ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

ขออนุมัติ ขออนุญาต และการอนุมัติ การอนุญาต


ไปราชการจะขออนุมัติ หรือขออนุญาต

 

ไปราชการจะขออนุมัติ หรือขออนุญาต : สองคำที่ผู้เสนอและผู้สั่งการต้องเข้าใจตรงกัน

ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง

ผอ.กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

E-mail : [email protected]

**********************

 

          มีความสับสนอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับการเสนอเพื่อขอให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างในสังกัด และบุคคลภายนอก เดินทางไปราชการ วันนี้จึงขออนุญาตทำความเข้าใจกับผู้เสนอและผู้สั่งการถึงที่ไปที่มาของสองคำนี้ที่ในหน่วยงานราชการจะใช้กันอยู่เป็นประจำ

ในพจนานุให้ความหมายของคำ “อนุมัติ  และอนุญาต” ไว้ดังนี้
          อนุมัติ  ก. (คำกริยา) มีความหมายว่า ให้อำนาจกระทำการตามระเบียบที่กำหนดไว้

          กรณีการอนุมัตินี้จึงมักใช้กับการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเงิน ซึ่งแปลว่า การอนุมัตินั้นผู้ได้รับอนุมัติต้องดำเนินการตามระเบียบ  จะกระทำผิดระเบียบมิได้ เช่น การอนุมัติไปราชการ  การอนุมัติโครงการ และการอนุมัติผ่อนผันการเกณฑ์ทหารของนักศึกษา เป็นต้น

           อนุญาต  ก. (คำกริยา) มีความหมายว่า ยินยอม  ยอมให้  ตกลง 

           กรณีการขออนุญาตจึงมักใช้ตามระเบียบปฏิบัติและไม่เกี่ยวกับการเงิน  แต่การทำกิจกรรมนั้นต้องได้รับการยินยอมจากผู้บริหารด้วย เช่น การใช้รถยนต์ส่วนกลาง การลา และการอนุญาตการพานักเรียน นักศึกษาไปนอกสถานศึกษา เป็นต้น
          สอดคล้องกับ ความเห็นของ ศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน  ก็ได้ให้ความเห็น คำว่า อนุญาต กับอนุมัติ  ไว้ดังนี้

          คำว่า อนุญาต กับ อนุมัติ มีความหมายถึง การที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่ายินยอมให้ผู้น้อยกระทำการอย่างใดย่างหนึ่งตามที่ขอ. โดยรูปศัพท์ทั้งคำว่า อนุญาต และ อนุมัติ แปลว่า รู้ตามแล้ว เช่นเดียวกัน. ในภาษาไทยใช้หมายถึง ยินยอม ยอมให้ ยอมให้ทำตามที่ขอทั้งสองคำ.

          ข้อแตกต่าง ก็คือ อนุญาต มักใช้แก่เรื่องง่าย ๆ ที่ไม่ต้องมีขั้นตอน การพิจารณาเป็นลำดับขั้น. ส่วน อนุมัติ นั้น ใช้ในเรื่องที่เป็นทางการ, ผู้ขอต้อง  เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น ตามระเบียบที่ได้วางไว้. ถ้าผู้อนุมัติเห็นควรให้ดำเนินการก็จะอนุมัติ เช่น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการที่กระทรวง  ต่าง ๆ เสนอมา. ครูอนุญาตให้นักเรียนไปฝึกสมาธิ ได้แต่ถ้าจะค้างคืนต้อง      ขออนุมัติผู้อำนวยการ.

          นอกจากนั้น ยังมีคำอีกคำหนึ่งที่ในหน่วยงานราชการจะใช้กันบ่อย คือ คำว่า “อนุเคราะห์” ซึ่งในพจนานุกรม ให้ความหมายว่า

          อนุเคราะห์ ก. (คำกริยา) หมายความว่า เอื้อเฟื้อ  ช่วยเหลือ 

          กรณีการขอความอนุเคราะห์  จึงไม่ใช่การปฏิบัติตามระเบียบ  ข้อบังคับโดยตรง มักเป็นการขอความช่วยเหลือ  หรือขอให้อำนวยความสะดวกในลักษณะต่างๆ ซึ่งอาจมีระเบียบปฏิบัติหรือไม่มีระเบียบปฏิบัติก็ได้ เช่น ขอให้ประชาสัมพันธ์  ขอยืมวัสดุสิ่งของ และขอความอนุเคราะห์ข้อมูลในการวางแผน เป็นต้น


          ในส่วนของหน่วยงานและสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีการมอบอำนาจให้ผู้บริหารสำนักงาน และผู้บริหารสถานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการอนุมัติและการอนุญาตอยู่หลายเรื่อง แต่ในที่นี้จะขอหยิบยกนำเรื่อง การเสนอเพื่อขอให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างในสังกัด และบุคคลภายนอก เดินทางไปราชการ จะใช้คำว่า “อนุมัติ หรืออนุญาต” ให้ไปราชการ ได้มีการมอบอำนาจ ไว้ดังนี้

          ๑. การมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร

          ตามคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ๒๗๐/๒๕๕๑ เรื่องมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการแทน  ลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๑ 

          การอนุมัติ

          ตามอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร

          เช่น ข้อ ๘ การอนุมัติให้เดินทางไปราชการภายในภายในราชอาณาจักรของตนเอง ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างในสังกัด และบุคคลภายนอก การอนุมัติค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ การใช้รถยนต์ส่วนตัวไปราชการ การเทียบตำแหน่งบุคคลภายนอก รวมทั้งการใช้ดุลยพินิจ ตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ.๒๕๒๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นส่วนที่มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาไว้แล้ว

          การอนุญาต

          ตามอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร

           เช่น ข้อ ๖  การพิจารณาอนุญาตการลาและการรับเงินเดือนของข้าราชการระหว่างลาของข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างในสังกัด สำหรับการลาทุกประเภทในฐานะอธิบดี ยกเว้นการลาไปศึกษา ฝึกอบรม  ดูงาน หรือปฏิบัติงานวิจัย

           ๒. การมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอและผู้อำนวยการสถานศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเขต

           คำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ๔๘๙/๒๕๕๑ เรื่อง       มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอและผู้อำนวยการสถานศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเขตปฏิบัติราชการแทน  ลงวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๑

            การอนุมัติ

            ตามอำนาจของผู้อำนวยการสถานศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอและผู้อำนวยการสถานศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเขต

            เช่น ข้อ ๙ การอนุมัติไปราชการ การจัดประชุมภายในราชอาณาจักรของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พนักงานราชการ ลูกจ้าง บุคคลภายนอก และการอนุมัติค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติการเดินทางไปราชการและการจัดประชุมของทางราชการ พ.ศ.๒๕๒๔ ตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ.๒๕๒๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ.๒๕๕๐

            การอนุญาต

            ตามอำนาจของผู้อำนวยการสถานศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอและผู้อำนวยการสถานศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเขต

            เช่น ข้อ ๒ การอนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางไปปฏิบัติราชการในราชอาณาจักร และการเก็บรักษารถส่วนกลางของราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.๒๕๒๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

            โดยสรุป การขอให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างในสังกัดและบุคคลภายนอก เดินทางไปราชการต้องใช้คำว่า “ขออนุมัติ” ในกรณีของผู้เสนอเรื่อง และคำว่า “อนุมัติ” กรณีผู้สั่งการ (ผู้อำนวยการสำนักงาน หรือผู้อำนวยการสถานศึกษา) ครับ.

หมายเลขบันทึก: 421702เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2011 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กรณีการขออนุมัติหรืออนุญาตทั้งปวง ข้าราชการฝ่ายพลเรือนจะดำเนินการระเบียบแบบแผนของทางราชการกำหนด ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 82(2) ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ หากผู้มีอำนาจได้วางแนวทางใดต้องถือปฏิบัติเช่นนั้น เช่น การขออนุมัติไปราชการ การขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนตัว(กระทรวงการคลัง) การขออนุมัติใช้รถยนต์ส่วนตัว(ราชการส่วนท้องถิ่น) การขออนุญาตออกเดินทางล่วงหน้าไปราชการ การขออนุญาตไปต่างประเทศ เป็นต้น การไม่ถือปฏิบัติย่อมเป็นความผิดทางวินัย ทั้งนี้ กล่าวโดยสรุป คือ ไปราชการ ต้องเป็น “การอนุมัติ” เท่านั้น ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการและการจัดประชุมของทางราชการ พ.ศ. 2524

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท