หลักพื้นฐานการนวดไทย


การนวดไทยเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
หลักพื้นฐานการนวดไทย

 
การนวดไทยเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ผู้นวดที่ดีจำเป็นต้องมีความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติที่ถูกต้อง การมีความรู้ทางทฤษฎีที่ถูกต้อง จะช่วยให้การปฏิบัติได้ผลดียิ่งขึ้น ลดผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ส่วนการฝึกฝนปฏิบัติการนวดจนมีความชำนาญ จะทำให้เราเกิดความรู้ซึ่งในบางครั้งไม่สามารถได้จากทางทฤษฎี เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรง ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถพัฒนาวิธีการนวดให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปได้
หลักพื้นฐานการนวดไทยที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นความรู้ที่ประมวลมาจากประสบการณ์ของวิทยากรฝ่ายการนวดไทยของโครงการฟื้นฟูการนวดไทย
 

1.ข้อพึงปฏิบัติในการนวด
ก. ก่อนลงมือนวด ผู้นวดพึงปฏิบัติดังต่อไปนี้

1.สุขภาพดี ไม่มีโรค
รักษาสุขภาพให้ดี ถ้าผู้นวดไม่สบายก็ไม่ควรนวดผู้อื่นเพราะจะไม่ได้ผลในการรักษา อาจทำให้ผู้ถูกนวดติดโรคจากผู้นวด ผู้นวดก็อาจหมดแรงและโรคที่เป็นอยู่อาจกำเริบได้

2.กายสะอาด ใจสดใส
รักษาความสะอาดทางกาย แต่งกายให้สะอาด ล้างมือให้สะอาด ตัดเล็บมือให้สั้นเพื่อไม่ให้ผู้ถูกนวดเจ็บขณะกด ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ

3.ซักถามอาการ
ต้องซักประวัติและถามอาการผู้ถูกนวด

3.1 ถ้าผู้ถูกนวดมีอาการต่อไปนี้ห้ามทำการนวด
มีอาการปวดร้าวเสียวขาแปลบไปตามแขน หรือขา ซึ่งอาจเป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือหินปูนกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง
มีอาการเคลื่อนไหวลำบาก ข้อผิดรูป หลังได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจเป็นเพราะกระดูกหักหรือข้อเคลื่อน
เป็นโรคติดต่อต่างๆ เช่น วัณโรค
เป็นโรคผิวหนังบางชนิด เช่น เป็นแผลเรื้อรัง
หลังการผ่าตัด
ในกรณีเหล่านี้ห้ามทำการนวด

3.2 ถ้าผู้ถูกนวดมีอาการต่อไปนี้ ควรส่งหมอผู้ชำนาญ ไม่ควรนวดช่วยเหลือกันเอง
อาการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) ของข้อหรือกล้ามเนื้อ
มีความดันโลหิตสูง
เป็นโรคเบาหวาน
มีอาการแขน ขา ไม่มีแรง ชา เป็นอัมพรึก อัมพาต
ข้อติดมาก (ข้อเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่เท่าข้อข้างที่ปกติ)

3.3 ถ้าผู้ถูกนวดมีอาการต่อไปนี้ ผู้นวดขั้นพื้นฐานสามารถช่วยเหลือกันเองได้
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดจากการทำงานหนัก ทำงานในท่าที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน หรือยืน เดิน นั่ง นอนในท่าที่ไม่เหมาะสม
มีความเครียดจากการทำงาน นอนไม่หลับหรือนอนไม่พอ หรือมีความเครียดทางอารมณ์
 

ข.เมื่อลงมือนวด ผู้นวดพึงปฏิบัติดังต่อไปนี้

4.หายใจช้าๆ ลึกๆ มีสมาธิ
ผู้นวดควรแนะนำให้ผู้ถูกนวดหายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ และสบายๆ ทำใจให้เป็นสมาธิ จิตใจไม่คิดฟุ้งซ่าน เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้นวดก็ควรปฏิบัติเช่นเดียวกัน

5.ระลึกถึงครู

ก่อนลงมือนวด ผู้นวดจะต้องทำการไหว้ครู เพื่อระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ และเป็นการตั้งสติให้จิตใจแน่วแน่

6.จัดท่านวดให้ถูกต้อง
ท่านวดที่ดีจะช่วยให้ผู้ถูกนวดอยู่ในท่าที่สบาย ผ่อนคลายไม่เกร็ง ผู้นวดสามารถออกแรงได้อย่างถูกต้อง คือไม่ต้องเสียแรงมาก และไม่ทำให้ปวดเมื่อยเสียเอง

6.1 ท่านั่ง
ผู้ถูกนวดนั่งพื้น ผู้นวดนั่งคุกเข่า

ผู้ถูกนวดนั่งพื้น ผู้นวดยืน

6.2 ท่านอน
ผู้ถูกนวดนอนตะแคง ขาล่างเหยียดตรง ขาบนงอเข่า ใช้ส้นเท้ายันเข่าของขาล่าง เพื่อกันคว่ำเวลาถูกนวด หนุนหมอนที่มีความสูงพอเหมาะ คือให้กระดูกคออยู่ในระดับเดียวกับแนวกระดูกสันหลัง

ผู้นวดนั่งคุกเข่า


ผู้ถูกนวดนอนหงาย ผู้นวดนั่งคุกเข่า


ผู้ถูกนวดนอนคว่ำ ผู้นวดนั่งคุกเข่า

7.หาตำแหน่งจุด
ทำการหาตำแหน่งจุดนวดที่ถูกต้อง การนวดผิดจุดย่อมไม่เกิดผลในการรักษาแต่อาจทำให้เกิดผลเสียได้
8.วางมือให้ถูกต้อง
8.1 ใช้นิ้วหัวแม่มือกด
การกดด้วยนิ้วหัวแม่มือ ให้กดแบบเดียวกับการพิมพ์นิ้ว แต่ไม่ควรกดแบบจิกนิ้ว (งอข้อนิ้ว) เพราะจะทำให้เจ็บได้
8.2 กดซ้อนนิ้ว
ใช้นิ้วหัวแม่มือกดซ้อนกัน โดยใช้นิ้วหัวแม่มือที่ซ้อนอยู่บนออกแรงกด

8.3 กดซ้อนด้วยมือ
ใช้นิ้วหัวแม่มือวางบนจุดที่ต้องการกด แล้วใช้ส้นมืออีกข้างออกแรงกดลงบนนิ้วหัวแม่มือที่วางไว้

8.4 กดด้วยส้นมือ
ใช้ส้นมือกดแทนนิ้วมือได้ ในกรณีจุดที่กดเป็นแนวหรือมีบริเวณกว้างพอ
9.แขนเหยียดตรง โน้มตัวไปข้างหน้า
แขนข้างที่ใช้ออกแรงกด ควรเหยียดตรง ไม่งอศอกหรือข้อมือ ไม่กางแขนหรือหุบแขนมากเกินไป และโน้มตัวไปข้างหน้า
10.ออกแรงกดให้ถูก
ให้ค่อยๆ เพิ่มแรงกดจากเบาไปหาหนัก (ขณะกดแขนต้องเหยียดตรง โน้มน้ำหนักตัวลงสู่จุดที่กด) กดนิ่งไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วค่อยๆผ่อนออก การรีบปล่อยมือหรือยกมือโดยเร็ว จะทำให้ระบมได้
11.กดแต่ละจุดนาน 10 วินาที
12.หมั่นสังเกต
การสังเกตน้ำหนักที่ใช้ในการกดนั้น ถ้าเป็นการนวดตนเองให้ถือเอาแรงกดที่ทำให้เริ่มรู้สึกปวด ถ้าเป็นการนวดผู้อื่น ให้สังเกตจากสีหน้าอาการของผู้ถูกนวดและปฏิกิริยาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ถ้าผู้ถูกนวดแสดงอาการเจ็บปวดมาก หรือกล้ามเนื้อเกร็งสู้มาก ก็ควรผ่อนแรงกด แรงกดที่เบาเกินไปจะทำให้ไม่ได้ผล ส่วนแรงกดที่มากเกินไป ก็อาจทำให้ระบมได้
13.สอบถาม
ผู้นวดควรสอบถามความรู้สึกของผู้ถูกนวดขณะทำการนวดว่า ทนเจ็บปวดได้หรือไม่ ควรผ่อนแรงกด ถ้าผู้ถูกนวดบอกเจ็บจนทนไม่ไหว
14.นวดซ้ำ
เมื่อนวดครบทุกแนวทุกจุดแล้ว ควรกลับมานวดซ้ำอีกประมาณ 3-5 รอบ แล้วแต่อาการ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของผู้นวดในการตรวจสอบดูอาการในขณะนวด หากนวดในครั้งแรกแล้วอาการดีขึ้น ให้เว้นระยะเวลา 2-3 วัน จึงจะนวดครั้งต่อไปได้
ไม่ควรนวดซ้ำรอบมากเกินไป หรือนวดถี่วันเกินไป เพราะจะทำให้ระบมได้
ข.หลังการนวด ผู้นวดพึงปฏิบัติดังต่อไปนี้
15.ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ถูกนวด
เช่น ท่าที่เหมาะสมในการนั่ง การนอน การทำงาน และการบริหารกายเพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการปวดเกิดขึ้นอีก
16.ถ้าผู้ถูกนวดมีอาการระบม
ควรแนะนำให้ประคบน้ำร้อน (ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ ใช้ถุงน้ำร้อน หรือขวดน้ำร้อนพันด้วยผ้า หรือใช้ลูกประคบสมุนไพร) และนอนพักผ่อน
ถ้าผู้ถูกนวดมีไข้ ควรแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา และนอนพัก ถ้ามีไข้เกิน 3 วัน ควรแนะนำให้พบแพทย์
 
คำสำคัญ (Tags): #การนวดไทย
หมายเลขบันทึก: 42342เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2006 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

วันก่อนไปนวดแผนไทยมา เพราะว่ามีอาการปวดน่องมาก(สงสัยขับรถมาก) ทีแรกก็ว่าผู้นวดออกแรกเบาๆแต่พอถึงบางจุดรู้สึกว่าแรงมาก แต่ก็ดีนะหายเมื่อยไปนิดหนึ่งหลังนวด แต่พอตื่นตอนเช้าซิตรงที่รู้สึกเจ็บมากเขียวเลย จะประชาสัมพันธ์ตอนนี้ที่คณะแพทย์ชั้น 4 มีนวดฟรี(ถึงวันที่ 22 กันยายนนี้นะ)

  • นวดแบบไหนครับน้องกบ
  • แล้วใครเป็นคนนวด
  • นักศึกษาแพทย์ สวยๆ น่ารักเปล่า จะได้รีบไปนวด
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท