นิทาน...กรีก


นิทานกรีก

          มีตำนานกรีกที่ยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งพูดถึงเด็กหนุ่มวัย 16  ชื่อนาร์คิสซัส (Narcissus) ผู้ที่มีรูปร่างงดงาม เป็นที่หลงใหลใฝ่ฝันของหญิงสาวทั้วไปทั้งแผ่นดิน แม้กระทั่งชายอีกหลายคนยังหลงรัก แต่เขาหาได้สนใจใครไม่ มิหนำซ้ำยังทำร้ายจิตใจของหญิงสาวทุกคนที่มาลุ่มหลงตัวเขาด้วยการแสดงอาการเมินเฉย ไม่สนใจใยดี

          จนมีคนพากันไปฟ้องต่อเทพเจ้า ในที่สุดนาร์คิสซัสก็ถูกสาปว่า เมื่อไม่ยอมรักใคร ก็ขอให้หลงรักตัวเอง ดังนั้นวันหนึ่งขณะที่นาร์คิสซัสก้มลงดื่มน้ำในสระ เขาก็เห็นภาพตัวเองบนผิวของน้ำ นับแต่นั้นเขาก็ไปที่ริมสระน้ำ ได้แต่เพ่งมองและชื่นชมความหล่อเหลาของตัวเองวันแล้ววันเล่า และแล้ววันหนึ่ง นาร์คิสซัสก็พลาดท่า พลัดตกลงไปในสระน้ำ จมน้ำเสียชีวิต ต่อมามีต้นใม้ชนิดหนึ่งปรากฏขึ้นและมีดอก จึงเรียกต้นไม้/ดอกไม้ชนิดนั้นว่า ต้น/ดอกนาร์คิสซัส เป็นดอกไม้ที่มีเกสรสีเหลือง และกลีบสีขาว

         ตำนานกรีกเรื่องนี้ ยุติเพียงเท่านี้ แต่เมื่อมีนักเขียนผู้โด่งดังชาวไอริซ ชื่อ ออสก้าร์ วายลด์ (Oscar Wilde) ได้อ่านเรื่องนี้แล้ว เขาได้แต่งตำนานนี้ต่อไปว่า

         หลังจากที่นาร์คิสซัสเสียชีวิต โอรีอาดีส (Oreadis) หรือเหล่าเทพธิดาแห่งพงไพรได้ไปที่สระน้ำนั้น ก็พบว่าน้ำในสระนั้นได้เปลี่ยนจากน้ำจืดเป็นน้ำเค็ม เนื่องจากสระน้ำร่ำไห้จนเป็นสระน้ำที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำตา

         สระน้ำร่ำไห้เสียใจที่นาร์คิสซัส หนุ่มรูปงามผู้นั้นเสียชีวิตหรือ เปล่าเลย และแล้วสระน้ำก็เปิดเผยคำตอบอันชวนตื่นตะลึ่ง สระน้ำเผยว่า เธอมิได้เสียใจร่ำไห้เพราะเด็กหนุ่มนั้นเสียชีวิต สระน้ำไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเด็กหนุ่มผู้นั้นมีรูปลักษณ์งดงามเป็นเลิศ เพราะที่ว่ามนุษย์มีความงดงามหรืออัปลักษณ์ เป็นวินิจฉัยของมนุษย์ด้วยกันเอง สระน้ำไม่เคยทราบถึงคุณค่า และวิธีการวินิจฉัยของมนุษย์

"แต่ที่เราร้องไห้ ก็เพราะทุกครั้งที่เขาอยู่ตรงขอบสระ และเพ่งมองมายังเรา เราสามารถมองเห็นความงามของเราเองที่ปรากฏอยู่ในดวงตาของเขา...."

"โอ้ ตัวเราช่างงดงามเลิศเลออะไรปานนั้น แต่ว่า..จากนี้ไป ไม่มีเขา ไม่มีดวงตาของเขา แล้วเราจะมองเห็นและชื่นชมความงดงามของตัวเราได้จากที่ใดเล่า..."

พ้นจากนาร์คิสซัสแล้ว ยังมีอะไรอีกมากมายเพียงใดที่มนุษย์เรายังไม่รู้

         เป็นอันว่าทั้งตำนานกรีกเรื่องนี้ และผลงานของ ออสก้าร์ วายดล์ ต่างชี้ให้เห็นว่า บนโลกใบนี้ อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้แต่สระน้ำ ก็ยังหลงใหลตัวเอง และไม่คิดถึงส่วนอื่นใด

         เมื่อพิจารณานิทานทั้งสองตอนอีกขั้นหนึ่ง เราอาจพบข้อสังเกตหรือคำถามคือ

               1. ผู้คนที่หลงใหลในรูปลักษณ์ของนาร์คิสซัส ต่างคิดและสรุปเอาเอง(โดยไม่สอบถามความเห็นของสระน้ำ) ว่า แม้แต่สระน้ำยังเสียใจร้องไห้เพราะหลงใหลชื่นชม และเสียดายความงดงามของเด็กหนุ่ม อีกทั้งยังตั้งชื่อดอกไม้ที่สระน้ำนั้น เพื่อตนเองจะได้ระลึกถึงเด็กหนุ่มนั้น ทั้งหมดนี้ก็คือการคิดเอาเอง คิดเข้าข้างตัวเอง เพื่อตนเอง ไม่สำรวจสอบถาม ค้นหาอย่างเป็นภววิสัย คือมองในสิ่งที่เป็น ไม่ใช่เพราะเราเห็นหรืออยากให้เป็นอย่างนั้น และไม่ควรสรุปเองเองว่าคนอื่นๆ คิดเหมือนเรา

              2. คำตอบของสระน้ำและท่าทีของผู้คนเหล่านั้น แน่นอน รวมทั้งทัศนะของ ออสก้าร์ วายลด์ ที่แสดงออกราวกับจะบอกว่าโลกนี้มีแต่คนหลงใหลคิดถึงแต่ตัวเอง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางแทบทุกเรื่อง และย่อมนำไปสู่ทัศนะแบบแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก แล้วทัศนะที่คิดถึงส่วนรวม เสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวมพอมีบ้างไหม ประเทศชาติจะดำรงอยู่ได้อย่างไร หากทุกคนคิดถึงแต่ส่วนตัว

มีต่อ.....

หมายเลขบันทึก: 425272เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2011 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2014 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท