DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

มุมชีวิตแบบพอเพียง สุไลมาน แนซา ตายในค่ายทหาร


มุมชีวิตแบบพอเพียง
สุไลมาน แนซา ตายในค่ายทหาร


มูฮำหมัด ดือราแม

สุไลมาน แนซา คือผู้ถูกควบคุมตัวที่เสียชีวิตภายในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ หรือ ศสฉ. ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามหมายควบคุมตัว ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

เขาตายในค่ายทหาร คือค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อันเป็นที่ตั้งของ ศสฉ. โดยถูกพบเป็นศพในท่าแขวนคอด้วยผ้าขนหนูกับลูกกรงหน้าต่าง
สภาพศพของสุไลมาน ถูกตั้งข้อสงสัยหลายประการถึงสาเหตุการตาย โดยเฉพาะจากองค์กรภาคประชาสังคม พ่อแม่และญาติพี่น้อง ที่ร่วมเข้าไปดูศพรวมกับหน่วยงานต่างๆ รวม 14 องค์กร

พวกเขาไม่เชื่อว่าสุไลมาน ผูกคอตายจริง แต่น่าจะถูกจัดฉากมากกว่า เนื่องจากรอยช้ำหลายแห่งที่พบตามตัว เช่นที่คอ หรือรอยเลือดที่ไหลซึมออกมาที่ลูกอัณฑะกับทวารหนัก และคอหัก เป็นต้น

แม้เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวยืนยันว่าเขาผูกคอตายจริง แต่ความสงสัยของสังคมนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจากหลายฝ่าย เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือแม้แต่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เอง ก็ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการตายของเขาเช่นกัน

ถึงกระนั้นผลการตรวจสอบของทั้ง 2 คณะ ก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเขาผูกคอตาย หรือถูกทำให้ตาย อันจะสร้างความกระจ่างชัดเพื่อสร้างความสบายใจให้กับครอบครัวของเขาได้ ด้วยเหตุผลที่หนักแน่นว่า ญาติไม่อนุญาตให้ผ่าพิสูจน์ศพ จึงไม่อาจทราบสาเหตุการตายที่แท้จริงได้

การปฏิเสธดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อในคำสอนของศาสนาอิสลามที่ห้ามผ่าศพ เพราะเป็นการทรมานศพ เช่นเดียวกับความเชื่อในคำสอนศาสนาอิสลามที่ว่า การฆ่าตัวตายเป็นบาปมหันต์ จึงเป็นเรื่องผิดปกติที่ชาวมุสลิมจะฆ่าตัวตาย

ที่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 1 บ้านฮูแตมาแจ ตำบลกะดุนง อำเภอสายบุรี พ่อแม่และน้องคนสุดท้องอายุ 5 ขวบของสุไลมานอยู่กันอย่างพร้อมหน้า ขณะที่ญาติๆ คนอื่นๆ รวมทั้งผู้นำศาสนาในหมู่บ้านต่างก็เข้ามาร่วมวงไพบูลย์พูดคุยหารือกับแขกผู้มาเยือน

ขณะที่ใต้ถุนบ้านบ้านซึ่งยกสูงเกือบ 3 เมตรให้พ้นระดับน้ำท่วม ก็มีไก่ประมาณ 10 กว่าตัวกำลังคุ้ยเขี่ยดินหาอาหารอยู่ตามซอกไม้ รวมทั้งสิ่งของจำนวนมากและเครื่องมือช่างที่วางอยู่ระเกะระกะ

บรรยากาศเช่นนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับวันอื่นตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่การจากไปของสุไลมาน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553

ถึงเรื่องราวการตายของสุไลมาน เป็นที่โจทย์ขานกันไปทั่ว แต่เรื่องราวความลำบากของครอบครัวสุไลมานที่อยู่อย่างเดิม อยู่แล้ว ก็ยิ่งซ้ำยังหนักเข้าไปอีก เมื่อครอบครัวขาดกำลังหลักไปอย่างไม่มีวันกลับ

สุไลมานเป็นลูกคนโตของบ้านตระกูลแนซา เขายังมีน้องอีก 4 คน โดยน้องคนที่ 2 รองจากสุไลมานเป็นผู้หญิง กำลังเรียนศาสนาอยู่ที่ปอเนาะซาบูดิง อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี

ส่วนน้องๆ ที่เหลือเป็นชายทั้งหมด โดยคนที่ 3 กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 คนที่ 4 กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และคนสุดท้องอายุเพียง 5 ขวบยังไม่เข้าโรงเรียน
นายเจ๊ะแว แนซา พ่อของสุไลมาน เล่าว่า สุไลมานไม่ได้เรียนหนังสือเลย มีบ้างที่เคยไล่ให้ไปเรียนศาสนาอิสลามที่ปอเนาะ แต่ไปอยู่ได้ไม่ถึงเดือนก็กลับมาอยู่บ้าน พาไปอีกก็กลับมาอีก ถ้าวันไหนไม่มีงานทำ ก็ชอบไปอยู่ตามริมแม่น้ำสายบุรีแบบสันโดษ ไม่ค่อยเข้าสังคมเหมือนกับคนอื่นๆ

นายเจ๊ะแว แนซา 

ก่อนสุไลมานจากไป เขาเป็นคนหารายได้หลักให้กับครอบครัวร่วมกับพ่อ คือ ทำงานก่อสร้าง โดยมีฝีมือในการเชื่อมเหล็ก นอกจากนี้ยังหารายได้เสริมจากการเลี้ยงปลาแรดในกระชังในแม่น้ำสายบุรี ที่อยู่ห่างจากบ้านประมาณ 500 เมตร ซึ่งแม้จะชอบอยู่แบบสันโดษ แต่ก็เป็นคนขยันทำงาน

เมื่อปีที่แล้วนายสุไลมาน ยังสนองนโยบายรัฐ โดยร่วมโครงการ เช่น โครงการพัฒนาชุมชนสันติสุขตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ โครงการพนพ.ตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยได้รับมอบไก่บ้านจำนวนหนึ่ง กับพันธุ์ปลาดุก รวมทั้งเคยเข้าร่วมอบรมกับภาครัฐมาแล้ว

ปัจจุบันบ่อปลาดุกกับเหล้าไก่ที่สุไลมานทำขึ้นมาเองในสวนหลังบ้านถูกปล่อยร้างไปแล้ว

“ปลาดุกยังมีอยู่บ้างแต่คงผอมน่าดู พ่อเองก็เพิ่งได้มาดูวันนี้เหมือนกัน” นายเจ๊ะแวพูดพร้อมกับนำชมบ่อปลาดุกที่ยังมีแผ่นพลาสติกรองไว้ที่ก้นบ่อกันน้ำซึมกับเล้าไก่ที่ดูเหมือนยังสร้างไม่เสร็จ ส่วนรั้วไม้ไผ่ที่สร้างไว้รอบๆ บางท่อนก็หักไปบ้างแล้ว

“ส่วนไก่ที่ได้ตายเกือบหมด เหลืออยู่ 3 – 4 ตัวเท่านั้น พวกมันก็ให้มันนอนใต้ถุนปะปนอยู่กับไก่ของที่บ้าน” โดยที่ตัวหนึ่งกำลังกกไข่อยู่ในกะละมังใบเก่าที่ถูกผูกติดอยู่กับเสาบ้าน “ตัวนี้ออกไข่ฟักเป็นตัวหลายตัวแล้ว”

บ่อปลาและเล้าไก่ร้าง

เมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้น ก็ย่อมต้องมีการเยียวยา สิ่งที่ครอบครัวของสุไลมานได้รับจากรัฐ คือการรับมอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จากกองทัพ โดยพล.ต.มนตรี อุมารี ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเยียวยาและศาสนา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บาบอ” เป็นผู้มอบให้ 10,000 บาท พร้อมกระเช้าของฝากจากแม่ทัพภาคที่ 4

พล.ต.มนตรี ยังได้เสนอให้คนครอบครัวได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่เมืองเมกกะ ประเทศชาอุดีอาระเบีย แต่ในภาวะเศร้าเช่นนี้ คงไม่มีใครทำใจยอมรับได้ พ่อจึงปฏิเสธไปก่อน โดยให้เหตุผลที่ยังไม่อยากไปไหนตอนนี้ เพราะยังต้องดูแลลูก อีก 4 คน ขณะที่ยังพอเหลือเรี่ยวแรงทำงานอยู่

“ยังเสียใจไม่หาย ก็เลยบอกว่ายังไม่อยากไป” นายเจ๊ะแว ในวัย 59 ปี กล่าวยืนยันอย่างหนักแน่น เช่นเดียวกับนางแมะเซาะ ซา ภรรยา

แม้นายเจ๊ะแวยังไม่อาจรับข้อเสนอเพื่อเดินทางไปประกอบพิธีอันสำคัญที่สุดประการที่ 5 ของการเป็นมุสลิม ที่ถือเป็นความหวังสูงสุดอย่างหนึ่งของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามบนโลกนี้ แต่ศาสนสถานประจำหมู่บ้านอย่างมัสยิดก็ได้รับการซ่อมแซมเพดานด้วยเงินช่วยเหลือจากพล.ต.มนตรีไปก่อนแล้ว ในคราวเดียวกับการเดินทางมาที่บ้านสุไลมาน

ในคราวนั้น พลอากาศตรีหญิงนิตยา อิ่มอโนทัย ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพอากาศ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาคประชาชน ก็ได้ร่วมขบวนมาเยี่ยมด้วย พร้อมกับมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้จำนวนหนึ่งจำพวกข้าวสารอาหารแห้ง

เมื่อไม่มีสุไลมาน นายเจ๊ะแวจึงต้องกลับไปทำงานรับเหมาก่อสร้างอย่างเดิม โดยเฉพาะงานด้านช่างไม้ ซึ่งเป็นงานถนัด แต่ก็เป็นงานหนักพอสมควร ที่สำคัญไม่มีคนหนุ่มร่างกายแข็งแรงในวัย 25 ปี คอยช่วยเหลือแบ่งเบาอีกแล้ว

แต่ยังดีหน่อยที่พอจะมีสวนยางพาราอยู่บ้าง ประมาณ 1 ไร่ ซึ่งแม่ของสุไลมานเป็นคนกรีดยางขาย ส่วนไม้ผลยืนต้นที่มีอยู่รอบๆ บ้านก็พอจะเก็บกินได้เท่านั้น
ถึงตอนนี้ ในวงสนทนาเริ่มคุยกันอย่างออกรส มวนใบจากมวนแล้วมวนเล่าที่ถูกจุดดูดพ่น ส่วนน้ำร้อนในกาก็เย็นไปตั้งนานแล้ว

แต่สิ่งหนึ่งที่กระอักกระอวนใจของญาติๆ กับเพื่อนบ้านกลุ่มนี้ก็คือ หลังการตายเขาถูกหน่วยราชการด้านความมั่นคงในพื้นที่ระบุว่า สุไลมานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบถึง 14 คดี

“มันก็น่าจะทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอำเภอสายบุรีนั่นแหละ” ญาติคนหนึ่งพูดแทรกขึ้นมา

จากนั้นแต่ละคนก็ลองไล่เรียงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ หมู่บ้าน ซึ่งมีตั้งแต่เหตุการณ์ยิงขณะที่กำลังมีการคัดเลือกทหารเกณฑ์ ซึ่งแม่เขาบอกว่าสุไลมานกำลังขูดมะพร้าวอยู่ที่บ้าน

เหตุการณ์กลุ่มชายฉกรรจ์ชุดดำลอบยิงกองเรือที่แล่นผ่านแม่น้ำสายบุรี ซึ่งญาติคนหนึ่งบอกว่าสุไลมานไปรับจ้างกรีดยางที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลาได้ 20 วันแล้ว
กระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดคือคดียิงผู้หญิงชาวบ้านอีกหมู่บ้านหนึ่งในตอนเช้า ก่อนที่สุไลมานจะถูกควบคุมตัวในช่วง 10 โมงเช้า ขณะรับจ้างมุงหลังคาบ้านเพื่อนบ้าน

เป็นการควบคุมตัวที่นำมาสู่การตายในอีก 9 วันต่อมาในค่ายทหารนั่นเอง
“แค่พิสูจน์ว่าสุไลมานตายเพราะอะไร ทำไมตามร่างกายจึงมีแต่รอยช้ำเต็มไปหมด บอกให้ชัดๆ ไปเลยไม่ได้หรือ เราต้องการความยุติธรรมแค่นี้ เพื่อจะได้หาทางป้องกันไม่ให้คนอื่นต้องตายเหมือนสุไลมานอีก อยากให้เขาเป็นรายสุดท้าย” คือคำขอและคำทิ้งท้ายของพ่อ

ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน


แน่นอน หากการตายของสุไลมาน แนซา ได้รับการพิสูจน์ทราบอย่างแน่ชัดว่าตายด้วยสาเหตุอะไร ย่อมนำความสบายใจมาให้คนในครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง เพราะจะไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยหลงเหลืออยู่อย่างทุกวันนี้ ให้ต้องเป็นที่โจทย์จานกันต่อไป
แม้วันเวลาผ่านไปโดยไม่อาจพิสูจน์ทราบต่อไปได้ในทางกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์แล้ว ก็คงต้องทิ้งความเคลือบแคลงสงสัยเหล่านั้นไว้ แล้วมุ่งหน้าหาทางเยียวยาคนที่เหลืออยู่ต่อไป ซึ่งกรณีนี้ภาระหนักก็คงตกอยู่กับนายเจ๊ะแวในวันใกล้เกษียณ ถ้าเขาเป็นข้าราชการ

แต่เขาไม่ใช่ข้าราชการ เขายังคงต้องทำงานหาเช้ากินค่ำต่อไป ในขณะที่เรี่ยวแรงค่อยๆ หดหายลงไปทุกวัน ส่วนคนอื่นที่พอจะช่วยแบ่งเบาภาระได้บ้าง ก็มีเพียงภรรยาคนเดียว ลูกๆ ยังเล็กเกินไป หรือไม่ก็ยังต้องมีหน้าที่ในการเล่าเรียน

สิ่งที่พอจะช่วยได้ คือการช่วยเหลือในรูปสวัสดิการ สำหรับนายเจ๊ะแว บวกกับกับการสนับสนุนหรือส่งเสริมอาชีพที่ต้องใช้ฝีมือ อย่างงานไม้ ซึ่งเป็นงานที่เจ๊ะแวถนัดอยู่แล้ว แต่ต้องมาเลือกดูว่า งานไม้ประเภทไหนที่ไม่ต้องใช้แรงมาก แต่ต้องใช้ฝีมือหรือความสามารถแทน ขณะเดียวกันก็ชิ้นงานที่ได้อาจสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เช่น งานแกะสลักไม้ เป็นต้น

ส่วนลูกๆ ที่ยังเรียนหนังสือจะต้องจัดหาทุนการศึกษามาสนับสนุนด้วย เพื่อเป็นการลดภาระของครอบครัว

ครอบครัวของสุไลมาน  ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบเหตุความไม่สงบจากทางราชการ  เพราะทางราชการถือว่าสุไลมานเป็นฝ่ายขบวนการ  แต่หากทางราชการเปลี่ยนกติกามาช่วยเหลือ  ครอบครัวของเขาจะได้รับเงินเยียวยา 100,000 บาท และเงินทุนการศึกษาสำหรับลูกๆจนจบการศึกษา  แต่วันนี้ครอบครัวของสุไลมานผู้ล่วงลับ  ยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบากหลังการสูญเสียเพียงลำพัง  ตามประสาชาวบ้านที่ต้องการความสงบ  ไม่ได้เรียกร้องสิทธิอะไรมากมาย

ซึ่งกติกานี้ยุติธรรมหรือไม่เพียงใด  ยังมีมุมมองที่แตกต่างในมิติ
เชื่อว่า ถ้าสามารถทำให้คุณภาพของครอบครัวของเจ๊ะแวดีขึ้น ความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ที่หลงเหลืออยู่ในจิตใจก็จะค่อยเบาบางลง หรือไม่ส่งผลให้บั่นทอนคุณภาพชีวิตต่อไปอีกได้ ในช่วงชีวิตที่ยังเหลืออยู่

 

********************

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 423529เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2011 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท