การบริหารคนด้วยหลักธรรมมะ


          จริงๆ แล้วทุกองค์กรก็ต้องการให้มีบุคลากรที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดีไปพร้อมๆ กัน ถ้าหากเป็นไปได้ก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่หากเป็นไปไม่ได้การจะคัดสรรเอาไว้ก็คงจะหนีไม่พ้นการเลือกคนดีเอาไว้ เพราะคนเก่งสามารถเรียนรู้และพัฒนาจนเกิดความชำนาญได้ แต่คนดีมันต้องสร้างมาจากภายในไม่มีใครสามารถบังคับได้ ผู้บริหารหลายคนพยายามหาวิธีการบริหารจัดการแบบใหม่ๆ มามากมายเพื่อที่จะสร้างให้บุคลากรภายในองค์กรเป็นทั้งคนเก่งและคนดี ซึ่งบางองค์กรก็ประสบความสำเร็จแต่บางองค์กรก็ต้องพบกับความล้มเหลว

          ความสัตย์จริงในเรื่องของการดำเนินชีวิตรวมถึงหลักธรรมในการบริหารคนของพระพุทธเจ้ายังคงใช้ได้อยู่ทุกยุคทุกสมัย หากท่านใคร่ครวญดูท่านจะพบว่าเราไม่จำเป็นต้องเอาการบริหารจัดการของต่างประเทศเข้าใช้มาเลย เพราะหลักการบริหารจัดการของพุทธศาสนานี่แหละชัดเจนที่สุดและใช้ได้จริง

          การที่จะเป็นคนเก่งได้ต้องมาจากการเป็นคนดีก่อน โดยใช้หลักธรรมมะในเรื่องของ “พรหมวิหาร 4” จากนั้นจะค่อยๆ พัฒนาตนเองให้กลายเป็นคนที่เก่งได้ด้วย หลักธรรมมะในเรื่องของ “อิทธิบาท 4”

           พรหมวิหาร 4  ประกอบไปด้วย
               1. เมตตา  ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดจากการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภค ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น

               2. กรุณา  ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ  คือ ทุกข์โดยสภาวะหรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย และทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา

              3. มุทิตา  ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน

              4. อุเบกขา  การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเรา  เห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

           อิทธิบาท 4  ประกอบไปด้วย

              1. ฉันทะ คือ ความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ตนถือว่าดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ ข้อนี้เป็นกำลังใจอันแรกที่ทำให้เกิดคุณธรรมข้อต่อไปทุกข้อ

              2. วิริยะ คือ ความพากเพียร หมายถึง การกระทำที่ติดต่อไม่ขาดตอนเป็นระยะยาว จนประสบ ความสำเร็จ คำนี้มีความหมายของความกล้าหาญเจืออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง

              3. จิตตะ หมายถึง ความไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้นไปจากความรู้สึกของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์นั้นให้เด่นชัดอยู่ในใจเสมอ คำนี้รวมความหมายของคำว่าสมาธิอยู่ด้วยอย่างเต็มที่

              4. วิมังสา หมายถึง ความสอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้รวมความหมายของคำว่าปัญญาไว้อย่างเต็มที่

               และเมื่อทุกคนทุกฝ่ายมีหลักธรรมมะที่ซึมเข้าไปในจิตใจแล้วการบริหารองค์กรก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะทุกคนภายในองค์กรล้วนแต่เป็นทั้งคนเก่งและคนดี โดยใช้หลักธรรมมะเข้ามาขัดเกลาจิตใจ ดังนั้นการบริหารคนก็คือการนำหลักธรรมมะเข้ามาเพื่อเป็นตัวช่วยทำให้เกิดความสมดุลของชีวิต ทำให้ทุกคนมีความสุขทั้งในชีวิตและการทำงาน

 

 

คำสำคัญ (Tags): #บุรีรัมย์7
หมายเลขบันทึก: 422178เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2011 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 02:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อในเครือข่ายของผมครับ www.thaiihdc.org ผมเห็นบันทึกต่างๆที่คุณเขียนแล้วล้วนเป็นสิ่งใกล้ตัวทั้งนั้นครับ ขอแสดงความชื่นชมครับ (วันนี้ยังไม่มีเวลาเข้าไปอ่านในบทความอื่นๆ เมื่อมีโอกาสจะเข้าไปอ่านครับ

นับถือ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

14 มกราคม 2559

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท