ภาษาไทยในรามาธิบดี ภาค 2 (9): ลายเซ็น


(โพสต์ครั้งแรกในกระดานข่าวภายในของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2554 เนื้อหาบางส่วนอาจอ้างอิงถึงการสนทนาในกระดานข่าวดังกล่าว)

หายไปนานครับกับคอลัมน์การใช้ภาษาไทยในเว็บบอร์ดของรามาธิบดี เพราะผมเองค่อนข้างยุ่งเรื่องงานวิจัย ป.เอก กับภารกิจอื่นๆ ในคณะฯ

ช่วงนี้พอมีเวลาหายใจมากขึ้น เลยขอต่อภาค 2 นะครับ

คำคำหนึ่งที่ใช้ผิดกันเยอะ คือคำว่า ลายเซ็น (มาจากภาษาอังกฤษว่า signature) หรือที่ภาษาไทยเราเรียกกันเป็นทางการว่า ลายมือชื่อ

คำนี้ สังเกตดีๆ ครับว่าไม่มี ต เต่า การันต์ ถ้าเห็นใครสะกดว่า ลายเซ็นต์ หรือ เซ็นต์ชื่อ สะกดผิดครับ นั่นเป็นเพราะ คำว่าเซ็น มีที่มาจากคำภาษาอังกฤษ คือ sign (v.) ซึ่งแปลว่าลงลายมือชื่อครับ และเนื่องจากในภาษาอังกฤษ ไม่มีตัว t แต่อย่างใด การใส่ ต เต่า การันต์ ก็เท่ากับเป็นการ "ใส่ไข่" เข้าไปในคำคำนี้ครับ

คำว่า เซ็น นั้น ได้รับการยอมรับจากราชบัณฑิตยสถานและได้รับการบรรจุเข้าในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2525 ครับ และปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในฉบับปี 2542 ก็ได้มีการบรรจุคำว่า "ลายเซ็น" ไว้อย่างเป็นทางการ โดยมีคำแปลว่า "(ปาก) น. ลายมือชื่อ" (ที่วงเล็บว่าปากนั้นหมายถึงว่าเป็นภาษาปาก)

วันนี้เซ็นชื่อแล้วอย่าลืมจำวิธีสะกดที่ถูกต้องไปด้วยนะครับ

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด วันจันทร์จะเสนอคำว่า เกษียณ (อายุราชการ) vs. เกษียน (หนังสือ) ครับ

หมายเลขบันทึก: 418726เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2011 04:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท