DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

เดะฮังของแม่ อีกหนึ่งกำลังหลักที่จากไป


 

เดะฮังของแม่
อีกหนึ่งกำลังหลักที่จากไป


มูฮำหมัด ดือราแม

 

สำหรับหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่แล้ว ย่อมต้องเสียใจเป็นธรรมดา เมื่อต้องสูญเสียลูกชายอันเป็นที่รักไปอย่างกะทันหัน

ยิ่งเป็นการจากไป จากเหตุการณ์ไม่สงบโดยที่ตัวเองไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วยแล้ว ก็ยิ่งช้ำใจขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายที่ถูกกระทำ

อย่างเช่นครอบครัวของนางฮาซนะห์ เจะมามะ ชาวบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ที่ต้องสูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์ไม่สงบในขณะที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในวัย 18 ปี

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2552 ขณะที่นายอับดุลเลาะ ดามะมิง ชื่อเล่น เดะฮัง ลูกชายคนที่ 2 ของนางฮาซนะห์ กำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามพ่อมิ่ง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังที่สอนวิชาสามัญ ควบคู่กับวิชาศาสนา และเป็นโรงเรียนประจำที่มีที่พักให้นักเรียนด้วย

ฮาซนะห์ เจะมามะ

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเดะฮัง กับเพื่อนๆ อีก 2 คน ชวนกันไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านใกล้โรงเรียน หลังจากเรียนอัล–กุรอานในช่วงค่ำเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติเล็กน้อย

ที่ผิดปกติก็คือ ทุกครั้งพี่ชายซึ่งเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน มักเป็นคนที่ออกไปซื้อให้น้องชายอยู่เป็นประจำ และในช่วงบ่ายวันเกิดเหตุนั้น พี่ชายยังได้ชวนเดะฮังกลับบ้านด้วยกันด้วย แต่เดะฮังปฏิเสธ บอกว่า อยากอยู่คุยกับเพื่อนที่ปอเนาะ เนื่องจากโรงเรียนปิดหลายวัน

คำว่าปอเนาะหมายถึงที่พักของนักเรียนลักษณะเหมือนกระท่อมที่พัก ซึ่งนักเรียนสามารถทำอาหารกินเองได้

หลังจากทั้ง 3 คนเรียนคัมภีร์อัลกุรอานเสร็จในเวลาประมาณ 20.30 น. จึงได้เดินไปนอกบริเวณโรงเรียนมุ่งหน้าไปยังร้านก๋วยเตี๋ยวทันที

หลังจากทั้ง 3 คนสั่งอาหารกับแม่ค้าแล้ว แต่ไม่ทันที่จะได้นั่งที่โต๊ะอาหาร ปรากฏมีชายฉกรรจ์ 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ถืออาวุธปืนกราดยิงทั้ง 3 คนแบบไม่ยั้งมือ จนล้มลงกับพื้น คนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างก็หนีเอาตัวรอด บ้างก็หาที่หลบซ่อน ซึ่งเหตุการณ์ผ่านไปอย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งเสียงปืนสงบลง และคนร้ายก็ควบรถจักรยานยนต์หนีไป

จากนั้นความอลหม่านก็เกิดขึ้น ทั้ง 3 คนถูกยิงหมดสติโดยไม่รู้ว่าใครเป็นตายร้ายดีอย่างไร มีการป่าวประกาศไปทั่วหมู่บ้านที่ตั้งโรงเรียนให้ชาวบ้านออกมาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ

ในที่สุดทั้ง 3 คนถูกนำตัวส่งไปรักษาตัวอย่างเร่งด่วนที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา นางฮาซนะห์กับสามีพร้อมญาติเดินทางไปสมทบ แต่แพทย์ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตของเดะฮังได้

เดะฮังเสียชีวิตลงในเวลาประมาณ เวลา 24.30 น. ของวันต่อมา โดยมีนางฮาซนะห์นั่งอยู่ข้างๆ ท่ามกลางความเงียบสงัดและเสียงสะอื้นเบาๆ ตลอดเวลาก่อนหน้านั้น เธอได้แต่เฝ้าร่างที่ไม่ได้สติ พร้อมกับอ่านยาซีน ซึ่งเป็นบทหนึ่งของคัมภีร์อัลกุรอาน สลับกับการขอพรจากผู้เป็นพระเจ้า

วันนี้นางฮาซนะห์ ในวัยอายุ 41 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 60/1 หมู่ที่ 1 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

ครอบครัวของนางมีอาชีพคั่วเม็ดมะม่วงหิมพานต์และคั้นน้ำอ้อยสดขายในตลาดสดใกล้บ้าน ส่วนสามีของเธอมีอาชีพส่งปุ๋ยขายตามหมู่บ้านต่างๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไป ก็คือ เดะฮัง ที่เคยช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวเมื่อว่างจากการเรียน เช่น ช่วยคั่วเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แล้วให้แม่กะเทาะเปลือกออก หรือช่วยเลาะเปลือกก้านอ้อยให้พี่ชายและแม่นำไปคั้นน้ำอ้อยสดขายในตลาดนัด

ส่วนความช่วยเหลือหลังจากเดะฮังเสียชีวิตไปแล้ว เธอจำได้ว่ามีมา 2 ครั้ง เป็นการมอบเงินช่วยเหลือจากทางราชการ ครั้งแรก ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรยะหริ่ง นำมามอบให้ 25,000 บาท ครั้งที่ 2 ทางอำเภอเป็นผู้มอบให้อีก 75,000 บาท

จากนั้นก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐอีกเลย มีแต่เข้ามาสอบถามข้อมูล พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สารทุกข์สุกดิบเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่ทราบข่าวหลังจากเกิดเหตุไม่นานเท่านั้น

“ความช่วยเหลือที่ได้รับก็คงเพียงพอแล้ว เพราะถึงจะได้มากขนาดไหนก็คงทดแทนกันได้ไม่มากไปกว่าการสูญเสียลูกชายอยู่แล้ว แต่สิ่งยังเดือดร้อนอยู่ตอนนี้คือ บ้านที่ค่อนข้างเก่าและทรุดโทรม หากรัฐจะช่วยก็อยากให้ช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านมากกว่า”

ส่วนเรื่องรายได้นั้น ก็ยังพออยู่ ยังทำมาหากินได้ตามปกติ บางครั้งก็หารายได้เสริมเข้ามาได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน

กรณีนี้ก็คงไม่ต่างจากผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นที่ที่ต้องสูญเสียลูกไปจากเหตุการณ์ไม่สงบ เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าผู้กระทำคือใคร จึงอาจทำให้ผู้ได้รับผลกระทบยังคลางแคลงใจอยู่ แต่หากมีการพิสูจน์ชัดเจนว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อเกตุ ความเคลือบแคลงสงสัยก็คงจะหายไปได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นครอบครัวคนทำงาน จึงทำให้ครอบครัวนี้ต้องต่อสู้ต่อไป ซึ่งเป็นผลดีที่ไม่ทำให้ต้องจมปลักอยู่กับความเสียใจกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น

ส่วนในเรื่องการประกอบอาชีพนั้น ถือว่าเป็นครอบครัวที่ต้องดิ้นรนพอสมควร เนื่องจากไม่ได้มีฐานะดีมาก หากได้ส่งเสริมอาชีพหรือสนับสนุนในเรื่องการประกอบอาชีพ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือช่วยในการลดรายจ่าย ก็จะช่วยผ่อนคลายในเรื่องค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้มาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อสภาพจิตใจไปด้วย

ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สร้างความสูญเสียสำหรับคนบริสุทธิ์จำนวนมาก  ความสูญเสียที่ไม่มีคำตอบชัดเจนว่าถูกฝ่ายใดกระทำ  ยิ่งสร้างความบอบช้ำสูญเสียมากขึ้น  และเหตุการณ์ส่วนใหญ่นั้นไม่ทราบผู้ก่อเหตุ  จึงทำให้ปริมาณของความคลางแคลงสงสัยมากมายเต็มพื้นที่ชายแดนใต้ยาวนานตลอด 7 ปีของความสูญเสีย  ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากนัก

********************

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 423725เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2011 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท