ภาษาไทยในรามาธิบดี ภาค 2 (10): เกษียณ และ เกษียน


(โพสต์ครั้งแรกในกระดานข่าวภายในของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2554 เนื้อหาบางส่วนอาจอ้างอิงถึงการสนทนาในกระดานข่าวดังกล่าว)

ต้องขอบคุณ Proxy server ของกองเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIT) ที่เสียทั้งปีทั้งชาติ ไม่เคยพัฒนา เลยทำให้ผมมีเวลาโพสต์กระทู้นี้ครับ


พวกเราคงคุ้นเคยกับคำว่า เกษียณ ในความหมายว่า เกษียณอายุราชการ กันแล้ว คำนี้สะกดลงท้ายด้วย ณ เณร ครับ

ขออนุญาตคัดลอกความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มา ณ ที่นี้ครับ

เกษียณ [กะเสียน] ก. สิ้นไป (ใช้เกี่ยวกับการกําหนดอายุ) เช่น
เกษียณอายุราชการ. (ส. กฺษีณ; ป. ขีณ).

แต่พวกเราก็อาจเคยได้ยินกับคำที่อ่านว่า กะ-เสียน เช่นเดียวกัน แต่มีความหมายว่า เขียนข้อความสั่งการในหนังสือ เช่น เกษียนหนังสือ ครับ สังเกตนะครับว่าคำนี้สะกดด้วย น หนู มีความหมายดังนี้ครับ

เกษียน [กะเสียน] น. ข้อความที่เขียนแทรกไว้เช่นในใบลาน, ข้อความที่เขียนไว้บนหัวกระดาษคําสั่ง หรือหนังสือราชการ เรียกว่า หัวเกษียน. ก. เขียน. ว. เล็กน้อย. (แผลงมาจาก เขียน).

ดังนั้น เวลาใช้อย่าลืมสะกดให้ถูกกันนะครับ เทคนิคหนึ่งที่อาจช่วยให้จำได้ง่ายขึ้นคือ เกษียนหนังสือ สะกดด้วย น หนู เพราะตามหลังด้วยคำว่า หนังสือ ซึ่งมี น หนู อยู่ ต่างจากการเกษียณอายุราชการ ซึ่งไม่มี น หนูอยู่ในวลีนี้เลย

แถมอีกนิดว่า จริงๆ มีคำที่อ่านว่า กะ-เสียน อีกหนึ่งคำ คือ คำว่า เกษียร ซึ่งสะกดด้วย ร เรือ ซึ่งพวกเราไม่ค่อยได้ใช้กันในชีวิตการทำงานนักครับ คำนี้แปลว่า น้ำนม ครับ มักพบเจอในวรรณคดีเสียมากกว่า

เกษียร [กะเสียน] (แบบ) น. น้ำนม. (ส. กฺษีร; ป. ขีร).เกษียรสมุทร
น. ทะเลน้ำนม, ที่ประทับของพระนารายณ์. (ส. กฺษีร + สมุทฺร).

หมายเลขบันทึก: 419655เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2011 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบคุณครับ สำหรับความรู้เกี่ยวกับ ภาษาไทย

Thank you for sharing. This is very useful for me.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท