DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

ดลรอหีม สันโยก ชีวิตที่ไม่พิการเหมือนร่างกาย


 

ดลรอหีม สันโยก
ชีวิตที่ไม่พิการเหมือนร่างกาย

มูฮำหมัด ดือราแม

 

ที่บ้านหลังใหญ่ข้างๆโรงเรียนลำไพลราษฎร์อุทิศ ตำบลลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ได้ยินเสียงหนุ่มใหญ่ร่างเล็กมาแต่ไกล ทว่าน้ำเสียงอย่างคนอารมณ์ดี ชายผู้นี้คือนายดลรอหีม สันโยก อายุ 41 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 201 หมู่ที่ 2 บ้านลำไพลตก ตำบลลำไพล 

ในช่วง 4 ปีมานี้ เขาไม่ค่อยได้ไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง แต่มักจะนั่งอยู่บนแคร่ไม้ไผ่หน้าบ้าน เพลินอยู่กับนกกรงหัวจุกที่เลี้ยงไว้ในกรง 2 – 3 ตัว หรือไม่ก็กวาดบ้านถูกพื้นอย่างคล่องแคล่ว ทุกๆ วันเขาจะนั่งรถเข็ญจูงวัวที่ทางราชการมอบให้ไปเลี้ยงตามเรือกสวนไร่นาในหมู่บ้านด้วยตัวเอง เพราะเขาคือผู้พิการขาขาด อันเกิดจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดที่ร้านอาหารในตลาดลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 ซึ่งตรงกับช่วงเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม

เหตุเหตุระเบิดทำให้มีคนตายทันที 4 คน เป็นมุสลิม 2 คนและไทยพุทธ 2 คน บาดเจ็บสาหัส 2 คน หนึ่งในนั้นคือ ดลรอหีม ส่วนที่เหลืออีก 8 คนบาดเจ็บเล็กน้อย

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น แม้จะทำให้การดำเนินชีวิตของดลรอหีมเปลี่ยนแปลงไป แต่มิตรภาพและความผูกพันในครอบครัวไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยทุกคนไม่ได้รู้สึกว่า คนที่เคยเป็นกำลังหลักของครอบครัวไม่สามารถประกอบสัมมาอาชีพได้เหมือนเดิม คือภาระของครอบครัว

ทุกวันนี้ ดลรอหีม ยังคงใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับครอบครัว โดยไม่ได้รู้สึกว่าการสูญเสียขาทั้งสองข้าง คือความพิกลพิการและต้องอยู่โดดเดี่ยวแปลกแยกจากสังคมหมู่บ้านแต่อย่างใด

ดลรอหีม บอกว่า หลังเกิดเหตุใหม่ๆ คิดว่าตัวเองคงไม่รอด เพราะดูสภาพแล้วเละไปหมดทั้งตัว หรือถ้ารอดมาได้ก็คงพิการ

แต่เมื่อตนเองถูกนำตัวที่โชกเลือดไปถึงโรงพยาบาลเทพา กำลังใจแรกที่ได้ยินจากปากของหมอตุ๊ หรือนายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพาขณะนั้นว่า “ไม่เป็นอะไรมาก” ทำให้รู้สึกดีขึ้นมา ก่อนจะถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อย่างเร่งด่วน เมื่อไปถึงห้องฉุกเฉินก็ไม่รู้สึกตัวอีกเลย มารู้สึกตัวอีกก็เห็นสภาพตัวเองมีแต่ผ้าพันแผลเรียบร้อยแล้ว

“ตอนนั้นรู้ตัวว่า ตัวเองไม่มีขาทั้งสองข้างแล้ว แต่ไม่รู้สึกท้อแท้หรือหดหู่ ไม่เครียดด้วย คิดแต่เพียงว่าอัลลอฮ(พระเจ้าที่ชาวมุสลิมนับถือ) ให้มา พระองค์ต้องการทดสอบตัวเรา เพื่อให้เราได้สำนึกและกลับตัวกลับใจในสิ่งที่เคยทำผิดมาก่อน”

นายดลรอหีม สันโยก ผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบโดยถูกระเบิดขาขาดกับนกกรงหัวจุกที่เลี้ยงไว้คลายเหงา

หลังจากนั้นความช่วยเหลือต่างก็หลั่งไหลเข้ามา ซึ่งเท่าที่ดลรอหีม เท้าความได้ ก็มีเงินช่วยเหลือเยียวยาจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้เดือนละ 1,000 บาท นายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาขณะนั้น ก็นำเงินมามอบให้ 80,000 บาท กระทรวงยุติธรรมให้มาอีก 103,000 บาท และจากหน่วยงานอื่นๆ อีก รวมแล้ว ประมาณ 300,000 บาท

เช่นเดียวกับรถเข็นที่ได้มา 2 คัน ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ รัตนราชสุดา นอกจากนี้ ยังได้ขาเทียมจากมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีด้วย

“ภูมิใจและพอใจมากกับความช่วยเหลือที่ได้รับมา เท่านี้ก็ไม่รู้ว่าจะตอบแทนคนที่ช่วยเหลือเราอย่างไรแล้ว เพราะถ้าเราพิการจากเหตุการณ์อื่น เช่น รถชน ผมก็คงไม่ได้รับการช่วยเหลือมากขนาดนี้แน่ จึงทำให้รู้สึกภูมิใจมาก”

ดลรอหีม บอกว่า เงินที่ได้มาส่วนใหญ่เก็บไว้ใช้ยามจำเป็น มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่นำมาใช้ปรับปรุงร้านขายก๋วยเตี๋ยว ซึ่งขณะนี้ลูกสาวคนหนึ่งเป็นคนขายร่วมกับภรรยา “เมื่อก่อนผมมีอาชีพกรีดยางพาราทั้งของตัวเองและรับจ้างกรีดยางของเพื่อนบ้าน รวม 30 ไร่ มีรายได้วันละประมาณ 2,000 บาท เมื่อผมไม่สามารถหารายได้ให้ครอบครัวได้อย่างเดิมอีกแล้ว ผมก็ปรึกษากันในครอบครัวว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ผมต้องเป็นภาระให้คนอื่น ซึ่งคนในครอบครัวก็ไม่ได้มองว่าผมเป็นภาระ”

ปัจจุบันคนที่หารายได้หลักให้ครอบครัวก็คือภรรยากับลูกสาวอีก 2 คน โดยคนหนึ่งทำงานกรีดยางพารากับแม่ อีกคนก็ขายก๋วยเตี๋ยว โดยลูกสาวทั้งสองคนมีสามีและลูกแล้ว แต่ลูกสาวคนหนึ่งแยกไปอยู่กับครอบครัวในบ้านอีกหลังหนึ่ง
ปัจจุบันบ้านหลังนี้อาศัยอยู่รวมกันทั้งหมด 7 คน คือ ดลรอหีมกับภรรยา ลูกสาวกับลูกเขย หลาน 2 คน และแม่ของดลรอหีมที่สูงอายุ

ถึงกำลังหลักการหารายได้หลักเข้าบ้านจะเป็นผู้หญิงเสียทั้งหมด ถ้าไม่นับลูกเขยอีกคน แต่ดลรอหีม ก็บอกว่า ชีวิตทุกวันนี้ไม่ได้ลำบาก เพราะตนเองก็มีรายได้เป็นเงินเดือน เดือนละ 4,500 บาท ซึ่งได้มาจากการเป็นลูกจ้างโครงการจ้างงานเร่งด่วนของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดสงขลา หรือ ศอ.บต.สงขลาด้วย

ที่ทำงานประจำคือ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านลำไพลตก โดยงานในหน้าที่คือ การกวาดขยะ จัดหนังสือหรืองานอื่นๆ เท่าที่ทำได้และเป็นงานที่ช่วยเหลือสังคม ซึ่งแน่นอนว่า ดลรอหีม ต้องทำงานบนรถเข็น

“การที่ต้องนั่งรถเข็นหรือต้องใช้ขาเทียมไม่รู้สึกน้อยใจและไม่รู้สึกว่าลำบากกับตัวเองเลย เพราะในเมื่อร่างกายเราเป็นอย่างนี้แล้ว เราจะท้อไปทำไม ถ้าเราท้อ มันก็จะเป็นภาระให้คนอื่น”

ดลรอหีม บอกว่า เมื่อก่อนกลัวที่จะขึ้นรถเข็น แต่คิดว่าถ้ากลัวก็จะไปไหนไม่ได้ ขณะที่พรรคพวกเพื่อนฝูงก็ให้กำลังใจตลอด ไม่เคยกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม แม้กระทั่งพูดจาดูถูกดูหมิ่นก็ไม่เคยได้ยิน มีแต่บอกว่าอย่าท้อ ตนจึงไม่ท้อ เพราะถ้าท้อหรือเครียดกับการที่ต้องเป็นคนพิการ เครียดกับการที่ต้องนั่งรถเข็น มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

“ตอนนี้จะไปไหนมาไหนแล้วต้องนั่งรถเข็น ก็ไม่รู้สึกว่าเลย อะไรที่ทำเองได้ก็ทำ ไม่อยากขอช่วยคนอื่นให้ตัวเองเป็นภาระ”

พูดเสร็จดลรอหีมก็ใช้แขนสองข้างขยับตัวขึ้นไปนั่งบนรถเข็นอย่างคล่องแคล่ว แล้วฉวยไม้กวาดมาทำท่ากวาดพื้นบ้านให้ดู แถมยังชี้ให้ดูกระเบื้องปูพื้นก่อนจะบอกว่า “ผมปูพื้นบ้านเอง เพราะมีพื้นฐานงานก่อสร้างมาก่อน แค่ปรับตัวเล็กน้อยก็ทำงานโดยไม่มีขาได้แล้ว”

สู้ - แม้จะพิการขาขาดแต่นายดลรอหีม สันโยก ก็พยายามทำงานบ้านเอง เช่น กวาดบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคนในครอบครัว

ดลรอหีม เล่าต่อว่า อันที่จริง เวลาอยู่ในบ้านไม่ได้ใช้รถเข็น แต่ใช้วิธีการดันแขนแล้วขยับตัว เพราะต้องการออกกำลังแขน เพื่อให้แข็งแรง ซึ่งตอนนี้แขนมีกำลังเหมือนปกติ เพียงแต่ไม่สามารถขยับนิ้วมือขวาได้ เพราะใส่เหล็กแทนที่แขนแทนกระดูกที่แตกละเอียดจากแรงระเบิด

“เพื่อนบ้านถามว่าทำไมไม่ใช้รถเข็นไฟฟ้า เราบอกไม่เอา ไม่อยากสบายเกินเดี๋ยวจะเคยตัว” ดลรอหีมพูดพลางยิ้มพลาง ก่อนจะดึงแขนขึ้นไปนั่งบนแคร่ตามเดิม แล้วหันไปดูนกในกรงหัวจุกที่กำลังส่งเสียงร้องรับกับกรงอื่น พร้อมขยับปีกไปมา

ดลรอหีม บอกว่า เมื่อก่อนไม่เคยเลี้ยงนกกรงหัวจุก เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในสวนยางพารา หลังจากถูกระเบิดขาขาดแล้ว มีเวลาว่างเยอะจึงหันมาเล่นนก เริ่มเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2550 แล้วก็พบนกทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น แล้วก็มีเพื่อนใหม่ๆ มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยพุทธ

“ช่วงนั้นสถานการณ์ทั่วไปยังรุนแรงอยู่ คนไทยพุทธกับมุสลิมมีความหวาดระแวงต่อกันสูง แต่เมื่อมาเล่นนก ทำให้มีโอกาสเจอกลุ่มคนที่ชอบเล่นนกเหมือนกัน จากการพานกไปแข่งประชันเสียงตามสนามแข่งนกทั้งที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส จึงคิดว่า นกเป็นสื่อที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนพุทธและคนมุสลิมได้เจอและมีความเข้าใจกันมากขึ้น ความหวาดระแวงก็ลดลง”

“ตอนนี้มีนกกรงที่เลี้ยงไว้ 3 ตัว ตัวหนึ่งเพิ่งได้มาไม่กี่วัน มันยังตื่นคนอยู่ ยังเอาไปแข่งไม่ได้ครับ” ดลรอหีม อธิบายถึงนกที่เลี้ยงไว้อย่างชำนาญ

ไม่เพียงการเล่นนกเท่านั้นที่เป็นเสมือนกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง ดลรอหีม ยังเคยเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่บ่อยครั้งด้วย ทั้งยังเคยร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบด้วย

ดลรอหีม ยังมีส่วนในการก่อตั้งกลุ่มเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอำเภอเทพาด้วย ซึ่งกลุ่มนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับผลกระทบ เช่น เรื่องการหาอาชีพเสริม การดูแลสภาพจิตใจ

ปัจจุบันคณะกรรมการชุดนี้มีทั้งหมด 35 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิงที่สามีเสียชีวิตจากความไม่สงบ แม้ดลรอหีมไม่ได้เป็นกรรมการอยู่ด้วย แต่ก็เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง

ถึงจะเป็นคนพิการแต่ดลรอหีมก็ยืนยันที่จะช่วยเหลือสังคมต่อไปได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ “ใครจะเข้าใจความรู้สึกคนที่ได้รับผลกระทบมากไปกว่าคนที่ได้รับผลกระทบด้วยกัน ดังนั้นผมอาสาที่จะช่วยเหลือตรงนี้ครับ”

ร่วมเวที - นายดลรอหีม สันโยก เข้าร่วมเวทีเสวนาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐหัวข้อ“เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรโดยสันติ” ที่ร้านคาลิดคาร์แคร์ บ้านเพ็งยา ตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2553

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน

นายดลรอหีม สันโยก คือผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบเพียงไม่กี่คนที่มีสภาพจิตใจเข้มแข็ง แม้หลังจากเกิดเหตุได้ไม่นาน อีกทั้งยังสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย โดยเฉพาะในเรื่องการให้กำลังใจผู้ป่วยด้วยกัน ซึ่งดลรอหีมได้พยายามทำมาตั้งแต่ช่วงที่ยังพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 30 กว่าวัน

ขณะเดียวกันความที่ทางบ้านไม่ค่อยมีความขัดสนมากนัก จึงทำให้ไม่ค่อยกังวลได้เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งความที่เป็นคนร่าเริง จึงทำให้มีมิตรสหายแวะเวียนให้กำลังใจอยู่ตลอด จึงทำให้ดลรอหีมเป็นคนที่มีศักยภาพมากในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือยังไม่สามารถคลายความโศกเศร้าจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักได้

จึงเป็นอีกคนหนึ่งที่สามารถนำมาเพิ่มศักยภาพความเป็นผู้นำหรือสร้างโอกาสสำหรับการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ หรือการเป็นวิทยากรในการบรรยายแง่คิดในการช่วยเหลือฟื้นฟูจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบได้

การผันตนเองจากผู้สูญเสียที่รอรับความช่วยเหลือ มาเป็นผู้เยียวยาที่คอยให้ความช่วยเหลือผู้อื่น เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่สุดที่สะท้อนให้เห็นว่า  เขาเป็นผู้สูญเสียที่ผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากทางจิตใจมาสู่ความเข้มแข็งแล้ว  และการเยียวยากันเองโดยผู้ประสบเหตุสูญเสียด้วยกันเองเป็นรูปธรรมการเยียวยาที่สำคัญยิ่ง  ที่จะทำให้เกิดสันติสมานฉันท์ในระยะยาว

********************

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 423737เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2011 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กำลังใจนะ มีให้เต็มร้อย สู้ต่อไปนะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท