ลักษณะของภาษา


หลักภาษาไทย

ลักษณะของภาษา

เฉลิมลาภ ทองอาจ (ค.ม.การสอนภาษาไทย จุฬาฯ)

 

๑.  ภาษาช่วยสื่อความคิดและสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของสังคม 

            มนุษย์ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในสื่อความคิด ความรู้ ทัศนคติ  อารมณ์และความรู้สึกของบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง  เริ่มตั้งแต่การสื่อสารเพื่อตอบสนองความต้องการในปัจจัยขั้นพื้นฐานของมนุษย์  เช่น เมื่อเกิดความรู้สึก หิว อิ่ม  ง่วง  เจ็บปวด  ดีใจ เสียใจ  ไปกระทั่งถึงการสื่อสารแนวคิด  ความเชื่อ ค่านิยม ความรู้ ความคิดและประสบการณ์ที่ซับซ้อนขึ้น  มนุษย์ก็สามารถใช้ภาษาเพื่อส่งความรู้สึกเหล่านั้นผ่านภาษาและถ้อยคำไปยังผู้อื่น เพื่อให้ได้รับการตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง  ตัวอย่างเช่น การที่นักเรียนนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนานักเรียนแก่ผู้บริหารโรงเรียน เพื่อให้ผู้บริหารนำไปปฏิบัติ  หรือนักเรียนนำเสนอแนวคิดในการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์แก่คณะกรรมการผู้ประเมินผลงาน เพื่อให้กรรมกรรมเกิดความเข้าใจเป็นต้น

          กรณีกลุ่มคนที่ใช้ภาษาเดียวกัน  ผลจากการใช้ภาษาช่วยสื่อความคิด อารมณ์และความรู้สึกคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจและความผูกพันกัน  เนื่องจากผู้พูดภาษาเดียวกัน  ย่อมเข้าใจและรับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของกันและกันมากกว่าผู้พูดภาษาอื่น  ด้วยเหตุนี้ภาษาจึงมีส่วนสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของสังคม ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเข้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความสำคัญของภาษาว่า  ความเป็นชาติโดยแท้จะแสดงที่ภาษา เพราะภาษาเป็นเครื่องมือแสดงออกถึงวัฒนธรรมและความรู้สึกนึกคิดร่วมกันของคนในชาติ  ชนชาติที่ถูกกลืนภาษาก็จะขาดความเป็นตัวตน  และจะสูญเสียความเป็นชาติไปในที่สุด  ตัวอย่างภาษาที่สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของสังคม เช่น  คนไทยที่ไปอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและรวมตัวเป็นชุมชนชาวไทย  มีความประสงค์ที่จะอนุรักษ์และสืบทอดการใช้ภาษาไทยแก่บุตรหลานของตน จึงได้ร่วมกับคณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รับครูอาสาสมัครไปสอนภาษาและวัฒนธรรมไทย ณ ชุมชนชาวไทย ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดไทย ณ เมืองต่างๆ  ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้เยาวชนไทยในต่างประเทศใช้สามารถใช้ภาษาไทยได้  และเกิดความรู้สึกผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในชุมชนและประเทศไทยซึ่งเป็นมาตุภูมิ 

 

๓.   ภาษาช่วยให้มนุษย์พัฒนา 

            ภาษาสามารถพัฒนามนุษย์ทั้งในด้านสติปัญญาและด้านคุณธรรมและจริยธรรม  ในด้านสติปัญญานั้น  มนุษย์สั่งสมประสบการณ์ ความรู้และความคิดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ นับแต่โบราณกาลจำนวนมากด้วยภาษา  และการที่มนุษย์มีภาษาใช้ในการสื่อสารทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นระหว่างกัน ทั้งในระดับเดียวกันและจากชนรุ่นหนึ่งไปสู่ชนอีกรุ่นหนึ่ง  บันทึกความรู้ ตำราหรือเอกสารโบราณต่างๆ ที่นักปราชญ์แต่โบราณได้บันทึกไว้  จึงยังคงตกทอดมาและเป็นข้อมูลสำคัญของนักวิชาการปัจจุบันสำหรับใช้พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ  ทำให้การพัฒนาหลักวิชาหรือองค์ความรู้ของมนุษย์เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบมากขึ้น  ตัวอย่างเช่น ความรู้เกี่ยวกับการนวดที่จารึกไว้ในแผ่นศิลาภายในวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม  ราชวรมหาวิหาร ของบรรพชนในยุคต้น     กรุงรัตนโกสินทร์ ที่ตกทอดมาสู่ปัจจุบัน  แพทย์แผนไทยและนักวิชาการได้ศึกษาค้นคว้าความรู้ดังกล่าวแล้วนำหลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันมาประยุกต์ใช้ กระทั่งสร้างเป็นหลักสูตรการนวดที่ทันสมัยและเป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น  จนสามารถเผยแพร่ไปยังต่างประเทศและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย 

          นอกจากภาษาจะสามารถพัฒนามนุษย์ในด้านสติปัญญาแล้ว ภาษายังสามารถพัฒนาด้านคุณธรรมและจริยธรรมอีกด้วย กล่าวคือ ภาษาเป็นเครื่องมือสำหรับบันทึกหรือถ่ายทอดหลักคุณธรรมและจริยธรรมที่นักปรัชญาได้กำหนดไว้  เพื่อสั่งสอนให้บุคคลมีความประพฤติที่ดีงามและสามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมอย่างมีความสุข ตัวอย่างภาษาที่ช่วยพัฒนาในด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่  สุภาษิตหรือคำสอนทางศาสนาต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้อบรมความประพฤติของเยาวชน  ตัวอย่างเช่น  สุภาษิตโคลงโลกนิติบทที่  ๒๓๓ ซึ่งมาจากพระสุตตันตปิฎก        ขุททกนิกาย ธรรมบท  มีเนื้อหาในเชิงเปรียบเทียบและสอนให้บุคคลเข้าใจหลักการเรื่องกรรมว่า  เมื่อทำสิ่งใดก็ตามก็ย่อมได้รับผลแห่งการกระทำนั้นเหมือนกับกงล้อของเกวียนที่หมุนตามรอยเท้าของวัวที่ลากนำไป  ดังนี้

 

                                 “ทำบุญบุญแต่งให้             เห็นผล

                             คือดั่งเงางามตน                    ติดแท้

                             ผู้ทำสิ่งอกุศล                       กำม์ติด ตามนา

                             ดุจจักรเกวียนเวียนแล้             ไล่ต้อนตีนโค”

 

 

๔.  ภาษาช่วยกำหนดอนาคต 

            ภาษาจะสามารถกำหนดอนาคตของมนุษย์ได้จากการที่มนุษย์ใช้ภาษาในการวางแผนงานต่างๆ ล่วงหน้า การวางแผนงานต่างๆ ในที่นี้อาจอยู่ในรูปของ “ความคิด” เกี่ยวกับอนาคต  เช่น  ความคิดเกี่ยวกับการศึกษาต่อ  ความคิดเกี่ยวกับภาระงานที่จะต้องปฏิบัติงานต่อไป หรืออาจอยู่ในรูปของข้อความหรือเอกสารที่กล่าวถึงแผนงานหรือกิจกรรมที่จะทำขึ้นในอนาคต  เช่น  คำสั่ง  แผน  โครงการสัญญา  คำพิพากษา  กำหนดการ คำพยากรณ์ เป็นต้น  ตัวอย่างของภาษาที่ช่วยกำหนดอนาคต เช่น  นักเรียนเขียนโครงการกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในวันภาษาไทยแห่งชาติ  เพื่อของบประมาณของโรงเรียน  ซึ่งในโครงการดังกล่าวจะต้องระบุความเป็นมา วัตถุประสงค์  วิธีดำเนินการกิจกรรมต่างๆ  และวิธีการประเมินผล ตลอดจนผลที่คาดว่าจะได้รับจากกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าวจะใช้  เป็นหลักในการปฏิบัติของนักเรียนต่อไป                  

 

 

๕.  ภาษาช่วยจรรโลงใจ

          คำว่า  “จรรโลง” ความหมายว่า  “พยุงไม่ให้ล้มลงหรือบำรุงรักษาและเชิดชูไว้ไม่ให้เสื่อม”  ภาษาที่ช่วยจรรโลงใจ จึงหมายถึงภาษาที่บำรุงจิตใจและใม่ชักนำไปในทางเสื่อม ตรงกันข้าม  กลับจะช่วยจิตใจมีความมั่นคงและยกระดับสูงขึ้น  ลักษณะทั่วไปของภาษาที่ช่วยจรรโลงใจคือ  เป็นภาษาที่มีความงามในด้านเสียงสัมผัสและกลวิธีการเรียบเรียง เช่น กวีนิพนธ์  คำประพันธ์ เพลง  สุนทรพจน์  คำจารึกวรรณคดี  เป็นต้น  มีเนื้อหาที่สร้างความบันเทิงใจ เช่น นิทาน นิยาย บทละคร  หรือมีเนื้อหาแสดงแง่คิดหรือปรัชญาชีวิตที่ลึกซึ้ง  เช่น  โอวาทธรรมของพระอริยสงฆ์  ข้อเขียนเชิงปรัชญาของนักคิดนักเขียน  เป็นต้น  ตัวอย่างการใช้ภาษาที่ช่วยจรรโลงใจ เช่น กวีนิพนธ์ เรื่อง “วารีดุริยางค์” ของเนาวรัตน์       พงษ์ไพบูลย์   ซึ่งเป็นกวีนิพนธ์ที่สามารถยกระดับจิตใจของผู้อ่านให้มีความอ่อนโยนขึ้น  ด้วยการเสนอภาพความงดงามของธรรมชาติ ผ่านการใช้ถ้อยคำที่สรรมาอย่างประณีต  ให้เสียงสัมผัสที่ไพเราะและและสื่อจินตภาพที่ชัดเจน  เช่นบทที่กล่าวว่า

                                 “หางนกยูงระย้าเรี่ยคลอเคลียน้ำ       แพนดอกฉ่ำช้อยช่อวรวิจิตร

                             งามดั่งเปลวเพลิงป่ามานิรมิต               สร้อยโสภิตอภิรุมพุ่มหัวใจ

                                 เพชรน้ำค้างค้างหล่นบนพรมหญ้า     เย็นหยาดฟ้ามาฝันหลงวันใหม่

                             เคล้าเคลียหยอกดอกหญ้าอย่างอาลัย     เมื่อแฉกดาวใบไผ่ไหวตะวัน”

          นอกจากนี้  บทกวีนิพนธ์ดังกล่าวยังสอดแทรกแนวคิดทางปรัชญาเรื่องการลดการปรุงแต่งและให้รู้จักควบคุมจิตใจของตนเอง  เพื่อสร้างความสุขที่แท้จริง ดังในบทที่กล่าวว่า

                                 “เลิกความคิดขันแข่งปรุงแต่งจิต       เลิกชีวิตวุ่นวายในทุกที่

                             เลิกเดือดร้อนดิ้นรนคนไยดี                 ไม่ต้องมีปรารถนาในอารมณ์

                                  ฟังต้นไม้สายน้ำย้ำให้หยุด             หยุดเสียทีเถิดมนุษย์หยุดสะสม

                             หยุดปรุงแต่งแสร้างตามความนิยม        สร้างสังคมโสโครกโลกจึงร้อน”         

            จึงนับได้ว่ากวีนิพนธ์วารีดุริยางค์เป็นผลงานทางวรรณศิลป์ที่สามารถพัฒนาจิตใจของผู้อ่าน     ให้เข้าใจปรัชญาชีวิตที่แฝงอยู่ในธรรมชาติรอบตัว และมีคุณค่าต่อการพัฒนาอารมณ์และความคิดอย่างแท้จริง      

 

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับอิทธิพลของภาษาที่มีต่อมนุษย์

 

            แม้ว่ามนุษย์จะเป็นผู้สร้างภาษาขึ้นมาใช้และมีอิทธิพลต่อการกำหนดถ้อยคำหรือวิธีการใช้     แต่ในขณะเดียวกัน  ภาษาก็มีอิทธิพลต่อความคิดของมนุษย์  เพราะมนุษย์มักจะเชื่อมโยงถ้อยคำต่างๆ  กับความคิด  อารมณ์ ความรู้สึกและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับถ้อยคำเหล่านั้น  ซึ่งนักเรียนสามารถสังเกตเห็นได้ในชีวิตประจำวัน  ตัวอย่างของอิทธิพลของภาษาที่มีต่อมนุษย์มีดังนี้

                   ๑.  ความเชื่อในความเป็นมงคลของถ้อยคำที่ใช้เป็นชื่อ  นักเรียนจะสังเกตเห็นว่า     ทุกกลุ่มชนจะให้ความสำคัญกับการตั้งชื่อสิ่งต่างๆ ให้เป็นมงคลหรือสื่อถึงความเจริญก้าวหน้า  เช่น  การตั้งชื่อพืชว่า  ใบเงิน  ใบทอง  มหารวย  มหาโชค  เป็นต้น  ซึ่งนอกจากการตั้งชื่อแล้ว  หากพืชใดมีคำใดคำหนึ่งที่พ้องเสียงหรือพ้องความหมายกับความเป็นมงคลแล้ว ก็จะนิยมปลูกกันมาก เช่น มะยม มักปลูกไว้หน้าบ้านเรือน  เนื่องจากมีเสียงคล้ายกับคำว่า นิยม  เพื่อจะให้เกิดผลว่ามีคนนิยมชมชอบ  ส่วนต้นขนุนจะปลูกไว้ด้านหลังบ้าน  เนื่องจากมีเสียงคล้ายกับคำว่า หนุน หรือ อุดหนุน  ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้มีผู้สนับสนุนหรือค้ำจุนให้ครอบครัวมีความมั่นคง   ในขณะเดียวกันหากพืชใดที่ชื่อมีเสียงไปพ้องกับคำที่มีความหมายเป็นอัปมงคลแล้ว พืชนั้นก็จะไม่ได้รับความนิยมในการปลูกมากนัก อีกทั้งผู้ฟังจะมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อพืชดังกล่าว  เช่น ต้นระกำ  ซึ่งชื่อมีความหมายว่าความเศร้าโศก  ซึ่งไม่มีผู้ใดปรารถนา  ต้นลั่นทม เพราะมีเสียงไปพ้องกับคำว่าระทม  ซึ่งก็สื่อถึงความทุกข์ภายในจิตใจ  เป็นต้น   น่าสังเกตว่า เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อต้นลั่นทมเป็น “ลีลาวดี” ซึ่งมีเสียงที่ไพเราะและแสดงถึงความนุ่มนวล       ก็กลับมีการปลูกต้นลั่นทมในอาคารบ้านเรือนต่างๆ มากขึ้น แสดงให้เห็นว่าภาษามีอิทธิพลต่อความคิดและความรู้สึกของมนุษย์ ตัวอย่างความเชื่อในความเป็นมงคลของถ้อยคำที่ใช้เป็นชื่อ  ยังพบได้จากชื่อสถานที่  ห้างร้าน บริษัท  หรืออาคารต่างๆ  เช่น  ไทยรุ่งเรือง  โชคมานะ  กิจเกษม   ทรัพย์ทวี ยิ่งเจริญ  มารวย  เลิดสิน  โชคชัย  เป็นต้น 

                   ๒.  ความเชื่อในอำนาจของถ้อยคำว่าสามารถสร้างอิทธิฤทธิ์หรือให้คุณให้โทษแก่  มนุษย์ได้  มนุษย์เชื่อว่าภาษานั้นมีพลังอำนาจในการสร้างอิทธิฤทธิ์หรือพลังบางอย่างที่สามารถให้คุณหรือโทษแก่มนุษย์ด้วยกันได้ นับแต่โบราณจึงได้มีการใช้ภาษาในการสวดอ้อนวอนต่อเทพเจ้า เพื่อขออำนาจของเทพให้ปกป้อง คุ้มครองหรือดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่ตนเองปรารถนา  ตัวอย่างเช่น การสวดบูชาในคัมภีร์พระเวทของผู้นับถือศาสนาพราห์ม-ฮินดู  นอกจากนี้  ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการใช้  “คาถา” ซึ่งหมายถึงบทสวดสั้นๆ ที่แต่งด้วยภาษาบาลี สันสกฤตหรือเขมร ที่เชื่อว่าเมื่อสวดแล้วจะเสริมสร้างพลังอำนาจบางอย่าง เช่น เพื่อให้มีคนชอบ รัก เมตตา  ให้บังเกิดลาภผล  หรือแม้กระทั่งเป็นการสาปแช่ง  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การสวดมนต์ก่อนเข้านอนของพุทธศาสนิกชน เนื่องจากความเชื่อว่า  มนต์นั้นมีพุทธคุณที่จะคุ้มครองมิให้สิ่งชั่วร้ายต่างๆ เข้ามารบกวนขณะที่นอน  แม้ว่าความเชื่อที่แฝงอยู่ในภาษาเช่นนี้  อาจมองได้ว่าเป็นสิ่งที่งมงาย หรือปราศจากเหตุผล อย่างไรก็ตามมนุษย์ก็ยังคงมีความเชื่อในอำนาจเร้นลับดังกล่าว   

                   ๓.  ความนิยมในถ้อยคำที่สื่อความหมายในทางบวกหรือน่าพึงพอใจ  อิทธิพลของภาษาในประเด็นนี้เกิดจากภาษามีความสัมพันธ์ต่อความรู้สึก  มนุษย์มักจะไม่ชอบคำที่แสดงความรู้สึกถึงภาวะที่ไม่พึงปรารถนา  เช่น ความตาย ความต่ำต้อย ความไร้ค่า  นักเรียนจะสังเกตุเห็นว่า ปัจจุบันเราใช้คำบางคำเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้น เช่น เรามักจะเรียกพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เฝ้ารักษาสถานที่ต่างๆ ว่า พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ซึ่งแสดงความหมายที่ดีกว่าการเรียกว่า  “ยาม” เพราะเห็นว่าเป็นคำแสดงฐานะที่ต่ำต้อย หรือคำว่า “คนใช้” ที่แสดงถึงการ     ดูถูกก็ไม่นิยมใช้   และใช้คำว่า  “ลูกจ้าง” หรือ “พนักงาน”  แทน  ตัวอย่างการใช้คำที่สื่อความหมายในทางบวกอื่นๆ เช่น  ประเทศกำลังพัฒนา แทน ประเทศด้อยพัฒนา, ไปสวรรค์ สิ้นบุญ  สิ้นกรรม แทน ตาย, ห้องสุขา แทน ห้องส้วม, ผู้มารับบริการสาธารณสุข แทน คนไข้, โรคร้าย แทน มะเร็ง 

          ข้อควรพิจารณาในเรื่องภาษามีอิทธิพลต่อมนุษย์คือ การยึดถือถ้อยคำโดยไม่คำนึงถึงหลักเหตุผล  ก็อาจนำมาซึ่งการประพฤติหรือปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง  เช่น  การตัดต้นไม้ที่มีชื่อไม่เป็นมงคลแทนที่จะอนุรักษ์  หรือการมุ่งสวดคาถาเพื่อให้เกิดโชคลาภในการค้าขายมากกว่าการคิดค้น    ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ  นักเรียนจึงควรไตร่ตรองว่า  แม้ภาษาจะสร้างความรู้สึกต่างๆ หรือควบคุมความคิดของเราได้  แต่เราต้องไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของภาษามากจนลืมหลักเหตุผลและข้อเท็จจริง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #หลักภาษาไทย
หมายเลขบันทึก: 419128เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 01:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ลักษณะของภาษา ข้อ 2 หายไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท