ภาษาไทยในรามาธิบดี ภาค 2 (11): คะ กับ ค่ะ


(โพสต์ครั้งแรกในกระดานข่าวภายในของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 เนื้อหาบางส่วนอาจอ้างอิงถึงการสนทนาในกระดานข่าวดังกล่าว)

ตามสัญญาครับ วันนี้จะพูดถึงการใช้คำหางเสียงของคุณผู้หญิงกัน คำว่า คะ กับ ค่ะ ซึ่งสะกดผิดกันบ่อยครับ

คำว่า คะ (สังเกตนะครับว่าไม่มีวรรณยุกต์) มีเสียงตรี แม้ไม่มีวรรณยุกต์ครับ โทนเสียงตรี คือระดับเสียงเดียวกับคำว่า นะ วะ ยะ ซะ ละ

คำว่า ค่ะ สะกดด้วยไม้เอก และมีเสียงเอก ระดับเสียงเดียวกับคำว่า น่ะ ว่ะ ย่ะ ล่ะ ครับ

ที่มักใช้กันผิดๆ ก็คือ สมมติว่าต้องการจะบอกว่า
(ถูก) "ที่นี่มีบริการถ่ายเอกสารค่ะ" (ค่ะ เสียงเอก) แต่กลับใช้ว่า
(ผิด) "ที่นี่มีบริการถ่ายเอกสารคะ" (เสียงตรี) แทน

อีกตัวอย่างครับ ประโยคทักทาย
(ถูก) "สวัสดีค่ะ"
(ผิด) "สวัสดีคะ"

เช่นเดียวกัน แทนที่จะใช้ว่า
(ถูก) "ที่นี่มีบริการถ่ายเอกสารนะคะ" (นะคะ เสียงตรี) แต่กลับใช้ว่า
(ผิด) "ที่นี่มีบริการถ่ายเอกสารนะค่ะ" (ค่ะ เสียงเอก)

หรือกรณีประโยคคำถาม
(ถูก) "แถวนี้มีบริการถ่ายเอกสารไหมคะ" (คะ เสียงตรี)
(ผิด) "แถวนี้มีบริการถ่ายเอกสารไหมค่ะ" (ค่ะ เสียงเอก)

อีกประโยคครับ
(ถูก) "ขอบคุณค่ะ"
(ผิด) "ขอบคุณคะ"


สาเหตุที่คำว่า "คะ" เป็นเสียงตรี แม้ไม่มีวรรณยุกต์ตรี เป็นเพราะคำว่า คะ มีอักษรต่ำเป็นพยัญชนะต้น คำตาย สระเสียงสั้น ซึ่งถือเป็นกฎในทางหลักภาษาว่า การสะกดแบบไม่มีวรรณยุกต์ ถือเป็นเสียงตรีโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

อักษรสูง ได้แก่ ผ ฝ ถ ข ส ห ฉ (ผีฝากถุงข้าวสารให้ฉัน)
อักษรกลาง ได้แก่ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป อ (ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง [แถม เฎ็กฏาย คือ ด + ฎ และ ต + ฏ]
อักษรต่ำ คือ พยัญชนะที่เหลือ

คำเป็น คือคำที่เสียงพยางค์ค่อนข้างยาว กล่าวคือ มีข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ (อ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki/คำเป็นและคำตาย)
- คำหรือพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา
มา นี มี ตา มา ดู ปู ฯลฯ
- คำหรือพยางค์ที่มีตัวสะกดในแม่ กง กน กม เกย เกอว
กลาง คืน ลืม เลย เชียว ฯลฯ
- คำหรือพยางค์ที่ประสมด้วยสระ อำ ใอ ไอ เอา
ทำ ใจ ไป เอา ฯลฯ

คำตาย คือคำหรือพยางค์ในภาษาไทยที่มีเสียงพยางค์ค่อนข้างห้วนสั้น กล่าวคือ มีลักษณะข้อหนึ่งข้อใดต่อไปนี้
- คำหรือพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา (ยกเว้น อำ ใอ ไอ เอา)
สุ จิ ปุ ลิ ฯลฯ
- คำหรือพยางค์ที่มีตัวสะกดในแม่ กก กด กบ
ยก ทัพ ตัด บท ฯลฯ

คำว่า คะ ใช้ ค ควาย ซึ่งเป็นอักษรต่ำ เป็นพยัญชนะต้น และเป็นคำตาย เพราะใช้สระ อะ ซึ่งเป็นสระเสียงสั้น

ดังนั้น คำว่า คะ จึงอ่านออกเสียงเป็นเสียงตรี โดยไม่ต้องใช้วรรณยุกต์ใดช่วย การสะกดว่า ค๊ะ หรือ ค้ะ จึงผิดโดยสิ้นเชิงครับ เพราะทั้งสองคำหลังนี้ ถือว่า อ่านไม่ออก เพราะผิดหลักภาษาไทยครับ

ตัวอย่างอื่นๆ ของอักษรต่ำ คำตาย สระเสียงสั้น ที่อาจสะกดผิด เช่น
- คุกกี้ (พยัญชนะต้นของพยางค์แรก ค เป็นอักษรต่ำ สะกดด้วยแม่กก สระอุ จึงเป็นอักษรต่ำ คำตาย สระเสียงสั้น เสียงตรีไม่ต้องมีวรรณยุกต์)
- โละ (พยัญชนะต้น ล เป็นอักษรต่ำ สระโอะ ซึ่งเป็นสระเสียงสั้น จึงถือเป็นอักษรต่ำ คำตาย สระเสียงสั้น เสียงตรีไม่ต้องมีวรรณยุกต์)

ส่วนคำว่า "ค่ะ" ซึ่งใช้วรรณยุกต์เอก แต่ออกเสียงโทนั้น เป็นเพราะอักษรต่ำ ทั้งคำเป็นและคำตาย วรรณยุกต์เอกจะมีพื้นเป็นเสียงโทครับ เช่น
- ควั่ก (พยัญชนะต้นควบกล้ำ คว เป็นอักษรต่ำ สระอะ สะกดด้วยแม่กก จึงเป็นอักษรต่ำ คำตาย สระเสียงสั้น วรรณยุกต์เอก ออกเสียงโท)
- โล่ (พยัญชนะต้น ล เป็นอักษรต่ำ สระโอ เป็นสระเสียงยาว จึงถือเป็นอักษรต่ำ คำเป็น วรรณยุกต์เอก ออกเสียงโท)

ทั้งนี้ ยกเว้นอักษรต่ำ คำตาย สระเสียงยาว เช่น ชาติ นวด ทอด ภาพ ลีบ ฯลฯ ไม่มีการใช้วรรณยุกต์เอกครับ

พรุ่งนี้จะมาว่าด้วยการสะกดคำที่เป็นเสียงตรีในคำที่เป็นอักษรต่ำ คำเป็น และอักษรต่ำ คำตาย เพิ่ม ครับ เพราะสะกดผิดกันเยอะเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 419657เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2011 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Would you write about the (Thai) reading of some Paali words and why they are read that way?

For examples:

อนนท์ (Aananda อานันดะ) อะนน, จราจร (caracara จะระจะระ) จะ รา จอน, จลาจล (calacala จะละจะละ) จะ ลา จน

เรียน ท่านพี่ ไม่ชอบ ค ควาย ครับ ชอบ ฅ ฅน อะ

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณนะคะ ได้อ่านแล้วคิดถึงคุณครูภาษาไทยตอนเรียนมัธยม เข้มงวดมาก

คะ กับ ค่ะ เลยติดตัวมาจนบัดนี้ อยากให้คนเขียนผิดบ่อยๆแวะมาอ่านบ้างนะคะ

คว ถ้าเป็นอักษรควบกล้ำคนอีสานโดยเฉพาะโคราชจะออกเสียงไปอีกแบบ เขาออกเสียง คว ไม่ได้ครับ เช่น นิทานว่า คนไทยภาคไหนแข็งแรงที่สุด เฉลยว่า ภาคอีสาน ใครทราบช่วยให้คำอธิบายด้วยครับ

ครูประเสริฐ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท