สหบทตอนที่ ๒


ลักษณะความเป็นสหบทจากตัวบทชุดสัญญะทางวัฒนธรรม

๒.๒  ลักษณะความเป็นสหบทจากตัวบทชุดสัญญะทางวัฒนธรรม

 

            พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า  “วัฒนธรรม” ว่า  สิ่งที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่หมู่คณะ เช่นวัฒนธรรมไทย  วัฒนธรรมการแต่งกาย ส่วนนักสังคมวิทยา (Doob and shepard , 1997) มีความเห็นว่า วัฒนธรรม (culture) หมายถึง สิ่งต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของทั้งวัตถุและไม่ใช่วัตถุ เช่น ความรู้ ความเชื่อ ค่านิยม พฤติกรรม   สิ่งเหล่านนี้เป็นวิถีชีวิตของคนในสังคมและมีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของนักจิตวิทยา (Taylor ,peplav and sears) ที่เห็นว่า วัฒนธรรม หมายถึง ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมประเพณีและแบบแผนพฤติกรรมที่มีร่วมกันในสังคมหนึ่งๆและมีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง

 

            จึงกล่าวได้ว่า  วัฒนธรรม  คือ  แบบแผนการดำเนินชีวิตของกลุ่มคนในสังคม รวมถึงสิ่งต่างๆที่สังคมสร้างขึ้น สะท้อนให้เห็นความเชื่อ  ค่านิยม  ทัศนคติของคนในสังคมและมีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง

 

            ชุดสัญญะทางวัฒนธรรม หมายถึง สัญลักษณ์ที่มีความหมายแฝงซึ่งต้องตีความผ่านมุมมองทางวัฒนธรรม ดังนั้นการตีความจึงมีความเป็นอัตตา ขึ้นอยู่กับผู้ตีความอยู่ในวัฒนธรรมใด

 

            สัญญะทางวัฒนธรรมของสังคมสมัยใหม่ เกิดภายใต้ระบบทุนนิยมเป็นเป็นกลไกลที่ขับเคลื่อนภายในสังคม จะสร้างกระแสการบริโภคนิยมขึ้นมาจะแสดงผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดในเขตพื้นที่เมือง ในนวนิยายเรื่องกรูกันออกมา ของปริทรรศ  หุงตางกูร  เป็นนวนิยายที่ใช้ฉากเป็นพื้นที่เมือง  ผู้แต่งจึงประกอบสร้างชุดสัญญะขึ้นจากกระแสบริโภคนิยม ที่ให้ความสำคัญกับวัตถุในฐานะที่เป็นสินค้าที่ต้องให้คนต้องบริโภคและผลักดันให้คนสร้างความจำเป็นต้องบริโภค ดังนั้น  การบริโภคสินค้าของคนในสังคมปัจจุบันจึงมิได้บริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการดำรงชีวิตอยู่ เพียงอย่างเดียว ดังที่   ฌอง โบดริยาร์ (Jean Baudrillard) กล่าวว่า การบริโภคโดยแท้จริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือวัตถุโดยตรง หากแต่เกี่ยวข้องกับการที่สินค้าดังกล่าวเป็นสัญญะของอีกสิ่งหนึ่ง โบดริยาร์  นิยามการบริโภคว่า เป็นการกระทำอันเป็นระบบของการจัดการกับสัญญะ (“a systematic act of manipulatipn of signs”) กล่าวคือ ในระบบบริโภคนิยม สินค้าหรือวัตถุไม่ได้หมายถึงแต่อรรถประโยชน์ตัวของมันเอง หากแต่เป็นสัญญะ สื่อไปถึงสถานภาพหรือวิถีชีวิตของผู้บริโภคสินค้า  ดังนั้น การบริโภคสินค้าของคนในยุคปัจจุบัน มิได้เป็นการบริโภคเพื่อการดำรงชีวิต เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังแฝงไปถึงนัยทางสังคมและวัฒนธรรม คุณค่าทางศักดิ์ศรีและหน้าตา ภาพลักษณ์ รสนิยม ความปรารถนา และกระบวนการสร้างแรงจูงใจในการบริโภคอีกด้วย

 

ลักษณะความเป็นสหบทจากตัวบทชุดสัญญะทางวัฒนธรรม (signs of culture text)  คือ ตัวบทต่างๆที่ไหลวนเวียนอยู่ในสังคมผู้แต่งจึงนำมาประกอบสร้างให้มีความสัมพันธ์ภายในตัวเดียวกันโดยมีความหมายทางวัฒนธรรมแฝงอยู่

 

ในนวนิยายเรื่อง  กรูกันออกมา ของปริทรรศ  หุตางกูร ผู้แต่งได้ประกอบสร้างชุดสัญญะทางวัฒนธรรมเพื่อแสดงบุคลิกลักษณะของตัวละคร และเพื่อการดำเนินเรื่อง นอกจากนี้ชุดสัญญะที่ผู้แต่งประกอบสร้างขึ้นนั้น ยังสะท้อนให้เห็นภาพ ของสังคมภายใต้ระบบทุนนิยมเป็นใหญ่ ที่คนเน้นการบริโภคความหมาย หรือ การบริโภคเชิงสัญญะ มากกว่าอรรถประโยชน์ที่แท้จริงของสินค้า  โดยสามารถแบ่งชุดสัญญะทางวัฒนธรรมตามอรรถประโยชน์ของสินค้าเป็น  ๗ ประเภท ดังนี้  ๑.ชุดสัญญะทางวัฒนธรรมประเภทเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอาง   ๒.ชุดสัญญะทางวัฒนธรรมประเภทอาหารและเครื่องดื่ม         ๓.ชุดสัญญะทางวัฒนธรรมประเภทสัตว์   ๔.ชุดสัญญะทางวัฒนธรรมประเภทเครื่องมือสื่อสาร   ๕. ชุดสัญญะทางวัฒนธรรมประเภทสถาบัน  ๖. ชุดสัญญะทางวัฒนธรรมประเภทพฤติกรรมทางสังคมสมัยใหม่  และ ๗. ชุดสัญญะทางวัฒนธรรมประเภทวัตถุโบราณ

 

๒.๒.๑ ตัวบทชุดสัญญะทางวัฒนธรรมประเภทเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอาง

 

            ชุดสัญญะประเภทเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอางเป็นสัญญะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการบริโภคในแง่ที่สินค้าเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอัตลักษณ์ กล่าวคือ ในระบบบริโภคนิยม อัตลักษณ์ไม่ได้เกิดจากภายในตัวมนุษย์ แต่เกิดขึ้นมาจากสินค้ารอบตัวที่มนุษย์เลือกบริโภค เช่น เสื้อผ้า โทรศัพท์มือถือ อาหารที่เลือกรับประทาน ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของมนุษย์ในระบบบริโภคนิยม 

                                               

                        ในโครงเรื่องบทภาพยนตร์ เรื่อง ซือนามิมันนี่ หลังจากพิมพ์โรจน์เล่าถึงตอนที่มุกมาลัยจะจัดมหกรรมโชว์สายเดี่ยว ประกอบเพชร พลอย และสินค้าแบร์นเนม  หม่อมกู้ฟังจึงเกิดความคิดว่าน่าจะจัดเป็นมหกรรมการแต่งกายของสตรีโบราณของไทย

 

“ฮะ ฮะ   คุณนี่เป็นคนช่างฝัน   แต่รู้มั้ย   ผมว่าน่าจะแทรกเรื่องศิลปวัฒนธรรม

เข้าไปนะ   ทำไมต้องมหกรรมสายเดียวอันดาษดื่น   ทำไมไม่ใส่ชุดประเพณีนิยม  

ไทยบรมพิมาน   ตะเบ็งมาน   หรือเกาะอกแบบไทย ๆ มันก็โชว์ความเซ็กซี่ได้ดี”

(กรูกันออกมา  หน้า  ๑๐)

 

            ปริทรรศ ประกอบสร้างชุดสัญญะเพื่อสื่อความหมายถึงความเป็นไทยผ่านเครื่องแต่งกายสตรีไทย คือ ชุดประเพณีนิยม   ไทยบรมพิมาน   ตะเบ็งมานและเกาะอกแบบไทย ๆ  เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้หม่อมกู้ที่นิยมชมชอบความเป็นไทย หากแต่มิได้สวมใส่เองแต่อยู่ในห้วงคำนึงของหม่อมกู้

 

            อีกตัวอย่างหนึ่งที่ปริทรรศใช้ชุดสัญญะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเพื่อแสดงให้เห็นถึงการบริโภคนิยมในประเด็น  การให้ความสำคัญกับยี่ห้อและเครื่องหมายการค้า ( logo ) เพื่อแสดงถึงลักษณะอัตลักษณ์ของตัวละคร

 

            ในโครงเรื่องบทภาพยนตร์ ไม่รักต้องฆ่า ของวาณพ เล่าถึงความผิดหวังในเรื่องความรักของเจ้าอ้วนกับน้องบีมเพื่อนร่วมโรงเรียนที่เขาลงทุนซื้อชุดมินิสเกิร์ตของปราดา ให้เพื่อหวังพิชิตใจเธอ

 

(เจ้าอ้วน)ลงทุนซื้อเสื้อสายเดี่ยวกับมินิสเกิร์ตของปราดา

ในคอลเล็คชั่นล่าสุดหวังพิชิตใจ  บางทีเพราะตระกูลเขาที่ร่ำรวยทำให้น้องบีม

ยอมให้เบอร์มือถือ  ทั้งคู่ติดต่อคุยกันระยะหนึ่ง  ฮ่ะฮ่ะฮ่ะ   แล้วคืนวันเกิดของ

น้องบีม  เธอใส่ชุดแพงระยับที่เจ้าอ้วนซื้อมานั่งเบียดชิดจูบปากกับหนุ่มหน้ามน

คนหนึ่ง  โดยไม่สนเจ้าอ้วนที่ใส่เสื้อคอเต่าของบาลองเซียกากำลังนั่งอ้าปากหวอ 

ตาจ้อง

(กรูกันออกมา  หน้า  ๓๒)

 

ปริทรรศ ประกอบสร้างชุดสัญญะเพื่อแสดงความร่ำรวยของตัวละครด้วย สินค้าแบรนด์เนม อย่างมินิสเกร์ตของปราดาที่แสดงถึงความร่ำรวยของผู้สวมใส่และความมีรสนิยมและเสื้อคอเต่าของบาลองเซียกา สินค้ายี่ห้อบาลองเซียกา แสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยของผู้สวนใส่ก็จริงแต่เสื้อคอเต่าแสดงให้เห็นถึงความล้าสมัยและเชิ่มเชยของผู้สวมใส่ จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า ในยุคบริโภคนิยมเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายถูกใช้เพื่อแสดงความหมายแฝงมากว่าอรรถประโยชน์ที่แท้จริงของเสื้อผ้าที่ผลิตเพื่อสวมใส่เท่านั้น

 

นอกจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายซึ่งถูกทำให้มีความหมายแฝงในยุคบริโภคนิยม ปริทรรศยังเน้นย้ำประเด็นเรื่องการบริโภคเพื่อความหมายทางสังคมมากกว่าอรรถประโยชน์ใช้สอยจริงของสินค้า ผ่านชุดสัญญะทางวัฒนธรรมที่เป็นเครื่องสำอาง  ที่มีการโฆษณาชวนเชื่อจนชวนหลงใหลจนก่อให้เกิดความกำหนดในการครอบครอง

 

เมื่อกลับจากการตัดสินการประกวดรางวัล  เดอะไพเร็ตอะวอร์ดส์  ดร.พิศเมรี กลับมานั่งเล่นเกม ซิมซิตี้ คิลลิ่งไฟเตอร์ ที่เธอเล่นติดต่อกันมาหลายวัน เธอเล่นเกมนี้เกือบแพ้และใช้วิธีการโกงเกมจนชนะแล้ว ดร.พิศเมรี จึงไปอาบน้ำเพื่อไปร่วมงานประกาศผลรางวัลเดอะไพเร็ตอะวอร์ดส์

 

ดร. พิศเมรีถอดกางเกงยีนออกเหลือจีสตริงสีส้มตัวจิ๋ว

หน้ากระจก   เธออยากอาบน้ำให้ผ่อนคลายกับผลิตภัณฑ์ตัวใหม่   เธอเลือก

บอดี้ช็อปสปาวิสดอมกลิ่นหอมละมุน   เซตนี้สิ่งที่เพิ่มมาคือ   ดน็อย

มอยส์เจอร์บาล์มผสมน้ำหอมสำหรับบำรุงผิวให้เนียนนุ่ม   เกลือหอม

แช่ผิวเพื่อทำความสะอาดล้ำลึกสดชื่น   ทั้งครีมอาบน้ำที่ให้ฟองครีม

มากเป็นพิเศษกับกลิ่นโอเชียนนัส   เธอเลือกกลิ่นนี้เพราะถวิลความหอมสดชื่น

จากทะเล   ดร. พิศเมรีหยุดพิศร่างกายในกระจกก่อนหยิบการ์ดเชิญดีไซน์สวย

สีเงินหน้ากระจกขึ้นดู

(กรูกันออกมา  หน้า  ๑๗๑)

 

            ปริทรรศ ประกอบสร้างชุดสัญญะทางวัฒนธรรมเพื่อแสดงอัตลักษณ์ความใส่ใจดูแลตนเองของตัวละครอย่างดร.พิศเมรี ด้วย เครื่องสำอางอาบน้ำชุดบอดี้ช็อปสปาวิสดอม ซึ่งอัตลักษณ์ความเอาใจใส่ตนเองอันเป็นอัตลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคบริโภคนิยม เพื่อขายสินค้าให้ได้ต่อไปไม่สิ้นสุด  ผู้ผลิตจึงพยามแสดงถึงคุณลักษณะพิเศษ   ความแตกต่าง  และอัตลักษณ์ของผู้ใช้สินค้าชนิดนี้  ซึ่งต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันในผู้ผลิตรายอื่น เพื่อตอบสนองความต้องการสร้างอัตลักษณ์ของมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยม ดังนั้น หากสินค้ามีความหลากหลายมากเท่าใด ความหลากหลายในการประกอบสร้างอัตลักษณ์ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ดังที่ ฌอง – ฟรองซัว เลียวตาร์ (Jean – Francois lyotard)  กล่าวโดยสรุปได้ว่า  การเลือกรับจากแหล่งอันหลากหลายของวัฒนธรรมทั่วไปในยุคร่วมสมัย คนคนหนึ่งฟังเพลงเร็กเก้ ชมภาพยนตร์คาวบอย กินแมคโดนัลด์เป็นข้าวเที่ยงและอาหารท้องถิ่นเป็นข้าวเย็น ฉีดน้ำหอมปารีสในกรุงโตเกียวและเสื้อผ้าย้อนยุคในฮ่องกง เนื่องจากสินค้าต่างๆ มีนัยความหมายเชิงวัฒนธรรมแฝงอยู่ นั่นก็คือ  สัญญะที่แฝงอยู่ภายในตัวสินค้า นั่นเอง

 

            ดังนั้น ชุดบอดี้ช็อปสปาวิสดอม จึงมีการสร้างคุณลักษณะเฉพาะด้วย   ดน็อย   มอยส์เจอร์บาล์มผสมน้ำหอมสำหรับบำรุงผิวให้เนียนนุ่ม   เกลือหอมแช่ผิวเพื่อทำความสะอาดล้ำลึกสดชื่น   ทั้งครีมอาบน้ำที่ให้ฟองครีมมากเป็นพิเศษกับกลิ่นโอเชียนนัส เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับผู้ใช้สินค้าชนิดนี้ว่าเป็นผู้ที่ใส่ใจในตนเอง

๒.๒.๒ ตัวบทชุดสัญญะทางวัฒนธรรมประเภทอาหารและเครื่องดื่ม

 

การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งในสี่ของปัจจัยในการดำรงชีวิตของมนุษย์  อาหารมีอรรถประโยชน์ คือ  การบริโภคเพื่อการดำรงชีวิต  แต่ในยุคบริโภคนิยม นอกจากมนุษย์จะบริโภคอาหารเพื่อการดำรงชีวิตแล้ว ยังบริโภคความหมายแฝงของอาหารแต่ละประเภทอีกด้วย เช่น การรับประทานไก่ทอด KFC  หรือ การรับประทานแฮมเบอร์เกอร์ของแมคโดนัล  เพื่อต้องการประกอบสร้างอัตลักษณ์ความเป็นผู้มีรสนิยมชั้นสูง การบริโภคในลักษณะนี้เราเรียกว่าการบริโภคเชิงสัญญะ

 

            ในนวนิยายเรื่อง  กรูกันออกมา  ปริทรรศ  หุตางกูร ประกอบสร้างชุดสัญญะทางวัฒนธรรมเพื่อแสดงความหมายถึงชนชั้นทางสังคม   จากการใช้รสนิยมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสัญญะจำแนกชนชั้นทางสังคม ดังที่ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ ( Pierre Bourdieu) ได้ศึกษาเรื่อง  รสนิยม จากการศึกษาเรื่องนี้    บูร์ดิเยอ ได้ชี้ให้เห็นว่า รสนิยมไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล  หากเป็นเรื่องทางสังคมที่ได้กำหนดมันขึ้นมา  บูร์ดิเยอได้นำเสนอ  การจำแนกแยกแยะ ( classification ) รสนิยมซึ่งเกิดขึ้นและถูกกำกับด้วยโครงสร้างที่ควบคุมการผลิตรูปแบบรสนิยมและการผลิตทางวัฒนธรรมให้เกิดการจำแนกเพื่อความแตกต่างในกลุ่มผู้บริโภคหรือชนชั้น

การเล่าโครงเรื่องบทภาพยนตร์เรื่อง  ซือนามิมันนี่ของพิมพ์โรจน์ถูกขัดจังหวะลงด้วยข้อถกเถียงของหม่อมแม่กับดร.พิศเมรี และการพูดคุยนอกประเด็นของคณะกรรมการ หม่อมแม่จึงโทรสั่งนางอรุณให้นำไวน์แดงมาให้ ขณะเดียวกัน ดร.พิศเมรีแซวหม่อมกู้ว่าน่าจะมีเครื่องดื่มสักหน่อย หม่อมกู้จึงบอกให้โทรสั่งนางอรุณได้เลย

 

เธอโฟนบอกนางอรุณ   มีการพูดคุยนอกประเด็นระหว่าง

รอดื่มเครื่องดื่มจนกระทั่งอรุณเดินเข้ามาพร้อมของเสิร์ฟชุดใหญ่  

ไวน์แดงของหม่อมแม่และหม่อมกู้   วิสกี้โค้กของ ดร.พิศเมรี  

และออนเดอะร็อคของพิมพ์โรจน์

(กรูกันออกมา  หน้า  ๑๑)

 

            ปริทรรศ ประกอบสร้างชุดสัญญะเพื่อแสดงความเป็นชนชั้นทางสังคม ผ่านชุดสัญญะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  โดยใช้รสนิยมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการจำแนกชนชั้นทางสังคม การดื่มไวน์ มีนัยแฝงทางวัฒนธรรมหมายถึง ชนชั้นสูง  วิสกี้ มีความแฝงความหมายทางวัฒนธรรมถึง ความทันสมัย นิยมของนำเข้าจากต่างประเทศ สุขุมนุ่มนวล ส่วน  ออนเดอะร็อค มีนัยความหมายทางวัฒนธรรม หมายถึง ความนิมยม  ชื่นชมความรุนแรง การทำลายล้าง

 

            ดังนั้นการที่ปริทรรศ  ให้ตัวละครแต่ละตัวมีรสนิยมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกันเพื่อต้องการแสดงความแตกต่างทางชั้นชั้นของตัวละครทั้งสี่ตัว คือ หม่อมแม่และหม่อมกู้ ชั้นชั้นสูง ดร. พิศเมรี ชนชั้นกลาง และพิมพ์โรจน์คนชั้นล่างของสังคม

 

            ในนวนิยายเรื่อง กรูกันออกมา  ปริทรรศ ได้เน้นย้ำเรื่องความเป็นชนชั้นโดยการประกอบสร้างสัญญะเรื่องรสนิยมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไข่ปลาคาเวียร์ ในตอนการสนทนากลุ่มไฮโซ เพื่อนของหม่อมแม่        

           

ในแวดวงนั้นยังมีท่านหญิงจิตติมาที่ส่งวอดก้าให้ท่านจิบตาม 

นอกจากนั้นยังมีคุณหญิงนิภาดา  เจ๊เคี้ยง  เจ้าของธุรกิจเพชรพันล้าน 

คุณหญิงบี้  และคุณหญิงวงศ์รัตน์  ทั้งหมดคือกลุ่มเพื่อนซี้ตามแบบ

ฉบับไฮโซที่นัดสังสรรค์พิเศษยามสาย  ๙.๓๐ น. ด้วยกัน  นัดนี้เน้นหนัก

สไตล์รัสเซีย  ที่เจ๊เคี้ยงอาสาเอาไข่คาเวียร์ของแท้จากอิหร่านมา

ให้ลิ้มลอง  แต่ก็โดนคุณหญิงบี้แซวว่าเหมือนไข่แมงดายังไงพิกล

(กรูกันออกมา  หน้า  ๔๕)

 

            ปริทรรศ ประกอบสร้างชุดสัญญะด้วยรสนิยมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการบริโภคไข่ปลาคาเวียร์  เพื่อแสดงสถานภาพทางชนชั้นของสังคม ของกลุ่มคุณหญิงไฮโซ โดนเน้นย้ำประเด็นเรื่องการบริโภคเชิงสัญญะ ภายใต้ระบบทุนนิยม ที่บริโภคสินค้าและบริการจากความหมายแฝงหรือสัญญะ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้ตนเองมากว่าการบริโภคมากกว่าการบริโภคจากอรรถประโยชน์ที่แท้จริงของสินค้า

 

          นอกจากนี้  ปริทรรศ จะประกอบสร้างชุดสัญญะขึ้นมาจากการใช้เครื่องดื่มเพื่อแสดงสถานภาพทางชนชั้นของตัวละครแล้ว  ปริทรรศยังสร้างชุดสัญญะเพื่อแสดงความเป็นชาติไทยด้วย  ชื่อผลไม้และชื่อสัตว์ที่แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย 

 

            ในเรื่องราชิกายอดรัก ของฤกษ์เพชร หลังเหตุการณ์ที่ราชิกากับระวิทย์ ถูกถ่ายรูปขณะที่ราชิกากำลังก้มดูลายสักรูปแมลงต่างๆ บนเรือนร่างเกือบเปลือยเปล่าของระวิทย์ หม่อมราชวงศ์ราชิกาก็ไม่ไม่ยอมพบหน้าระวิทย์อีกเลย ระวิทย์ผิดหวังในความรักดื่มเหล้าอย่างหนักจนไม่สามารถไปเรียนได้ วันหนึ่งแม่ของระวิทย์โทรมาหาเขาเพื่อถามข่าวคราว ระวิทย์ได้ยินเสียงไก่ขันผ่านทางโทรศัพท์ ทำให้เขานึกถึงผลไม้ที่มีขื่อเสียงของประเทศไทย คือ ทุเรียน มังคุดและเงาะ

 

                                                “เอ้ก  อี๊  เอ้ก  เอ้ก...เอ้ก  อี๊  เอ้ก  เอ้ก”

เสียงไก่ขันยามเช้านั่นเอง  ที่ข้ามประเทศมาเสมือนมนตร์

สะกดและปลุกวิญญาณอมตะ  ทำให้เขาหลับตาเห็นอาณาจักรบ้าน

ทุกซอกที่เคยวิ่งเล่น  ทุกมุมป่าของสวนยาง  ทุกโคนสวนมะพร้าวน้ำหอม 

ทุกห้วงลำห้วยที่ห้อมล้อมพระราชาหมอนทอง  ราชินีมังคุด  และเจ้าเงาะ

(กรูกันออกมา  หน้า  ๑๒๙ )

 

 

            ปริทรรศ  ประกอบสร้างชุดสัญญะเพื่อสร้างความเป็นชาติไทย โดยใช้ชื่อผลไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยคือ ทุเรียนหมอนทอง มังคุด และเงาะ ถึงตัวบทดังกล่าวจะแฝงในถึงความเป็นชาติไทย หากแต่สิ่งที่ปริทรรศ ต้องการนำเสนอ  คือ ระบบการสร้างอัตลักษณ์ภายใต้การควบคุมของระบบทุนนิยม ที่ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การสร้งอัตลักษณ์ของคนในสังคมดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั้น หากแต่ระบบการสร้างอัตลักษณ์นี้ เกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกที่ตกอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมเสรี ที่ทุกประเทศต้องสร้างอัตลักษณ์เพื่อการแข่งขันซึ่งหมายถึงความมีตัวตนอยู่และความอยู่รอดของประเทศ 

 

            นอกจากนี้ปริทรรศ ยังประกอบสร้างชุดสัญญะที่แสดงความเป็นชายไทย โดยใช้ เจ้าปุยหมาไทย  สีนวลแมวลาย  ไก่เตี้ยหลายตัว  ไก่ชน  วัว ๒-๓ เพราะนอกจาก สัตว์เลี้ยงที่มีหน้าที่ของมันตามแต่ละชนิดแล้วนั้น ยังมีสัญญะแฝงถึงความเป็นไทยอีกด้วย

 

๒.๒.๓ ตัวบทชุดสัญญะทางวัฒนธรรมประเภทสัตว์

 

ในโครงเรื่องบทภาพยนตร์เรื่อง ราชิกายอดรัก ฤกษ์เพชร กำลังเล่าถึงตอนที่แม่ของระวิทย์โทรข้ามประเทศมาหาเขาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะการคุยโทรศัพท์อยู่นั้น ระวิทย์ได้ยินเสียงไก่ขัน เขาจึงนักถึงสัตว์เลี้ยงในบ้านเขา

 

                                    “เอ้ก  อี๊  เอ้ก  เอ้ก...เอ้ก  อี๊  เอ้ก  เอ้ก”

            เจ้าโต้งยังขันต่อเนื่อง  ปลุกอณูความรู้สึกใหม่ถึงบ้านนอก 

เจ้าปุยหมาไทย  สีนวลแมวลาย  ไก่เตี้ยหลายตัว  ไก่ชน 

วัว ๒-๓  ตัวที่ตะโกนโหวกเหวกเหมือนคนแก่ขี้รำคาญ  ภาพของด้ามพร้า

  แกงไตปลา  ก่อนคิดได้ว่าทำไมตนเองต้องมาไกลถึงนี่วะ  คนบ้านนอก

อย่างเขาที่บังเอิญพ่อแม่รวย  มาเรียนถึงสวิส  มาแพ้รักจนหัวสมองตื้อตัน

และที่สำคัญ  เขาไม่เคยลืมราชิกาลงสักนาที  ระวิทย์ได้ยินแม่เรียกอีกครั้ง

โดยมีเสียงเจ้าโต้งตัวเก่งยังเปล่งเสียงขันไม่ยอมหยุด

(กรูกันออกมา  หน้า  ๑๓๐)

 

            ปริทรรศ ประกอบสร้างชุดสัญญะนี้ขึ้นเพื่อ สื่อนัยความหมายถึงความเป็นไทย เพราะหมา

แมว  ไก่เตี้ย  ไก่ชนและวัวนอกจากจะมีหน้าที่หลักคือ หมาเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน แมวเลี้ยงไว้จับหนู ไก่เตี้ยเลี้ยงไว้ดูเล่นเพื่อความสวยงาม ไกชน เลียงไว้เพื่อชน วัว เลี้ยงไว้เพื่อทำนา หรือเพื่อเป็นอาหาร แต่การที่ปริทรรศ นำชื่อสัตว์มาผสมกับการบรรยายให้รายละเอียด  เจ้าปุยหมาไทย  สีนวลแมวลาย  ไก่เตี้ยหลายตัว  ไก่ชน  มาประกอบสร้างขึ้นภายใต้ตัวบทนี้ ตัวบทเหล่านี้ จึงปรากฏเป็นสัญญะสื่อความหมายถึงความเป็นไทย เพราะสัตว์เลี้ยงที่ปริทรรศ นำมาใช้นั้น เป็นสัตว์ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย

 

๒.๒.๔ ตัวบทชุดสัญญะทางวัฒนธรรมประเภทเครื่องมือสื่อสาร

                       

            สื่อสารมวลชนนอกจากจะทำหน้าที่เพื่อการส่งข่าวสารต่างๆไปยังมวลชนแล้ว สื่อมวลชนยังมีนัยความหมายแฝงถึงเรื่องของอำนาจ จากประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ครั้งไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติหรือการทำรัฐประหาร สื่อมวลชนจะถูกยึดหรือควบคุมโดยคณะปฏิวัติหรือรัฐประหารเสมอ ดังนั้น ในสังคมยุคปัจจุบันสื่อมวลชนจึงมีนัยความหมายแฝงถึงอำนาจในการปกครอง ชี้นำประเทศ หากใครมีสื่อในการควบคุมมากที่สุดผู้นั้นก็จะเป็นผู้ชนะ

 

            การเล่าโครงเรื่องบทภาพยนตร์ เรื่อง ซือนามิมันนนี่ ของพิมพ์โรจน์  เธอเล่าถึงฉากเมืองๆหนึ่งที่เป็นเมืองที่ไม่ใช้ระบบเงินตราในการแลกเปลี่ยน การแลกเปลี่ยนสินค้าใช้วิธีการแลกเปลี่ยนกันด้วยงานศิลปะ วรรณกรรม หรือความพึงพอใจของผู้แลกเปลี่ยนตกลงกัน จนอยู่มาวันหนึ่งเมืองๆนี้ มีสินค้าแบรนด์เนม  หลั่งไหลเขามาในเมืองจำนวนมาก ผู้นำเข้าสินค้าไม่รู้จะใช้วิธีการอย่างไรเมื่อไม่มีระบบเงินตรา พวกเขาจึงตลกกันว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ  อำนาจในการชี้นำ  กลุ่มผู้นำเข้าสินค้าแบรนด์เนมจะให้ผู้ต้องการสินค้าพ่นหัวสีเขียวหรือไม่ก็ให้สักโลโกรูปของสินค้าหรือวิธีการอื่นๆ ที่พวกเขาพอใจ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับสินค้าแบรนด์เนม  อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากที่ทุกคนตื่นมาพบว่าเมืองถูกวางระเบิดเจ็ดร้อยลูก จึงทำให้ไม่มีใครกล้าออกจากบ้านเพราะกลัวระเบิด  กลุ่มผู้ค้าสินค้าแบรนด์เนมกลัวจะสูญเสียอำนาจในการชี้นำ จึง เลือกมุกมาลัย ไฮโซสาว สวยเซ็กซี่ของเมือง มาจัดมหกรรมโชว์สายเดี่ยว กับเพชร พลอย และสินค้าเบรนด์เนม มุกมาลัยจึงใช้ความสวยดึงดูดสื่อมวลชนทั้งหมดที่มีในเมืองนี้ ประชาสัมพันธ์ชักชวนคนมาร่วมงานมหกรรมสายเดี่ยว ในครั้งนี้

 

 

“มุกมาลัยยังใช้อิทธิพลสาวงามดึงสื่อทั้งหมดที่มี  

เช่น   ดาวเทียม   ทีวี   เว็บไซต์   ต่อสู้กับระเบิดเพื่อให้

คนมาร่วมงาน   ทั้งประกาศจะแลกเวลาออกอากาศทั่วประเทศ

กับของทุกอย่างที่มี”

(กรูกันออกมา  หน้า  ๙)

 

            ปริทรรศ ประกอบสร้างชุดสัญญะเพื่อแสดงความหมายถึงอำนาจ โดยใช้ ดาวเทียว ทีวี เว็บไซด์เป็นตัวแทนของสื่อมวลชนมีที่มีนัยความหมายแฝงถึงเรื่องของอำนาจการปกครอง การที่มุกมาลัยใช้ความงามดึงสื่อมวลชนมาร่วมงานมหกรรมโชว์สายเดี่ยวของเธอนั้น เป็นพฤติกรรมเหมือนกับคณะปฏิวัติหรือรัฐประหารใช้เพื่อการยึดอำนาจในการปกครองประเทศ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่สามารถครอบครองสื่อมวลชนได้คือผู้คุมอำนาจการปกครอง เหมือนกับที่มุกมาลัยใช้สื่อมวลชนเพื่อดึงดูดคนมาร่วมงานมหกรรมโชว์สายเดียวของเธอ

 

๒.๒.๕ ตัวบทชุดสัญญะทางวัฒนธรรมประเภทสถาบันและองค์กร

 

สถาบันหรือองค์กร ในสังคมไทยก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ  หรือ เพื่อตอบสนองความต้องการของการพัฒนาประเทศในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น  การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นสถานศึกษาค้นคว้าความรู้ หรือ ตั้งโรงพยาบาลเพื่อรักษา ดูแล คนเจ็บป่วย  แต่ในยุคบริโภคนิยมสถาบันหรือองค์กรถูกสร้างความหมายแฝง หรือ สัญญะบางอย่าง ให้กับสถาบันหรือองค์กร เพื่อตอบสนองความต้องการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มคน หรืออกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ สถาบันหรือองค์การถูกใช้เป็นทุนในการผลิตภายใต้การครอบงำของระบบทุนนิยม เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับผู้บริโภคสถาบันหรือองค์กรเหล่านั้น 

 

“ขณะที่ทุกคนกำลังทำมาหาเงินอย่างหน้ามืดตามัวก็มีพวก สอผ.  

หรือสมาพันธ์อนุรักษ์เผ่าพันธุ์   ที่เรียกร้องให้เอาระบบแลกเปลี่ยนแบบเดิม

คืนมา   แล้วปีนั้นก็เกิดคลื่นซือนามิรุนแรงที่สุดเข้ามากระแทกแผ่นดินของ

ประเทศ   ทำให้ประเทศนี้ค่อย ๆ จมลงทีละน้อย   ยกเว้นตึกอาคารหลังหนึ่ง

ซึ่งเอียงกระเท่เร่ลอยคว้าง   มีผู้คนลอยคอไปยึดเหนี่ยวตึกที่เอียงกระเท่เร่

เหมือนเรือไททานิก   ตึกนี้มีป้ายชื่อโผล่ขึ้นมาให้อ่านว่า  

ภาควิชาสังคมสงเคราะห์   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   จบ”

(กรูกันออกมา  หน้า  ๑๖)

 

            ปริทรรศใช้ชื่อสถานศึกษาเพื่อแสดงความหมายถึงอุดมการณ์ คือ ภาควิชาสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะมหาวิทยาลัยแห่งนี้  ได้ถูกโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน และในเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ใช้เป็นสถานที่เพื่อต่อสู้กับอำนาจของรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นอำนาจที่เข้มแข็ง เมื่อเปรียบเทียบเรื่องการต่อสู้กับอำนาจรัฐของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับเรื่องของพิมพ์โรจน์เพื่อแสดงให้เห็นถึงพิษภัยของระบบเงินตราในระบบทุนนิยม ภาควิชาสังคมสงเคราะห์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงถูกประกอบสร้างขึ้นเพื่อแสดงอุดมการณ์การต่อสู้หากแต่ว่ามิใช่การต่อสู้กับอำนาจรัฐบาลแต่เป็นการต่อสู้กับอำนาจเงิน ในระบบทุนนิยมที่เน้นการบริโภคนิยม

 

            ในอีกหนึ่งตัวอย่างที่ปริทรรศ  สร้างชุดสัญญะเป็นองค์กร คือ รางวัลซีไรต์หรือรางวัลสร้างสรรค์วรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้นักเขียนที่ยอดเยี่ยมที่สุดในแต่ละประเทศของประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

            ในการเล่าโครงเรื่องบทภาพยนตร์ ของนิตย์  ชายที่มีบุคลิกภาพกระตุ้งกระติ้ง เรื่อง ผม – ผม – ผม เขา/เธอ เล่าถึงเศรษฐีเจ้าพ่อวงการทีวี ที่มีแนวคิดในการสร้างเกมโชว์ใหม่ โดยให้ผู้เข้าแข่งขันเขียนเล่าเรื่อง ความโชคดีที่เกิดมาเป็นผม ซึ่งจะคัดเลือกโดยกรรมซีไรต์ และผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้มาร่วมเล่นเกมโชว์ในรายการสดที่ถ่ายทอดออกอากาศไปทั่วประเทศ

 

                                    “เอาล่ะ   ฟังไอเดียผมต่อ   รายการใหม่นี้ชื่อ –ผม ผม ผม-

ซึ่งจะนำเสนอเป็นเวลา  ๒  เดือน   ผมจะตั้งรางวัลให้ผู้ชมทางบ้าน

ได้เขียนจดหมายเข้ามา   จดหมายของไอ้ผู้ชมทุกคนจะต้องแข่งกัน

พูดถึงความโชคดีที่ได้เกิดมาเป็น ผม เท่านั้น   ห้ามเป็นคนอื่น จดหมาย

ใดสามารถแสดงสำนวนเหตุผลอาการความอยากเป็น ผม มากที่สุด  

ซึ่งจะคัดสรรโดยกรรมการซีไรต์   คงต้องเล่นกับกรรมการระดับนี้เลยละนังหนู”

(กรูกันออกมา  หน้า  ๘๑)

 

            ปริทรรศ สร้างชุดสัญญะขึ้นเพื่อต้องการแสดงอำนาจของเงินในระบบทุนนิยม  โดยแสดงผ่านกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ เพราะนอกจากกรรม ซีไรต์จะแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นเรื่องความเป็นเลิศด้านวรรณกรรมแล้ว ความหมายแฝง หรือสัญญะ ยังแสดงให้เห็นว่า ในระบบทุนนิยมทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ล้วนถูกแปรสภาพให้กลายเป็นทุนได้ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่งานศิลปะหรือวรรณกรรม ดังนั้น กรรมการตัดสินรางซีไรต์ จึงเป็นเหมือนวัตถุชิ้นหนึ่ง

           

๒.๒.๖ ตัวบทชุดสัญญะทางวัฒนธรรมประเภทพฤติกรรมทางสังคมสมัยใหม่

 

สังคมปัจจุบันที่ทุกอย่างถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นทุนในระบบทุนนิยมที่เน้นการบริโภค ตัวอย่าง งานโฆษณา ทั้งในนิตยสาร โทรทัศน์ หรือในเว็บไซด์ นักโฆษณาใช้งานศิลปะและวรรณกรรมเพื่อขายสินค้า  เป็นงานศิลปกรรมเชิงพาณิชย์ หรือวรรณกรรมเชิงพาณิชย์

 

จากสภาพสังคมที่ทุกคนแข่งกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่การสร้างวัฒนธรรม จึงก่อให้เกิดพฤติกรรมใหม่ของคนในสังคม ยุคสมัยที่เน้นแต่การพัฒนาทางด้านวัตถุ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ มากกว่าการสร้างความสมบูรณ์สุนทรียะทางจิตใจ

 

โครงเรื่องบทภาพยนตร์เรื่อง ซือนามิมันนี่ ดร.พิศเมรีมีความเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีแนวคิดที่ล้ำยุคสมัย แปลกใหม่ แต่หม่อมแม่มีความเห็นว่าเป็นภายนตร์ที่ขาดซึ่งความถึงพร้อมตามความเชื่อที่ว่า “ภาพยนตร์หรือวรรณกรรมต้องทำหน้าที่สั่งสอน เยาวชน”

 

ดร.  พิศเมรียืนอัดบุหรี่บนดาดฟ้าชั้น  ๗  นี่อาจเป็นวิธีทำสมาธิของเธอ 

เธอบอกตัวเองให้เลิกวุ่นวายใจและทำหน้า

คำสำคัญ (Tags): #สหบท
หมายเลขบันทึก: 423376เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2011 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท