Community Cohesion: Cross-Generation Art in Bristol (ชุมชนสัมพันธ์ ศิลปะจากคนต่างวัย)


ศิลปะที่ไม่งดงามวิจิตรพิสดารเมื่อเทียบกับศิลปินระดับโลก แต่คุณค่าทางจิตวิญญาณของมันกลับมีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน

      ในสังคมทุกวันนี้เป็นสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย (Diversified Society)ในทุกด้าน สาเหตุดังกล่าวได้มีอิทธิพลต่อแนวคิดในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่เรียกว่าการศึกษาแบบพหุวัฒนธรรม (Multicultural Education)เป็นแนวคิดที่รวมเอานโยบายการบริหารจัดการ ระเบียบวิธีการ การจัดหลักสูตร การเรียนการสอน การจัดสภาพแวดล้อม เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนผู้เรียนที่มาจากต่างวัฒนธรรมหรือจากกลุ่มวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา เพศ ระดับชั้นทางสังคม อายุ เป็นต้น การจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการชุมชนสัมพันธ์ที่เมือง Bristol โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางนั้น ก่อให้เกิดผลงานศิลปะโดยคนต่างวัย ต่างประสบการณ์ ต่างภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรม และที่สำคัญที่สุดคือ เกิดการเรียนรู้ที่จะยอมรับในความแตกต่างทางวัฒนธรรม ไม่มีอคติต่อกัน ไม่เกิดการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ ลดความขัดแย้งระหว่างกัน สนับสนุนความเข้าใจและเคารพในความหลากหลาย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์ในการดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่และสังคมโลกอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน

    ชาวเมือง Bristol ที่เข้าร่วมกิจกรรมศิลปะเพื่อชุมชนนั้นต่างก็มีพื้นฐานทางเชื้อชาติ ศาสนา สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และที่สำคัญคือ ความแตกต่างด้านอายุ บางคนเป็นเด็กที่ใช้ภาษาอังกฤษไม่คล่องแคล่ว บางคนก็เป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน บางคนก็เป็นผู้สูงวัย จึงเป็นเหตุให้คนกลุ่มนี้มีความแตกต่างและหลากหลาย (Diversity) หรือ อาจเรียกได้ว่า กลุ่มไดซ์ (Dive) ทั้งหมดได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ โดยมีครูศิลปะอาสาสมัครเป็นผู้จัดการเรียนรู้และจัดกิจกรรมศิลปะโดยเน้นกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนั้นดูจะเป็นจุดประสงค์รองของกิจกรรมนี้ แต่จุดประสงค์สำคัญที่สุดของกิจกรรมนั่นก็คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ความคิด ทัศนคติ มุมมองต่อการมีชีวิตและการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย  โดยที่เชื้อชาติ ศาสนา พื้นฐานทางสังคม และวัยที่แตกต่าง มิใช่อุปสรรคในการร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะเลยแม้แต่น้อย

    สำหรับผู้เขียนนั้นได้มองเห็นถึงความสำคัญของศิลปะในฐานะที่เป็นเครื่องมือเพื่อเชื่อมมิตรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ครูศิลปะได้ใช้งานศิลปะต่างๆ เช่น การวาดภาพ การระบายสี การตกแต่งปูนเปียกด้วยกระจกสีต่างๆ ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเริ่มต้นจากที่ครูให้ผู้เรียนทำความรู้จักกับเพื่อนในชั้นเรียนโดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน หลังจากนั้นจึงให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มเพื่อระดมสมองแล้ววาดภาพระบายสีที่สะท้อนความคิดของแต่ละกลุ่มออกมา ในขั้นตอนนี้ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียน การแบ่งปันประสบการณ์ในชีวิตที่มีคุณค่าของแต่ละคน ผู้เรียนที่อายุน้อยๆ ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่า และในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่เคยอาบน้ำร้อนมาก่อนก็ถ่ายทอดเรื่องราวที่ไม่อาจลืมได้ให้แก่เยาวชนรุ่นหลังได้ฟัง เช่น ภาวะสงครามกลางเมือง ความอดอยากจากการขาดอาหาร การอพยพลี้ภัยสงคราม สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่คนรุ่นหลังไม่มีโอกาสรับรู้หรือรับรู้ผ่านสื่อสมัยใหม่ต่างๆ แต่สำหรับกิจกรรมนี้ผู้เรียนแต่ละคนจะได้สนทนากันโดยตรงและฟังอย่างตั้งใจในเรื่องราวของกันและกัน (Deep listening) ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น

    หลังจากที่ผู้เรียนทำงานศิลปะในกลุ่มย่อยแล้ว กิจกรรมถัดไปคือ การสร้างสรรค์งานศิลปะแบบ Mosaic ครูศิลปะได้นำผู้เรียนออกไปที่ลานซึ่งเป็นบริเวณสาธารณะสำหรับประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน ประสบการณ์จากการวาดภาพและระบายสีเรื่องราวที่แสดงความรู้สึกของตนเองออกมานั้น เป็นพื้นฐานอย่างดียิ่งในการสร้าง Mosaic เพราะแต่ละคนสามารถสะท้อนเรื่องราวของตนเองโดยการนำกระจกสีมาประดับที่ปูนเปียก และที่สำคัญหากใครเห็นว่าเรื่องราวของเพื่อนคนอื่นๆนั้นยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ก็สามารถประดับเพิ่มเติมได้ตามความคิดและประสบการณ์ที่ได้รับจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

    ในที่สุดกิจกรรมศิลปะ Mosaic ก็เสร็จสิ้นลง นับจากนี้เป็นต้นไปงานศิลปะชิ้นนี้จะตั้งตระหง่านเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงความร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชน Bristol กลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่มีความตั้งใจและร่วมมือกันสร้างสรรค์งานศิลปะที่ไม่งดงามวิจิตรพิสดารเมื่อเทียบกับศิลปินระดับโลก แต่คุณค่าทางจิตวิญญาณของมันกลับมีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน

รายการตอนนี้ : http://www.teachers.tv/videos/cross-generation-art-in-bristol

หมายเลขบันทึก: 421037เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2011 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เข้าท่ามากเลยละครับ
  • ไปแนวนี้ก็เป็นแนวหนึ่งของการพัฒนาการเรียนการสอนศิลปศึกษาแบบบูรณาการที่น่าสนใจมากเลยนะครับ
  • เป็นวิธีการทางศิลปะ ที่เป็นการปฏิบัติการชุมชน พัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมและสร้างความเป็นพลเมืองที่สอดคล้องกับความจำเป็นของสังคมในบริบทใหม่ๆได้ดีมากเลยนะครับ
  • ศิลปะศึกษานอกจากพัฒนารสนิยมและปัญญาปฏิบัติทางศิลปะให้แก่ผู้เรียนแล้ว ก็เป็น Learning Strategy และ Learning Methodology เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีความเชื่อมโยงให้สามารถบรรลุจุดหมายการเรียนรู้ในมิติอื่นๆได้เป็นอย่างดีอีกด้วยนะครับ สร้างทางเลือกและความหลากหลายให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจและได้ความเป็นตัวของตัวเองเป็นอย่างดีด้วยนะครับ
  • สวัสดีครับ แวะมาเยี่ยม และชื่นชมคุณครูคนเก่งครับผม
  • ขอบคุณที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท