พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ทุ่งภูเขาทอง


สืบเนื่องจากบันทึกก่อนค่ะ นอกจากจะมีวัดภูเขาทอง และเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่แล้ว บริเวณหน้าวัดภูเขาทอง ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร ที่ตั้งตระหง่าน ให้ผู้คนได้กราบไหว้บูชาและระลึกถึงวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่าน อยากรู้ที่มาที่ไปไหมคะ จะเล่าให้ฟังค่ะ

 

โครงการก่อสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นโครงการอันเนื่องมาจาก พระราชดำริเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ก่อสร้างบริเวณทุ่งภูเขาทอง ในเนื้อที่ 543 ไร่ ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศเหนือตามถนนสายอยุธยา-ป่าโมก-อ่างทอง เพียง 3 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเทิดพระเกียรติและเป็นอนุสรณ์แด่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในมหามงคลเฉลิมฉลอง ทรงครองราชย์สมบัติครบ 50 ปี เพื่อนุรักษ์บริเวณประวัติศาสตร์และโบราณสถาน และเพื่อเป็น จุดท่องเที่ยวของจังหวัด พื้นที่ประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาาช องค์พระบรมรูปขนาด 3 เท่า ทรงม้า แท่นฐาน และลานบันได้เป็นหินอ่อนและหินแกรนิต ภาพนูนต่ำบรรยายพระราชประวัติ จำนวน 11 ภาพ อาคารพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ่างเก็บน้ำความจุประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อการพักผ่อน และมีการปลูกสวนป่า เพื่อเป็นพื้นที่สีเขียว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จเปิดพระราชานุสาวรีย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2544

นอกจาก พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่.ทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว ยังมีประดิษฐานอยู่อีกหลายจังหวัด อยากทราบไหมค่ะว่ามีจังหวัดใดบ้างลองมาติดตามกันนะคะ 

พระบรมราชานุสาวรีย์ฯภายในค่ายสมเด็จพระนเรศวร จ.พิษณุโลก

จังหวัดพิษณุโลกเป็นแห่งหนึ่งที่มีความ สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ เพราะมีการระบุว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงประสูติที่จังหวัดนี้ภายใน "พระราชวังจันทร์" ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.2535 ทางกรมศิลปากรได้ขุดพบซากแนวอิฐเขตพระราชวังในบริเวณโรงเรียนพิษณุโลก พิทยาคม (เดิม) ในเขตอำเภอเมือง

สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนหลัก ฐานทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังจันทร์นั้น ควรแวะสักการะ "ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ที่ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม(เดิม) ตัวศาลเป็นศาลาทรงไทยโบราณตรีมุข มีพระรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขนาดเท่าองค์จริง ประทับนั่งพระหัตถ์ทรงพระสุวรรณภิงคารหลั่งน้ำในพระอิริยาบถประกาศอิสรภาพ ที่เมืองแครง

นอกจากนี้ที่ "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร" อันเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระพุทธชินราชยังมีพระบรมรูปประทับยืนของสมเด็จ พระนเรศวรพร้อมด้วยพระสุพรรณกัลยาและพระเอกาทศรถไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ สักการบูชาอีกด้วย

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี


"พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์" ตั้งอยู่ที่ ต.ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ อยู่ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรีราว 31 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 322 สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่หนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่กระทำ "ยุทธหัตถี" ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรและพระมหาอุปราชา จึงสร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรีที่หนึ่งซึ่งเชื่อว่าเป็นที่กระทำยุทธหัตถี

ที่นี่เป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรขณะทรงพระคชาธารออกศึก ตั้งตระหง่านรอการสักการะจากลูกหลานไทย และยังมี "องค์เจดีย์" ซึ่งภายในองค์เจดีย์ได้มีการสร้างห้องแสดงประวัติศาสตร์ ทั้งภาพแสงสีเสียงและ หุ่นจำลองการยกทัพของพม่า และไทย หลายร้อยตัว เป็นสิ่งที่สร้างความเพลิดเพลินและให้ความรู้ได้เป็นอย่างดี

ด้านหลังของพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นที่ตั้ง ของ "พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวร" โดยรอบพระตำหนักจะมีภาพปั้นนูนต่ำ แสดงเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวร มีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระสุพรรณกัลยา ซึ่งมักมีผู้นิยมไปสักการะบูชาอยู่เป็นนิจ

"เจดีย์ยุทธหัตถี" จ.กาญจนบุรี


อีกหนึ่งสถานที่ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าสร้าง ขึ้นเพื่อ เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็คือ "เจดีย์ยุทธหัตถี" อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่ในที่ดอน มีบริเวณกว้างเป็นป่าละเมาะล้อมรอบด้วยเจดีย์ ลักษณะเจดีย์มีฐานกว้างประมาณ 12 เมตร ส่วนยอดหักพังไปคงเหลือสูงเพียง 7 เมตร มีรูปทรงแบบโอคว่ำ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพม่ามีบัวซ้อนกันหลายชั้น ก่ออิฐเรียงซ้อนกันเป็นลักษณะของเจดีย์สมัยอยุธยา

ในพื้นที่บริเวณเจดีย์ยุทธหัตถีและบริเวณ ใกล้เคียงมีการขุดพบ กระดูกช้าง กระดูกม้า กระโหลกช้าง และกระดูกคนอยู่มากมาย อันแสดงว่าสถานที่แห่งนี้จะต้องเป็นที่กระทำสงครามครั้งยิ่งใหญ่แต่จะเท็จ จริงอย่างไรก็คงอยู่ที่การพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์

ในจังหวัดกาญจนบุรียังมีสถานที่อีกแห่ง หนึ่งซึ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นเส้นทางเดินทัพครั้งสมัยอยุธยาซึ่งก็คือ "ด่านเจดีย์สามองค์" อ.สังขละบุรี ที่มีเจดีย์ขนาดย่อมสามองค์ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า พระเจดีย์สามองค์นี้เป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ ปรากฎชื่อเกี่ยวเนื่องเหตุการณ์สำคัญๆหลายครั้งเช่นการเสียกรุงศรีอยุธา การกู้ชาติ ในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรก็ปรากฏว่าเป็นเส้นทางเดินทัพของพระองค์เช่นกัน

อนุสรณ์แห่งการสวรรคตที่เมืองงาย จ.เชียงใหม่

"พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชราชานุสรณ์" เมืองงาย อนุสรณ์แห่งการสวรรคต

แม้ประเด็นดินแดนที่สวรรคตของสมเด็จพระ นเรศวรมหาราชยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าทรงสวรรคต ณ ที่ใดกันแน่ที่เมืองหางในประเทศพม่า หรือที่เวียงแหงในเชียงใหม่ หรือที่เมืองงายในเชียงใหม่เช่นกัน ซึ่งก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้

แต่กระนั้นด้วยแรงศรัทธาของประชาชนที่ ต. เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็ได้ร่วมใจกันสร้าง "พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชราชานุสรณ์" ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้างพระสถูปเจดีย์นี้ เป็นสถานที่ซึ่งพระองค์ได้เสด็จฯ กรีฑาทัพ และพักแรม แล้วพระองค์ฯก็ทรงประชวรเป็นละลอกที่พระพักตร์กลายเป็นพิษเสด็จสวรรคต

สำหรับตัวสถูปพระเจดีย์ฯ เป็นเจดีย์ฐาน 8 เหลี่ยม กว้าง 10.30 ม. สูง 25.12 ม. ฐานด้านหนึ่งประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และแต่ละด้านของฐานมี่แผ่นศิลาสลักลวดลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณีย กิจของพระองค์ สลับกับแผ่นหินอ่อนที่เล่าพระราชประวัติของพระองค์ และประวัติการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ฯ

ซึ่งจะมีประชาชนแวะเวียนมากราบไหว้สักการะ องค์พระสถูปเจดีย์ฯ อยู่เสมอ และรอบๆ บริเวณสถูปพระเจดีย์จะมีบรรดาไก่ที่เป็นปูนปั้นตั้งอยู่เต็มบริเวณ เพราะส่วนใหญ่ผู้คนที่มากราบไหว้ มักจะนำไก่มาถวายท่าน ด้วยเชื่อว่าพระองค์รักการชนไก่

และด้านหลังขององค์พระสถูปเจดีย์ฯ จะเป็นที่ตั้งของ "ค่ายหลวงที่ประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" (จำลอง) ที่ทางกรมศิลปากรจัดสร้างขึ้น ซึ่งภายในค่ายจำลอง มีพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ประดิษฐานอยู่ให้กราบไหว้

สำหรับสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับพระนเรศวร ตามที่นำเสนอหรือที่อื่นๆ นอกจากจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีความงดงามทางศิลปะ มีชื่อในเรื่องของศรัทธาบุญบารมี รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ซึ่งเปรียบดังอนุสรณ์เตือนใจให้ปวงชนชาวไทยตระหนักในวีรกรรมความกล้าหาญ ความเสียสละ และพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หนึ่งในพระมหากษัตริย์ที่คนไทยไม่เคยลืมเลือนค่ะ

หมายเลขบันทึก: 423822เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2011 00:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท