ตับมีแผลเป็น และมีลักษณะแข็งเป็นตุ่มๆ แม้ว่าสาเหตุของตับอักเสบจะมีมากมายแต่สาเหตุที่สำคัญคือไวรัสตับอักเสบ ปัญหาโรคตับอักเสบ บี และโรคตับอักเสบเรื้อรังเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทยและทั่วโลก การดำเนินของโรคตับอักเสบ บี และโรคตับอักเสบ ซีสามารถดำเนินเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง เป็นตับแข็ง และเป็นมะเร็งตับ เป็นภาวะที่ก่อให้เกิดการสูญเสียทางครอบครัวทางเศรษฐกิจเป็นอันมาก ดังนั้นการเข้าใจถึงโรคตับอักเสบ ซึ่งรวมถึงการติดต่อ การดำเนินของโรค การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันการติดต่อซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดูแลและช่วยลดจำนวนผู้ป่วย

        ไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิด คือ ไวรัสตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบ ซี ไวรัสตับอักเสบ ดี และไวรัสตับอักเสบอี  ชนิดเอ และ อี ติดต่อทางอาหารและน้ำ ส่วนชนิดอื่นๆติดต่อทางเลือกและสารคัดหลั่งในร่างกาย อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ ในรายที่เจ็บป่วยด้วยโรคตับอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการที่พบได้บ่อย คือ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ปวดข้อ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อาจจะพบผื่น ตามตัว หรืออาการท้องเสีย บางรายปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งอาการตัวเหลืองตาเหลืองจะหายไป     1-4 สัปดาห์ แต่บางรายอาจนาน 2-3 เดือน ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ โรคไวรัสตับอักเสบบี พบว่าร้อยละ 5-10 เป็นตับอักเสบเรื้อรัง ส่วนไวรัสตับอักเสบซี ร้อยละ 85 เป็นตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยมักไม่มีอาการ แต่จะมีการทำลายเซลล์ตับไปเรื่อยๆจนเกิดตับแข็ง และเป็นมะเร็งตับใน หากสงสัยว่าจะเป็นโรคตับอักเสบควรไปรับการตรวจเลือด เพื่อตรวจการทำงานของตับ โดยการหาระดับ SGOT[AST],SGPT [ALT] ค่าปกติน้อยกว่า 40 IU/L ถ้าค่ามากกว่า 1.5-2 เท่าให้สงสัยว่าตับอักเสบ หากพบว่าผิดปกติแพทย์จะขอตรวจเดือนละครั้งติดต่อกัน      อย่างน้อย 3 เดือน สำหรับการตรวจเฉพาะเช่น ไวรัสตับอักเสบเอ ตรวจหา Ig M Anti HAV, ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจหา HBsAg ถ้าบวกแสดงว่ามีเชื้ออยู่,   Anti HBs ถ้าบวกแสดงว่ามีภูมิต่อเชื้อ,  HBeAg ถ้าบวกแสดงว่า    เชื้อมีการแบ่งตัว,  HBV-DNA เป็นการตรวจเพื่อหาปริมาณเชื้อ, สำหรับไวรัสตับอักเสบ ซี Anti-HCV เป็นการบอกว่ามีภูมิต่อเชื้อ และ  HCV-RNA ดูปริมาณของเชื้อ

        การรักษาจะเลือกใช้ยาจะเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเนื่องจากยามีผลข้างเคียงที่พึงระวังหลายอย่าง ยาที่ใช้อยู่มี interfeon และ lamuvudin และผู้ที่เป็นพาหะ คือ ผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่ในร่างกาย แต่ไมแสดงอาการของตับอักเสบ ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และต้องมั่นติดตามการดูแลจากแพทย์เป็นระยะๆ ผู้ป่วยที่เป็นพาหะมักเป็นกับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และ ไวรัสตับอักเสบซี เท่านั้น

4 ความรู้ใหม่ในเรื่องไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี

1. จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

        1.1  ในระดับโลก พบว่าการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีของประชากรโลกนั้นถือว่าค่อนข้างสูง คือพบว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลกทั้งหมดเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีช่วงในช่วงหนึ่งของชีวิต และในจำนวนนั้น มีถึง 350 ล้านคนที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง คือติดเชื้อนานเกิน 6 เดือนโดยที่ภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถขจัดออกไปได้ และมีอัตราการตายทั่วโลกรวมกัน 1 ล้านคนต่อปี

        1.2   ในประเทศไทย พบว่ามีคนไทยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมากถึงร้อยละ 5 ของประชากร หรือประมาณ 3.5 ล้านรายทั่วประเทศ และสถิติในปี ค.ศ.2009 พบว่าคนไทยตายเพราะมะเร็งตับ 25,000 คน ในจำนวนนี้มาจากการพัฒนาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สู่การเป็นมะเร็งตับจนเสียชีวิตถึงร้อยละ 70 และจากไวรัสตับอักเสบซีร้อยละ 16 ที่เหลือมาจากสาเหตุอื่นๆ และผู้ป่วยเรื้อรังชนิดซีอายุรอดภายหลังติดเชื้อเฉลี่ย 17 ปี

2. ไวรัสตับอักเสบซีรักษาในภูมิภาคเอเชียได้ผลดีกว่าภูมิภาคอื่นในโลก

        สถานการณ์ของไวรัสตับอักเสบซีพบว่าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีการติดเชื้อของโรคนี้สูงประมาณร้อยละ 1-10 แล้วแต่ประเทศ ในขณะที่ทั้งโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 170 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อเรื้อรังประมาณ  99 ล้านคน ไวรัสตับอักเสบซีติดกันผ่านเลือด และมีข้อมูลพบว่า ผู้ติดยาเกิน 1 ปีที่มีพฤติกรรมการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันประมาณร้อยละ 90 ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี รวมถึงผู้ที่ได้รับการบริจาคโลหิตก่อนปี ค.ศ.1992 ก็มี    ความเสี่ยงเพราะในขณะนั้นยังไม่มีการคัดกรองโลหิต   ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ แต่ยังโชคดีที่คนไทยและคนในภูมิภาคเอเชียทั้งหมดที่ลักษณะของยีนของประชากรแถบนี้เป็นแบบ CC คือตอบสนองต่อยาและการรักษาได้ดีที่สุด ทำให้การสถิติการรักษาหายขาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกค่อนข้างสูงกว่าแถบฝั่งตะวันตก เชื่อว่าเป็นเพราะคนเอเชียตัวเล็กกว่า ไขมันน้อยกว่า ความเข้มข้นของยาเมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วจะได้รับมากกว่า โรคไวรัส    ตับอักเสบซีสามารถหายขาดได้ แม้ขณะนี้ยาฉีดจะมี    ราคาสูง และทั้งคอร์สที่ต้องฉีดคือ 48 สัปดาห์ๆ ละ 1 เข็ม(ราคาราวๆ 4-5 แสนบาท) แต่หายขาดได้ถึงร้อยละ   75-80  ขึ้นไป แต่หากเทียบกับที่ไม่รักษา แล้วปล่อยจนเป็นตับแข็ง มะเร็งตับ ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็สูงเช่นกัน

3. มีวิธีการวินิจฉัยแบบใหม่โดยการตรวจนับปริมาณ “เปลือกไวรัส”

        ปัจจุบันมีการคิดค้นวิธีการที่เรียกว่า "การตรวจทางอิมมูโนวิทยา" โดยตรวจหาปริมาณ HBsAg เพื่อใช้ประเมินความสามารถของร่างกายผู้ป่วยในการกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายด้วยภูมิคุ้มกันตนเองในผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง และยังบ่งชี้ว่าผู้ป่วยกำลังตอบสนองต่อการรักษาอย่างไร โดยใช้กระบวนการเจือจางตัวอย่างโดยวิธีอัตโนมัติ ลดความผิดพลาด และได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก ซึ่งข้อดีคือ สามารถประเมินจำนวนของเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น เมื่อเราใช้วิธีตรวจเปลือกไวรัสแล้วพบว่ามันน้อยลง ก็แปลว่าไวรัสน้อยลง ตอบสนองต่อการรักษาแล้ว ก็จะสามารถลดยาที่ใช้ในการรักษาให้น้อยลง (Henry Chan, 2011)

4.  มียาชนิดรับประทานเพื่อใช้รักษาตับอักเสบซีตัวใหม่

        ขณะนี้ยาชนิดรับประทานเพื่อรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาจบเกือบจะเสร็จแล้ว เชื่อในจะสามารถใช้ยาตัวใหม่ได้ในอเมริการาวสิ้นปี ค.ศ. 2011 หรือต้นปี 2012 และน่าจะใช้ได้ในประเทศไทยในช่วงปลายปี 2013 หรือต้นปี 2014 นี้ ซึ่งจะเป็นยาแอนตี้ไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นผลดีต่อคนไข้มากกว่าเดิม มีสภาพใกล้เคียงกับอาการหาย  คือ ยา และภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกดเชื้อไวรัสไม่ให้แบ่งตัวและกระจายออกไปได้ แต่หากตรวจชิ้นเนื้อตับจะปรากฎว่าพบไวรัสเป็นจำนวนต่ำๆ ซึ่งไม่มีผลอะไร นอกจากผู้ป่วยคนนั้นจำเป็นต้องกินยากดภูมิในกรณีต้องเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายถูกกดลง และไวรัสตับอักเสบบีอาจจะสำแดงขึ้นมาอีกได้

 บทสรุป

        โรคตับอักเสบเป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการ กว่าจะมาพบแพทย์ส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรงมากกว่า  ร้อยละ  90 ของคนติดสารเสพติดที่ใช้เข็มร่วมกันเกิน 1 ปี มักจะติดชนิดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี และสถิติทั่วโลก 12 คน จะพบผู้ติดเชื้อ 1 คน และป็นความเจ็บป่วยที่ยังคุกคามคนไทยต่อเนื่อง ทั้ง ชนิดบี และชนิดซี ประเทศไทยยังมีความชุกในการติดเชื้อสูง และยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยติดอันดับ 1ใน 9  ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมียีนที่ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี และผู้ป่วยเรื้อรังชนิดซีอายุรอดภายหลังติดเชื้อเฉลี่ย 17 ปี พร้อมเปิดวิธีการตรวจไวรัส B แบบใหม่ โดยการตรวจวัดปริมาณเปลือกไวรัส เพื่อการรักษาเฉพาะราย ส่งผลดีคนไข้ใช้ยาน้อยลง อีกทั้งมีการพัฒนายาชนิดรับประทานเพื่อรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งจะเป็นยาแอนตี้ไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นผลดีต่อคนไข้มากกว่าเดิม

 

อ้างอิง

  1. เอกสารการประชุมของสมาคมศึกษาโรคตับแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ครั้งที่ 21 (The-21st-Conference-of-the-Asian-Pacific-Association- for-the-Study-of-the-Liver-APASL-2011) 17-20 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ กรุงเทพฯ.
  2. http://www.who.int/topics/hepatitis/en(สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2554)
หมายเลขบันทึก: 426905เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2011 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท