สารเคลือบผิวผักผลไม้ต้องห้าม 1: มอร์ฟอลีน


อียูได้แจ้งเตือนการใช้สาร Morpholine เคลือบผลไม้สดที่ส่งออก โดยชี้ว่าเป็นสารเจือปนอาหารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในผลไม้สดทั่วไป .......ประเด็นปัญหาคือ อยู่ดีๆทำไมสารดังกล่าวจึงเป็นสารต้องห้ามอีกแล้ว

เตือน!..สารเคลือบผิวผักผลไม้ต้องห้าม 1: มอร์ฟอลีน

โดย meepole

มีข่าวเตือนมาบอกต่อกันอีกแล้วค่ะ

สำนักงานผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยรายงานว่า สหภาพยุโรป (EU) ตรวจพบปัญหาการใช้ สารมอร์ฟอลีน (Morpholine) ในผลไม้สดที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากประเทศที่สาม โดยผู้ส่งออกมักใช้สารชนิดดังกล่าวเป็นตัวกลางในการผลิตไขที่ใช้เคลือบผลไม้สดให้มีความมันวาวเพื่อช่วยรักษาคุณภาพและน้ำหนักสินค้า แต่สารมอร์ฟอลีนนี้เป็นสารเจือปนอาหาร (Food Additive) ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในสหภาพยุโรป

 (ข่าวจาก นสพ.เดลินิวส์ 18 ม.ค. 2011)

 

อียูได้แจ้งเตือนการใช้สาร Morpholine เคลือบผลไม้สดที่ส่งออก โดยชี้ว่าเป็นสารเจือปนอาหาร ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในผลไม้สดทั่วไป ผ่อนปรนให้ใช้ได้เฉพาะ สับปะรด มะม่วง มะละกอ อะโวกาโด สำหรับผลไม้ชนิดอื่นนอกเหนือจาก 4 ชนิดดังกล่าวห้ามใช้สาร Morpholine ผสมในแวกซ์ (wax) เคลือบผลไม้โดยเด็ดขาด

 ประเด็นปัญหาคืออยู่ดีๆทำไมสารดังกล่าวจึงเป็นสารต้องห้าม (อีกแล้ว) ของสหภาพยุโรป

มาทำความรู้จักสารเคลือบกันก่อน

ทุกคนคงเคยสังเกตว่าเดี๋ยวนี้ผลไม้หลายๆชนิดที่วางขาย  ผิวจะมันเงาแววเป็นพิเศษ โดยเฉพาะจะเห็นชัดบนผลส้มบางชนิด เช่น ส้มเขียวหวาน แอปเปิ้ล  ชมพู่  อะโวกาโด เป็นต้น ในต่างประเทศเขาจะมีการเคลือบทั้งผักและผลไม้หลายชนิดเช่น มะเขือเทศ พริกหวาน แคนตาลูป แพร์ พลับ สตอเบอรี่ ผักผลไม้ไทยที่ส่งออกเช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ มังคุด ทุเรียนหมอนทอง และมะนาวแป้น เงาะ กล้วย มังคุด มะละกอ สาลี่ พุทราล้วนผ่านสารเคลือบทั้งสิ้น

 ปัญหาและข้อสงสัยที่เกิดขึ้นในใจคุณแม่บ้านทั้งหลายที่ meepole เคยได้รับคำถามคือผลไม่ที่เคลือบสารแววๆ ทานได้ไหม  อันตรายไหม  ล้างออกไหม  ล้างด้วยอะไร  ซึมเข้าไปในเนื้อผลไม้ไหม  เคลือบทำไม (ถามบ้าง)  คำถามที่สนใจน้อยคือเป็นสารอะไร  จริงๆแล้วคำตอบของทั้งหมดอยู่ที่คำถามที่ไม่ค่อยมีใครสนใจคือ เป็นสารอะไร เพราะถ้าเรารู้จักสารนั้น รู้จักคุณสมบัติของสารก็ตัดสินใจฟันธงได้เลยทุกคำตอบ

 ในข้อเขียนนี้ก็จะเจาะเล่าเรื่องสารตัวเจ้าปัญหาข้างต้นที่ EU สั่งห้าม จริงๆแล้วสารเคลือบไม่ได้มีสารนี้ชนิดเดียว เพียงแต่ตัวอื่นยังไม่เป็นปัญหา มีปัญหาเมื่อใด meepole จะจับมาเขียนอีก ตอนนี้เริ่มทำความเข้าใจกันก่อนเกี่ยวกับสารเคลือบผิว

 สารเคลือบผิว และทำไมต้องใช้สารเคลือบผิว

โดยทั่วไปผิวหรือเปลือกของผลไม้จะมีสารพวกไขหรือนวล บางทีเราจะเห็นเป็นฝ้าขาวๆนวลๆ เพื่อกันการสูญเสียน้ำอยู่แล้ว นวลพวกนี้บางครั้งมักหลุดไประหว่างการเก็บเกี่ยว หรือทำความสะอาดผลไม้ ทำให้ผิวของผลเหี่ยว หรือมีเชื้อราเกิดขึ้นได้ง่าย ผลเสื่อมเร็วกว่าปกติ เขาจึงต้องหาทางชะลอการสูญเสียน้ำ และช่วยให้ผลดูใหม่สด มันแวว และยังช่วยปิดบังริ้วรอยขีดข่วนที่ผิวผลไม้ซึ่งเกิดขึ้นได้ระหว่างการเก็บเกี่ยว และขนส่ง ลดการติดเชื้อรา  ด้วยการหาสารมาหุ้มป้องกัน ซึ่งเรารู้จักกันดีในนามของ สารเคลือบผิว (กรณีนี้มีงานวิจัยพบว่าไม่เสมอไป ในผลไม้บางชนิดกลับเป็นการส่งเสริมให้เกิดเชื้อราอีก Worrell, et al)

 ชนิดสารเคลือบผิว

สารเคลือบมี 2 กลุ่มคือ กินได้ และ กินไม่ได้

 1.สารเคลือบชนิดที่กินไม่ได้ ได้แก่ ไขจากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม petroleum wax ไขจากฟอสซิล  mineral wax และไขจากการสังเคราะห์โดยขบวนการทางเคมี chemical synthetic wax

2.สารเคลือบชนิดที่กินได้ ได้แก่ สารที่ผลิตจากธรรมชาติ เช่น ไคโตซาน (chitosan) บุก  ไขรำข้าว เป็นต้น

 

ผัก ผลไม้แต่ละชนิดมีลักษณะโครงสร้างผิวหรือเปลือกที่ไม่เหมือนกัน และสารเคลือบผิวแต่ละชนิดก็มีส่วนประกอบที่ไม่เหมือนกันทำให้คุณสมบัติในการชะลอการเสื่อมคุณภาพของผักและผลไม้ต่างกัน  ดังนั้นผลไม้แต่ละชนิดจึงต้องเลือกใช้สารเคลือบที่ต่างกัน โดยผ่านการศึกษาทดลองในห้องปฎิบัติการมาแล้ว ส่วนใหญ่ผลไม้ที่ทานทั้งเปลือกจะเคลือบด้วยไขที่บริโภคได้ เช่น   ไคโตซาน  sucrose fatty acid ester เป็นต้น

(sucrose ester เป็นสารเหลวที่สกัดจากธรรมชาติ มีกลิ่นหอม ไม่มีรสชาติ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค)

สารเคลือบผิวผักและผลไม้ในปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงมาก และนิยมใช้สารสังเคราะห์ที่ผลิตจำหน่ายในรูปพร้อมใช้สำเร็จรูป ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง สำหรับประเทศไทยนิยมสารเคลือบผิวผลไม้แบบเป็น แวกซ์ ชื่อเต็มว่า Wax Soluble มีคุณสมบัติละลายในน้ำได้

 

จะเห็นว่าสารเคลือบเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นอันตรายสำหรับผู้บริโภคถ้าเป็นเช่นนี้แล้วทำไม สารมอร์ฟอลีน จึงเป็นสารต้องห้ามในสารเคลือบผิวของสหภาพยุโรปขึ้นมาได้

ติดตามในตอนที่ 2 ค่ะ    

 อ้างอิง:

จริงแท้ ศิริพานิช. 2538. สรีรวิทยาและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. นครปฐม.396 น.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=115929

Worrell D. B., C.M. Sean Carrington and D. J. Huber. 2002. The use of low temperature and coatings to maintain storage quality of breadfruit, Artocarpus altilis (Parks.) Fosb. Postharvest biology and technology.; 25 (22) :33-40.

 

หมายเลขบันทึก: 421794เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2011 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ดังนั้นพวกเรามาช่วยกันปลูกผลไม้ ปลูกผักกินกันเถอะ

 

  • สวัสดีค่ะ
  • น่ากลัวที่สุด กับ สารเคลือบผิวผัก ผลไม้ ต่าง ๆ ที่บ้านบุษราก็จะปลูกเองค่ะ ไม่ว่าผลไม้ หรือ พืชผักต่าง ๆ  โชคดีแถวภาคใต้ ดินอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกผลไม้ หรือผลต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี.... ไม่ค่อยกล้าซื้อกิน....
  • ขอบคุณข้อมูลดี ๆ ที่มาย้ำเตือนสติกันค่ะ

                                     

สวัสดีค่ะคุณท้องฟ้า

ถ้าไม่มีพื้นที่ปลูก ก็คงต้องเลือกซื้อดูดีๆ และก่อนทานคงต้องแช่ ล้างให้มากกว่าปกติ เพราะสมัยนี้สารพัดสารเคมีจริงๆค่ะ

สวัสดีค่ะคุณบุศรา

สมัยนี้จะทานอะไรต้องใช้สติ ต้องเลือก สังเกตุดูให้มากหน่อย meepole เพิ่งเจอดีกับกุ้งมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เองทั้งๆที่เป็นคนช่างสังเกตุยังโดนจนได้ แล้วจะเขียนเล่าเตือนวันหลังค่ะ

เห็นเจ้าหนูเต้น แล้วอยากกระชากวัยตัวเองลงมาสัก 40 ปี หุ หุ

สวัสดีคุณmee_pole ไม่นิยมซื้อผลไม้ที่ wax ไม่ว่าจะเกิดโทษต่อร่างกายหรือไม่ ถ้าเลื่ยงได้ก็จะเลื่ยงเลย  หาที่ผิวไม่งาม แต่ปลอดภัยดีกว่า ขอบคุณสาระประโยชน์จากบันทึกนี้  และขอบคุณที่ไปทักทายกัน

ขอขอบคุณความรู้ดีดีที่มอบให้    เมื่อรู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม

รู้แล้วจักได้ตรวจสอบชอบความ   แล้วจักทำอย่างไรให้รู้ว่าดี

สวัสดีค่ะน้อง mee pole

  • ผลไม้บ้านคุณยายปลอดภัย ไร้สารค่ะ                       

สวัสดีค่ะคุณวิโรจน์ พูลสุข

ไม่ถนัดเขียนร้อยแก้ว ต้องเอาแบบร้อยกรองนะคะ

"...แล้วจักทำอย่างไรให้รู้ว่าดี" อันนี้ต้องตามอ่านตอนที่ 2 ค่ะ กำลังแปลเรียบเรียงอยู่ค่ะ เย็นนี้คงมีต่อ

ขอบคุณที่ติดตามค่ะ

สวัสดีค่ะคุณยาย

แล้ว meepole จะได้กินกล้วยเครือนี้ไหมนี่ หุ หุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท