เรียนรู้เรื่องรักๆ กับธรรมะอารมณ์ดี


“ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์”

ที่ใดมีรัก  ที่นั่นมีทุกข์

สิ่งเล็กๆที่เรียกว่า “รัก”

หลายคนมีชีวิตชีวาเมื่อได้ยินคำนี้  บางคนกลัวจนไม่กล้าแม้จะเข้าใกล้คำนี้

ท่านหละ  รู้สึกอย่างไร ?

ในทางพระพุทธศาสนามีคำกล่าวถึง “ความรัก” ไว้ว่า “ที่ใดมีรัก  ที่นั่นมีทุกข์” ยิ่งรักมาก ยิ่งทุกข์มาก รักน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่รักก็ไม่ทุกข์เลย ดูเหมือนกับว่าพระพุทธศาสนาจะไม่ให้ความสำคัญ หรือสนใจกับความรักเลยแม้แต่น้อย  ดูราวกับว่าพระพุทธศาสนาเกลียดความรัก และสอนให้ทุกคนห่างจากความรักให้มากที่สุด  แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่  ที่กล่าว “ที่ใดมีรัก ที่นั้นมีทุกข์” นั้นเพียงเพราะว่า ความรักที่เกิดขึ้นกับมนุษย์มักเป็น “ความรักที่เจือด้วยกิเลส”  แท้ที่จริงแล้วแม้ในความรักที่บริสุทธิ์ อย่างเช่น ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกยังทุกข์ได้เลย ถ้าไม่เรียนรู้ความเป็นจริงว่าต้องพลัดพรากและผิดหวังบ้างในความรักทุกประเภท ความรักที่บริสุทธิ์ถ้ายึดถือมากเกินไปก็เป็นทุกข์ได้ เพราะถ้าวันใดลูกทำให้พ่อแม่เสียใจ และผิดหวัง พ่อแม่ก็ย่อมเป็นทุกข์เพราะลูกของตน  ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงสอนให้มองความรักและรู้จักความรัก ด้วยคำว่า “เมตตา”ปรารถนาดีต่อทุกคนในโลก ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ 

แต่ในความเป็นจริงของโลกมนุษย์ที่ยังคงใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับ ความรัก โลภ  โกรธ  หลง ในทุกขณะจิต ทำให้มนุษย์ไม่สามารถปฏิเสธความรักที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในหัวใจดวงนี้ได้  เมื่อไม่สามารถปฏิเสธความรักที่มีอยู่ในหัวใจนี้ได้ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่า “เราจะเรียนรู้ความรักอย่างมีสติได้อย่างไร” และคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่มนุษย์จะมีความรัก แต่ในขณะเดียวกัน ความรักที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ก็ควรใช้สติและปัญญา เป็นสิ่งกำหนดการเดินทางของความรัก  

 รักร้อย...ก็ทุกข์ร้อย

นางวิสาขา มหาอุบาสิกา เป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก นางได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ คราวหนึ่งหลานสาวที่รักยิ่งได้ถึงแก่กรรมลงนางเศร้าโศกเสียใจมาก ร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้านะ พระพุทธองค์ตรัสสอนเธอว่า

"วิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก 100 ผู้นั้นก็ทุกข์ 100 ผู้ใดมีสิ่งที่รัก 90 ผู้นั้นก็ทุกข์ 90 ผู้ใดมีสิ่งที่รัก 80 ผู้นั้นก็ทุกข์ 80 ผู้ใดมีรัก 1 ผู้นั้นก็ทุกข์ 1 ผู้ใดไม่มีรัก ผู้นั้นก็ไม่ทุกข์ ไม่มีความโศก ไม่มีความคับแค้นใจ"

นางวิสาขาได้หายเศ้ราโศก เพราะพระธรรมเทศนานั้น พระพุทธเจ้าได้เปล่งอุทานว่า

"โศก ปริเทวนาและทุกข์มากหลายย่อมมีในโลกนี้ เพราะอาศัยสิ่งที่รัก โศกเป็นต้น นั้นก็ไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมไม่มีทุกข์ ไม่มีโศกเป็นต้น เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ต้องการโศกเศร้าก็ไม่ควรรักสิ่งใด"

 หลายครั้งในชีวิตเราตั้งความหวังว่า ความรักจะต้องเป็นไปตามที่เรากำหนด  พอไม่เป็นดังที่หวังก็โศกเศร้าเสียใจ มีลูกศิษย์เคยถามอาตมาว่า “ทำไมความรักของผม/หนู ไม่เคยสมหวังเลย มีแต่ผิดหวังล่ำไป รักอย่างไรหัวใจถึงไม่ผิดหวัง ครับ/ค่ะ” อาตมาก็จะถามกลับทุกครั้งว่า “แล้วที่ว่าความรักไม่สมหวังเนี้ย  เรารักอย่างไรหละ  รักด้วยตัณหา หรือ รักด้วยปัญญา”

ถ้ารักด้วยปัญญา  ถึงจะผิดหวัง ไม่สมหวังก็ไม่มีทางเป็นทุกข์ได้  เพราะคนที่รักด้วยปัญญา จะพิจารณาใคร่ครวญอย่างถ่องแท้ ว่าความรักที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร คนที่รักด้วยปัญญาที่ “รู้ทันความรัก” เพราะจะเข้าใจว่าความรักนั้น  เราไม่ได้เป็นเจ้าของ เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งความรัก ที่มีความรู้สึกต่อความรัก และจำเป็นต้องเรียนรู้ความรักอย่างเข้าใจความเป็นจริง  ทุกวันนี้เราใช้ปัญญาในความรักน้อย  แต่สิ่งที่เราใช้มากในความรักคือ “ศรัทธา”  เชื่ออย่างไม่มีเหตุผล รักอย่างไม่ต้องการเหตุผล  รักด้วยความเชื่ออย่างหมดใจว่าความรักนี้จะอยู่กับเราตลอดเวลา  ไม่พลัดพรากจากเราไปไหน   

ส่วนคนที่รักด้วยตัณหา คือ รักแบบสิเน่หา อยากได้ความรัก สิ่งที่รัก คนรักมาครอบครองจะด้วยวิธีไหนก็ตามความรัก สิ่งที่รัก คนรัก ต้องอยู่กับฉันตลอดไป  ถ้ามีความรักแบบนี้ ทุกข์ตั้งแต่ยังไม่ได้รัก คือ ทุกข์ตั้งแต่คิดแล้ว ความจริงข้อหนึ่งคือ ไม่มีใครจะรักคนอื่นมากกว่าตัวเอง นอกเสียจากพ่อแม่ของเรา เพราะฉะนั้น  จงบอกตัวเองว่ารักตัวเองไม่เป็นก็อย่าไปริรักคนอื่น

ในพระสูตรที่ชื่อว่า มัลลิกาสูตร  พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถี มีมเหสีอันป็นที่รักยิ่ง  พระนามว่า มัลลิกา พระเจ้าปเสนทิโกศล  ต้องการได้ยินจากพระโอษฐ์ของพระนางว่า  พระนางทรงมีความรักในพระองค์ยิ่งกว่าชีวิต  จึงตรัสถามพระนางว่า

“มัลลิกาที่รัก  มีใครที่น้องรักมากที่สุด”

พระนางมัลลิกากราบทูลว่า  “ข้าแต่มหาราชไม่มีใครที่หม่อมฉันจะรักเท่าตัวหม่อมฉันเอง”

พระเจ้าปเสนทิโกศล  ทรงน้อยพระทัยที่พระมเหสีไม่รักพระองค์ (ยิ่งกว่าชีวิตของพระนาง)  เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  กราบทูลเรื่องที่โต้ตอบสนทนากันให้ทรงทราบ

พระพุทธเจ้าตรัสรู้รับรองคำพูดของพระนางมัลลิกาว่า

“ไม่มีใครรักคนอื่นเท่ากับตนเองดอก  ตนเองเป็นที่รักยิ่งของคนทั้งหลาย”

เพราะฉะนั้น ผู้ที่รักตนเอง จึงไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น

พระสูตรนี้ชื่อ มัลลิกาสูตร  ตรัสเตือนให้นึกถึงความจริงว่า  แท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไรจะเป็นที่รักของตนเท่ากับตัวตนของผู้นั้น จงใช้เวลาที่เหลืออยู่ เรียนรู้ความรักอย่างถ่องแท้  เพื่อหลุดพ้นจากพันธนาการของความรัก  ไม่ติดกับดักของความรักแบบตัณหา  แต่จงใช้ปัญญาเป็นตัวกำหนดการเดินทางของความรัก เมื่อถึงวันนั้นคงรู้ว่า “รักแท้” ที่เราแสวงหาอยู่ส่วนไหนในพื้นที่อันกว้างใหญ่บนโลกแห่งมายาคติใบนี้

หมายเลขบันทึก: 426867เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2011 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ความรักเป็นสิ่งดี ถ้ารักไม่เป็นก็ทุกข์
  • แต่ไม่มีความรักก็ไม่ดี
  • ยากเหมือนกันนะคะหลวงพี่
  • เย็นนี้ไปเวียนเทียนดีกว่า เนาะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท