'กรณ์'หนุนเอกชนร่วมลงทุนภาครัฐยันวิกฤติการเมืองไม่กระทบเศรษฐกิจ


"กรณ์" ยันเศรษฐกิจไทยเดินหน้าแม้มีเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง พร้อมหนุนเอกชนลงทุนอย่างเต็มที่ขณะที่เอกชนยอมรับต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่รัฐต้องเสริมเต็มที่

"กรณ์" ยันเศรษฐกิจไทยเดินหน้าแม้มีเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง พร้อมหนุนเอกชนลงทุนอย่างเต็มที่ขณะที่เอกชนยอมรับต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่รัฐต้องเสริมเต็มที่ ผู้ขนส่งทางเรือมั่นใจปีนี้ส่งออกยังไปได้ดีเมื่อวันที่ 27 ม.ค.54 นายกรณ์จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจในปี54" ว่า พื้นฐานทางเศรษฐกิจปัจจุบันนับว่ายังมีเสถียรภาพมาก ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ไม่สูงมากนัก อัตราดอกเบี้ยแม้มีแนวโน้มสูงขึ้น ภาระหนี้สาธารณะอยู่ระดับกว่าร้อยละ 41 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลงมาอยู่ประมาณ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จนผู้นำเข้าบางกลุ่มกังวลว่าจะอ่อนค่าลงไปอีกจนกระทบต่อภาระการนำเข้า

          ส่วนในปีนี้ยอมรับว่าจะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน แม้จะมีปัญหาความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองบ้าง แต่มองว่าปัญหาการเมืองจะไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมาเพราะประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองได้ลดลงไปกว่าครั้งที่ผ่านมา และเพื่อส่งเสริมการลงทุนให้กับภาคเอกชน รัฐบาลได้เตรียมแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐเพื่อให้เกิดความคล่องตัว เนื่องจากเดิมเอกชนต้องรอให้ภาครัฐพิจารณาโครงการนานถึง 3-4 ปี จึงต้องการแก้ไขให้ระยะเวลาใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 1 ปี การเร่งรัดก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ทั้งกรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-มาเลเซีย, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ระยอง เพื่อพัฒนาระบบขนส่งให้มีความพร้อม

           นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ"ยุทธศาสตร์ รองรับยุคทองประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ว่าจากการสอบถามข้อมูลจากผู้ประกอบการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับว่าตกใจมาก เนื่องจากสัดส่วนร้อยละ 85 ไม่ทราบว่าจะมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เกิดขึ้น และสัดส่วนร้อยละ 79 ไม่ทราบชัดเจนว่าการรวมตัวดังกล่าวมีจุดประสงค์อะไรจึงต้องเตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า ด้วยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน การสร้างความเข้าใจให้กับทุกฝาย เช่น ต้องไม่ปล่อยให้สินค้าราคาถูกเข้าประเทศมากเกินไป จนเป็นสินค้าขาดคุณภาพไหลเข้ามาในประเทศ ควบคุมไม่ได้จนไทยกลายเป็นแหล่งที่มีสินค้าถูกไร้คุณภาพและกลายเป็นสินค้าขยะเต็มประเทศ โดยคนไทยต้องร่วมมือกันหากสินค้าใดไม่มีคุณภาพให้เลิกซื้อสินค้าดังกล่าวจะหายไปเอง ขณะที่ภาครัฐต้องปรับแนวคิดว่าทำอย่างไรให้ภาคเอกชนสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การควบคุมสินค้า ร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน

          นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า สำนักงานผู้แทนการค้าไทยได้ประสบความสำเร็จในการขยายฐานการค้าสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงเม็ดเงินที่คาดว่าจะเข้ามาในอนาคต จากการนำภาคเอกชนออกไปเจรจาจำหน่ายสินค้าและบริการในประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศ อาทิ โครงการตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยและคลังสำรองอาหารในบาห์เรน การเปิดตลาดสินค้าในกลุ่มอาหรับโครงการอาหารไทยสำเร็จรูปตรงสู่ผู้บริโภคทั่วโลก เป็นต้น

          ส่วนปีนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะค่าเงินบาทแข็งค่า ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในการนำเอกชนไทยไปลงทุนผลิตสินค้าในต่างประเทศและใช้เป็นฐานในการส่งออกแทนการผลิตในประเทศไทย น่าจะเป็นทางออกที่ดี

          ด้าน นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาได้ประเมินทิศทางการส่งออกในปีนี้ว่ายังมีการเติบโตค่อนข้างดี โดยคาดว่าการส่งออกในเชิงปริมาณจะมีการขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 แต่ในรูปมูลค่าการส่งออกจะมีการเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 17 เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดต่างประเทศทั่วโลกยังมีสูง รวมถึงแนวทางความร่วมมือการเจาะตลาดของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นตัวจักรสำคัญในการเร่งให้อัตราการส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย

สยามรัฐ

ประจำวันที่ 28 มกราคม 2554

หมายเลขบันทึก: 422922เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2011 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท