รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์)
รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์) ครูตาล วงษ์ชื่น

การทำบุญในวาระต่าง ๆ : งานศพควรเป็นโอกาสในการทำประโยชน์ส่วนรวม


     

งานศพ ควรเป็นโอกาสในการทำประโยชน์ส่วนรวม

     "พี่ตาล....จัดการเรื่องพวงหรีดให้ด้วยนะ  ในนามโรงเรียนบ้านพุตะแบก ชมรมครู  สหกรณ์ออมทรัพย์ครู  และก็ตามด้วยโรงเรียนต่าง ๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพ" เสียงเจ้านายสาวของฉัน ส่งเสียงมาทางโทรศัพท์

     เช้าวันที่ ๓๑ ตุลาคม ท่ามกลางฝนตกโปรยปราย ฉันจึงต้องทำหน้าที่ ซื้อพวงหรีด ไปเคารพศพคุณพ่อ รวม ๕ พวง เดินทางจากหาดใหญ่ไปสทิงปุระ(สทิงพระ) จนฉันและลูก ๆ ต้องสละพื้นที่รถเก๋งคันงามให้กับพวงหรีดดอกไม้สด จำนวนหลายพวง โดยใช้บริการรถตู้แทน

     เมื่อไปถึงงานศพ ฉันพาลูก ๆ เข้าไปกราบคุณพ่อ  พบว่าหน้าหีบศพมีพวงหรีดเฉพาะที่ฉันนำมาเท่านั้น เอาล่ะซี เกิดอะไรขึ้น ก็อยู่ที่ประจวบฯ ฉันเคยเห็นงานศพแต่ละงานมีพวงหรีดเต็มไปหมด จนแทบจะไม่มีที่แขวน

     เมื่อสอบถามพี่น้อง ๆ ก็สรุปความได้ว่า งานศพของภาคใต้ไม่นิยมจัดงานศพด้วยพวงหรีด จัดเพียงดอกไม้เท่านั้น  บางวัดถึงกับตั้งกฏกติกาว่า มิให้ใช้พวงหรีดที่เป็นดอกไม้แห้ง และโฟม โชคดีที่พวงหรีดที่นำไปเป็นประเภทดอกไม้สดทั้งหมด

     ตอนเด็ก ๆ จำได้ว่า พิธีงานศพมักถูกจัดขึ้นที่บ้านผู้ตาย ขนบธรรมเนียมของภาคใต้เรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่ งานศพ ๗ วัน ฆ่าหมู ฆ่าวัวเป็น ๑๐ ตัว รู้สึกว่างานใดฆ่าหมูฆ่าวัยเยอะเท่าไหร ก็แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของงาน นั่นคือประเพณีที่มิอาจเปลี่ยนแปลงเพราะยึดถือกันมาเช่นนั้น

     "ถ้าพ่อตาย ไม่ต้องฆ่าหมู ฆ่าวัว  พ่ออยากไปคนเดียวมากกว่า ไม่ต้องพาวัวพาหมูไปเลี้ยงเป็นฝูง ๆ "  พ่อเคยพูดกับฉันเช่นนี้ ดังนั้นตอนงานศพคุณพ่อ จึงไม่มีการฆ่าหมูฆ่าวัวในงาน แต่ใช้วิธีการสั่งจากตลาดสดทั้งหมด และก็ใช้ปลาเข้ามาช่วยในการปรุงอาหาร ซึ่งต้องใช้งบประมาณที่สิ้นเปลืองอย่างมาก (ใช้หมู ๑๐ ตัว  ปลาอีกครั้งละเป็น ๑๐,๐๐๐)

      ปัจจุบันการจัดพิธีศพ เปลี่ยนไป ส่วนมากจะจัดกันที่วัด เพื่อความสะดวกในทุก ๆ ด้าน การจัดงานในวัด ทำให้เรื่องของการเล่นการพนันลดลงไปได้บ้าง แต่ก็มิใช่ไม่มีเสียทีเดียว เพียงแต่ยังมีความละอายต่อสถานที่อยู่บ้าง

     จริง ๆ แล้ว มองว่า "งานศพ" น่าจะได้รับการประยุกต์ให้เหมาะแก่ยุคสมัย เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ สิ่งที่ควรทำน่าจะเป็นเรื่องการทำบุญ เคยได้อ่านวารสารวัฒนธรรมไทย ฉบับหนึ่ง จำไม่ได้แล้วเหมือนกันว่าเป็นฉบับใด สรุปได้ว่ามีเนื้อหาในทำนองว่า

     "สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการจัดงานศพ คือ การทำให้งานศพเป็นโอกาสในการทำประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น การบริจาคเงินในนามของผู้ตายสนับสนุน หรือช่วยเหลือผู้ยากไร้ สนับสนุนพระสงฆ์  การบวชหน้าไฟ ของลูกหลานก็ไม่ควรให้ระยะเวลาสั้นเกินไป และควรให้ลูกหลานที่บวชได้ปฏิบัติธรรม อาณาปาณสติภาวนาอุทิศให้ผู้ตาย ส่วนธรรมเนียมของงานศพที่จัดหลายวัน ทำให้สิ้นเปลืองไปกับพิธีกรรมที่ไม่จำเป็นก็ควรนำมาทบทวนกันบ้าง"

      การจัดดอกไม้ประดับในพิธีและโรงศพ ไม่ควรให้มากเกินความจำเป็น สำหรับพวงหรีดที่มีผู้ร่วมงานนำมาเคารพ ที่มักนิยมใช้ผ้าขนหนูมาประดิษฐ์หรือดอกไม้สด ถ้ามากเกินไปก็จะกลายเป็นของเหลือใช้ เน่าเสีย หากให้เกิดประโยชน์เต็มที่ในการทำบุญ เจ้าภาพอาจสอบถามทางวัดว่าต้องการอะไรหรือเจ้าภาพตั้งใจจะนำของไปบริจาคใคร หรืออาจเขียนแจ้งในบัตรเชิญ หรือ ป้ายกำหนดการ เช่น "ขอเชิญบริจาคพันธุ์ไม้ถวายวัด แทนพวงหรีด" หรือ "ขอเชิญบริจาคหนังสือหรืออุปกรณ์กีฬามอบให้กับโรงเรียน  แทนพวงหรีด" วิธีการแบบนี้ จะช่วยลด "ขยะพวงหรีด" ได้อย่างสร้างสรรค์

      ของแจกในงานศพ  ถ้าพิมพ์เป็นหนังสือธรรมมะก็จะเป็นสิ่งดี  หรือไม่ อาจเปลี่ยไปพิมพ์หนังสือเกียวสุขภาพ  หรืออาจพิมพ์เป็นพจนานุกรมแจกเด็กนักเรียน โดยใช้ภาพผู้ตายเป็นปก ก็เป็นการสร้างสรรค์

      เจ้าภาพที่มีทุนน้อย อาจเขียนบรรยายความรู้สึกของการสูญเสียผู้ตายด้วยตนเอง รวมทั้งบรรยายวินาทีสุดท้ายของการเสียชีวิต ลงในกระดาษต้นฉบับ นำไปถ่ายเอกสารแจกในงานศพ ก็สร้างความแปลกใหม่ได้ไม่น้อย หากเจ้าภาพมีทุนมาก อาจแจกเป็นแผ่นซีดีธรรมะก็น่าสนใจ ได้ประโยชน์ไม่น้อย

       สำหรับธรรมเนียมของงานศพที่ต้องเปิดฝาโลงให้ญาติได้เห็นผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ให้ถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้ทำมรณสติ ระลึกรู้ถึงความตาย เป็นเรื่องการภาวนาภายในที่ต้องเผชิญกับอารมณ์โศกเศร้าแห่งการพลัดพราก เป็นจังหวะเหมาะในการเรียนรู้ตัวเองอย่างมีสติภายใต้ความโศกเศร้านั้น ให้ถือเป็นปรกติวิสัยของมนุษย์ปุถุชน

 

หมายเลขบันทึก: 423407เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2011 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

งานศพสบโอกาส       ตั้งธรรมาสน์เทศนา    

เผยแผ่แพร่ธรรมา      อนิจารักอาลัย

โอกาสดีผู้ที่มา           มรณาสติใส่

เป็นบุญผู้จากไป         ผู้อยู่ได้ใกล้ชิดธรรม

จริงแท้แน่สังขาร        ไม่อยู่นานท่านจงจำ

ความดีมีควรทำ          อย่าถลำเร่งทำบุญ

  • สวัสดีครับพี่อิงจันทร์
  • การจัดงานศพสมัยนี้มีการปรับเปลี่ยนไปมากครับ เรื่องพวงหรีด ที่บ้านผม(สมัยก่อนผมมาทำงาน)โรงเรียนจะมีพวงหรีดไปคาระวะศพชาวบ้าน ในชุมชนทุกบ้านครับ ไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไร และเจ้าภาพก็จะมอบเงินบำรุงการศึกษาให้โรงเรียนในวันเผา รวมทั้งบำรุงวัด อนามัย หรือกลุ่มแม่บ้านตามความเหมาะสม นับเป็นการกุศโลบายอย่างหนึ่งของโรงเรียน ในการเข้าถึงชุมชน
  • ที่หมู่บ้านผมจะมีการช่วยกันออมเงินเป็นกลุ่ม เวลามีใครตายก็จะมีตัวแทนที่ตั้งในชุมชนมาเก็บไปให้ แล้วแต่ตกลงกันครับ เช่นในระดับตำบล ออกคนละ 5 บาท ในระดับกมู่บ้านออกคละ 50 บาท และข้าว 1ลิตร ดันนั้นเวลาใครตายก็ไปเบิกเงินสำรองที่กลุ่มมาใช้ก่อน แม้ไม่มีซองก็สามารถจัดงานศพได้
  • กลางคืนในงานสวดศพ จะมีการเทศน์เป็นภาษาคำเมือง สอนคนที่ยังอยู่เรื่องบุญคุณพ่อแม่ เรื่องของชีวิต บางครั้งซึ้งใจจนน้ำตาไหล
  • ชุมชนบ้านผมมีความเอื้อเพื้อกันมาก งานศพแต่ละครั้งจะมีผู้คนมาช่วย มาจูงศพสุสานไปมากมาย ไม่ว่ามีจนอย่างไร น่าประทับใจครับ
  • แปลกที่ทางเหนือเขาจะมีชาปนสถาน แยกต่างหากจากวัดครับ ไม่นิยมมีในวัด ส่วนพระที่มรณภาพก็จะทำพิธีในวัดเผาในวัดหรือสถานที่เหมาะสม แยกจากคนทั่วไป

สวัสดีค่ะพี่อิงจันทร์

   อ่านแล้วก็ได้ข้อคิดและความรู้ ถือโอกาสทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมในงานศพดีกว่า เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและร่วมกันทำความดี

  ทางอีสานเราก็เห็นลดขั้นตอนลงบ้างค่ะ จัดน้อยวันลง

  ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

 

โรงเรียนผมจะนำดอกไม้จันที่นักเรียนผลิต มอบเจ้าภาพ หรีดจะเป็นพัดลมครับ

สวัสดีค่ะIco48นายวิโรจน์ พูลสุข

  • ประเพณีบางอย่างมิสร้างสรรค์
  • ควรปรับปรุงให้ทันยุคสมัย
  • เวลาเปลี่ยน โลกหมุนเวียน เปลี่ยนกาลไป
  • ทุกสิ่งไซร้ควรพัฒนาเพิ่มค่าธรรม

สวัสดีค่ะน้องIco48ชำนาญ เขื่อนแก้ว

  • ภาพแบบที่น้องชำนาญว่ามานั้น  ยังอยู่ในความทรงจำค่ะ
  • ตอนเด็ก สภาพการจัดงานศพ คล้าย ๆ กับที่น้องเขียนมา
  • แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากค่ะ
  • สำหรับแถวบ้านนอก ยังไม่เปลี่ยไปมากนัก  การช่วยเหลือเกิ้อกูลกันยังคงมีอยู่มากค่ะ
  • ขอบคุณน้องชำนาญนะคะ ที่แวะมาเติมเต็มให้กับบันทึกของพี่อิงทุก ๆ บันทึก
  • พอใจกับการคอมเม้นท์แบบนี้มาก ๆ ค่ะ
 

สวัสดีค่ะน้องอุ้มIco48ถาวร

  • ขอบคุณค่ะที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
  • ยุคสมัยเปลี่ยนไป บางอย่างเราก็ต้องปรับปรุงให้ทันให้เหมาะกับสภาพการณ์
  • แต่บางอย่างที่ดี ๆ ก็อนุรักษ์ไว้
 

เป็นข้อคิดเห็นที่ดีมากครับ คุณครูลองเขียนถึงเรื่องปริศนาธรรมในงานศพลองดูได้มั้ย ไม่ทราบว่าที่ภาคใต้มีประเพณีในการทำศพอย่างไร ที่ว่าปริศนาธรรม ยกตัวอย่าง เช่น การเวียนศพรอบฌาปนสถาน โดยการเวียนซ้ายสามรอบ เรียกว่าอุตราวัฏ หรือทำเนียมการมัดตราสัง ถ้าจะมองสิ่งเหล่านี้ในทางธรรม จะหมายความว่าอย่างไร ..ที่อิสานนะ มีการโปรยข้าวตอก(ข้าวเปลือกที่คั่ว) ด้วย แต่ทุกวันนี้ปริศธรรมในงานศพ หรือเรื่องประเพณีเกี่ยวกับการทำศพ นี่ทุกวันเริ่มจะหายไปแล้ว เพราะความเจริญเข้ามาแทนที่ แต่บางสิ่งบางอย่างคนโบราณก็ทำไว้ดีมาก ท่านคงอยากจะสื่ออะไรสักอย่าง บางทีคนเราก็ทำสืบต่อกันมาโดยไม่รู้เรื่องก็มี ทำเพียงสักว่าเป็นพิธี แต่พิธีกรรมที่ดีควรจะต้องสื่อปัญญา เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเกี่ยวเนื่องด้วยความเชื่อ คุณครูเป็นผู้หญิงคงจะมีความละเอียดอ่อน เชื่อแน่ว่าต้องทำได้ดี อาตมาเองก็คิดอยากจะทำในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ยังยุ่งอยู่กับการเรียน  เรื่องปริศนาธรรมในงานศพนี้อาตมาเองก็เคยศึกษาอย่างจริงจังอยู่ช่วงนึง ยังไงก็ฝากด้วยนะครับ "ปริศนาธรรมที่ปรากฏในประเพณีศพตามความเชื่อของคนใต้"

     มางานศพพบอะไรใครรู้บ้าง   เพียงเห็นร่างคนตายแล้วใจหาย

มองดีดีคิดให้ซึ้งถึงความตาย      คือความหมายของ"ครู"ผู้แสดง

สวัสดีครับ...

ผมเขียนบันทึกที่เกี่ยวเนื่องกับงานศพพอดี

ได้มาอ่านบันทึกนี้ ได้รู้มากขึ้นในแง่

ความหมาย คุณค่า และคุณประโยชน์จากงานศพ

ขอบคุณมากครับสำหรับบันทึกที่พยายามอย่างยิ่ง

สวัสดีค่ะท่านผอ.Ico48พรชัย

  • สมัยที่ครูอิงสอนมัธยม  ก็ให้เด็กนักเรียนทำดอกไม้จันทน์ ส่งให้วัดในราคาถูก
  • เพื่อนำเงินมาซื้อวัสดุในการทำขึ้นใหม่ค่ะ
  • โรงเรียนของ ผอ. นำดอกไม้จันทน์ไปช่วยงานศพ เป็นการผูกมัดใจชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
  • ขอบพระคุณค่ะ ที่แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
 

นมัสการพระคุณเจ้าIco48พระมหาวินัย ภูริปญฺโญ ทิวาพัฒน์

  • ปริศนาธรรมจากพิธีกรรมหลังความตาย ครูอิงคิดว่ามีมากมาย
  • เท่าที่คิดได้ แต่ต้องหาวิธีเรียบเรียงก่อนค่ะ
  • ครูอิงเองเติบโตมา ท่ามกลางความเกี่ยวพันกับความตาย
  • เริ่มจากพ่อ คือปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งในเรื่องของการทำโลงศพ และพิธีกรรมเกี่ยวกับงานศพ
  • ตัวครูอิงเองก็เคยทำปริญญานิพนธ์ เกี่ยวกับวัฒนธรรมรอบชีวิตของชาวมอญ ซึ่งก็รวมทั้ง การจัดงานศพของชาวมอญด้วย ต้องศึกษารายละเอียดตั้งแต่ตายกระทั้งเผา และหลังเผา
  • ก็พอจะมีความรู้อยู่บ้าง ในเรื่องของปริศนาธรรมตามที่พระคุณเจ้าบอก
  • แม้ว่า พิธีกรรมบางส่วนจะถูกตัดออกไป ในยุคปัจจุบัน แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่น่าศึกษาและบันทึกไว้
  • ขอบพระคุณพระคุณเจ้าค่ะ ที่ไว้วางใจให้ครูอิงทำเรื่องนี้  จะลองเรียบเรียงดูนะคะ

               ปริศนาธรรมหลังความตาย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท