ที่ไปที่มา "ช้างกระ"


แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ

๑๗ มกราคม ๒๕๕๔ ที่ไปที่มา "ช้างกระ"

อุทยานกล้วยไม้ป่าพันธุ์ช้างกระ  Unseen in Thailand

                ที่ตั้ง  อุทยานกล้วยไม้ป่าพันธุ์ช้างกระ อยู่ในวัดป่ามัญจาคีรีหรือวัดป่าโนนบ้านเค้าเดิม ซึ่งเรียกชื่อตามสถานที่ตั้งของวัด คือตั้งอยู่บนโนนดินที่ชื่อว่าโนนบ้านค้าว คำว่า “โนน” เป็นภาษาถิ่น หมายถึงเนินดิน  ค้าวเพี้ยนมาจากคำว่า “เค้า” ภาษาอีสานแปลว่าดั้งเดิม ดังนั้นคำว่าบ้านเค้าจึงหมายความว่า เนินดินอันเป็นที่ตั้งของบ้านดั้งเดิมหรือบ้านเก่านั่นเอง ภายในวัดมีต้นไม้เก่าแก่จำนวนมาก ซึ่งมีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี ได้แก่ ต้นมะขาม ต้นตะโก ต้นกระถินป่า รวมกว่า ๒๘๐ ต้น กล้วยไม้ป่าช้างกระจะเกาะอยู่ตามกิ่งไม้โดยเฉพาะบนต้นมะขาม และเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติเป็นจำนวนมากกว่า ๔,๐๐๐ ต้น จะออกช่อในช่วงเดือนธันวาคม และจะบานช่วงเดือนมกราคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว ผู้ที่มาเยือนวัดป่ามัญจาคีรีจะได้สัมผัสกับกลิ่นหอมอ่อนๆ ของกล้วยไม้ช้างกระ กระจายทั่วบริเวณวัด กล้วยไม้ป่าพันธุ์ช้างกระมีลักษณะช่อดอกเล็กๆ สีขาวมีจุดสีม่วงอมชมพูประปรายบานรวมกันเป็นช่อห้อยระย้าลงมางอกงามอยู่ตามกิ่งก้านของต้นมะขามประดุจอุทยานกล้วยไม้น่าชื่นชมยิ่งนัก

                จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุและจากกองจดหมายเหตุ หอสมุดแห่งชาติ สรุปได้ว่าเมื่อประมาณ ๕๐๐ ปีล่วงมาแล้ว บริเวณแห่งนี้เป็นที่ประทับของสตรีสูงศักดิ์และทรงศีล ชื่อเจ้าแม่จอมจูม ซึ่งมีความหมายว่ายอดดอกบัวพร้อมด้วยบริวารจำนวนมากได้มาปฏิบัติธรรมอยู่ ณ บริเวณแห่งนี้เพราะมีลักษณะภูมิประเทศที่สงบร่มเย็นมีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา โดยเฉพาะต้นมะขามและมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อยู่ใกล้บริเวณทางทิศใต้  เจ้าแม่จอมจูมเป็นผู้นำในการสร้างสถูปขึ้นมาเพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ ลักษณะของสถูปทำจากหินทรายตัดเรียงซ้อนกันมียอดแหลม ที่ปลายยอดมีดอกบัวตูม องค์สถูปสลักลวดลาย บัวคว่ำ บัวหงาย ลักษณะลวดลายสันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยทวาราวดี มีความสูงประมาณ ๓ เมตร

                หลังจากยุคเจ้าแม่จอมจูมสิ้นสุดลงประมาณ ๓๐๐ ปี มีนักรบผู้กล้าชื่อเจ้าพ่อแสนกล้า พร้อมทั้งขุนศึกคู่ใจ ทั้งเหล่าทหารกล้า เมื่อบ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น ไม่มีการสู้รบจึงได้รวบรวมอาวุธจากการสู้รบพร้อมทั้งพระพุทธรูปทองคำมาฝังไว้ที่ฐานของสถูป แล้วตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณโนนบ้านค้าว โนนดอนใหญ่ โนนส้มโฮง โนนหมาจอก โนนดอนเสียว (เสียว คือ ชื่อต้นโยทะกา) มีการสร้างวัดอีกแห่งหนึ่งคือโนนศิลาเลข ห่างจากโนนบ้านค้าวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๕๐๐ เมตร คำว่า ศิลามีความหมายว่า ก้อนหินที่มีรอยขีดเขียน มีใบเสมาหินทรายแดงสลักลวดลายสวยงาม ปัจจุบันนี้เจดีย์ทรุดตัวลงแล้ว คงเหลือเพียงแผ่นหินทรายที่วางอยู่บริเวณรอบๆ สถูป เนื่องจากการขโมยพระพุทธรูปทองคำที่ฝังไว้ใต้สถูปไป แต่ต้องนำกลับมาเพราะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นมงคลขึ้นกับครอบครัวของผู้ที่ขโมยไป ครั้งแล้วครั้งเล่าจนต้องนำกลับมาคืนที่วัดแห่งนี้ ปัจจุบันได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ครอบเอาไว้

                กาลเวลาผ่านไปฟ้าฝนไม่ตอต้องตามฤดูกาล เกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากในปี พ.ศ.๒๓๗๕ พ่อใหญ่ขุนสีวอ พ่อใหญ่โคตรวงษ์ พ่อใหญ่โคตรตาล พ่อใหญ่กุน และพ่อใหญ่แป จึงได้อพยพลูกหลานไปตั้งบ้านเรือนหลายแห่ง เช่นที่บึงกุดเค้า ซึ่งเรียกว่าดอนเหมือดแอ่ ซึ่งบริเวณดังกล่าวได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งเป็นเมืองมัญจาคีรี ในปี พ.ศ.๒๔๒๔ (ร.ศ.๑๐๘) และเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอมัญจาคีรีในปัจจุบัน

                ดังนั้นโนนบ้านค้าวจึงกลายเป็นเมืองร้าง ต่อมาหลวงปู่เขียวได้ธุดงค์มาเห็นเป็นทำเลที่เหมาะสมจึงได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ซึ่งก็คือวัดป่าโนนบ้านค้าว จนในปี พ.ศ.๒๕๐๕ ได้ตั้งชื่อใหม่ว่าวัดป่ามัญจาคีรี นอกจากนี้หลวงปู่เขียวยังได้สร้างสิม (โบสถ์) กลางน้ำที่หนองบัวน้อย หนองบัวน้อยจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหนองสิม แต่ได้ถูกไฟไหม้ไปแล้ว เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันของวัดป่ามัญจาคีรี คือท่านพระครูกันตสีลานุยุต

                นอกจากความงามของกล้วยไม้ป่าพันธุ์ช้างกระนี้แล้ว ภายในวัดยังมีศาลเจ้าคุณปู่อารักษ์บ้านเมือง ศาลเจ้าพ่อแสนกล้า ศาลเจ้าแม่จอมจูม ศาลปูเถ่ากงม่า ซึ่งศาลแห่งนี้ชาวมัญจาคีรีเคารพและศรัทธามายาวนานแล้ว เมื่อถึงเดือนสามของทุกปีจะมีพิธีบวงสรวง โดยมีประชาชนเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าคุณปู่จะสามารถดลบันดาลคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขแก่ผู้ที่ให้ความเคารพกราบไหว้

   

                กล้วยไม้ป่าพันธ์ช้างกระ Rhynchostylis Gigantean จัดอยู่ใน Division antophyta ,family Orchidancese เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (monocotyledoneae) สืบพันธุ์โดยการแตกหน่อและเพาะเมล็ด

                ต้นตั้งตรงหรือเอนเล็กน้อย รากใหญ่และยาว ใบใหญ่หนา อวบน้ำและเหนียว ขนาด 15-30 x 4-8 เซนติเมตร เรียงตัวสลับซ้ายขวาค่อนข้างถี่ ช่อดอกทอดเอนลงเล็กน้อย หรือเอนโค้งลงยาวใกล้เคียงกับความยาวของใบ ดอกในช่อค่อนข้างแน่น บานทนนานเป็นสัปดาห์

                ฤดูออกดอกเดือนธันวาคม – กลางเดือนกุมภาพันธุ์ ของทุกปี

หมายเลขบันทึก: 420986เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2011 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...ขอบคุณครับ...ฟังเพลง"ตำนานอุทยานกล้วยไม้ช้างกระ" ก็สงสัยมานาน...ว่าผู้ที่มีชื่ออยู่ในเพลงเป็นใคร...มีที่มาอย่างไร....ทราบแล้วครับ...เป็นอย่างนี้นี่เอง

ขอบคุณครับครูโอ๋ ผมกำลังหาข้อมูลการสร้างวัดป่ามัญจาคีรีวนารามอยู่พอดี กำลังสะสมวัตถุมงคลของหลวงพ่อผางที่ออกวัดป่ามัญจา พอดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท