เพลงอีแซว ตอนที่ 8 เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว งานแสดงบนศาลาการเปรียญ


นักแสดงยังคงทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชื่อว่า “เพลงอีแซว” ต่อไป

เพลงอีแซว ตอนที่ 8

เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว

(งานแสดงบนศาลาการเปรียญ)

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

 

          วงเพลงอีแซวสาย เลือดสุพรรณฯ มีโอกาสได้นำผลงานไปทำการแสดงมาแล้วเป็นเวลา 19 ปีเศษ จำนวนกว่า 1000 รอบการแสดง ผมนำเด็ก ๆ ในวงเพลงไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่เวทีบนพื้นราบไปจนถึงเวทียกพื้นสูงขึ้นไปจากพื้นล่างเกินกว่า 1.00 เมตร บางสถานที่จัดเวทีการแสดงใหญ่โตมากแต่ไม่ว่าจะเป็นเวทีแบบใด พวกเราก็พร้อมที่จะทำการแสดงให้ความสุขสนุกสนานบันเทิงและคติสอนใจแก่ท่านผู้ชมได้ในทุกสถานที่
           เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีท่านเจ้าของงานให้ความสนใจติดต่อการแสดงเพลงฉ่อยไปร่วมงานขอบคุณสื่อมวลชน ที่รีสอร์ท อำเภออู่ทอง บังเอิญวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ มีงานตรงกับที่ท่านเจ้าภาพติดต่อมาพอดี ในวันที่ 15-16 มกราคม 2554 วงเพลงอีแซวทำการแสดงอยู่ที่ วัดดอนไร่ อำเภอสามชุก เป็นงานประจำปีซึ่งทางวัดจัดให้มีงานปิดทองหลวงพ่อมุ่ย สำหรับวันที่ 15 มกราคม 2554 ผมมีภาระงาน 2 ส่วนคือ ภาคกลางวันบันทึกเทปโทรทัศน์ เป็นรายการเกี่ยวกับความรู้และบันเทิงของช่อง NBT (ช่อง 11 เดิม) ช่วงเย็นไปจนถึงเที่ยงคืนแสดงที่วัดดอนไร่ และบันทึกการแสดงสดโดยรายการโทรทัศน์
           เมื่อเขียนถึงเรื่องของเกาะเวทีการแสดง ผมต้องการที่จะนำเสนอเรื่องราวและภาพเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด และเพื่อที่จะเก็บเอาไว้เป็นร่องรอยให้เยาวชนได้สืบค้นนำเอาไปใช้ในการเรียนรู้ในระดับต่าง ๆ ได้อย่างน่าเชื่อถือ เพลงอีแซว ในตอนที่ 8 นี้ ผมได้เก็บเอาบรรยากาศการแสดงเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ที่แสดงบนศาลาการเปรียญของวัดต่าง ๆ แต่ด้วยข้อจำกัดของหน่วยความจำและเนื้อที่บนเว็บไซต์ Gotoknow.Org จึงต้องลดปริมาณ นำเอามาเพียงแค่พอเหมาะสม แต่ก็เป็นการแสดงที่ต่างเวลา ต่างสถานที่กัน
           บนศาลาการเปรียญของวัดต่าง ๆ หลายครั้งที่เวทีการแสดงบนศาลาไม่มีการยกพื้น บางที่ก็มียกพื้นให้โดยใช้โต๊ะขนาดใหญ่มาเรียงต่อ ๆ กันเป็นเวที บางสถานที่คณะกรรมการนำเอาเสื่อผืนยาว ๆ มาปูเรียงกัน 2-3 ผืน รองรับนักแสดงให้ยืนเล่นเต้นกันอย่างมั่นใจ แต่การแสดงเพลงพื้นบ้านบนศาลาการเปรียญมีข้อจำกัดในเรื่องของการควบคุมระบบเสียง เพราะว่าเสียงจะก้องฟังเสียงที่ย้อนกลับมาหานักแสดงได้ไม่ชัดเจน ยิ่งถ้ามีการแสดงประเภทอื่น ๆ เล่นอยู่ด้านล่างใกล้ ๆ บริเวณศาลาด้วยแล้วหมดความไพเราะสนุกสนานไปเลย

             

            

            

            

                    (เพลงอีแซว โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 แสดงในงานฌาปนกิจ คุณพ่อสุวรรณ สุวรรณประทีป บนศาลาการเปรียญยกพื้นชั้นเดียว วัดโคกหม้อ อำเภอดอนเจดีย์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2542)
 
          แต่ในฐานะของผู้แสดง การที่พวกเราได้ขึ้นไปแสดงเพลงอีแซวบนศาลาการเปรียญของวัดต่าง ๆ นับว่าเป็นบุญอักโข เพราะศาลาการเปรียญของวัดในแต่ละแห่งสร้างขึ้นมาด้วยจิตศรัทธาบริจาค จากประชาชนในท้องถิ่นร่วมกันจนได้โบราณสถานเป็นที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ทำบุญ ฟังธรรม ประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน รวมกลุ่มสมาชิก จัดงานฌาปนกิจ จัดรับประทานอาหารเลี้ยงฉลองในโอกาสสำคัญ เป็นสถานที่จัดการเรียนรู้ ฯลฯ (ตอนที่ผมเด็ก ๆ ก็เรียนหนังสือบนศาลาการเปรียญมาก่อน)
          มีบางแห่งทีมงานการแสดงของเราได้มีโอกาสไปร่วมงานฉลองศาลาการเปรียญในแถบภาคเหนือ พอผมนำเด็ก ๆ ไปถึงศาลา มีประชาชนเป็นจำนวนมากมาทำบุญ นำอาหารมาถวายพระและบริจาคเงินทอดผ้าป่า ศาลาการเปรียญบางวัดก็ยังสร้างไม่เสร็จ แต่ทีมงานได้ไปแสดงบนศาลาหลังใหม่ด้วยความภาคภูมิใจ ศาลาวัดเป็นโบราณสถานที่มีพื้นกว้างรองรับจำนวนบุคคลได้มาก เวลาเพลงไปแสดงมองไปรอบ ๆ สถานที่ดูจะมีส่วนเหลืออีกมาก กว้างจริง ๆ ทำให้นักแสดงตั้งวง วางแผนในการยืนแสดงกันไม่ลงตัว เราเคยเล่นบนเวทีที่มีพื้นที่จำกัด 4 X 10 เมตร หรือมากกว่านั้นก็เล็กน้อยเพียงพอแล้ว

                

             

                  

                      (เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ แสดงในงานชาปนกิจศพ ปู่เคลื่อน โพธิ์ศรีทอง บนศาลาการเปรียญไม่ยกพื้น ที่วัดหนองปรือ ต.เลาขวัญ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี วันที่ 30 มีนาคม 2551)
 
          ผมมองศาลาการเปรียญว่า เป็นโบราณสถานที่มีความงดงามในทางศิลปกรรม บางสถานที่ก็สร้างศาลากับพื้นไม่มียกเสาขึ้นไปเลย บางสถานที่ก็เป็นศาลาชั้นเดียว มีเสายกพื้นเตี้ย ๆ บางแห่งก็เป็นศาลา 2 ชั้น ไม่ว่าจะมีรูปแบบใดศาลาเป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวบ้านในละแวกนั้น ศาลาการเปรียญเป็นสถานที่กระทำกิจของสงฆ์ เป็นที่บำเพ็ญกุศลเมื่อตอนที่คนเราวายชน ได้พบกันได้รวมญาติพี่น้องเมื่อวันที่คนเราต้องลาจากโลกนี้ไป ผมเคยแสดงเพลงอีแซวร่วมกับศิลปินอาชีพเพลงพื้นบ้านบนศาลาวัดหลายแห่งในงานฌาปนกิจบุคคลสำคัญในชีวิตนักเพลงพื้นบ้านของผม
          การแสดงเพลงอีแซวบนศาลาการเปรียญที่ผมได้นำคณะนักแสดงไปเผยแพร่ผลงาน ณ สถานที่ต่าง ๆ ได้รับกำลังใจ ได้รับการสนับสนุนจากท่านผู้ชมที่อยู่ในวัยกลางคนและสูงอายุมากกว่าผู้ชมที่อยู่ในวัยรุ่น (อายุ 15-18 ปี) แสดงให้เห็นถึงความสนใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่อาจจะออกห่างจากศิลปะการแสดงท้องถิ่นไปบ้างตามค่านิยมในปัจจุบัน  ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร นักแสดงยังคงทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชื่อว่า “เพลงอีแซว” ต่อไป
              

                

                

                   (เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ แสดงในงานทำบุญฉลองศาลาการเปรียญ 2 ชั้น ที่วัดโพธิญาณ อ.เมือง จ.พิษณุโลก วันที่ 25 กรกฎาคม 2553)
 
ติดตามเพลงอีแซว ตอนที่ 9 เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว (งานประจำปีวัดดอนไร่)
หมายเลขบันทึก: 419217เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท