ฤาระบบศีลธรรมในสังคมไทยล้มเหลว : ปัญหาเด็กและเยาวชน


“ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ”

“ศีลธรรมไม่กลับมา  โลกาจะวินาศ”  คำกล่าวของท่านพุทธทาส ที่สะท้อนถึงความเสื่อมถอยทางศีลธรรมในสังคมไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสื่อมถอยทางศีลธรรมของเด็กและเยาวชน  ที่มีอยู่ให้เห็นอย่างดาษดื่นในสังคมปัจจุบัน  เด็กและเยาวชนนั้นถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ  เนื่องจากประชากรของประเทศจะเป็นเด็กและเยาวชนเสียส่วนใหญ่  และการพัฒนาประเทศจะขึ้นอยู่กับเด็กและเยาวชนเหล่านี้  หากสามารถแก้ไขปรับปรุงเด็กและเยาวชนให้ดีเสียตั้งแต่วันนี้  ในอนาคตประเทศชาติก็จะมีผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพ  อยู่ในศีลธรรมเคารพต่อกฎเกณฑ์หรือกฎหมายของสังคม  มีความรู้ความสามารถประกอบอาชีพสุจริตรู้จักเสียสละผลประโยชน์ต่อส่วนรวม สังคมและประเทศชาติ

สังคมโลกที่ถูกห้อมล้อมด้วยกระแสแห่งวัตถุนิยมและบริโภคนิยมที่เราเป็นทาสอย่างโงหัวไม่ขึ้นอยู่ในขณะนี้  สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กและเยาวชนที่เป็น “พื้นที่สีดำ”  มากกว่า “พื้นที่สีขาว”  สื่อทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์  วิทยุ  อินเตอร์เน็ต ที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย   ธุรกิจบาป เช่น ร้านเกมส์ที่ผู้ใหญ่เปิดให้เด็กเข้าไปใช้บริการ โดยเห็นแก่ผลประโยชน์มากกว่าการร่วมรับผิดชอบต่อเด็กและเยาวชน     การเปิดร้านคาราโอเกะ ผับ ให้เด็กและเยาวชนได้เที่ยว ดื่ม กันอย่างไม่ลืมหูลืมตา  ความเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่เหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม  รวมถึงสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบัน ทั้งภายในประเทศและภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไทยที่จะเป็นพลังที่สำคัญของชาติ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทำให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบที่รุนแรง อันเป็นผลมาจากความเปราะบางของครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นผลทำให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม  

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการส่งเสริมด้านคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษา ที่ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่เด็กนักเรียนทุกคนจะต้องมี และถือว่าเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง เพื่อให้มีจิตสาธารณะ มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และมีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม และมีความเคารพสถาบัน ควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักเรียน รวมถึงโรงเรียนและครูต้องช่วยกันสังเกตพฤติกรรมของเด็กนักเรียนด้วย  ในเรื่องนโยบายการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษานั้น  มีปรากฏอยู่ในทั้งพระราชบัญญัติการศึกษาทั้งสองฉบับ คือ (พ.ศ.2542 และ พ.ศ.2554)   ตลอดถึงปรากฎในนโยบายการศึกษาของชาติ  ซึ่งดูเหมือนกับว่า เรื่องของคุณธรรมจริยธรรมนั้น เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจในการจัดการศึกษาให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

แต่ในทางกลับกัน  ปัญหาเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมยังคงปรากฎให้อยู่ตลอดเวลาและเหมือนจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ  เช่น  ปัญหาการทะเลาะวิวาทของเด็กอาชีวะศึกษา หรือแม้แต่ปัญหาการตบตีกันของเด็กนักเรียนหญิงในระดับมัธยมศึกษา  ซึ่งเป็นที่น่าหนักใจเป็นอย่างมาก  ยิ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมา เป็นข่าวทางสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์  ติดๆ กันในหลายกรณี ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะหาทางออกและแนวทางแก้ไขกันได้อย่างไร เพราะรู้สึกว่าปัญหานี้ได้ถูกหมักหม่มมานาน  จนหยั่งรากลงลึกเป็นปัญหาที่ไม่รู้จักจบสิ้น 

ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน  เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ท้าทายการแก้ปัญหาของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าจะหาทางออกที่ลงตัวอย่างไร  ระหว่างประเพณีวัฒนธรรมการรักนวลสวงนตัว ที่หลายคนเห็นว่าล้าสมัย คร่ำครึกับการเปิดเสรีทางความรักของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน  นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงปัญหาที่ตามจากปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ซึ่งมีอยู่อย่างมากมาย

 ปัญหาการติดเกมส์  เป็นปัญหาที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน  ปัญหานี้ถือว่าเป็น “ศัตรูที่ร้ายกาจ” ที่ดึงเยาวชนออกจากการศึกษา  ออกจากคุณธรรมจริยธรรม  เด็กและเยาวชนบางคนใช้เวลาอยู่ในร้านเกมส์มากกว่าอยู่โรงเรียนและอยู่บ้าน  สิ่งที่ตามมาคือ การสะสมความรุนแรงจากการเล่นเกมส์ ที่นำไปสู่การแสดงออกด้วยความรุนแรงของเด็กและเยาวชน  เช่น  การทำร้ายคนขับแท็กซี่เพื่อชิงทรัพย์โดยเลียนแบบมากจากเกมส์  นิสัยที่เอาแต่ชนะไม่รู้จักการแพ้ หรือให้อภัย  ปัญหาที่กล่าวมานี้ยังส่งผลถึงปัญหาการไม่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน  ที่ดูได้จากผลการเรียนโดยรวมทั้งประเทศของเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นวิชาภาษาอังกฤษ  ที่ต่ำทุกทักษะการฟัง การอ่าน  การพูด  การเขียน  วิชาคณิตศาสตร์  วิชาวิทยาศาสตร์  เป็นต้น   

ซึ่งดูเหมือนว่า นับวันปัญหาเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น  จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคมที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องเด็กและเยาวชน  ดูแลเรื่องการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของเด็กและเยาวชน ทั้งในระบบราชการและองค์กรภาคเอกชน  น่าจะทบทวนการทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ผ่านว่ามีความสำเร็จหรือล้มเหลวประการใด  เป็นสิ่งที่น่าคิด ทั้งๆที่เรามีนโยบายในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม มีกิจกรรมมากมายที่เกี่ยวกับส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษา ทั้งในระดับประถมศึกษา  มัธยมศึกษา  อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา  ในส่วนขององค์กรทางศาสนา เรามีโครงการครูพระสอนศีลธรรมในสถานศึกษาทั่วประเทศประมาณ ๒๐,๐๐๐  รูป    จึงน่ามาคิดทบทวนกันไหม่ ในเรื่องการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ในระบบการศึกษาไทยมีปัญหาหรือไม่  อย่างไร ?

เริ่มต้นที่ใจ สู่สายใยครอบครัว  :  ทางออกของปัญหา

               แท้ที่จริงแล้วการแก้ปัญหาของเด็กและเยาวชนที่กล่าวมานั้น  เป็นที่ยอมรับกันว่า “ครอบครัว”  เป็นสถาบันที่เล็กที่สุดในสังคม  แต่เป็นสถาบันที่มีพลังมากที่สุดที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาของเด็กและเยาวชน   แต่เพราะในปัจจุบัน “สถาบันครอบครัว” ในสังคมไทยค่อนข้างล้มเหลว  ในแต่ละวันพ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะอยู่กับลูกปล่อยให้ลูกอยู่บ้านคนเดียว  พ่อแม่กับให้ความสำคัญกับการดิ้นรนเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพมากกว่า  ด้วยความเปราะบางของครอบครัวเช่นนี้  ทำให้เด็กและเยาวชนมีเวลาที่จะอยู่กับเพื่อน  เกมส์ สื่อต่างๆ มากกว่าพ่อแม่  เด็กและเยาวชนจึงเรียนรู้เรื่องต่างๆ ด้วยความเข้าใจของตัวเองและเรียนรู้จากเพื่อน ซึ่งก็มีวุฒิภาวะพอๆกัน  หากจะหาทางออกในการแก้ปัญหาของเด็กและเยาวชน  ผู้เขียนเชื่อว่าสังคมคงต้องย้อนกลับมาให้ความสำคัญของครอบครัว  พลิกบทบาทของครอบครัวให้มีพลังเหมือนในอดีต  พ่อแม่ต้องให้ “เวลา” และ “ความอบอุ่น”   แก่ลูกๆ มากกว่าการยืนเงินให้โดยปราศจากความเข้าใจซึ่งกันและกัน

               นอกจากครอบครัวแล้วผู้เขียนยังเห็นว่า การบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนนั้น มีความสำคัญมากในการช่วยแก้ปัญหาของเด็กและเยาวชน  โดยต้องเริ่มต้นตั้งจากตัวของเด็กและเยาวชนเอง จนก้าวไปสู่ครอบครัว  ชุมชน  และนโยบายแห่งรัฐ  ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาแบบบูรณาการทุกภาคส่วน โดยเริ่มต้นที่ตัวเด็กและเยาวชน  ภายใต้ แนวคิด “เริ่มต้นที่ใจ  สู้สายใยครอบครัว  ล้อมรั้วชุมชน  รวมพลภาครัฐ”  ผู้เขียนยังเชื่อว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคู่ขนานไปกับการทำงานด้านเด็กและเยาวชนขององค์กรต่างๆ รวมถึงการทำงานขององค์กรทางศาสนา  คือ  “การสร้างความตระหนักรู้ ให้เด็กและเยาวชนเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และปลุกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง”  เพราะไม่ว่าเราจะมีนโยบาย โครงการหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมากแค่ไหน  งบประมาณมากขนาดไหน  แต่เด็กและเยาวชนกลับยังมองไม่เห็นว่าสิ่งที่เขากระทำอยู่เป็นปัญหากับตัวเขาเองและส่งผลถึงสังคมส่วรรวม  นโยบายและโครงการต่างๆ ไม่สามารถสำเร็จได้ไม่ว่าเราจะระดมทุนทางปัญญา  ทุนทางวัฒนธรรม หรือทุนทางสังคมมากขนาดไหน  จึงขอย้ำว่า สิ่งแรกที่เราควรเร่งดำเนินการ คือ  ทำให้เด็กและเยาวชนเห็นปัญหา และลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง  โดยมีครอบครัว  ชุมชน หน่วยงานทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน คอยให้การสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยงในการแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชน 

               ในสังคมมีตัวอย่างของการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน  โดยการลุกขึ้นมาทำงานของเด็กและเยาวชนเองอย่างมากมาย  ไม่ว่าจะเป็น โครงการการประกวดโครงงานคุณธรรม “เยาวชนไทย ทำความดีถวายในหลวง”  (เข้าไปดูได้ที่ http://www.moralproject.net/

หรือน้องเบส  อรพิมพ์ รักษาผล  เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ปี 2546, เยาวชนดีเด่นสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี  2545, รางวัลนักเรียนพระราชทาน, ลูกกตัญญูดีเด่นแห่งชาติ 2551, วิทยากรดีเด่นระดับชาติ ฯลฯ   น้องเบสบอกว่า  “ก่อนจะได้รางวัลเยาว ชนดีเด่นแห่งชาติ เคยได้รางวัลเยาวชนเลวเด่นแห่งชาติมาก่อน”  น้องเบสเคยผ่านชีวิตที่ผิดพลาดมาก่อน  แต่เพราะการมาฝึกเป็นนักพูดและเวลาที่ต้องหาข้อมูลในการพูดทำให้น้องเบสได้เรียนรู้ชีวิตมากขึ้น  จึงเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม จนกระทั้งลุกขึ้นมาทำงานเพื่อร่วมแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนในที่สุด

คงถึงเวลาแล้วที่เราจะให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ ให้เด็กและเยาวชนเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และปลุกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง   

 

ติดต่อเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ที่

http://www.facebook.com/dhammaaromdee

หมายเลขบันทึก: 426870เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2011 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

กราบนมัสการพระคุณเ ผมน้องใหม่เพิ่งนำเสนอแนวคิด ด้านสังคม ผ่านเว็บ http://www.nature-dhama.ob.tc  จะแวะมาเยิ่ยมชม และนำข้อมูล ข้อคิด เสริมงานเขียนของผมต่อไป

"ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา  โลกาจะวินาศ"
ท่านพุทธทาส ท่านประกาศ...ว่าสำคัญ

ขอบคุณครับ

 

  • กราบนมัสการ  ท่านบัณฑิตเมธี
  • บทความนี้ชี้ชัดเจาะประเด็นได้เห็นภาพ  พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขได้อย่างชัดเจน
  • ปัญหาสังคมที่เกิดจากเด็กล้วนเพราะกิเลสความเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่ในระบบทุนนิยม
    ความไม่พร้อมของพ่อแม่ที่ไร้วุฒิภาวะทางอารมณ์เกิดปัญหา "ผ้าสีเทา" มากมาย
    ที่นับวันทวีความรุนแรง...
  • คงต้องร่วมมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่ออนาคตของชาตินะคะ
  • กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าสำหรับข้อคิดดี ๆ ที่แบ่งปันค่ะ 

นมัสการพระคุณท่าน

เห็นด้วยหลายประการ หากพูดทั้งหมดคงเป็นการสัมมนากันหลายวัน แต่อ่านจากข้อเขียนของท่านแล้วได้มุมมองที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ

ระบบการศึกษาในปัจจุบันนี้ดีหรือไม่? ตอบได้เลยว่าดีเหมือนเดิมและดีกว่าเดิมด้วยซ้ำไป ผมคิดย้อนกลับไปสมัยยังเป็นเด็กประถมวิชาที่เรียนมีเพียงน้อยนิด แต่เดี๋ยวนี้ไปเปิดดูหนังสือของลูก ๆ แล้วพบว่าเนื้อหาการเรียนมีเยอะขึ้น รวมถึงเรื่องศีลธรรม จริยธรรม ศาสนา เรียนกันเยอะมากทำไมถึงไม่ประสบผลสำเร็จ

ตามที่ท่านว่ามีโครงการอบรมจริยธรรมกว่าสองหมื่นรูป ทำไมศีลธรรมจึงไม่กลับมาเสียที

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นปลายเหตุ แล้วต้นเหตุเล่าอยู่แห่งใด

ซึ่งต้องกลับย้อนมาดูสามสถาบันหลักที่นักปราชญ์หลายคนกล่าวถึงคือ บวร

บ้าน วัด โรงเรียน

สถาบันเหล่านี้แหละที่จะปลูกฝังความรู้สึกนึกคิดของเยาวชนได้

บ้านคือแหล่งศึกษาชั้นปฐมภูมิที่แท้จริง คือการเรียนรู้จากตัวแบบหรือ Role Model ที่แท้จริง พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ร้อยละ 80 จะเป็นไปตามสภาพแวดล้อม มีประมาณร้อยละ 20 ที่จะผ่าเหล่าดีหรือเลวด้วยตัวเอง

แต่สมัยนี้พ่อแม่กลับปลูกฝังเลี้ยงดูลูกอย่างผิด ๆ หลายประการ ปลูกฝังเน้นการแข่งขันแก่งแย่งเป็นคนเก่ง ขนาดให้เป็นคนดียังมีคำว่า คนดีที่หนึ่ง แล้วจะทำให้เยาวชนมุ่งเป็นคนดีได้อย่างไร

เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็จับเยาวชนเหล่านี้ยัดเข้าระบบสังคมใหม่คือเข้าโรงเรียน แล้วพ่อแม่ก็คิดว่าครูหรือสถาบันการสอนจะอบรมบ่มนิสัยลูกของตนได้ แต่ครูเหล่านั้นเป็นใคร พ่อแม่ก็ไม่ใช่มีหรือที่จะใส่ใจเฝ้าปั้นแต่งให้ศิษย์เป็นคนดี แล้วเด็กสมัยนี้เชื่อฟังครูซะที่ไหน เครื่องมือในการดัดนิสัยอย่างไม้เรียว และตกซ้ำชั้นก็ใช้ไม่ได้แล้ว ครูคนไหนตีลูกแล้วเป็นเรื่อง ครูคนไหนให้นักเรียนซ้ำชั้นก็ต้องถูกสอบถึงพฤติกรรมการสอน ว่าสอนอย่างไรทำให้นักเรียนไม่มีประสิทธิภาพ ในที่สุดก็ปล่อยเกรดกันไปเพื่อให้หลุดพ้นจากบ่วง แต่มันก็ขว้างงูไม่พ้นคอกันเสียที

ทีนี้ลองมาดูสถาบันการศึกษาอย่างวัดดูสิครับ ทุกวันนี้เข้าไปในวัดจะพบเห็นอะไร

ภาพพระหรือเด็กวัดนั่งอ่านหนังสือเคยมีไหม ในกุฏิมีทีวี อินเตอร์เน็ตกันถ้วนหน้า เวลาที่ศึกษาพระธรรมวินัยก็ลดน้อยลง การสอนธรรมะก็เป็นเพียงกระแส บางรูปใช้ facebook และ tweeter บังหน้าหาว่าสอนธรรมะแต่ที่แท้ก็หลีสีกามีให้เห็นเป็นข่าวตลอดเวลา

หลายวัดสร้างวัตถุเพื่อดึงคนเข้าวัดเพื่อกราบไหว้ขอพรขอหวย หาได้เป็นแหล่งเรียนรู้อีกต่อไป บางวัดพระยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแก่นแท้พุทธศาสนาสอนอย่างไร

สอนแต่เรื่องนรกสวรรค์ บาปบุญคุณโทษโดยไม่รู้ว่าบุญคืออะไร และก็เน้นให้ชาวบ้านทำบุญกันเยอะ คือบริจาคทานให้มากแล้วจะได้บุญ ทั้ง ๆ ที่แท้บุญหรือปุญญ คือเครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ขั้นต่ำก็บุญกิริยาวัตถุ 3 คือ ทาน ศีล และสมาธิภาวนา ซึ่งหากทำเพียงทานอย่างเดียว แล้วจะได้บุญหรือ...

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเหลือบสังคมของกลุ่มชนนั้น ๆ เพียงเล็กน้อยแต่พลอยทำให้ผู้มีจิตใจ ใส่ใจในสังคม อย่างท่านต้องพลอยมัวหมอง

มันก็สมควรแก่เวลาแล้วที่พวกเราทุกฝ่ายทั้งสามสถาบันคือ บ้าน วัด โรงเรียน จะมาร่วมกันปกป้องผืนผ้าขาวให้ขาวบริสุทธิ์ เอาแค่ในวัยอันควรก่อนก็แล้วกัน

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็คืออยากช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมให้รอดพ้นจากปากเหยียวปากกาในยุคการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสาร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท