การมองตนเอง...ดีอย่างไร


การแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการยอมรับในข้อผิดพลาดดังกล่าว จึงมีผลต่อการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง ปัจจัยสำคัญคือ การยอมรับนั้นต้องเกิดจากความรู้สึกร่วมรับผิดชอบ หรือมีส่วนร่วมรับผิดชอบ หาได้เกิดจากความรู้สึกรับผิดอย่างเดียว หรือ รับชอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

   กราบสวัสดีท่านผู้สนใจทกท่าน พบกันอีกครั้งนะครับที่ บล็อก “คุยกันวันเสาร์อาทิตย์” ครับ สำหรับเสาร์นี้ เสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ วันนี้เราจะมาชวนคุยในหัวข้อ “การมองตนเอง...ดีอย่างไร” กันครับ

    ต่อจากเสาร์ที่แล้ว ที่เราคุยกันถึงเรื่อง การมองตนเอง จริงๆ แล้วถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเลยครับ ดังคำว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” แต่ก่อนที่จะรู้เขา ก็ควรที่จะรู้เรา นั่นคือ รู้จักตนเอง หรือมองตนเองเสียก่อนครับ เพราะหากรู้แต่เขา โดยไม่รู้จักเราคือไม่รู้ศักยภาพ สมรรถนะขีดความสามารถ หรือคุณลักษณะของตนเองแล้ว อาจเกิดการพลาดพลั้งหรือเสียหายได้ ดังนั้นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่นั่นคือ การชนะใจตนเอง การรู้จักตนเอง หรือมองตนเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ เสมือนเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นั่นคือทำให้เราเกิดความสุข อันกอปรด้วยสุขภาวะที่ดี ทั้งทางกาย จิตใจ และปัญญา นั่นเองครับ

การมองตนเอง...มองอย่างสร้างสรรค์ เกิดพลัง เกิดคุณค่า

      จากประสบการณ์ที่เคยพบพูดคุยกับหลายๆ ท่านพบว่า การมองตนเองที่ไม่เกิดคุณค่า คือ การมองตนเองแบบอคติ หรือ คิดลบกับตัวเอง เช่น ในการทำงาน เมื่อเจอกับงานที่ท้าทาย หัวหน้าถามว่า ทำงานนี้ได้หรือไม่ บางคนมักตอบว่า ทำได้ครับ บางคนตอบแบบรับๆ เอาไว้ก่อน แต่ก็มีหลายคนที่ปฏิเสธงานนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความสามารถหรือสมรรถนะที่ไม่พร้อมสมบูรณ์ แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความคิดในแง่ลบกับตัวเอง อันเกิดจากทัศนคติที่ไม่ดี จากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี จากบุคคล จากการสนทนา ล้วนแต่มีผลต่ออารมณ์ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากทำ ทำไม่ได้ ทำได้แต่ไม่อยากทำ เป็นการคิดในแง่ลบ หรือมองในแง่ลบ อันทำให้เกิดผลเสียต่อการดำเนินงาน

        ที่นี้เมื่อเรามองตนเองว่าตัวเราทำไม่ได้ ไม่อยากทำ ทำได้แต่ไม่อยากทำเสียแล้ว ทีนี้ถ้าให้ทำ ก็เหมือนภาวะจิตใจถูกบีบ ถูกกดดัน หรือบังคับให้ทำ เพราะไม่อยากทำอยู่แล้ว เกิดความรู้สึกในแง่ลบ มุมมองที่ต่อต้าน ทำให้งานที่ทำออกมาเกิดข้อผิดพลาดบ่อยๆ หรือ ล่าช้ากว่ากำหนด

          สิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้นั่นคือ สุขภาวะทั้งทางกาย จิตใจ และปัญญา

     ถ้ากาย มีความสามารถ ใจอยากทำ ความคิดโลดแล่น  งานที่ทำมักสำเร็จโดยเร็ว

     ถ้ากาย มีความสามารถ ใจอยากทำ ความคิดไม่โลดแล่น หรือ

     ถ้ากาย ไม่มีความสามารถ ใจอยากทำ ความคิดไม่โลดแล่น ยังพอที่จะฝึกฝนได้

     แต่ถ้าใจไม่อยากทำแล้ว ต่อให้มีความสามารถ หรือ มีความคิดเพียงใด ผลลัพธ์อาจออกมาไม่ดี หรือ มีข้อผิดพลาด อยู่เสมอ  นั่นเพราะใจไม่อยากทำ

      ดังนั้น การมองตนเอง หากแต่จะมองตามความเป็นจริงเพียงเท่านั้น อาจทำให้เราเกิดความย่อท้อ หรือ เกิดความรู้สึกไม่ดีกับตนเองได้ เช่น ในการทำงาน ถูกต่อว่าบ่อยๆ หรือ มีข้อร้องเรียนบ่อยๆ หากมองตนเองตามความเป็นจริง พบว่าเราทำไม่ได้ เพราะมันยากเกินกว่าความสามารถที่เรามี หรือไม่ได้เรียนมาด้านนี้แล้ว ก็เกิดความทุกข์ใจ เมื่อถูกใครๆ ถาม หรือเมื่อเห็นคนอื่นเขาทำได้แต่เราทำไม่ได้ ก็จะกลายเป็นจุดด้อยให้กับตนเอง นานๆ ไปก็จะไม่อยากทำ หรือเริ่มมีความคิดในแง่ลบกับงานนั้น แต่หากเรามองอย่างสร้างสรรค์ ใช้พลัง ใช้ความสามารถของเรา จะทำให้เราเกิดความเชื่อมั่น เกิดการยอมรับในตนเอง อันจะทำเกิดความคิดบวก หรือความคิดที่สร้างสรรค์ เพราะถึงเราทำตรงนั้นไม่ได้ แต่เราก็ทำอย่างอื่น ส่วนอื่นได้ และถ้าเราได้รับการฝึกฝนตรงนั้น เราก็สามารถจะทำตรงนั้นได้ นั่นคือ เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง เกิดพลังใจพร้อมสู้ เกิดพลังกาย และความคิดที่ดี อันก่อให้เกิดคุณค่าต่อตนเองนั่นเอง

มองจุดผิดเพื่อแก้ไข ไม่ใช่มองแต่จุดผิดแล้วเอาไปคิดต่อ

          ที่นี้จุดด้อย หรือจุดผิดพลาดของแต่ละคน ย่อมมีในตัวแต่ละคนเหมือนกัน การมองตนเองอย่างสร้างสรรค์ คือ การมองจุดผิดพลาดเพื่อการปรับปรุง ทบทวนหรือแก้ไข ข้อผิดพลาดนั้นให้คลี่คลายหรือกลับกลายไปในทางที่ดี จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง มักพบว่า แต่เดิมเรามักจะชอบมองจุดผิดพลาดหรือข้อด้อยของเราแล้วคิดต่อ เช่น ทำงานผิดพลาด ก็มักจะชอบคิดต่อถึงสิ่งที่ผิดพลาดนั้น คือมองแต่เฉพาะจุดผิดแล้วคิดต่อในสิ่งที่ผิดนั้น ทำไมถึงผิด ผิดเพราะใคร เราไปทำอะไรให้ถึงผิด นั่นคือคิดต่อเพื่อให้จิตใจเป็นทุกข์ มากกว่า มองจุดผิดเพื่อหาทางแก้ไข ว่าผิดอย่างไร แล้วจะแก้ไขอย่างไร หรือแม้แต่ปัญหาชีวิต เช่นความรัก หลายคนที่มีปัญหามักมองแต่จุดผิดแล้วไปคิดต่อ เขาอย่างโน้น เขาอย่างนี้ ผิดเพราะใคร มากกว่ามองที่จุดผิดแล้วกลับไปแก้ไข ดังนั้นการมองตนเอง อีกประการหนึ่ง นั่นคือ การมองจุดผิดพลาดหรือข้อผิดพลาดแล้วนำกลับไปแก้ไข ดังจะเห็นได้ว่า การมองจุดผิดพลาดคือ หนทางแห่งการพัฒนา แต่ไม่ใช่มองจุดผิดพลาดแล้วไปคิดต่อ ว่าอย่างโน้น อย่างนี้ นั่นคือนอกจากไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ยังจะก่อให้เกิดปมด้อยที่อาจเป็นจุดบอดในจิตใจที่ทำให้ทัศนคติที่ดีหมดไปเลยทีเดียว  ในปัจจุบันดังจะเห็นได้ว่าได้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้นำข้อร้องเรียน ร้องทุกข์ หรือเสนอแนะที่เป็นจุดผิดพลาดหรือจุดบอดซ่อนเร้นที่เรามองไม่เห็น กลับมาเพื่อพัฒนาการให้บริการที่ดีเพิ่มขึ้น หรือแม้ในเรื่องสมรรถนะของบุคลากรนั้น ได้มีการประเมินเพื่อหาสมรรถนะที่ด้อย หรือสมรรถนะที่ควรพัฒนา เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงให้มีสมรรถนะที่ดีขึ้น เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานนั่นเอง

แก้ไขไม่ใช่เกิดจากปัญญาแต่อย่างเดียว

          การมองจุดผิดพลาดเพื่อการแก้ไข นั้น ซึ่งในการแก้ไข นั่นคือ การเปิดใจยอมรับในสิ่งที่ผิด หรือข้อผิดพลาดของตนเองที่เกิดขึ้นเสียก่อน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้และเข้าใจตนเอง ด้วยการทบทวนตนเองอยู่เสมอ ถึงข้อผิดพลาดของตนเอง และจุดเด่นของตนเอง การแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดใจยอมรับปัญหานั้น จะส่งผลให้เรารู้จักตนเอง หรือมองตนเองมากขึ้น เรียกว่า “รู้เรา” ทบทวนในสิ่งที่เกิดขึ้น หรือในจุดที่ผิดพลาด แล้วเกิดความคิดสร้างสรรค์ที่จะหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งนั้นได้

          จากประสบการณ์ของตนเองนั้น พบว่า มีหลายครั้งที่แม้แต่ตนเองยังเลือกแก้ปัญหาโดยใช้ปัญญา มากกว่าการยอมรับปัญหาด้วยจิตใจแล้วแก้ไข การแก้ไขปัญหาด้วยปัญญา หรือความคิดนั้น อาจจะช่วยให้ปัญหาเหล่านั้นหมดลงได้ในขณะหนึ่ง แต่ภาวะทางจิตใจที่รับรู้กับปัญหาดังกล่าวนั้น ย่อมไม่ได้เรียนรู้ร่วมกันกับปัญหานั้นด้วย    ทำให้ขาดความเข้าใจ หรือขาดการพิจารณา เช่น

   กรณีที่มีข้อร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะจากเพื่อนๆ เพื่อให้เราปฏิบัติตาม เพื่อระงับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น นั่นคือ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดนั้นแล้ว ได้รับการเสนอแนะ แนะนำ หรือร้องเรียนเพื่อให้เราแก้ไขปรับปรุง ทำให้เราได้รับรู้ถึงข้อผิดพลาดดังกล่าว หากเราใช้ปัญญาคือความคิด ความรู้เพียงอย่างเดียว นั้น การแก้ไขปัญหาอาจหมดไปได้ขณะหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อเกิดปัญหาหลายๆ ครั้ง อาจทำให้เราเกิดทัศนคติที่ไม่ดีกับผู้ร้องเรียน หรือให้คำแนะนำ เสนอแนะ เช่น  ไปโกรธผู้ร้อง ไปโมโหผู้ร้อง อาจส่งผลทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี หรือความรู้สึกต่อต้าน ทำไม่ได้ ทำได้แต่ไม่อยากทำ หรือทำให้ช้าลง หรือเกิดข้อผิดพลาดบ่อยครั้ง อันทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงนั่นเอง

      ดังนั้น การแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการยอมรับในข้อผิดพลาดดังกล่าว จึงมีผลต่อการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง ปัจจัยสำคัญคือ การยอมรับนั้นต้องเกิดจากความรู้สึกร่วมรับผิดชอบ หรือมีส่วนร่วมรับผิดชอบ หาได้เกิดจากความรู้สึกรับผิดอย่างเดียว หรือ รับชอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความรู้สึกร่วมรับผิดชอบหรือมีส่วนร่วมรับผิดชอบนี้ แบ่งได้เป็น 2 คำ คือ คำว่า ความรู้สึกร่วม อันเกิดจาก การมีส่วนร่วม นั่นคือการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม และอีกคำคือ คำว่า รับผิดชอบ ซึ่งอาจหมายถึงภาระของบุคคลที่มีผลต่อการกระทำที่ทำให้เกิดได้ทั้งคุณและโทษ กล่าวคือ เกิดทั้งรับผิด และรับชอบ ดังนั้นความรู้สึกร่วมหรือมี่ส่วนร่วม จะทำให้เรายอมรับร่วมกันในการดำเนินการ ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดความสามัคคีซึ่งกันและกัน ประสานสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือ การยอมรับรู้ และยอมเรียนรู้ร่วมกัน ถึงการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ตลอดจนสร้างความเข้าใจอันดีร่วมกันในการหาทางแก้ไขปัญหาหรือหาทางออกร่วมกัน และยังเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหรือป้องกันเพื่อลดข้อผิดพลาดลง อันก่อให้เกิดผลให้ประสบความสำเร็จร่วมกันนั่นเอง

การมองตนเอง สร้างความสำเร็จในตนเอง

          ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จะเห็นได้ว่า การมองตนเองนั้น เป็นพื้นฐานในหลายๆ เรื่อง ด้วยกัน ทั้งในเรื่องการดำเนินชีวิต การทำงาน ตลอดจน ที่จะช่วยสร้างความสำเร็จให้กับตนเองและต่อส่วนรวม หน่วยงาน องค์กร ซึ่งนอกจากทำให้ช่วยเสริมความมั่นใจ สร้างความเชื่อถือ ความเชื่อมั่นให้กับตัวเราเองแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์อีกมากมาย ดังคำว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ซึ่งในทางพระพุทธศาสนานั้น การรู้เราหมายถึง การมีสติ ระลึกรู้กับตนเองอยู่เสมอ ซึ่งการรู้เรา มองตนเองนี้ จะทำให้เราเกิดความสุข ประการแรกรู้ถึงภาวะทางกาย ในเรื่องการกระทำ การดำเนินการ ความสามารถ ศักยภาพ สมรรถนะที่เรามีและที่ควรจะมี ที่ช่วยทำให้เราเข้าใจและยอมรับตนเองมากขึ้นและยังสร้างเสริมสมรรถนะเพื่อสร้างพลังกายให้เกิดความพร้อมยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ประการที่สอง รู้ถึงภาวะจิตใจ อันได้แก่ การควบคุมอารมณ์ การสร้างความรู้สึกที่ดี ในการประสานสัมพันธ์ทั้งทางร่างกายและความคิด ช่วยสร้างความมั่นใจ เชื่อมั่นในตนเองให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้พลังใจอันเป็นประโยชน์ในการทำงานและการดำเนินชีวิต  ประการสุดท้ายคือรู้ถึงภาวะทางความคิด อันสอดคล้องกับ อารมณ์ ความรู้สึก สภาวะสิ่งที่มองเห็น และประสบการณ์หรือความรู้ กลั่นกรองออกมาเป็นพลังความคิด คือคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือในสิ่งที่สร้างสรรค์ ซึ่งทั้งสามประการดังกล่าว จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เราเกิดสุขภาวะ กล่าวคือกายเป็นสุข ใจเป็นสุข และคิดเป็นสุข สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเสนอแนะเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาความสุขในการทำงานให้เพิ่มขึ้น อีกทางหนึ่งครับ

12 กุมภาพันธ์ 2554

หมายเลขบันทึก: 425699เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2011 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ถูกใจมากค่ะ กับแง่คิดดีๆ หลายๆ อย่างค่ะ
  • ขอบคุณนะคะ สำหรับบันทึกดีๆ ค่ะ

ขอบคุณมากครับ คุณยาย Ico48 

  • ขอบพระคุณสำหรับดอกไม้สวยๆ จากตลาดนัดที่นำมาฝากนะครับ
  • รู้สึกถึงความงดงามของดอกไม้ที่คุณยายได้นำมามอบให้ สวยมากทีเดียว
  • ด้วยความระลึกถึงอยู่เสมอครับ

ท่านอาจารย์ Bright Lily Ico48 ครับ

  • ขอบพระคุณมากครับ ที่แวะมาเยี่ยมเยือนและให้กำลังใจนะครับ

 

  • สวัสดีค่ะ
  • สุขสันต์วันวาเลนไทน์ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

                        

พี่นก บุษรา ครับ Ico48 

  • ขอบพระคุณสำหรับดอกไม้ที่นำมามอบให้เนื่องในวันวาเลนไทน์
  • ด้วยความระลึกถึงนะครับ

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆอ่านแล้วสามารถนำไปใช้ได้ดีเลยค่ะ

อาจารย์เชาวรัช ทิ้งแสน Ico48 ครับ

ขอบคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยือนและให้กำลังใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท