AAR หลังเยี่ยม PCU ตะพง


ผู้ประสานงานเครือข่ายต้องเข้าใจสภาพการทำงานและบริบทจริงๆ ของสมาชิกแต่ละทีม และเข้าไปสนับสนุนในทิศทางที่จะเอื้อให้สมาชิกสามารถทำงานได้ตามที่ตั้งใจไว้

เมื่อวานดิฉันและคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน ได้ไปเยี่ยมคุณหมอบุญรัก ธำรงลักษณ์กุลและทีม PCU ตะพง ในการนี้เราเชิญทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวานของเทพธารินทร์คือคุณสุนทรี นาคะเสถียร ผู้จัดการฝ่ายบริการการศึกษาและวิจัย และคุณศิริวรรณ บุตะเดช พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งทำหน้าที่เป็น Diabetes Educator ร่วมเดินทางไปกับเรา

เป้าหมายของดิฉันในครั้งนี้คือ

๑. ติดตามความก้าวหน้าของทีมคุณหมอบุญรักในด้านการนำความรู้ KM และความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ได้จากตลาดนัดความรู้ไปใช้ 
๒. ทดลองทำกิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" โดยให้ทีมเทพธารินทร์ไปเรียนรู้วิธีการเข้าถึงและทำงานร่วมกับชุมชน ทีมตะพงเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบครบวงจรจากเทพธารินทร์ และชุมชนเรียนรู้วิธีการตรวจน้ำตาลใน Capillary blood  จากทีมเทพธารินทร์

๓. สอนทีมตะพงในการทำบล็อก และเปิดบล็อกของตะพง

เราออกเดินทางจากโรงพยาบาลเทพธารินทร์ในเวลา ๐๖.๓๐ น. ระหว่างทางเจอฝนตกเป็นช่วงๆ ไปถึง PCU ตะพงเวลาประมาณ ๐๘.๓๐ น. พบว่าที่ PCU มีผู้ป่วยมานั่งรอตรวจกันหลายสิบคน คุณหมอบุญรักลงมือตรวจผู้ป่วยตั้งแต่เช้า มีคุณทัตติกา ฉัตรชัยพันธ์ (ชื่อแปลว่าเรือนแก้ว) พยาบาลวิชาชีพและคุณวารี โมรินทร์ พยาบาลเทคนิค มาต้อนรับและให้ข้อมูลต่างๆ สายอีกนิดคุณสมโภชน์ วงศ์บุปผา ประธานชมรมรักษ์สุขภาพ มาร่วมวงด้วย หลังจากเห็นของจริงและพูดคุยซักถามจนเข้าใจวิธีการให้บริการของ PCU แล้ว เราเดินทางเข้าไปในชุมชน เยี่ยมผู้ป่วยและดูการทำงานของ อสม.

ตอนเที่ยงไปรับประทานอาหารที่ร้านครัววิจารณ์กับทีมงานของคุณหมอบุญรัก เจ้าของร้านนี้มีภรรยาเป็น อสม. จึงเป็นคนละคนกับอาจารย์วิจารณ์ของเราแน่นอน

ช่วงบ่ายคุณหมอบุญรักบอกว่ามีทีมงานจากหลายที่ที่พอรู้ว่าทีมเทพธารินทร์จะมาเยี่ยม ก็ขอมาร่วมฟังด้วย เราจึงไปที่ห้องประชุมของ อบต.ตะพง ปรากฎว่ามีบุคลากรสหวิชาชีพทั้งแพทย์ พยาบาล นักสุขศึกษา นักโภชนาการ นักวิชาการสาธารณสุข เภสัชกร จากโรงพยาบาลระยอง PCU และสถานีอนามัย มาร่วมคุยกับเราจำนวน ๑๓ คน นายก อบต.ก็มาร่วมต้อนรับและบอกความตั้งใจในการทำงานด้วย ใช้เวลาถึงเกือบ ๑๖.๓๐ น. กิจกรรมบ่ายนี้ผิดแผนของเรา (และของเขา) แต่เราก็ได้ความคิดสำหรับการสนับสนุนการทำงานของทีมคุณหมอบุญรักและการดำเนินงานเครือข่ายต่อไป 

กิจกรรมในวันนี้ ดิฉันบรรลุเป้าหมายข้อ ๑ ข้อ ๒ บรรลุบางส่วน ส่วนข้อ ๓ ไม่บรรลุเลย

แม้ไม่มีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนในรูปแบบที่ควรเป็น แต่ดิฉันและทีมเทพธารินทร์ก็ได้เรียนรู้วิธีการเข้าถึงและทำงานร่วมกับชุมชน จากการสังเกตการปฏิบัติจริงของคุณหมอบุญรักและทีมงาน คุณหมอบุญรักมีวิธีการที่จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆ โดยยกย่องและให้ความสำคัญกับผู้อื่น ไม่ยัดเยียดความคิดของตนเอง ชาวบ้านชื่นชมทีมนี้อย่างมาก

สำหรับเรื่องที่ทางทีมเทพธารินทร์ตั้งใจจะไปเป็น "ผู้ให้" ๒ เรื่องนั้น บรรลุเป้าหมายบางส่วน คุณสุนทรีและคุณศิริวรรณจะเล่าให้ทราบในบล็อกของเทพธารินทร์ค่ะ

เป้าหมายข้อ ๓ ไม่มีเวลาสำหรับทำกิจกรรมนี้ แต่ได้ประชาสัมพันธ์บล็อก และคุณหมอบุญรักช่วยประชาสัมพันธ์จดหมายข่าว ปรากฎว่าทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ต้องการให้ส่งจดหมายข่าวไปที่หน่วยงานของตนด้วย

โดยรวมการเดินทางครั้งนี้ แม้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งหมด แต่สิ่งที่ได้มาอย่างไม่คาดคิดมีค่าอย่างมาก ที่สำคัญคือเริ่มมีการก่อตัวของเครือข่าย PCU ๔ แห่งและสอ.๑๘ แห่ง ซึ่งไม่เคยพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมาก่อน (ติดตามรายละเอียดตอนต่อไปค่ะ)

ดิฉันได้ข้อคิดว่าสมาชิกแต่ละทีมมีโอกาสในการนำความรู้ KM และความรู้วิธีการดูแลผู้ป่วยเบาหวานไปใช้และขยายต่อไม่เท่ากัน จะไปคาดหวังเหมือนๆ กันไม่ได้ ผู้ประสานงานเครือข่ายต้องเข้าใจสภาพการทำงานและบริบทจริงๆ ของสมาชิกและเข้าไปสนับสนุนในทิศทางที่จะเอื้อให้สมาชิกทำงานได้ตามที่ตั้งใจไว้ ดิฉันและทีมคงต้องทำงานเชิงรุก ติดตามและสนับสนุนสมาชิกอย่างต่อเนื่อง

ข้อแนะนำที่ดิฉันพูดคุยกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมตอนบ่าย ๒ เรื่องหลักคือ

๑. ควรมีการป้องกันโรคเบาหวานในกลุ่มเสี่ยง เพราะมีการคัดกรองคนในชุมชนโดยการตรวจน้ำตาลในเลือดอยู่แล้ว ควรมีกิจกรรมการป้องกันในกลุ่มผู้ที่มีความผิดปกติของน้ำตาลในเลือด แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นเบาหวาน และหน่วยต่างๆ ควรทำโครงการด้วยกัน เพื่อให้สามารถใช้แหล่งประโยชน์ร่วมกันได้
๒. การนำ KM ไปใช้ใน ๓ กลุ่มคือบุคลากรสหวิชาชีพซึ่งเป็นผู้ให้บริการผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มผู้ป่วยด้วยกันเอง และชาวบ้านต่างชุมชน

เราเดินทางกลับถึงเทพธารินทร์เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. ฝนกำลังตกหนักมาก ก่อนที่จะแยกย้ายกันลุยน้ำท่วมถนนเดินทางกลับบ้าน ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งใจที่ผู้ร่วมเดินทางทุกคนได้สละเวลาไปด้วยกันในครั้งนี้ รวมทั้งคุณอนันต์ ว่องมาดีโชเฟอร์ที่พาเราเดินทางไป-กลับอย่างปลอดภัย รวมทั้งพาลุยโคลนเข้าหมู่บ้านโดยไม่มีท่าทีย่อท้อ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 4232เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2005 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท