การแพทย์และสวัสดิการดูแลสุขภาพยุคโลกาภิวัตน์


         รถกำลังแล่นอยู่ในเมืองไฮเดอราบัด     ท่ามกลางยวดยานขวักไขว่น่าเวียนหัว     รากูร์ เพื่อนชองมูราลี่ชี้ให้ดูโรงพยาบาลเอกชน     ที่คนอเมริกันนิยมมาใช้บริการ เพราะคุณภาพดีราคาถูกกว่าในอเมริกาเป็นสิบเท่า   

         กลับมาที่พักใน NISIET อ่านนิตยสารไทม์ ฉบับวันที่ ๓๑ กค. ๔๙    มีคอลัมน์ Time Global Busuness เรื่อง Health Care     ว่าคนอเมริกันนิยมไปใช้บริการผ่าตัดแบบเตรียมตัวล่วงหน้า (elective surgery) ใน ๔ ประเทศ กันมาก     คือสิงคโปร์ มาเลเซีย  ไทย และอินเดีย     โดยค่าใช้จ่ายต่ำกว่าในอเมริกา ๕ - ๑๐ เท่า     ในอินเดียราคาต่ำที่สุด  รองลงมาคือไทย  สูงสุดที่สิงคโปร์

        บริษัทอเมริกันถนัดเรื่อง outsource คือจ้างเหมาให้บริษัทในต่างประเทศทำงานบางอย่างให้     อย่างที่ไฮเดอราบัดนี้ เศรษฐกิจบูมขึ้นมาเพราะรายได้จากบริษัท outsource ด้านการเขียน software     ซึ่งรับ outsource มาจากบริษัทใหญ่ระดับโลกทั้งหลาย     คือ Microsoft, Oracle, etc.

        บริษัทอเมริกันจึงเตรียม outsource การให้สวัสดิการดูแลสุขภาพแก่พนักงาน     พนักงานคนไหนยินดีใช้บริการ outsource     เมื่อถึงคราวใช้บริการจริงๆ นอกจากได้บริการแล้ว     ยังจะได้เงินส่วนหนึ่งของส่วนต่างระหว่างบริการ outsource กับบริการในอเมริกา แถมให้ด้วย   

       เราอาจไม่ทราบว่าธุรกิจบริการสุขภาพต่างชาติบูมแค่ไหนในประเทศไทย     นิตยสารไทม์บอกว่า รพ. บำรุงราษฎร์บริการลูกค้าอเมริกัน ๕๕,๐๐๐ คนในปี ๒๕๔๘    เพิ่มจากปีก่อน ๓๐%     นี่เฉพาะลูกค้าอเมริกันนะครับ    ลูกค้าจากตะวันออกกลางก็คงจะพอๆ กัน (ผมเดาเอง)     ข้อดีคือมีรายได้เข้าประเทศ     แต่ข้อเสียคือจะมีหมอออกไปจากบริการภาครัฐไหลไปสู่ภาคเอกชน     ทำให้บริการแก่คนทั่วไปเลวลง

วิจารณ์ พานิช
๒๙ กค. ๔๙
ไฮเดอราบัด 

คำสำคัญ (Tags): #สุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 42332เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2006 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท