เคล็ด(ไม่)ลับกับการให้นมแม่ ตอนที่ 1


ขออนุญาตแบ่งปันประสบการณ์ เทคนิค และเคล็ดลับที่เราได้เรียนรู้ตลอดเวลาที่ให้นมลูก ปัจจุบัน ณ เวลาที่เขียนนี่ลูกชายได้กินนมแม่มาเกือบ 11 เดือนแล้ว เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่หมอ เพียงแต่อยากบอกเล่าสิ่งที่ได้พบหรือเรียนรู้กับแม่ๆ และเพื่อนๆ ทีอาจมีปัญหาคล้ายๆ กัน เพราะบางอย่าง ไม่เคยอ่านเจอในหนังสือ หรือเวบไหน บางอย่างที่เราทำอาจไม่ถูกต้องตามหลักนัก ต้องอย่าลืมว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากผิดพลาดอย่างไรก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ค่ะ

 

ตอนที่ 1 ของบทความนี้จะว่าด้วยเคล็ดลับและข้อควรระวัง ขณะที่อยู่โรงพยาบาลหลังคลอด

 

บีบกระตุ้นน้ำนม 
หลังคลอดเสร็จ ถ้าร.พ.ไม่ได้เอาลูกมาให้ดูดนมทันที ให้พยายามกระตุ้นให้น้ำนมไหลโดยการบีบหัวนม วิธีนี้คุณหมอสูติฯ ที่ทำคลอดแนะนำมา วิธีการบีบทำดังนี้


เอา นิ้วชี้กับนิ้วโป้งจับที่บริเวณขอบสีดำของลานนม กดสองนิ้วเข้าหากันแรงๆ ขยับจุดที่กดไปเรื่อยๆ รอบๆ ลานนม ทำทั้งสองข้างข้างละสิบนาที ทำทุกชั่วโมง ต้องออกแรงกดนะคะ ทีแรกที่หมอบอกเราก็ทำตามแต่มารู้ว่ากดเบาไป เพราะเวลาหมอบีบให้นี่เจ็บมาก บีบไปสักวันที่สองจะเริ่มเห็นนมซึมมาจากท่อน้ำนม เย้


วิธี นี้ไม่เคยอ่านเจอที่ไหนเลย เคยอ่านเจอแต่ว่าให้เอามือนวดเต้า เราก็นวดๆ คลึงๆ บีบๆ แต่ก็อีกมารู้ทีหลังว่านวดเบาไปต้องออกแรงนวดแรงๆ (เพื่อนบ้านที่เป็นหมอนวดมาช่วยนวดให้เจ็บน้ำตาเล็ด) และให้นวดตรงใต้รักแร้ เพราะเป็นต่อมน้ำเหลือง


ถ้า ร.พ.เอาลูกมาให้ดูดนมที่ห้อง หรือให้แม่เดินไปให้นมก็ดี แต่ส่วนใหญ่เขาจะจำกัดช่วงเวลาให้นม เช่น พาลูกมาให้ดูดทุกสามชม ให้ดูดประมาณครึ่งชม. แล้วก็พากลับห้องเด็ก (ไปป้อนนมชง) ซึ่งแค่นี้ไม่พอที่จะกระตุ้นนมค่ะ ทำไงได้ ระหว่างที่พักฟื้นและไม่ได้อยู่กับลูกก็ขอให้บีบหัวนมอย่างที่บอกข้างต้นค่ะ


อีก วิธีที่แม่ๆ หลายคนแนะนำคือให้เอาเครื่องปั๊มนมเตรียมไปด้วย ไม่มีลูกช่วยกระตุ้นก็ให้เครื่องปั๊มช่วยกระตุ้นก็ได้ ช่วงแรกนี้ส่วนใหญ่จะปั๊มลมคือปั๊มไปแต่ไม่มีน้ำนมออกมา ก็ไม่ต้องไปเครียดค่ะ บางทีร.พ.ก็มีเครื่องปั๊มให้ยืมใช้ได้เหมือนกัน สำหรับคนที่ยังไม่กล้าซื้อเครื่องปั๊มไฟฟ้าแพงๆ ก็แนะนำให้ลองใช้ที่ร.พ.ดูก่อนก็ได้ว่ารุ่นไหนเหมาะกับเรา แต่ถ้าถามเราเราว่าถ้าตั้งใจให้นมแม่จริงๆ ให้หาซื้อเครื่องปั๊มไว้ก่อนเลย จะได้หาซื้อตอนที่ลดราคา หรือถ้าซื้อมือสองก็มีเวลาเทียบราคา ถ้ามาซื้อหลังคลอดจะฉุกละหุก ถ้าเป็นปั๊มไฟฟ้าอย่างดีมีสองสามยี่ห้อ/รุ่น (Medela, Ameda, Spectra) ซึ่งความสามารถก็ไม่ผิดกันไปมากหรอก อย่าลืมล้างและนึ่งขวดนม อุปกรณ์ปั๊มนมก่อนเอาไปร.พ.ด้วยค่ะ


ป้อนนมชง
เรื่อง ร.พ.ป้อนนมชงตอนลูกอยู่ที่เนอสเซอรี่นี่ทำใจเลย ถ้าไม่ได้อยู่ร.พ.ที่สนับสนุนนมแม่จริงๆ (ร.พ.เอกชนที่รู้ก็มีวิชัยยุทธ สมิติเวช บีเอ็นเอช) เพราะถ้าสนับสนุนนมแม่จริงๆ ต้องเอาลูกมาทิ้งไว้ให้อยู่กับแม่ที่ห้องเลย ทีนี้แม้เขาจะเอานมชงให้ลูกเรากินก็ไม่เป็นไร ขออย่างเดียว อย่าให้กินนมชงจากขวด เพราะ ถ้าทารกน้อยได้ลิ้มลองนมจากขวดตั้งแต่อยู่ร.พ.แล้วละก็ ติดจุกทุกราย ของเราต้องนับว่าโชคดี ที่ร.พ. (แม้จะไม่ได้สนับสนุนนมแม่เต็มที่อย่างที่อ้าง) ป้อนนมชงด้วยแก้ว โดยเขาจะให้เราไปฝึกให้ลูกดูดนมสักประมาณหนึ่งชม.ก่อนจึงค่อยเอาเด็กมาป้อน นม ที่บ่นว่าร.พ.ไม่ได้สนับสนุนเต็มที่ก็เพราะเขาอนุญาตให้เราให้นมลูกแค่วันละ สามครั้งเท่านั้น ตอนกลางคืนไม่อนุญาต


คืนที่สี่หลังคลอดแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่านมคัดเจ็บมาก แสดงว่านมเริ่มมาแล้วค่ะ พอดีเรานอนร.พ.สี่คืน ตอนที่นมคัดนั้นเป็นตอนเช้ามืด โทรไปห้องเนอสเซอรี่จะขอให้นม เขาก็บอกว่าป้อนนมไปแล้ว ให้มาให้นมตอนสาย โอ้มายกอด นมใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม แข็งโป๊กเลย ประมาณคับดีได้เลย (คิดในใจชุดชั้นในให้นมที่ซื้อเตรียมไว้สงสัยจะใส่ไม่ได้) รอถึงตอนสายไม่ไหวแล้ว เลยขอยืมเครื่องปั๊มของร.พ.มาปั๊มนมออก ได้นมเหลืองออกมา 50ml ดีใจมากเลย แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยนมคัดเท่านี้อีกเลย เพราะฉะนั้นชุดชั้นในคับเล็กก็ใส่ได้ไม่มีปัญหา :P

คำสำคัญ (Tags): #นมแม่
หมายเลขบันทึก: 420315เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2011 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท