คุณค่าของพลู


เมื่อเงยหน้ามองใบปริญญาที่ข้างฝาจึงมักเห็นเป็นรูปใบพลูทุกคราวไป

     

     กลิ่นของเปลือกกุ้งตากแห้งที่เรียกว่า "แกลบกุ้ง"ยังติดจมูกอยู่ในความทรงจำเสมอ  ต้นไม้ที่เลื้อยบนค้างชูใบอ่อนแก่ เขียวอ่อนเขียวแก่สลับกัน ความเขียวสมบูรณ์เกิดจากปุ๋ยมูลวัวและแกลบกุ้ง ผลิตเป็นใบไม้รูปรี  ๆ ใช้เคี้ยวกินกับหมากและปูน ซึ่งเรารู้จักในนามของ ใบพลู เป็นใบไม้ที่ใช้ในพิธีกรรมชั้นสูงและเป็นมงคลของคนเอเชียตอนล่าง

    พ่อจะเตรียมดินเป็นบริเวณริมน้ำที่วิดน้ำได้ง่าย  ขุดเป็นร่องยาวเป็นแถวนับสิบแถว นำปุ๋ยมาคลุกเคล้ากัน จากนั้นนำกิ่งพลูมาปักชำตามหลุมเป็นระยะห่างกันพอดี แล้วนำทางมะพร้าวมาคลุมไม่ให้โดนแดด เมื่อต้นกล้าพลูผลิยอดอ่อน พ่อก็ชวนน้าไปตัดไม้ "ค้างพลู " ในป่า ซึ่งเป็นไม้อ่อนที่ยังเล็ก มาปักทำ "ค้างพลู" สำหรับให้พลูได้เลื้อยอวดใบ

   เมื่อกลับจากโรงเรียนผู้เขียนรีบปั๋นจักรยานมาสวนพลู หยิบโพงวิดน้ำ ที่ทำมาจากกาบต้น ชะโอน เดินลงคูสาดน้ำเข้าร่องพลู จนครบทุกร่องแถว จึงจะได้ไปเล่นฟุตบอลที่ตนเองชอบ

    แม่จะเก็บใบพลูเฉลี่ยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เพื่อนำไปขายตลาดนัดซึ่งจะมีทุกวันอังคารและวันศุกร์ การเก็บพลูจึงมักมีขึ้นในวันจันทร์และวันพฤหัส ในมือแม่จะมี เล็บพลู เป็นเหล็กหุ้มนิ้วหัวแม่มือ ไว้เด็ดใบพลูออกจากต้น มีผ้าพันรอบเอวสำหรับใส่พลู หากต้นพลูทอดยอดสูงก็ใช้บันไดไม้เรียกว่า ไดพลูช่วยเด็ดพลูที่อยู่สูงเมื่อเก็บได้มากก็รวมกันใส่กระสอบกลับบ้าน

      พลูที่เก็บมาได้ต้องมาเรียงให้เป็นระเบียบเรียกว่า แบะพลู  แบะหนึ่งประมาณ 22 ใบแบะเสร็จแล้วนำมาเหน็บไว้ในช่องไม้ที่เรียกว่า คาพลู เมื่อเหน็บเต็มช่องไดพลู แล้วนำมารวมกัน 4 แบะ เป็น 1 กำ การเก็บแต่ละครั้งจะได้พลู เป็นร้อยกำขึ้นไป ราคาของพลูก็แล้วแต่ความต้องการในตล่าด ในสมัยผู้เขียนยังเด็ก กำละ 50 สตางค์บ้าง 1 บาทบ้าง    

      การมัดเป็นกำ นำใบเตยป่าที่มีหนาม มาตัดเป็นเส้นยาว แล้วนำมามัดใบพลูให้เป็นกำเป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่ต้องไปหาใบเตยป่ามามัดพลูเสมอ

      การเรียงพลูนั้น เป็นที่รวมของพี่น้องที่มานั่งล้อมวงพูดคุยกัน ช่วยเหลือกัน เป็นบรรยากาศที่ครึกครื้นและมีความสุข ได้ฟังเพลงเก่า ๆ จากพ่อและแม่ บางครั้งย่าก็จะเล่าเรื่องอดีตให้ฟัง หากคุณยายมาเยี่ยมก็ยิ่งสนุก เพราะ พ่อและยาย จะขับโนราและหนังตะลุงให้ฟัง  คุณยายนั้นจะจำกลอนเก่าของสุนทรภู่หรือกลอนของนักกลอนดัง  ๆ ในสมัยเก่าของสงขลา เช่น นิราศนรก ให้ฟัง เป็นที่ระทึกใจและสนุกสนาน

    สิ่งที่ผู้เขียนตื่นเต้นในวัยเด็กมาก  ๆ คือ ตอนที่คุณย่าได้นำผู้เขียนไปขายพลูที่จะนะและโคกโพธิ์ปัตตานี เป็นครั้งแรกที่ได้ขี่รถไฟและได้พบเห็นสังคมของคนพูดภาษามลายูเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของเด็กอายุ 4-5 ขวบ ไม่เคยลืมเลย แปลกใจที่คุณย่าพูดภาษามลายูไม่กี่คำ แต่ขายพลูหมดเข่งทุกครั้งไป

    ผู้เขียนคิดถึงพลู เพราะพลูเป็นส่วนหนึ่งของวัยเด็ก ที่เมื่อนึกถึงแล้วรู้สึกถึงคุณค่าของพลูที่นอกจากจะให้ทรัพย์แล้ว ความสนุก ความอบอุ่น ไม่เคยลืมเลย

    เมื่อเงยหน้ามองใบปริญญาที่ข้างฝาจึงมักเห็นเป็นรูปใบพลูทุกคราวไป

  

 

     

หมายเลขบันทึก: 418474เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2011 00:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 07:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

( จนครบทุกร่องแถว จึงจะได้ไปเล่นฟุตบอลที่ตนเองชอบ ) ตอนนี้รู้สึกว่าจะมีจักรยานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนะครับเพราะต้องปั่นจักรยานไปเล่นที่บอล..กะเสส

  • สมัย ม.ต้น ครูภาทิพต้องไปขายพลูในตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน
  • ขณะที่เพื่อน ๆ เดินไป โรงเรียน ครูภาทิพยังอยู่ที่ตลาดอยู่เลย
  • พ่อครูภาทิพใช้ต้นเพกาทำค้างพลู
  • แต่ครูภาทิพไม่รู้จักคำศัพท์ที่เกี่ยวกับพลูเลยนะ  ขอบคุณมากค่ะ

 

ครูภาทิพครับ สงขลา กับบ้านคุณอาจจะต่างกันบ้าง

ขอบคุณความรู้ใหม่ เรื่องใช้ต้นเพกาทำค้างพลู

คุณก็มีความรู้สึกที่ดี กับพลู เหมือนผม

ขอบคุณครับ

สุขสันต์วันเด็ก อยากจะชวนไปดูแบบอย่างของอดีตเด็กที่ http://gotoknow.org/blog/somdejmas/418627

เรียนท่านเบดูอิน ได้ไปดูแล้วครับ ให้ข้อคิดและประสบการณ์มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท