เพลงทุ่งกลางกรุงเทพฯ


เอ้อระเหยลอยมา...

 “เอ้อระเหยลอยมา ยกมือวันทาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ไหว้คุณพระรัตนตรัย และเทพไท้อันมีฤทธิ์

ไหว้คุณบิดามารดา ที่เลี้ยงลูกมารอดชีวิต

ทั้งคุณครูบาอาจารย์ ให้ความชำนาญรุ่งเรืองวิทย์

ฉันจะว่าเพลงพวงมาลัย ขอจงกล่าวได้สมดังจิต

พ่อช่อมะกอกพ่อดอกมะขวิด ขออย่าให้ติดขัดเลย”*

              คำไหว้ครู ตามด้วยการขับขานเพลงพื้นบ้านและร้องลิเกที่กังวานดังไปทั่วบริเวณชั้น 1 โซนเอเทรียม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันงาน “เยาวชนกับการพัฒนา” ที่จัดโดยสภาองค์กรพัฒนาเด็กและเยาวชน (สอดย.) ผ่านไป...แต่ภาพบางภาพในวันนั้นยังชวนจดจำน้ำเสียงและลีลาการออกท่าออกทางของหนุ่มสาววัยรุ่นที่เป็นพ่อเพลงหน้าใส แม่เพลงหน้าสวยเรียกผู้คนจำนวนไม่น้อยให้หยุดดู บางคนกอดอกยืนฟัง หลายคนยืนชมไปพลางหันหน้าคุยกับเพื่อนๆ ที่มาด้วยไปพลาง อ่านจากปากและสีหน้าที่แสดงออกจับความได้ว่า “ชื่นชม” แหงนหน้าขึ้นมองไปชั้นที่สูงกว่า พบว่ามีคนอีกจำนวนหนึ่งมองลงมายังลานเวทีอย่างสนใจ ขณะที่ผู้คนบนบันไดเลื่อนเอี้ยวมองจนเหลียวหลัง หันกลับมาเวทีการแสดงพบว่าที่นั่งด้านหน้าเต็มหมดแล้วมีเสียงหัวเราะของผู้ชมแทรกระหว่างการแสดง เล่นคำ รำเพลง และร้องลิเก ของผู้แสดงเป็นระยะ

              เมื่อสิ้นสุดการแสดงที่ได้ยินหลายคนรำพึงว่า ‘แสนสั้น’ ยินเสียงปรบมือดังกึกก้อง พ่อยก...แม่ยก หลายคนทยอยเดินออกไปตบรางวัลผู้แสดง บ้างให้เป็นดอกไม้ บ้างให้เป็นเงินบ้างกอด สัมผัสจับมือ โอบตัว ลูบหลัง หอมแก้ม กล่าววาจาชื่นชม ฯลฯ เมื่อแม่ยกพ่อยกเหล่านั้นกลับหลังหัน บรรดาพ่อเพลงแม่เพลงหน้าสวยใสมีรอยยิ้ม ‘อิ่มเอมใจ’ เต็มสองแก้ม หากภาพบรรยากาศที่เล่ามาเกิดขึ้นที่หัวไร่ปลายนาอาจจะมีอะไรให้พูดถึงน้อยกว่านี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นในศูนย์การค้าทันสมัยใจกลางกรุงเทพมหานครจึงมีเรื่องชวนให้พูดถึงมากมาย..... “มาฟังเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่มามารึมา แม่มา เอ้อระเหยลอยมา...”

 

ตั้งปณิธานมั่น...เราจะสานต่อวัฒนธรรมไทย 

              “พวกเรามีเชื้อสายทางนี้อยู่แล้ว อาจจะว่าอยู่ในสายเลือดก็ได้ ผมมีคุณตาเป็นลิเกเก่ามีคุณแม่เป็นหมอทำขวัญนาค พวกเราไม่อายที่สนใจและแสดงออกในวิถีทางนี้ วิถีที่ว่านี้คือวิถีที่สืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านประเภท เพลงอีแซว รำโทน เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงเหย่ย หรือแม้แต่ลิเก” กฤษธราดล ชาตินันท์ (กอล์ฟ) หัวหน้ากลุ่มเยาวชนสืบสานวัฒนธรรมครองแครงแห่งตำบลสามตุ่ม อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดวงสนทนาถึงเหตุผลที่สนใจงานสื่อวัฒนธรรม

              ปัจจุบันกอล์ฟรับราชการที่สำนักงานพัฒนาสังคม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มสนใจภูมิปัญญาด้านสื่อวัฒนธรรมเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว จากนั้นก็เริ่มเสาะหาพ่อเพลงแม่เพลงไปทั่วลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งก่อตั้งเป็นกลุ่มเยาวชนสืบสานวัฒนธรรม “ครองแครง” เมื่อเดือนมกราคม 2540 ด้วยปณิธานที่ว่า “แม้ไม่ใช่ผู้ก่อ แต่เราก็พร้อมจะสานต่อวัฒนธรรมไทย” โดยได้นำศิลปะการแสดงประเภทลิเกและเพลงพื้นบ้าน มาประยุกต์ใช้เป็นสื่อวัฒนธรรมเพื่อสร้างสรรค์ชุมชนได้อย่างมีเสน่ห์และกลมกลืนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเพลงพื้นบ้านภาคกลางที่มีเนื้อหาคุ้นเคยและใกล้ชิดกับวิถีชีวิตพื้นถิ่น เนื่องจากเป็นบทเพลงที่เกิดจากคนในท้องถิ่นต่างๆ จะมีวิธีคิดรูปแบบการร้องการเล่นขึ้นมาด้วยท่วงทำนอง ภาษาเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ส่วนมากเป็นการเกี้ยวพาราสี หรือซักถามโต้ตอบ มุ่งความสนุกสนานรื่นเริง ใช้เล่นกันในโอกาสต่างๆ เช่น สงกรานต์ ตรุษจีน ลอยกระทง ไหว้พระประจำปี หรือแม้กระทั่งในโอกาสที่ได้มาช่วยกันทำงาน ร่วมมือร่วมใจเพื่อทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น เกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นต้น

              ความเด่นของเพลงพื้นบ้านอยู่ที่ถ้อยคำง่ายๆ แต่มีความหมายกินใจ ใช้ไหวพริบปฏิภาณในการร้องโต้ตอบกัน เนื้อร้องและทำนองที่ง่ายๆ ร้องเล่นได้ไม่ยากฟังไม่นานก็สามารถร้องเล่นตามได้ การเล่นเพลงชาวบ้านจะเล่นกันตามลานบ้านลานวัด ท้องนา ตามลำน้ำแล้วแต่โอกาสในการเล่นเพลง เครื่องดนตรีที่ใช้จะเป็นเพียงเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง กรับ กลอง หรือเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นเองบางทีก็ไม่มีเลยใช้การปรบมือประกอบจังหวะ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ลูกคู่ที่ร้องรับ ร้องกระทุ้งหรือร้องสอดเพลง ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความสนุกสนานครึกครื้นยิ่งขึ้น

 

การแสดงพื้นบ้าน...สื่อวัฒนธรรมสร้างสรรค์ชุมชน 

              กลุ่มเยาวชนสืบสานวัฒนธรรม “ครองแครง” ทำงานด้านสร้างสื่อละคร สื่อวัฒนธรรมสะท้อนปัญหาของสังคมและสร้างกิจกรรมในชุมชนมากว่า 8 ปี จึงเห็นและเชื่อมั่นว่าพลังสื่อทางวัฒนธรรม จะเป็นแก่นแกนที่นำมาเป็นสื่อให้คนในครอบครัวในชุมชน และในสังคม หันมามองเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากสังคมการเกษตรสู่อุตสาหกรรม ดังที่ปรากฏในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของกลุ่มเยาวชนฯ ที่ปัจจุบันมีผู้คนต่างภูมิลำเนาหลั่งไหลเข้ามาขายแรงงาน และคนในท้องถิ่นทิ้งฐานการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม มีสถานบันเทิงและแหล่งมั่วสุมของเด็กและเยาวชนผุดขึ้นมากมาย การนำสื่อพื้นบ้านมาปรับใช้เพื่องานพัฒนานี้ วาดหวังว่าน่าจะเป็นสื่อที่หลอมรวมดวงใจหลายๆ ดวงเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดสำนึกร่วมในการร่วมพัฒนาชุมชนหรือสังคมได้

              กอล์ฟและเพื่อนๆ พร้อมทั้งน้องๆ เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจเดียวกันเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น เห็นพ้องกันว่า สื่อวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น จะเป็นสื่อทางเลือกที่สามารถนำมาเป็นกิจกรรมส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ได้ ทั้งยังเป็นสื่อที่สามารถแทรกเนื้อหาเพื่อรณรงค์ลดปัญหาด้านยาเสพติด โรคติดต่อ ปัญหาการทะเลาะวิวาทและการพนัน เพราะเพลงพื้นบ้านเป็นสื่อที่เข้าถึงเด็ก เยาวชนและชาวบ้านได้ง่าย เมื่อนำมาแสดงผู้ชมจะได้อรรถรสครบทั้งตาดูหูฟัง ทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และเสริมสร้างสุขภาพจิตของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เมื่อนำเสนอเรื่องราวต่างๆที่เป็นประเด็นเพื่อพัฒนาชุมชนผ่านคนรุ่นใหม่สู่กลุ่มผู้ใหญ่ ก็ได้รับความเอ็นดู ชื่นชมว่าเป็นลูกหลาน และหากนำเสนอต่อเด็กและเยาวชนคนรุ่นเดียวกัน ก็กลายเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่หัวใจอนุรักษ์ได้

             กิจกรรมในโครงการสื่อวัฒนธรรม สร้างสรรค์ชุมชนเริ่มตั้งแต่การวางแผนพูดคุยกันภายในกลุ่มฯ ไปจนถึงการจับประเด็นข่าวของชุมชนหรือของประเทศ ที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลสู่การพัฒนาเนื้อหาในสื่อพื้นบ้านที่จะนำไปรณรงค์ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่โดดเด่น เช่นจัดค่ายเยาวชนรักษ์และเรียนรู้สื่อพื้นบ้านกับการพัฒนาตนเองและชุมชน และจัดสมัชชาเยาวชนรักษ์วัฒนธรรมกับการพัฒนาท้องถิ่น เป็นต้น

             ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชน จากในโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ผ่านกระบวนการค่ายฯ สนใจรับการฝึกหัดเกี่ยวกับสื่อวัฒนธรรมแขนงนี้ และสามารถเข้าร่วมงานกับกลุ่มทำหน้าที่สืบสานสื่อด้านนี้อยู่อย่างแข็งขัน หากเป็นเช่นนี้แล้ว ต่อไปภายภาคหน้าย่อมจะเกิดเครือข่ายเยาวชนรักษ์วัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และสามารถขับเคลื่อนงานในพื้นที่ต่างๆ ต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

              เมื่อเป็นเช่นนั้น เสียงร้องของบรรพชน...เสียงเพลงแห่งท้องทุ่ง สื่อวัฒนธรรมที่เคียงใจเรามาตลอดนั้นย่อมจะดังเตือนสติ ให้ข้อคิด แนะทางออกและสร้างสุขให้แก่สังคมก้องจากพระนครศรีอยุธยาขจรกระจายไปทั่วทุกทุ่งหญ้า ป่าเขียว คุ้งน้ำ และขุนเขา ไม่เพียงพระนครศรีอยุธยาเท่านั้น

 

 

*คำไหว้ครูเพลงพวงมาลัย ข้อมูลจาก www.krongkrang.th.gs

 

 


อ้างอิง

กลุ่มเยาวชนสืบสานวัฒนธรรมครองแครง. (ม.ป.ป.). สื่อวัฒนธรรม สร้างสรรค์ชุมชน.

       กรุงเทพฯ : โครงการสื่อวัฒนธรรม สร้างสรรค์ชุมชน กลุ่มเยาวชนสืบสานวัฒนธรรมครองแครง.

หมายเลขบันทึก: 421262เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2011 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท