สวปก.หนุนคุม "ยาข้อเสื่อม" ผลวิจัย 130 ฉบับชี้ไม่คุ้มค่า


ภายหลังกระทรวงการคลังออกประกาศเรื่อง การให้ระงับการเบิกค่ารักษาพยาบาลข้าราชการในส่วนของ "ยาบรรเทาข้อเสื่อม" หรือกลูโคซามีนคอนดรอยติน และไดอะเซอเรน ทุกรูปแบบ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554 นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) กล่าวว่า กลูโคซามีนเป็นยาบรรเทาข้อเสื่อมที่นิยมใช้ในประเทศไทยมาก ทั้งการซื้อใช้เองโดยประชาชนและการจ่ายเป็นยาให้กับผู้ป่วย โดยมีมูลค่าการใช้ในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการประมาณปีละ 600 ล้านบาท  จากการที่ค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 4.659 หมื่นล้านบาท ในปี 2553 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้กรมบัญชีกลางต้องดำเนินการควบคุมค่าใช้จ่ายในยาดังกล่าว ซึ่ง สวปก. ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ทบทวนเอกสารงานวิจัยมากกว่า 130 ฉบับ และคัดเลือกงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงจำนวน24 ฉบับ มาทำการทบทวนประสิทธิผลและความคุ้มค่า สรุปได้ว่า กลูโคซามีน มีประสิทธิผลไม่ต่างจากยาหลอก "ส่วนที่มีข้อโต้แย้งจากฝ่ายที่เคยได้รับประโยชน์ว่า การยกเลิกการเบิกจ่ายกลูโคซามีนเป็นการลิดรอนสิทธิข้าราชการนั้น หลักฐานเชิงประจักษ์จากทั่วโลกบ่งชี้ชัดว่ากูลโคซามีนไม่มีประสิทธิผลในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม การยกเลิกการเบิกจ่ายยากลุ่มนี้จึงไม่ถือเป็นการลิดรอนสิทธิ" นพ.สัมฤทธิ์กล่าว และว่า สหราชอาณาจักรสกอตแลนด์ สวีเดน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมถึงกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาหรือแม้แต่มาเลเซีย ต่างไม่อนุญาตให้มีการเบิกจ่ายยาในกลุ่มนี้ให้กับผู้ป่วยในระบบสวัสดิการของตน เนื่องด้วยเหตุผลเดียวกันคือ ขาดประสิทธิผล และไม่มีความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินภาครัฐเช่นกัน

 

มติชน

14 กุมภาพันธ์ 2554

หมายเลขบันทึก: 426025เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2011 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท