DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

ชีวิตคนหายไร้สิทธิเยียวยา ครอบครัว‘มะยาเต็ง มะรานอ’


 

ชีวิตคนหายไร้สิทธิเยียวยา
ครอบครัว‘มะยาเต็ง มะรานอ’


มูฮำหมัด ดือราแม

แม้การหายตัวไปของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ถือเป็นผลกระทบอย่างหนึ่งจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงหลังจากวันที่ 4 มกราคม 2547 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปะทุขึ้นของความรุนแรง

แต่ทว่า ครอบครัวผู้สูญเสียกลับหมดสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ อันเนื่องมาจากไม่เข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดเอาไว้

คณะอนุกรรมการการชุดนี้อยู่ภายใต้ คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. ซึ่งดูแลการช่วยเหลือเยียวยาในภาพรวม

ขณะเดียวกันแม้ กยต.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่งที่ว่าด้วยคนสูญหาย คือ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อประสานการติดตามผู้สูญหายและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเฉพาะกรณี แต่ก็ไม่ได้พูดถึงการช่วยเหลือเยียวยา

ในขณะที่ตามกระบวนการทางกฎหมาย ต้องรอให้การหายตัวนั้นผ่านพ้นไปจนครบ 6 ปีก่อน จึงสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเป็นบุคคลสูญหายได้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทางนิติกรรมต่างๆ ได้

การหายตัวไปของนายมะยาเต็ง มะรานอ นักการภารโรงโรงเรียนบ้านบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา คือตัวอย่างของสถานการณ์นี้ และเป็นเพียงกรณีเดียวในชายแดนใต้ที่เป็นคดีขึ้นสู่ศาล จนกระทั่งศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งว่า เป็นบุคคลสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มารตรา 61

แต่นั่นก็เป็นเพียงคำสั่งที่ไม่ได้สั่งเอาผิดใคร ในขณะที่การยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งดังกล่าว สามารถดำเนินการได้หลังการหายตัวไปแล้ว 2 ปี

แต่ถึงแม้ศาลสั่งให้เป็นบุคคลสูญหายได้แล้ว คนที่เหลืออยู่ข้างหลังก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ของรัฐอยู่ดี ยกเว้นการช่วยเหลือที่อยู่นอกเหนือหลักเกณฑ์ ซึ่งก็เป็นเพียงพอประมาณเท่านั้น ความทนทุกข์ต่างๆ จึงตกอยู่กับคนที่อยู่ข้างหลัง เพราะแบกรับภาระและความลำบากที่เกิดขึ้นตามมา

ครั้งสุดท้ายที่คนในครอบครัวได้อยู่ด้วยกันกับนายมะยาเต็ง คือ ตอนเที่ยงของวันที่ 24 มิถุนายน 2550 โดยถูกเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งนำตัวไป จากบ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 3 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา พร้อมกับรถกระบะ 1 คัน อาวุธปืน 1 กระบอก และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ในขณะที่ทุกคนอยู่กันพร้อมหน้าในบ้าน

จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครได้เห็นนายมะยาเต็งอีกเลย ในขณะที่หน่วยทหารในพื้นที่ก็ยืนยันว่าได้ปล่อยตัวนายมะยาเต็งไปแล้ว จนกระทั่งศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ เรื่องราวทั้งหมดจึงถูกเบนไปที่การกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจนได้

“หลังจากศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ดิฉันก็เอาคำสั่งศาลนี้ไปให้นายกฤษฎา บุญราช ตอนนั้นยังเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ท่านก็บอกว่าน่าจะเข้าหลักเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกรณีเสียชีวิต จะได้เงินช่วยเหลือ 500,000 บาท” นางโซมาฮิเดาะห์ ภรรยานายมะยาเต็ง กล่าว

เธอหวังว่า จะเอาเงินจำนวนนี้ไปชำระหนี้ที่สามีทิ้งไว้รวมกว่า 780,000 บาท กับลูกชายอีก 2 คน  

แต่ความพยายามของเธอก็สูญเปล่า เพราะเธอและลูกๆ ไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ของรัฐ แม้จะพยายามเรียกร้องสิทธิในส่วนนี้ในฐานะที่สามีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม

เพราะหลังจากนั้นนายกฤษฎา ได้ส่งเรื่องไปให้นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้พิจารณากรณีการหายตัวไปของนายมะยาเต็ง ว่าเป็นผลกระทบจากความไม่สงบหรือไม่

สุดท้ายคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้แจ้งผลการพิจารณามายังเธอว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ อีกทั้งไม่มีการรับรองจากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง การช่วยเหลือเยียวยาใดๆ ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้

เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ความพยายามของเธอ เพื่อวิ่งเต้นให้ได้สิทธิในเรื่องนี้ ก็ค่อยๆ หดหายลงไปด้วย ล่าสุดมีข่าวว่าโครงการจ้างงานเร่งด่วน เดือนละ 4,500 บาท ที่เธอได้รับอยู่ด้วยว่า จะมีการยกเลิกโครงการ ก็ยิ่งทำให้เธอท้อใจ

ยังดีที่พอจะมีน้ำใจจากเพื่อนบ้าน ญาติมิตร และเพื่อนผู้ที่สามีสูญหายไปเหมือนเธอหยิบยื่นให้บ้างเท่านั้น รวมกับน้ำใจจากนายทหารบางคน อย่างพล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร หรือ พตท.

พล.ท.กสิกร ได้ที่มอบเงินช่วยเหลือหลังจากศาลมีคำสั่งให้สามีเธอเป็นคนสาบหายไปไม่กี่วัน เป็นเงิน 50,000 บาท จากนั้นนายอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา มอบเงินช่วยเหลือให้อีก 50,000 บาท เป็นทุนการศึกษาให้ลูก แต่เงินส่วนนี้ถูกเจียดไปส่วนหนึ่ง จำนวน 27,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินครึ่งไร่ ซึ่งเธอบอกว่า จะเอาไปปลูกยางพาราไว้ให้ลูก

เธอบอกว่า เธอเคยขอเงินจาก พล.ท.กสิกร 30,000 บาท จะสร้างห้องน้ำ ท่านก็ให้ ท่านยังให้เงินมาอีก 10,000 บาท ให้ซื้อจักรยานให้ลูกทั้ง 2 คน ไว้ปั่นไปโรงเรียน แต่เราก็เจียดส่วนหนึ่งเอาไว้กิน นอกจากนี้ยังมีพวกเอ็นจีโอมาให้เงินช่วยเหลือด้วย 10,000 บาท แล้วก็แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 สงขลา ที่มาเยี่ยมและให้เงินบ่อย ครั้ง 3,000 บาทบ้าง

“เวลาเดือดร้อนหรือลำบากจริงๆก็จะโทรศัพท์ไปขอจากคนนั้นคนนี้เอาดื้อๆ เพราะเราคิดอะไรไม่ออกแล้ว มันกังวลไปหมด กลัวคนจะมายึดบ้านยึดทรัพย์สิน”

ทุกครั้งที่เธอจะไปหาใครเพื่อขอความช่วยเหลือโดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่ๆ ก็มักจะไปเอง เพราะไม่กล้าขอช่วยคนอื่น ซึ่งบางครั้งเธอก็ไม่รู้เรื่องว่า การพบผู้ใหญ่ต้องทำอะไรบ้าง แต่เธอไม่สนใจอย่างอื่นแล้ว ไปให้เจอตัวก่อนแล้วค่อยว่ากัน

เรื่องโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท ที่มีข่าวว่าจะมีการยกเลิกในเดือนกันยายน 2553 นี้นั้น ทำให้เธอถึงกับต้องไปขอให้พล.ท.กสิกร ช่วยดำเนินต่อให้เธออีก แต่ก็พล.ท.กสิกรทำได้เพียงสั่งการลูกน้องไว้ เนื่องจากมีข่าวอาจจะย้ายไปอยู่กรุงเทพมหานคร
“ท่านยังบอกให้หาที่ดินซัก 3 ไร่ เพื่อปลูกยางพารา ซึ่งท่านจะซื้อและปลูกยางพาราให้ด้วย แต่ตอนนี้ก็ยังหาที่ดินไม่ได้เลย”

วันนี้ หลังจากมามีเธอหายตัวไป เธอไม่ได้กลับไปอาศัยที่บ้านเดิมอีกเลย อาจจะมีบ้างที่ไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่ได้นอนพักที่บ้านในสวนโดดเดี่ยวหลังนั้น ยกเว้นเพียงคืนเดียวที่ยกโขยงกันไปนอนทั้งญาติสนิทมิตรสหาย

ปัจจุบัน เธอมาอยู่อาศัยกับพ่อที่บ้านกาลอ ตำบลกาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นบ้านเดิม โดยปลูกบ้านหลังใหม่ขึ้นมา ใกล้กับบ้านพ่อใช้พักอาศัยอยู่กับลูกชาย 2 คน
แต่บ้านหลังใหม่ก็ร้อนเหลือเกิน เธอจึงไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน ชอบไปโน่นมานี้ เรื่อยเปื่อย

นางโซมาฮิเดาะห์ มะรานอ กับลูกชายคนเล็ก 

“บางครั้งเครียดมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร คิดถึงเขา ก็คิดถึงอยู่ตลอด บางครั้งถึงกับต้องวิ่งไปมา ไปที่นั่นที ไปที่นี่ที อยากอยู่ตามในป่า ทุ่งนา ไม่อยากไปบ้านคนอื่นเลย”

เธอเล่าต่อว่า ตอนนี้สภาพจิตใจไม่ 100% เครียดมาก นอนไม่หลับ ต้องกินยาแก้เครียดตลอด ต้องไปหาหมอจิตเวชที่โรงพยาบาลรามันทุกเดือน ซึ่งหมอกำชับว่า ต้องกินยาตลอด เพื่อให้คลายความเครียดลง

ขณะที่พวกครูที่โรงเรียนก็ชอบโทรศัพท์มากดดัน ให้ขายบ้าน ขายที่ดิน เพื่อเอาไปจ่ายหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ในฐานะที่เป็นคู่สมรสของสามีซึ่งเป็นลูกหนี้

“เขาโทรศัพท์มาทุกทีก็เครียดทุกที แล้วก็โทรศัพท์มาบ่อยมาก ที่เขามากดดันเรา ตอนนี้หนี้ยังอยู่ครบ ไม่ได้จ่ายเลยซักบาท”

จากนั้นเธอได้แจกแจงรายการหนี้ที่สามีเธอทิ้งไว้รวมทั้งหมดประมาณ 780,000 บาท โดยเป็นหนี้สหกรณ์ครู 500,000 บาท หนี้ธนาคารออมสิน 100,000 บาท หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส.อีก 20,000 บาท บวกกับดอกเบี้ยอีก 10,000 กว่าบาท ที่เหลือเป็นหนี้นอกระบบที่กู้ของชาวบ้านมา

ในขณะที่เธอเล่าว่า เธอมีรายได้จากการรับจ้างกรีดยางพาราแค่วันละ 100 กว่าบาท ซึ่งแน่นอนไม่พอกินแน่ ซึ่งเงินจำนวนนี้ ต้องแบ่งให้ลูกคนโตไปโรงเรียนวันละ 50 บาท ส่วนคนเล็กแม้เพิ่งเรียนอยู่ชั้นอนุบาล แต่ก็ต้องให้เงินค่าขนมอีกวันละ 20 – 30 บาท ส่วนตัวเองบางวันถ้ามีกินก็กิน ถ้าไม่มีก็อด บางครั้งพ่อหรือพี่สาวให้กับข้าวมาบ้าง ซึ่งความอยู่รอดส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับการช่วยเหลือของเพื่อนบ้านหรือญาติๆ

“เรื่องงานก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะทำงานอะไร ไม่ใช่ไม่คิด เคยคิดที่จะเปิดร้านขายของ แต่เท่าที่สังเกตก็มีร้านค้าอยู่เยอะแล้ว ที่คิดเรื่องขายของ เพราะตอนสามีอยู่ ได้เปิดร้านขายอาหารกับขนมในโรงเรียน จึงคิดว่าพอจะมีความสามารถขายของอยู่บ้าง แต่ตอนนี้ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ยังเครียดอยู่ แล้วก็ต้องใช้เงินทุนด้วย”

ผลกระทบนี้ไม่ได้มีแค่เธอเท่านั้น ลูกอีก 2 คนก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ด้วยเช่นกัน เพราะไม่เพียงขาดความอบอุ่นอันเนื่องมาจากพ่อหายตัวไปเท่านั้น

แต่ภาพที่พ่อถูกทหารควบคุมตัวไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ยังคงอยู่ในสายตาของลูกทั้ง 2 คนนี้ด้วย เพราะอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเช่นกัน

ลูกชายทั้ง 2 คนของเธอ คนโตชื่อรุสลัน อายุ 15 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนศรีฟารีดาบารู ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่กับการสอนวิชาสามัญ ส่วนคนเล็กอายุ 5 ขวบเรียนอยู่ชั้นอนุบาล

ลูกมะยาเต็ง

“ตั้งแต่สามีหายตัวไป ลูกชายทั้ง 2 คน ไม่สบายบ่อย ส่วนคนโตถึงกับมีอาการซึมเศร้า ไม่มีชีวิตชีวาเลย จนบางครั้งก็ไม่ได้ไปโรงเรียนหลายวัน ดิฉันเคยถามลูกชายคนโตว่า เป็นอะไรถึงป่วย เขาก็บอกว่า คิดถึงพ่อ”

เธอเล่าต่อว่า มีครั้งหนึ่งก่อนถึงวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพ่อแห่งชาติ ดิฉันเห็นลูกชายคนเล็กวิ่งหนีกลับบ้าน แล้วก็มาร้องไห้ต่อหน้าเรา ถามว่าทำไมถึงร้อง เขาก็เล่าว่าครูที่โรงเรียนถามนักเรียนว่า ใครไม่มีพ่อให้ยกมือขึ้น แต่ลูกไม่ยอมยกมือ แต่วิ่งหนีกลับบ้าน “ครูก็ไม่น่าถามอย่างนั้นเลย แต่เขาก็คงไม่รู้หรอก คนที่ไม่มีพ่อเขาจะรู้สึกอย่างไร เขาคงไม่รู้ครอบครัวที่ผู้นำหายตัวไปจะรู้สึกอย่างไร”

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะของคนเขียน


กรณีคนหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นผลกระทบอย่างหนึ่งจากสถานการณ์ความไม่สงบ จึงจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือเยียวยาด้วย ยิ่งหากมีการพิสูจน์ทราบแล้วว่ามีการหายตัวไปจริงและศาลมีคำสั่งว่าเป็นบุคคลสาบสูญไปแล้วยิ่งต้องกำหนดในหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญหายหรือผู้ที่อยู่ในอุปการะ

ทั้งนี้เนื่องจาก ผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้มีสภาพจิตใจที่ไม่ดีเอามากๆ เพราะไม่อาจรู้ได้ว่า ผู้ที่สูญหายไปเป็นตายร้ายดีอย่างไร ซึ่งสร้างความสับสน กังวลให้กับผู้ที่อยู่ข้างหลังมากกว่ากรณีที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ เพราะการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสามารถมองเห็นได้ ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบยอมรับสภาพได้ดีกว่าหรือเร็วกว่า
แต่กรณีการสูญหายตราบใดที่ยังไม่เจอผู้ที่สูญหายทั้งในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว หรือมีหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่าเสียชีวิตไปแล้วแน่นอน ความกังวลใจก็ยังมีอยู่ตราบนานเท่านั้น

ดังนั้น การเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากการหายตัวไปของคนอันเป็นที่รักจึงน่าจะยากกว่า และใช้เวลานานกว่า ด้วยเหตุนี้การช่วยเหลือเยียวยาในกรณีนี้จึงควรได้รับการใส่ใจมากกว่าเพียงแค่การให้เงินแล้วก็จบกัน แต่คงต้องมีกระบวนการเยียวยาในระยะยาว และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

กรณีนี้คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. ควรต้องกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยา กรณีการสูญหายโดยเร็ว

แม้กรณีการสูญหายจะมีจำนวนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บจากความไม่สงบ แต่กรณีคนสูญหายมีผลสะเทือนมากกว่า ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน เพราะตราบใดที่ยังไม่เจอตัวหรือไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้การเสียชีวิตก็ย่อมทำให้กรณีคนสูญหายถูกจุดประเด็นขึ้นมาพูดถึงอยู่ตลอด

กรณีการหายตัวไปของนายมะยาเต็ง ไม่ได้รับการรับรอง 3 ฝ่าย  อาจเป็นเพราะทางการเข้าใจว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม จึงทำให้ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากทางราชการ  ทั้งๆที่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นสร้างความยากลำบากต่อครอบครัวอย่างมาก  และที่สำคัญเป็นการหายตัวไปหลังถูกทางราชการเชิญตัวไปสอบสวนด้วย

กรณีนี้ผู้ที่มีความน่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือนางโซมาฮิเดาะห์ ถัดมาคือลูกชายทั้ง 2 คน ที่ขาดความอบอุ่น

ถ้าตัดการกังวลของนางโซมาฮิเดาะห์ต่อการหายตัวไปของสามี ก็ยังมีความกังวลในเรื่องหนี้สินและภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน

เรื่องหนี้สินคงเป็นเรื่องยากพอสมควรสำหรับเธอที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ในเร็ววัน ถ้าหากยังกังวลในเรื่องที่ต้องกินต้องใช้ เพื่อให้อยู่รอดในแต่ละวัน จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการหารายได้ในแต่ละวันก่อน เช่น หากสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพ อย่างการเปิดร้านขายของหรืองานอื่นๆ ที่เธอถนัดหรือพอจะทำได้เพื่อให้มีรายได้เข้ามาก่อน ก็จะช่วยตัดความกังวลไปได้เรื่องหนึ่ง

เมื่อความกังวลในเรื่องรายได้ในแต่ละวันหมดไป เชื่อว่าจะทำให้เธอ มีสติหรือสมาธิ ในการคิดแก้ปัญหาอื่นๆ ตามมาด้วย

*******************

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 423731เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2011 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท