การพัฒนาการอ่านในเด็กปฐมวัย


การอ่าน

          

การพัฒนาการอ่านในเด็กปฐมวัย

          จากงานวิจัยการอ่านของคนไทยในปี  2552  พบว่าการทำให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นต้องเริ่มตั้งแต่คนเรายังเป็นเด็กเล็กๆ คือต้องเริ่มตั้งแต่การเรียนการสอนในระดับปฐมวัย  และผู้ที่อบรมเลี้ยงดูจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการปลูกฝังการรักการอ่านอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับวัยของเด็ก   ไม่ใช่การสอนเขียนอ่านอย่างเป็นทางการในตอนแรก  เพราะเด็กเรียนรู้จากการเล่น  กิจกรรมที่จัดให้กับเด็กต้องเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กได้กระทำ หรือได้ลงมือปฏิบัติอย่างมีความสุข มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน  พร้อมกับการเรียนรู้ไปด้วย 

          จากคำบอกเล่าของ อาจารย์ ดารารัตน์อุทัยพยักค์ กล่าวว่า การให้เด็กได้มีพัฒนาการทางภาษา คือ เด็กเล็ก ๆ มีความพร้อมด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ครู จำเป็นต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็กและวิธีที่จะพัฒนาให้เด็กมีความพร้อมดังกล่าว ดังนั้น การจัดประสบการณ์ทางภาษาแบบสมดุล หรือ Balanced Literacy Approach มีความหมายง่าย ๆ คือ เป็นการสอนภาษาที่ผสมผสานแนวคิดในการสอนภาษาที่สัมพันธ์กับลักษณะหน้าที่ของภาษา และการสอนทักษะย่อยทางภาษาเข้าด้วยกัน สำหรับลักษณะสำคัญของการจัดประสบการณ์ทางภาษาแบบสมดุล มีดังนี้
          1. การสอนอ่านเขียนภาษาไทย ในระดับปฐมวัยจะเป็นการสอนที่ไม่เคร่งเครียด ไม่เป็นทางการ แต่เป็นการสอนที่ให้เด็กได้ปฏิบัติกิจกรรมด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษา
          2. การใช้ภาษาอย่างมีจุดมุ่งหมาย ครูเป็นผู้จัดเตรียมโอกาสให้เด็กได้อ่านเขียนผ่านกิจกรรมที่มีความหมายต่อเด็ก ไม่ใช่กิจกรรมที่ตั้งใจฝึกทักษะย่อยทางภาษา เด็กได้เลือกอ่านและเขียนอย่างอิสระตามความสนใจและตามศักยภาพของตน 
          3. การมีส่วนร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ทางภาษา ครูต้องวางแผนการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กที่กระตุ้นให้เด็กต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการอ่านการเขียน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาแบบลงมือกระทำ เช่น
               - เด็กได้อ่านวรรณกรรมสำหรับเด็กจริงๆ ไม่ใช่อ่านหนังสือหัดอ่านที่แยกทักษะย่อยทางภาษา
               - เด็กได้เขียนเพื่อการสื่อสารง่าย ๆ ไม่ใช่หัดเขียนเส้นต่าง ๆ
          4. ความรับผิดชอบ เด็กจะเป็นผู้รับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง ทั้งการทำงานตามที่ได้รับมอบหมายจากครู และงานที่เด็กริเริ่มขึ้นเอง ทั้งที่ทำตามลำพังและทำร่วมกันกับเพื่อน โดยมีครูคอยให้คำแนะนำ และเป็นแบบอย่างของความรับผิดชอบต่องานต่าง ๆ นั้น
          5. การทดลองกับภาษา ครูเป็นผู้กระตุ้นและให้กำลังใจแก่เด็ก เพื่อให้เด็กกล้าคาดเดาหรือคาดคะเนคำที่จะอ่านและเขียน โดยครูต้องสร้างให้เด็กเกิดความมั่นใจว่าจะไม่ถูกตำหนิ ทำให้เด็กได้ทดลองกับภาษา
          6. การเลือก ครูจัดเตรียมโอกาสให้เด็กคัดเลือกหนังสือที่สนใจมาอ่าน ได้เลือกทำกิจกรรมการเขียนที่ครูเตรียมไว้อย่างหลากหลาย โดยเด็กจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง ที่กล่าวข้างต้นเป็นลักษณะสำคัญกว้าง ๆ ของการสอนภาษาแบบสมดุล ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้เกี่ยวข้องต้องเข้าใจถึงลักษณะสำคัญทั้งภาพรวมทั้งหมดและภาพย่อยของภาษา ที่จะทำให้เด็กได้มีความพร้อมก่อน ที่จะอ่านและเขียนอย่างเป็นทางการ ถ้าเราเตรียมสภาพแวดล้อมและตัวเด็กไม่พร้อมแล้ว เด็กก็จะเกลียด การเรียนภาษาในที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเด็กโตขึ้น ซึ่งโอกาสที่จะปลูกฝังให้เด็กประทับใจในการเรียนภาษา ย่อมมีน้อยลงไปทุกที เพราะความไม่ชอบภาษาจะเพิ่มอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็ใช้วิธีเดิม ๆ และวิธีเดียวคือ บังคับให้เด็กเอาหนังสือมานั่งอ่าน ทั้ง ๆที่เด็กไม่ชอบ หรือให้นั่งเขียนหนังสือหรือนั่งทำการบ้าน ในขณะที่เด็กมีกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งน่าสนใจมากกว่าเช่น การดูโทรทัศน์ ถ้ามีลักษณะหรือเหตุการณ์เช่นนี้ไป
เรื่อย ๆ เราก็จะประสบความล้มเหลวในการเรียนการสอนภาษา ฉะนั้นเราควรที่จะต้องเริ่มให้เด็กรักการเรียนภาษาในแนวทางที่ทำให้เด็กประทับใจตั้งแต่เริ่มแรก คือ ระดับปฐมวัยถ้าเป็นการอ่าน เราสามารถนำวิธีการสอนภาษาแบบสมดุลมาใช้ในลักษณะการเตรียมความพร้อมในการอ่านเพื่อสร้างนิสัยรักการอ่าน รู้จักหนังสือ ดังนี้ 
          - เล่านิทานให้เด็กฟังทุกวัน 
          - อ่านหนังสือร่วมกับเด็ก และสนทนาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องในหนังสือ 
          - ฝึกอ่านคำกลอน
          - ฝึกให้รู้จักตัวพยัญชนะ สระ และคำโดยใช้เกม / กิจกรรม
          - ฝึกให้คุ้นเคยกับหนังสือ เปิดหน้าหนังสือ และเข้าใจเรื่องจากภาพ
ด้านการเขียนในเด็กปฐมวัย จะไม่เน้นให้เด็กเขียนให้ถูกต้อง เพราะกระดูกข้อมือและนิ้วยังไม่พัฒนาเต็มที่ เพียงส่งเสริมให้เด็กเขียนเพื่อสื่อสารเท่านั้น ครูอาจให้เด็กวาด หรือเขียนในลักษณะของสัญลักษณ์



คำสำคัญ (Tags): #การอ่าน
หมายเลขบันทึก: 425726เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2011 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ  คุณครูไพรินทร์  มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ  ขอบคุณนะคะ

สวัสดีค่ะคุณครูพรินทร์ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการอ่านของเด็กปฐมวัยขอบคุณมากนะคะ

บทความน่าสนใจและเป็นประโยชน์มากค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ค่ะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท